เอา 500 หาร… ทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล… ต้องตั้งพรรคปาร์ตี้ลิสต์ ส่ง กกต. และรอศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

เอา 500 หาร…

ทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล…

ต้องตั้งพรรคปาร์ตี้ลิสต์

ส่ง กกต. และรอศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน

 

การเมืองภายในประเทศ ฝ่ายอํามาตยาธิปไตยยังคุมเกม แต่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเปลี่ยนรัฐบาล

ขณะนี้ทุกกลุ่มมุ่งไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ แม้ทิศทางการต่อสู้ทางการเมืองควรแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องใหญ่ๆ ให้เป็นประชาธิปไตยก่อน แต่ทำไม่ได้

ในทางยุทธศาสตร์จึงถือว่าฝ่ายอํามาตยาธิปไตยคุมเกม สามารถผลักดันให้ฝ่ายประชาธิปไตยต้องเข้าไปอยู่ในเกมการเลือกตั้งที่มี ส.ว. 250 เลือกนายกฯ และก็มัวแต่จะต้องแก้ไขในทางยุทธวิธีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่จะใช้บัตร 2 ใบ

อย่างที่เคยเขียนลงไปครั้งหนึ่งแล้วในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ฝ่ายรัฐบาลสุดท้ายจะไม่ยอมเปลี่ยนเป็นระบบหารด้วย 100 แต่จะย้อนกลับมาใช้หาร 500 เพื่อจะสกัดพรรคเพื่อไทย และก็เป็นเช่นนั้นจริง ในวาระ 2 ที่มีการแปรญัตติสภาก็พลิกลิ้น พลิกมือ กลับมาเอา 500 หาร แม้รัฐธรรมนูญที่แก้แล้วจะเขียนไว้ว่าให้ใช้ 100 หารคะแนนปาร์ตี้ลิสต์

แต่ประเทศนี้ผู้มีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ ดังนั้น เรื่องนี้ยังจะต้องต่อสู้กันอีกยาว บางคนคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญจบแล้ว แต่ยังมีอีกหลายมาตรา นี่เป็นการล้มมติ ที่กรรมาธิการอุตส่าห์ถกเถียงออกความเห็นกันในมาตรานี้ บางคนบอกว่านี่เป็นข้อตกลงที่จะเกี่ยวพันกับการยกมืออภิปรายไม่ไว้วางใจ

แม้สภาจะลงมติให้เปลี่ยนเป็นแบบหาร 500 แต่ก็ไม่ใช่ว่าเรื่องจะจบ ยังจะต้องเสนอเรื่องนี้ไปที่ กกต.ให้พิจารณาว่าทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้ก็ต้องมาดูในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร และยังจะมีผู้ร้องคัดค้านไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า การมาแก้ไขแบบนี้เป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญที่ประกาศการแก้ไขไปแล้ว

ซึ่งศาลคงรับเรื่องและพิจารณา ถ้าผลออกมาว่าขัดรัฐธรรมนูญที่แก้ไปแล้ว เกมทั้งหมดที่ดิ้นรนแก้กัน ก็อาจจะต้องกลับไปเริ่มตั้งต้นใหม่

 

บัตร 2 ใบ หาร 500

…ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์พรรคใหญ่

สอบตกหมด

ถ้ามีการนำเอาจำนวนเต็มของ ส.ส. 500 คนมาหารคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่คนเลือกทั้งประเทศ ซึ่งคาดว่าในครั้งหน้าจะมีบัตรดีประมาณ 36 ล้านคะแนน จากทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ เมื่อนำมาหาคะแนนเฉลี่ย โดยหารด้วย ส.ส. 500 คน เฉลี่ยคะแนนได้คนละ 72,000 คะแนน

ถ้าจะหาจํานวน ส.ส.พึงมีว่าแต่ละพรรคควรได้เท่าไรก็ต้องนำ 72,000 ไปหารคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคนั้น

ขอยกตัวอย่างโดยการสมมุติคะแนนแบบกลมๆ…

พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนทั้งประเทศ 11 ล้านคะแนน เมื่อนำ 72,000 ไปหาร ก็จะได้จำนวน ส.ส.พึงมี 152.7 คน แต่ถ้าพรรคการเมืองนี้ชนะได้ ส.ส.เขตมาแล้ว 170 เขต ก็จะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มเลยเพราะเกินโควต้าที่ “พึงมี” ไปแล้ว

ถ้าพรรคภูมิไทย ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ทั้งประเทศที่ 4 ล้านคะแนน เมื่อนำ 72,000 ไปหารจะได้ ส.ส.พึงมี 55.5 คน แต่ถ้าพรรคนี้ชนะ ส.ส.เขตมาแล้ว 60 เขต ก็จะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มเช่นกัน

พรรคก้าวไกล ถ้าได้ 6 ล้านคะแนนเมื่อหารตัวเลขออกมาจะได้ ส.ส.พึงมี 83.3 คน ถ้าพรรคนี้ชนะ ส.ส.เขตมาแค่ 30 เขต จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่ม 53 คน

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ถ้ามีพรรคสร้างอนาคตไทย มาแบ่งคนแบ่งคะแนนไป คงได้คะแนนน้อยลง สมมุติได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 4 ล้านคะแนน ก็จะได้ ส.ส.พึงมี 55 คนเช่นกัน ถ้าได้ ส.ส.เขตมาแล้ว 50 คน ก็จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มแค่ 5 คน

พรรคเสรีรวมไทย ถ้าได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 1 ล้านคะแนนจะได้ ส.ส.พึงมี 13.8 คน แต่ถ้าได้ ส.ส.เขตมาแล้ว 2 คน จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มอีกประมาณ 12 คน

