ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กรกฎาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ดาวพลูโตมองดูโลก |
เผยแพร่ |
ดาวพลูโตมองดูโลก
ดาวพลูโต
‘ดอกเบี้ย’ ยาวิเศษของ ธปท.
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ได้ปรับประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปสำหรับปีนี้เป็น 6.2% จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 4.9% และส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นเรื่อยมา
ฟังผ่านๆ ก็ดูสอดคล้องกับนโยบายของนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ไทยเกือบทุกสำนักก็อธิบายไปในทิศทางเดียวกันคือแสดงความเห็นด้วยกับ ธปท. ไม่เห็นมีประเด็นอะไรผิดปกติเลย
เนื่องด้วยนักเศรษฐศาสตร์ไทยเกือบทุกสำนักเห็นสอดคล้องกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย
วันนี้กระผมจึงอยากชวนพูดคุยถกเถียงในมุมมองตรงกันข้ามกับ ธปท.ดูบ้าง
เพื่อให้เห็นมุมมองที่แตกต่างออกไป เหมือนเหรียญที่มี 2 ด้านเสมอ
ก่อนอื่นขออนุญาตออกตัวก่อนว่า กระผมไม่มีความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์เลยแม้แต่น้อย ถ้าเขียนเป็นสมการคณิตศาสตร์ก็คือ ความรู้เศรษฐศาสตร์ที่ข้าพเจ้ามี = 0 ด้วยความด้อยความรู้ผมได้แต่นั่งทับมือตัวเองไว้ จนมือแทบหักเพื่อไม่ให้เขียนเรื่องนี้ แต่ก็อดใจไม่เขียนไม่ได้ต้องเขียนสักหน่อย
ซึ่งจุดประสงค์ไม่ได้เพื่อชี้ว่านโยบายนี้ถูกหรือผิด เพียงแต่อยากให้เกิดการถกเถียงกันก่อนที่จะถึงรอบการประชุมของ กนง.ในเดือนสิงหาคม
ชื่อเต็มของบทความที่ตั้งใจไว้คือ “ดอกเบี้ย” ยาวิเศษของ ธปท. ยาแสลงของรัฐบาล แต่เกรงว่าชื่อจะยาวเกินไป
ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพแบบเดียวกันกับที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยมักใช้เป็นตัวอย่างอยู่เสมอ คือ เปรียบเศรษฐกิจไทยเหมือนรถยนต์ นโยบายการคลังเปรียบเสมือนคันเร่ง ควบคุมโดยทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล นโยบายการเงินเปรียบเสมือนคันเบรก ควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เชื่อเพลิงสำหรับขับเคลื่อน คือ ภาษีอากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ระยะทางที่รถวิ่งไปได้ คือ ความเติบโตของเศรษฐกิจไทย หรือการเพิ่มขึ้นของ GDP นั่นเอง
ปัจจุบันคงจะสรุปแล้วโดยไม่ต้องถกเถียงกันว่าเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอย หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า Regression รถยนต์วิ่งไปเอื่อยๆ รัฐบาลเหยียบคันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้สุดปลายเท้าเพียงใด ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยเหยียบเบรกไว้รถก็ไปไหนไม่ได้ไกล แถมเปลืองน้ำมันที่ประชาชนเติมให้อีก
ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) คือภาวะที่ระดับราคาสินคาและบริการปรับตัวสูงขึ้น ตรงข้ามกับภาวะเงินฝืด (Deflation) ซึ่งในขณะใดขณะหนึ่งสินค้าหมวดหมู่ใดหมวดหมู่หนึ่งอาจมีระดับราคาสูงขึ้นสินค้า สินค้าอีกหมวดหมู่หนึ่งอาจมีระดับราคาลดลงก็ได้ ไม่จำเป็นว่าทุกหมวดหมู่ต้องปรับสูงขึ้นโดยพร้อมเพรียงกัน
ซึ่งภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีภาวะเงินเฟ้อร่วมด้วยหรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า Stagflation ไม่ใช่อะไรใหม่ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว สมัยวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 ของไทย แถวๆ สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และมักเกิดขึ้นเพราะน้ำมันแพง
ทีนี้เราเห็นภาพชัดขึ้นไหมครับว่า ดอกเบี้ยนโยบายก็ส่งผลกระทบการเติบโตหรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และขณะเดียวกันดอกเบี้ยนโยบายก็มีผลต่อการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ยังมีผลต่ออีกหลายๆ อย่าง เช่น การไหลเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศ ค่าเงินบาท การบริโภคและการใช้จ่ายของภาคเอกชน เป็นต้น เรียกได้ว่า ยาวิเศษรักษาได้ทุกโรคจริงๆ ถ้าใช้ถูกวิธี หากใช้ผิดวิธีจะกลายเป็นยาผีบอกได้
ความยากของการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายคือต้องพิจารณาให้รอบคอบเนื่องจากใช้แก้ไขปัญหาหนึ่งอาจกระทบอีกจุดหนึ่งเกิดเป็นปัญหาใหม่ขึ้นมา เช่น ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้ออาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคของภาคครัวเรือนได้เช่นกัน เป็นต้น แต่ทุกอย่างนั้นขึ้นกับตัวเลขปัจจัยต่างๆ ในขณะนั้นๆ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว
แล้วทำไมการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาภาวะเงินเฟ้อในครั้งนี้ของไทย?
