จารึก ‘ตชุตรละเรียะ’ อักษรมอญโบราณสมัยหริภุญไชย ค้นพบใหม่ / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

จารึก ‘ตชุตรละเรียะ’

อักษรมอญโบราณสมัยหริภุญไชย

ค้นพบใหม่

ปริศนาโบราณคดีฉบับนี้ขอพักประเด็นความสับสนเรื่องสาแหรกวงศ์ตระกูลของ “นางยอดคำทิพ” หรือ “นางหอสูง” ผู้เป็นพระราชมารดาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ค้างไว้ก่อน ว่าตกลงแล้วนางคือธิดาของฝ่ายล้านนาหรือล้านช้างกันแน่ ซึ่งอันที่จริงยังต้องมีตอนจบสรุปอีกตอนหนึ่ง

เหตุที่ดิฉันยังไม่สามารถ “ปะติดปะต่อ” ข้อมูลเชิงลึกที่มีการค้นพบใหม่จากนักวิชาการรุ่นใหม่ จำนวนมหาศาลนั้นได้ดีพอ เกรงว่าหากเขียนไปแล้ว เนื้อหาอาจตื้นเขินหรือผิวเผินเกินไป จึงขอชะลอไว้ก่อน

ขอเวลาตรวจสอบชำระสะสางหลักฐานรายละเอียดอีกสักระยะ เมื่อตกผลึกแล้วจากนั้นจะหวนกลับมาทำการวิเคราะห์ต่อ

รวมถึงประเด็น “ลูกเขาเมียใคร” ของราชนิกุลล้านนาอีกสองนางที่เคยเปิดประเด็นไว้ คือ พระมหาเทวีจิรประภา และนางพญาวิสุทธิเทวี ยิ่งถอดรหัสยากกว่ากรณีของนางยอดคำทิพหลายเท่า

ฉบับนี้ขอนำเสนอเรื่องราวที่ดิฉันถนัดมากกว่าและคนเล่นเรื่องนี้น้อยมาก แทรกขึ้นก่อนแทน

นั่นคือเรื่อง “ศิลาจารึกอักษรมอญโบราณสมัยหริภุญไชย” ที่ค้นพบใหม่หลักหนึ่งในเมืองลำพูน

 

พบที่ตำบลศรีบัวบาน

ปัจจุบันจัดแสดงในวิหารวัดธงสัจจะ

ศิลาจารึกหลักดังกล่าวนี้ ยังไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ และทางกรมศิลปากรหลังจากที่ทราบข่าวแล้ว ก็ยังไม่ได้มาดำเนินการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุชิ้นนี้ให้เป็นมรดกของแผ่นดิน ซึ่งโดยปกติแล้วต้องมีการใส่รหัสด้วยคำว่า “ลพ.” (มาจากคำว่า “ลำพูน”) นำหน้าเหมือนกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ แม้ว่าสถานที่จัดเก็บอาจอนุโลมให้อยู่นอกพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ ดังเช่น จารึกที่วัดพระยืน อย่างน้อยก็มีเลขทะเบียน ลพ.38

ประวัติความเป็นมาของการพบศิลาจารึกหลักนี้ครั้งแรก โดยใคร เมื่อไหร่ อย่างไร ก็ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเท่าไหร่นัก ทางเจ้าอาวาสวัดธงสัจจะรูปปัจจุบัน บอกแต่เพียงว่า ตัวของท่านเองก็เพิ่งเข้ามารับช่วงต่อจากอดีตเจ้าอาวาสเมื่อไม่นาน จึงไม่ทราบรายละเอียดอะไรมากนัก

ทราบคร่าวๆ แต่เพียงว่า แหล่งดั้งเดิมของจารึกหลักนี้ เป็นวัดร้างแห่งหนึ่งในเขต “ตำบลศรีบัวบาน” อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งตำบลศรีบัวบานนี้มีขนาดใหญ่มาก (น่าจะใหญ่ที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของตำบลทั้งหมดใน อ.เมืองลำพูน) ครอบคลุมพื้นที่เขตรอยต่อจากดอยขุนตาน อ.แม่ทา ลงมาจนถึงเขต ต.ป่าสัก ต.บ้านกลาง และ ต.มะเขือแจ้ ของ อ.เมือง

ดังนั้น ณ ตอนนี้เราจึงทราบแค่คร่าวๆ ว่าจารึกหลักนี้ได้มาจาก ต.ศรีบัวบาน แต่ไม่สามารถระบุพิกัดของหมู่บ้านที่แยกย่อยลงไปได้อีก

