ไม่ได้ยิน แต่ไม่ใช่ไม่รับรู้ / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

ไม่ได้ยิน แต่ไม่ใช่ไม่รับรู้

 

เกือบ 4 เดือนหลังจากงานประกาศผลรางวัลออสการ์ประจำปีนี้ ที่ผมเพิ่งจะได้มีโอกาสชมผลงานที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์ประจำปีนี้

นั่นคือภาพยนตร์เรื่อง “CODA” ที่พ่วงเอารางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม คือ ทรอย คอตเซอร์ และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมโดยเซียน เฮเดอร์ ไปครองด้วย

ซึ่งแต่เดิมตัวเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นภาพยนตร์ที่ต้องดูสักเท่าไหร่ แต่เมื่อได้รับรางวี่รางวัลมาก็ทำให้มีความสนใจมากขึ้น

CODA ย่อมาจากคำว่า Child of Deaf Adults เป็นภาพยนตร์แนวความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่พิเศษกว่าเรื่องอื่นสักหน่อยคือ 4 คนในสมาชิกของครอบครัวเป็นคนหูหนวกเสียสาม นั่นคือ พ่อ แม่ พี่ชาย มีเพียงรูบี้ รอสซี่ น้องสาวคนเล็กคนเดียวที่หูดี รับบทโดยเอมิเลีย โจนส์

รูบี้จึงเติบโตมาท่ามกลางความแตกต่างจากสมาชิกคนอื่น และเมื่อเติบโตขึ้นก็เพิ่มเป็นความแตกแยกด้วย เนื่องจากเป็นคนหูดีคนเดียว เธอจึงเป็นเสมือนล่ามประจำครอบครัวไป ยามใดที่จำต้องสื่อสารกับคนข้างนอก เธอจึงเป็น “ล่ามฟรี” ไปโดยปริยาย

แม้แต่ตอนยังเด็กที่เธอต้องสั่งเบียร์แทนพ่อและแม่ เวลาไปกินอาหารกันข้างนอก

ครอบครัวนี้ทำอาชีพประมง พ่อของเธอบอกว่าเป็นอาชีพเดียวที่ทำเป็น เมื่อเกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินในเวลาต่อมา เขาจึงไม่มีทางเลือกอื่น นั่นทำให้ทวีอุปสรรคในการดำรงชีวิต นอกเหนือจากอุปสรรคในการสื่อสารที่เป็นทุนเดิมเองแล้ว

รูบี้เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายปีสุดท้าย และความฝันของเด็กวัยนี้คือการได้ศึกษาต่อในด้านที่ตนเองรักและสนใจ และสิ่งที่เธอค้นพบว่ามันคือชีวิตจิตใจของเธอคือ “การร้องเพลง”

เหมือนแกล้งนะครับ ที่สิ่งที่เธอรักหนักหนา กลับเป็นสิ่งที่ครอบครัวสัมผัสไม่ได้ และเธอก็ไม่รู้จะสื่อสารอย่างไรให้รับรู้ด้วย

เมื่อเธอเลือกทางเดินของตนเอง นั่นคือการตัดสินใจที่จะแยกตัวออกมาจากครอบครัว เพราะต้องเดินทางข้ามเมืองเพื่อไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยด้านดนตรีชื่อดังที่ชื่อเบิร์กลีย์

ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เธอกลายเป็น “สิ่งจำเป็น” ในการดิ้นรนเอาตัวเองให้รอดของครอบครัวในการต่อสู้กับนายทุนและทางการที่เอาเปรียบ

เดิมทีเมื่อหาปลามาได้ พ่อและชาวประมงคนอื่นก็จะเอาปลามาขายให้นายทุนคนกลางที่มักกดราคาจนแทบจะไม่เหลืออะไร แถมเมื่อมีกฎระเบียบของทางการเข้ามาเกี่ยวกับการตรวจสอบมาตรฐานการทำประมง ก็ยิ่งทำให้การทำมาหากินลำบากไปใหญ่