สรุปว่าพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.เขตมาก จะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย เพราะจำนวน ส.ส.เขตเกินกว่า ส.ส.พึงมี แม้พรรคขนาดกลางที่มีฐานเสียงท้องถิ่นแต่ความนิยมทั่วไปน้อย ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์น้อย ก็จะเสียเปรียบไปด้วย

ประเมินการเลือกตั้งจริงในอีก 1 ปีข้างหน้าจะเกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ถ้าได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ประมาณ 4 ล้านก็อาจจะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลยเช่นกัน

 

ตั้งพรรคปาร์ตี้ลิสต์ขนาดกลาง ไม่ยาก

การตั้งพรรคแบบปาร์ตี้ลิสต์ครั้งนี้ไม่ยาก เพราะมาตรา 90 ของ รธน. 2560 …พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ การส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองจัดทําบัญชีรายชื่อพรรคละหนึ่งบัญชี โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองต้องไม่ซ้ำกัน และไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้ กกต.ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

ดังนั้น ส่ง ส.ส.เขตเพียง 1 เขต หรือ 10 เขตก็ได้ แต่จะได้คะแนนจากทั่วประเทศหรือไม่ แล้วแต่ชื่อ ชั้น และนโยบาย เดาล่วงหน้าได้เลยว่าไม่มีพรรคไหนยอมเสียของ

การขยายตัวของพรรคปาร์ตี้ลิสต์จึงน่าจะเกิดขึ้นตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพราะไม่มีกลุ่มผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์คนไหนจะนอนรอเป็น ส.ส.สอบตกอยู่ในพรรคเดิม และก็เป็นสิทธิ์ของผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ที่เขาจะย้ายออกไปรวมกันเพื่อทำพรรคที่เน้นอุดมการณ์หรือนโยบายให้ประชาชนเห็นความสามารถ และถ้าเลือกกลุ่มของพวกเขามากพอก็จะได้ ส.ส. 10-20 คน

ส่วนพรรคที่ไม่ดิ้นรนทำแบบนี้ถ้าชนะเขตได้มากพอสมควร และมีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 2-4 ล้านคะแนนจะสูญเปล่าไปทันที เชื่อว่าในสภาพที่การเมืองสูสีกันมาก จำนวน ส.ส. 1-3 คนก็มีความหมาย

ดังนั้น น่าจะเกิดพรรคปาร์ตี้ลิสต์ที่เน้นนโยบายและมีศักยภาพขึ้นไม่น้อยกว่า 4-5 พรรค ซึ่งตัวบุคคลที่สมัครเป็นตัวแทน ต้องมีชื่อเสียงระดับประเทศหรืออย่างน้อยก็ภูมิภาค

ยิ่งคิดเอาเปรียบทางการเมือง ยิ่งยุ่งยาก

ครั้งนี้ตัวเลข ส.ส.พึงมี

จะมากกว่า ส.ส ปาร์ตี้ลิสต์หลายเท่า

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยจะทำให้สภาพการเมืองยุ่งเหยิงเข้าไปอีก เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยทางอ้อม พรรคเล็กที่จะเกิดโดยธรรมชาติแทบไม่มีโอกาสในการเลือกตั้งครั้งหน้าเพราะจะมีการซื้อเสียงปาร์ตี้ลิสต์ของกลุ่มที่มีอำนาจรัฐและเงิน

ขณะนี้ยังไม่มีการลงรายละเอียดพูดถึงการคิดจํานวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่จะให้กับแต่ละพรรค ว่าจะทำอย่างไรเพราะปาร์ตี้ลิสต์จริงมีแค่ 100 คน แต่พรรคแนวปาร์ตี้ลิสต์บางพรรคที่มีคนนิยมอาจได้ ส.ส.พึงมีถึงร้อยกว่าคน และอาจจะไม่ได้ ส.ส.เขตเลย พรรคปาร์ตี้ลิสต์ขนาดกลางก็ยังได้ 50 กว่าคน ถ้าขนาดเล็กก็ได้เป็น 10-20 คน

รวมแล้ว ส.ส.พึงมีคงเกิน 400 คน แต่จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จริงมีแค่ 100 ต้องมีสูตรคำนวณอย่างยุติธรรม และต้องเขียนกฎอย่างชัดเจนก่อนเลือกตั้ง

สุดท้ายพรรคที่จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คนน่าจะต้องมีคะแนน 300,000

ความแตกต่างของ ส.ส.พึงมีครั้งนี้ไม่เหมือนการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งมาจากคะแนนที่มีการเลือกตั้งเขตเอาคะแนนทั้งที่ชนะและแพ้ของพรรคนั้นมารวมกันทุกเขต แต่คราวนี้เอาเฉพาะคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งไม่แน่ว่าจะเป็นไปตามคะแนนของผู้ที่ได้รับชัยชนะในเขตหรือไม่ เพราะประชาชนอาจจะลงคะแนนให้ ส.ส.เขตแต่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์อาจจะให้พรรคอื่นก็ได้

การต่อสู้ของฝ่ายค้านจะได้ผล ถ้าผลการเลือกตั้งได้เสียงรวมกันเกิน 250 หรือ 245 แม้ไม่สามารถตั้งรัฐบาลเพราะไม่มี ส.ว.มาหนุน แต่ยับยั้งเรื่องที่ไม่เหมาะสมได้

เศรษฐกิจยุคหนี้ท่วมหัว ถ้าฝ่ายค้านมองงานแนวร่วมว่าเป็นหนทางสู่ชัยชนะ การทำพรรคปาร์ตี้ลิสต์ และการเลือกตั้ง ส.ส.เขต ก็จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในการต่อสู้ทางรัฐสภา