ผู้พบจารึกได้นำมามอบให้แก่โรงเรียนอรพินพิทยา เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของ ต.ในเมือง เขตรอยต่อจะเข้าเทศบาลตำบลต้นธง เนื่องจากคงเห็นว่า โรงเรียนแห่งนี้มีห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

ต่อมาอาจารย์ท่านหนึ่งของโรงเรียนอรพิน (ไม่แน่ใจว่าเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนหรือไม่?) ได้ส่งมอบให้แก่ทางวัดธงสัจจะ ด้วยเห็นว่าพระอธิการเจ้าอาวาสวัดธงสัจจะ เป็นพระนักการศึกษา ทำหน้าที่ช่วยสอนวิชาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ให้เด็กนักเรียนมาอย่างเข้มแข็ง

นี่คือที่มาของศิลาจารึกหลักดังกล่าว

ศิลาจารึกอักษรมอญโบราณสมัยหริภุญไชย ค้นพบใหม่ จัดแสดงในวิหารวัดธงสัจจะ อ.เมืองลำพูน

จารึก “ตชุตรละเรียะ”

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม 2565 ดิฉันได้เรียนเชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรมอญโบราณ มาอ่านจารึกหลักนี้ในวิหารวัดธงสัจจะ อาจารย์พงศ์เกษมใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ทำการอ่าน ถอดความ และวิเคราะห์จารึกไว้ดังนี้

จารึกเขียนด้วยตัวอักษรมอญโบราณ จำนวนเพียง 4 บรรทัด แต่ละบรรทัดเขียนด้วยตัวอักษรขนาดโตมาก มีความคมชัดลึกมากเป็นพิเศษ

พบว่าแผ่นหินที่ใช้เขียนจารึกนั้น เป็นหินทรายเนื้อสีเหลืองค่อนข้างหยาบ ละม้ายกับเนื้อหินของศิลาจารึกอักษรมอญโบราณสมัยหริภุญไชยหลักอื่นๆ เช่น ลพ.1 ลพ.2 ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยอยู่ไม่น้อย

บรรทัดที่ 1 เริ่มต้นด้วยเครื่องหมายขีดสองขีดขนานกัน มีวงกลมคั่นอยู่ตรงกลางแล้วต่อด้วยขีดอีกสองขีด เรียกว่าเครื่องหมาย “อังคั่น” IIOII มีไว้เพื่อเป็นการระบุว่า ต่อจากนี้กำลังจะเริ่มเขียนข้อความแล้ว ทั้งยังใช้เป็นเครื่องหมายปิดประเด็นตอนจบรายการได้อีกด้วย

ต่อจากเครื่องหมายอังคั่น บรรทัดที่ 1 เขียนว่า “ตรละ โปย” (อ่าน ตะ-ระ-ละ โป๊ย) แปลว่า “หมู่กษัตริย์ของเรา หรือชนชั้นสูงหลายพระองค์” (ตรละ = กษัตริย์/ชนชั้นสูง, โป๊ย = เหล่า/พวกเรา)

บรรทัดที่ 2 เขียนว่า “เจติยะ โวะ” แปลว่า “เจดีย์นี้” / “สิโมะ” แปลว่า “ชื่อว่า”

บรรทัดที่ 3 เขียนว่า “ตชุอ์ ตรละ” “แปลว่า “ตชุผู้เป็นใหญ่ที่สุด”

บรรทัดที่ 4 บรรทัดสุดท้ายตัวอักษรลบเลือนถูกกะเทาะหายไป พออ่านได้ว่า “ราส” (อ่าน ร้าด หรือเรียะ) แปลว่า “นคร/แว่นแคว้น/รัฐ”

แปลความรวมทั้งหมดได้ว่า

“ตชุผู้เป็นใหญ่แห่งรัฐ ได้เชิญเหล่ากษัตริย์ (รวมขุนนาง อำมาตย์ ชนชั้นสูง) จำนวนหลายพระองค์ ให้มาช่วยกันสร้างเจดีย์”

ซากศิลาแลงและเศษชิ้นส่วนดินเผาแตกหัก ที่ทางวัดธงสัจจะได้มาพร้อมกันกับศิลาจารึกหินทราย ไม่แน่ใจว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับเจดีย์ที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหรือไม่