พ่อและพี่ชายของเธอลุกขึ้นสู้ด้วยการตั้งตัวเป็นสหกรณ์รับซื้อปลาจากเพื่อนชาวประมงด้วยกัน ทำให้พวกเขาต้องออกมาจาก comfort zone เป็นครั้งแรก ทั้งต้องพบปะกับเพื่อนชาวประมงด้วยกัน ทั้งต้องต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของทางการ รวมถึงตำรวจน้ำด้วย ไหนจะต้องขายปลาให้กับลูกค้า และต้องให้สัมภาษณ์กับสื่อที่มาทำข่าวอีกด้วย

รูบี้จึงต้องเป็นหูและปากให้กับครอบครัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้เธออยากจะหนีไปมีชีวิตตามทางของตนเองก็ตาม

ผลของปัญหาและอุปสรรคนี้จะมีทางออกหรือไม่อย่างไร ถ้าใครสนใจก็ลองไปดูจากตัวหนังใน Netflix ได้

ที่จะพูดถึงสักหน่อยคือ กระบวนการทำงานของหนังเรื่องนี้ที่มีความน่าสนใจไม่น้อย ผมเองได้เคยมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับผู้พิการทางการได้ยิน จึงพบว่ามีอุปสรรคอยู่มากในการทำงานโปรดักชั่น ซึ่งที่ผมทำยังเป็นกองเล็กแบบงานโทรทัศน์ แต่กับกองภาพยนตร์ด้วยแล้วเชื่อว่าจะเพิ่มความยุ่งยากขึ้นอีกหลายเท่าตัว

นักแสดงในเรื่องที่เป็นครอบครัวของรูบี้เป็นคนหูหนวกจริงๆ นั่นคือ ผู้กำกับฯ และทีมงานต้องมีกระบวนการสื่อสารแบบพิเศษกับนักแสดงถึงสามคน

อย่างแรกเลย คือ “บท” เพราะภาษาของคนทั่วไปไม่ว่าจะภาษาพูดหรือภาษาเขียน ไม่เหมือนกับภาษามือของคนหูหนวก ถ้าจะเทียบมันไม่ใช่การแปลตรงๆ จากภาษาไทยไปเป็นภาษาอังกฤษ ที่พอจะเทียบเคียงและมีคำศัพท์ที่ใช้กันได้รู้เรื่อง

เอาง่ายๆ อย่างเรื่องชื่อนี่ก็มีประเด็น เราอาจจะชื่อ นายสมศักดิ์ นางสมศรี พี่สมพล แต่ในภาษามือเขาไม่มีคำพวกนี้ ยิ่งถ้าชื่อของเด็กรุ่นใหม่ที่แม้แต่คนทั่วไปยังอ่านไม่ค่อยจะออกเลย ก็อย่าได้หวัง

และเขาเรียกกันอย่างไร เขาใช้สัญลักษณ์จากรูปลักษณ์ที่เห็นมาใช้เรียกแทนครับ อย่างเช่นในข่าวถ้าพูดถึงอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ถ้าเป็นคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาก็จะทำท่าที่ใบหน้าและใช้สัญลักษณ์ว่าดี สวย หล่อ เยี่ยม เพื่อบ่งบอกว่า คนนี้ที่หน้าตาหล่อๆ ไง

ถ้าเป็น คุณทักษิณ ชินวัตร ก็จะทำท่าที่ใบหน้าและตามด้วยรูปเหลี่ยม

ถ้าเป็น คุณสมัคร สุนทรเวช ก็จะทำท่าที่ใบหน้า และตามด้วยจมูกโต

ไม่รู้ว่ากับนายกฯ คนปัจจุบัน เขาทำท่าอย่างไรต้องลองสังเกตดูหน่อย อาจจะทำท่าใบหน้าและทำท่าขึงขังเอามือทุบกัน แบบออกคำสั่งเด็ดขาด เพื่อบ่งบอกถึงการเป็นนายกฯ ที่มาจากเผด็จการรัฐประหารก็เป็นได้

หรือถ้าเป็นลุงป้อมของทุกคน อาจจะทำท่าใบหน้าและทำส่ายหัวบอก ไม่รู้ ไม่รู้ ตามสไตล์ไม่รู้ไม่ชี้ของลุงป้อมเขากระมัง แฮะ แฮะ

ฉะนั้น การแปลงจากบทภาพยนตร์ที่เขียนเพื่อสร้างการสื่อสารให้นักแสดงหูหนวกเหล่านั้นได้เข้าใจและสื่อสารได้ตรงตามอารมณ์ของหนังจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและใช้เวลาอย่างมากทีเดียว

ส่วนคนทำงานเองก็ต้องพลอยต้องรู้ภาษามือไปด้วย โดยต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญช่วย ยกตัวอย่างง่ายๆ คนที่ทำหน้าที่ตัดต่อ หากเป็นนักแสดงทั่วไป เขาก็ฟังเสียงพูดได้ว่าพูดอะไร พูดผิดพูดถูก หรือจบประโยคหรือยัง จะตัดต่อเอาคัตนี้มาต่อคัตนี้ให้คำพูดราบรื่นก็ทำได้ แต่นี่เป็นภาษามือซึ่งคนตัดต่อดูไม่ออกแน่นอนว่าพูดอะไรถึงไหนแล้ว แค่นี้ก็ปวดหัวแล้วครับ

ยิ่งพอไปถึงเรื่องการกำกับการแสดง อันนี้ก็ไม่ง่าย เพราะจะทำอย่างไรให้สามารถดึงอารมณ์จากนักแสดงหูหนวกเหล่านั้นให้ออกมาตามที่ต้องการได้ โชคดีที่นักแสดงบทพ่อคือ “ทรอย คอตเชอร์” เป็นนักแสดงละครเวทีมาก่อน ตัวแม่ก็คือ “มาร์ลี แมทลิน” ที่เคยได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงมาแล้ว จาก “Children of a Lesser God” และ “แดเนียล ดูแรนท์” ในบทลีโอ พี่ชาย ก็เคยมีผลงานการแสดงมาแล้ว จึงมีทักษะด้านการแสดงและสื่ออารมณ์อยู่บ้าง

ซึ่งความน่ารักของบทอย่างหนึ่งคือ ไม่ได้วางแคแร็กเตอร์ของตัวละครหูหนวกให้เป็นเรื่องเศร้า ชวนเวทนาสงสาร และเห็นใจ หากวางให้เป็นตัวละครที่สนุกสนาน มองโลกแบบอารมณ์ดี มีความทะลึ่งตึงตังสักหน่อย ถ้าจะดูจริงจังก็เห็นจะมีกับตัวละครพี่ชายเท่านั้น

ส่วนการเดินเรื่องก็ไม่ได้สลับซับซ้อนลุ่มลึกอะไร หลายฉากพอเดาทางออกว่าจะเป็นอย่างไร ก็พอจะสร้างอารมณ์ร่วมได้ประมาณหนึ่ง

มีฉากที่รูบี้เข้ากับสมาชิกของครอบครัวแต่ละคนที่น่าประทับใจอยู่เหมือนกัน อย่างตอนที่พ่อขอให้เธอร้องเพลงออกมาให้เขาฟังหน่อย และเขาก็ใช้มือสองข้างสัมผัสที่เส้นเสียงตรงลำคอของลูกสาวที่เคลื่อนไหวยามที่เธอเปล่งเสียงร้องออกมา นั่นเป็นสัมผัสที่ทำให้เขาพอจะรับรู้ถึงเสียงเพลงที่ลูกสาวที่รักร้องให้ตนฟังได้โดยไม่ได้ยินเสียงใดๆ เลย