ตชุคือใคร เส้นทางสายสัญญาสี

คําว่า “ตชุ” นี้ เป็นภาษามอญโบราณ เคยมีการพบมาก่อนแล้วในศิลาจารึกอักษรมอญโบราณสมัยหริภุญไชยหลายหลัก อาทิ หลัก ลพ.3 จารึกวัดมหาวัน พบคำว่า “ตชุ อรหทีปนี” หรือหลัก ลพ.7 จารึกวัดแสนข้าวห่อ (ชื่อเดิมของที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย) ก็พบคำว่า “ตชุ ตระละ เรียะ”

เดิมเข้าใจกันว่า คำว่า “ตชุ” นี้คงหมายถึง นักบวชระดับสังฆราชา ประมาณประธานสงฆ์ หรือปู่ครู ที่เติบโตมาจากสายศาสนจักรกระมัง

อาจารย์พงศ์เกษมอธิบายว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ แท้จริงแล้ว “ตชุ” ในวัฒนธรรมมอญโบราณ หมายถึงกษัตริย์ที่เคยมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินมาก่อน จากนั้นเมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา เริ่มหันมาปฏิบัติธรรม แล้วเวนราชสมบัติให้แก่รัชทายาท

แนวคิดนี้นิยมมากในหมู่ราชาชาวอุษาคเนย์เมื่อพันกว่าปีก่อน เห็นได้ชัดจากตัวพระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์ศรีหริภุญไชยเอง ก็สละราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสแฝดพี่นั่งบัลลังก์ต่อ แล้วพระนางหันไปนุ่งห่มผ้าขาวเยี่ยงนักบวช

ธรรมเนียมเช่นนี้ คล้ายกับหลักปรัชญาของศาสนาฮินดูที่เรียกว่า “อาศรม 4” คือการแบ่งช่วงวัยในการครองตนของชีวิตออกเป็น 4 ช่วง 1.วัยเยาว์ (พรหมจรรย์) ควรศึกษาเรียนรู้สั่งสมวิทยายุทธอย่างเต็มที่ 2.คฤหัสถ์ วัยครองเรือนสร้างครอบครัว 3.วานปรัศว์ ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีภูมิรู้ 4.สันยาสี การละทิ้งทางโลกย์ หันหน้าสู่ทางธรรม

คำว่า “ตชุ” จึงไม่ได้หมายถึงแค่ “นักบวช” เท่านั้น แต่ต้องเคยผ่านสถานภาพของผู้ปกครองบ้านเมืองมาก่อน กล่าวคือ เป็นอดีตกษัตริย์นั่นเอง

ยิ่งมีคำว่า “ตระละ มาต่อท้าย” ยิ่งชี้ชัดว่า “ตชุ” ผู้นี้ เคยเป็นบุคคลชั้นสูงทางโลกย์มาก่อนหน้าที่จะสละราชสมบัติ แล้วเปลี่ยนสภาพเป็นนักบวช

ซากศิลาแลงและเศษชิ้นส่วนดินเผาแตกหัก ที่ทางวัดธงสัจจะได้มาพร้อมกันกับศิลาจารึกหินทราย ไม่แน่ใจว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับเจดีย์ที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหรือไม่

ทำไม “ตชุ” ต้องใส่ อ์?

อักขรวิธีบางคำคล้ายภาคกลาง

แล้วทำไมในบรรทัดที่ 3 คำว่า ตชุ จึงต้องมี อ์ ต่อท้ายเป็น ตชุอ์ ในขณะที่จารึกหลักอื่นๆ เขียนแค่ ตชุ เท่านั้น

การใช้ อ์ มาต่อท้าย “ตชุ” จนกลายเป็น “ตชุอ์” เช่นนี้ อาจารย์พงศ์เกษมอธิบายว่า เป็นการจงใจเขียนแบบต้องการโชว์ฝีมือของผู้จารมากเป็นพิเศษ ว่ามีความสามารถในการประสมศัพท์แสงแบบรุ่มรวยได้ เช่นเดียวกับศัพท์หลายๆ คำที่ไม่จำเป็นต้องมีตัวสะกดการันต์ก็อ่านได้ใจความอยู่แล้ว แม้กระนั้นก็ยังมีหลายคนที่อยากใส่การันต์ต่อท้ายด้วยเวลาเขียน เช่น