ส่วนกับแม่ ฉากในห้องนอนรูบี้ ที่สองแม่ลูกเปิดใจกันถึงเรื่องการเป็นแม่ที่หูหนวก กับลูกสาวที่พูดได้ รูบี้ถามว่า “แม่เคยนึกอยากให้เธอหูหนวกไหม?” แม่ตอบว่าเคย ในตอนที่รูบี้เกิด เมื่อหมอที่ทำคลอดตรวจอย่างละเอียดและบอกว่า หูของรูบี้ทำงานปกติ แม่ก็ใจหล่นวูบ เพราะได้แต่ภาวนาให้ลูกของตนหูหนวกเหมือนพ่อ แม่ และพี่ชายของเธอ

รูบี้ถามว่าทำไม แม่บอกว่าเพราะแม่กลัวจะต่อไม่ติดกับเธอ เหมือนที่เธอเคยต่อไม่ติดกับแม่ของเธอที่หูดีมาแล้ว แล้วสองแม่ลูกก็กอดกันด้วยความรักความเข้าใจ

ส่วนกับลีโอ พี่ชาย ฉากที่ลีโอพรั่งพรูความรู้สึกของตนที่รู้ว่ารูบี้ยอมทำตัวเพื่อแบกรับปัญหาของครอบครัว แทนที่จะเป็นเขาซึ่งเป็นพี่ชายคนโต เขารู้สึกว่ามันควรเป็นหน้าที่ของเขา แม้มันจะยากเย็นแค่ไหนก็ตาม

เขาทิ้งท้ายด้วยประโยคที่ว่า “แต่ก่อนเราสามคนก็ยังอยู่และเอาตัวรอดกันมาได้ ก่อนจะมีเธอด้วยซ้ำ” แล้วก็เดินจากไป

สําหรับฉากที่น่าประทับใจฉากหนึ่งที่เป็นฉากที่สร้างความเข้าใจในเรื่องการร้องเพลงของรูบี้กับครอบครัวได้ คือ ฉากการแสดงคอนเสิร์ตของโรงเรียนที่เธอขึ้นร้องเพลงร่วมกับเพื่อนๆ จากชมรมร้องประสานเสียง ครอบครัวของเธอมาชมด้วยทั้งที่ไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลย

ในเพลงพิเศษที่เธอร้องคู่กับเพื่อนหนุ่มในชมรม ผู้กำกับฯ ได้แสดงให้ผู้ชมเห็นถึงความรู้สึกของพ่อและแม่ได้เป็นอย่างดี ด้วยการที่เสนอแต่ภาพโดยไม่มีเสียงใดๆ เลย เป็นภาพแทนสายตาของครอบครัวที่สัมผัสได้ และพวกเขารับรู้ว่าการแสดงการร้องเพลงของลูกสาวนั้นวิเศษเพียงไร จากปฏิกิริยาของผู้ฟังคนอื่นๆ ที่ใบหน้ามีความสุข มีความเคลิบเคลิ้มดื่มด่ำกับบทเพลง และบางคนก็ร้องไห้ออกมาด้วยความซาบซึ้ง และเมื่อบทเพลงจบลงทุกคนก็ลุกขึ้นปรบมือให้ทั้งฮอลล์

หนังดูได้เพลิดเพลินและแทรกแง่คิดดีๆ ตลอดทั้งเรื่อง แต่โดยส่วนตัวก็ไม่ได้คิดว่าจะสามารถก้าวขึ้นเป็นหนังยอดเยี่ยม รวมทั้งบทดัดแปลงยอดเยี่ยมได้แข็งแรงพอ หากเทียบกับคู่แข่งคนอื่นๆ

แต่ก็ขอปรบมือดังๆ ให้กับการเปิดพื้นที่ของโลกคนหูหนวกให้สังคมได้รับรู้มากขึ้น เชื่อว่าจะยังมีภาพยนตร์ที่ทำให้คนพิการประเภทต่างๆ ได้มีโอกาสแสดงความสามารถเกิดขึ้นอีก

แม้จะไม่ได้รางวัลออสการ์ หรือรางวัลใดๆ เลยก็ตาม แต่ผลงานเหล่านั้นก็ได้รางวัลที่มีคุณค่าของการเป็นมนุษยชนที่เท่าเทียมกันแล้วล่ะครับ •

 

CODA — Official Trailer