จำนงค์ สำเนาว์ ดำริห์ นิมิตร (อันที่จริงไม่จำเป็นต้องมี ร) เป็นต้น

คำว่า “ตชุ” เคยพบมาก่อนแล้วในจารึกอักษรมอญโบราณผสมปัลลวะ ได้แก่ หลักที่ศาลสูงแปดเหลี่ยม จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี แต่เขียนแค่คำว่า “ชุ” ไม่มี “ต” และอีกแห่งคือ บนผนังถ้ำที่เขางู ราชบุรี ก็เขียนแค่ “ชุ” เฉยๆ

อาจารย์พงศ์เกษมบอกว่า คำว่า “ชุ” กับ “ตชุ” คือคำเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่า ธรรมเนียมการนับถือ “ชุ” หรือ “ตชุ” มีมานานแล้วในวัฒนธรรมทวารวดีภาคกลาง ก่อนที่จะขึ้นมายังนครหริภุญไชย

นอกจากนี้แล้ว บรรทัดแรกสุดยังมีอักษรตัว “ป.ปลา” ที่เขียนแบบมอญภาคกลาง กล่าวคือ ยังไม่มีการใส่ขีดเฉียงพาดขวางกลางตัวพยัญชนะแบบอักษรมอญหริภุญไชย

อีกจุดหนึ่งคือสระโอย ตรงคำสุดท้ายของบรรทัดแรก โดยปกติมอญหริภุญไชยต้องใส่ ย. ซ้อนสองตัว แต่จารึกหลักนี้เข้าอักขรวิธีด้วย ย. ตัวเดียว เป็นการประสมคำแบบมอญทวารวดีภาคกลาง

จุดสังเกตเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้มีความสำคัญมาก เพราะอาจเป็นเครื่องชี้ได้ว่า จารึกหลักนี้ผู้สร้างอาจไม่ใช่ ชาวมอญในหริภุญไชย แต่อาจเป็นกษัตริย์จากเมืองทวารวดีอื่นๆ ทางภาคกลางที่ขึ้นมายังลำพูน

หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้สร้างจารึกนี้อาจเป็นกษัตริย์มอญหริภุญไชย ที่เก่ากว่าพระญาสววาธิสิทธิ (ผู้สร้างจารึก ลพ.1 ลพ.2) ก็เป็นได้ จึงยังคงใช้อักขรวิธีแบบมอญรุ่นเก่าที่สืบเนื่องมาจากภาคกลาง ยังไม่ใช่อักษรมอญโบราณหริภุญไชยแท้ๆ ที่ปรับใหม่ในยุคพระญาสววาธิสิทธิ?

ข้อสำคัญ พระเจดีย์องค์ที่ “เหล่ากษัตริย์” ช่วยกันสร้างนั้นอยู่ที่ไหนหรือ

ทางวัดธงสัจจะให้ข้อมูลเพิ่มว่า นอกจากบริเวณศรีบัวบานจะพบจารึกหลักนี้แล้ว โบราณวัตถุที่ขุดได้พร้อมกันก็คือ กลุ่มชิ้นส่วนเศษซากเจดีย์ที่ทำด้วยศิลาแลงและดินเผา ซึ่งทุกวันนี้ยังวางกองรวมกันอยู่ใต้ต้นไม้ด้านนอกวิหารด้านทิศเหนือ

บางครั้งดิฉันก็แอบตื่นเต้นอยู่ลึกๆ เฝ้าลุ้นว่ามีสิทธิ์เป็นไปได้ไหม ว่าเจดีย์องค์ที่กษัตริย์มาช่วยกันสร้างนั้น อาจจะเป็นพระมหาธาตุหริภุญไชยก็เป็นได้ เพราะเจดีย์องค์ที่จารึกกล่าวถึงควรมีความสำคัญมากๆ และน่าจะใหญ่พอสมควร ถึงขนาด “หัวหน้าตชุ” ต้องระดม “เหล่าตระละ” มาช่วยกันก่อสร้าง?

นี่เป็นเพียงข้อมูลใหม่เบื้องต้น ที่อาจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย ได้ช่วยถอดความปริวรรตให้แก่พวกเราเท่านั้น ต่อจากนี้ นักวิชาการสายหริภุญไชยศึกษาคงต้องช่วยกันวิเคราะห์ตีความอย่างละเอียด โดยเชื่อมโยงกับตำนานหน้าต่างๆ ต่อไป ในฐานะที่ได้จิ๊กซอว์เพิ่มมาอีกหนึ่งตัวแล้ว •