หลายท่านคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “นโยบายการคลังใช้เวลาเศรษฐกิจซบเซา นโยบายการเงินใช้เวลาเศรษฐกิจร้อนแรง” เรียกได้ว่าเป็นหลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มหภาค แม้แต่นักเรียนกฎหมายยังได้ยินตอนเรียนวิชาภาษีอากร การจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขัดกับหลักการข้อนี้เป็น ประการแรก เพราะจะทำให้เศรษฐกิจถดถอยหนักขึ้น
ประการที่ 2 วิธีการแก้ไขปัญหาเงิน ตามตำราเศรษฐศาสตร์ทุกตำราเขียนเหมือนกันว่าใช้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการแก้ไขปัญหา แม้กระทั่ง FED เองก็ใช้วิธีการนี้ ทั้งโลกก็ใช้วิธีการเดียวกัน ยิ่งทำให้สัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทยดูปกติและถูกต้องตามตำราทุกประการเข้าไปอีก
แต่เมื่อพิจารณาให้ละเอียดลึกลงไป กลุ่มสินค้าที่ระดับราคาปรับสูงขึ้นได้แก่ สินค้าหมวดพลังงาน ไฟฟ้า เชื้อเพลิง การขนส่ง และอาหาร โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นนับจากต้นปีเทียบกับปีที่ผ่านมา 17.08% กลุ่มไฟฟ้า เชื้อเพลิง ประปาและแสงสว่างปรับตัวสูงขึ้น 20.07% กลุ่มพลังงาน 29.78% ส่วนสินค้ากลุ่มอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นก็เพราะปัจจัยค่าขนส่งและเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น
สรุปก็คือปัจจัยเดียวกันคือราคาพลังงานปรับตัวสูงขี้น สินค้าหมวดอื่นๆ กลุ่มอื่นๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติเกือบจะเป็นศูนย์ บางหมวดติดลบ
การเอาตัวเลขรวมของเงินเฟ้อทั้งระบบแล้วบอกว่าต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องเหยียบคันเร่งแล้ว เพราะตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 ดีกว่าคาด?!? และต้องทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อไม่ติด ดูจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่
ลองเทียบบัญญัติไตรยางศ์ว่าหากจะให้เงินเฟ้อเหลือ 1-3% ตามที่ ธปท.ประกาศเป้าหมายไว้ สินค้าหมวดอื่นๆ นอกจากพลังงานต้องลดลงมากเพียงใดเพื่อจะให้ผลรวมลดจาก 7% เหลือ 3% แค่คิดก็เสียวแล้ว
ในทางปฏิบัติทำไม่ได้หรอกเพราะผู้ประกอบการต้องรวมราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นไว้ในต้นทุนสินค้า ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจะให้ผู้ประกอบการขายสินค้าขาดทุนคงไม่มีใครผลิตให้หรอก
เงินเฟ้อตามที่นักเศรษฐศาสตร์แบ่งไว้ตามสาเหตุของเงินเฟ้อมี 2 ประเภท คือ cost-push inflation และ demand-pull inflation แปลเป็นไทยก็ฟังดูมุ้งมิ้งน่ารักหน่อยว่า “ต้นทุนดัน” กับ “ความต้องการดึง”
เงินเฟ้อแบบความต้องการดึง คือ ตลาดมีความต้องการสินค้าเพิ่มสูงขึ้นเศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรง แบบนี้ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัวมากเกินไปใช้ได้ผลแน่นอน
แต่เงินเฟ้อแบบต้นทุนดัน ต้องไปดูว่าต้นทุนรายการใดที่ปรับตัวสูงขึ้นถึงจะแก้ไขปัญหาได้ การใช้การขึ้นดอกเบี้ยไม่ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวลงแถมจะสร้างปัญหาเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาเพิ่ม
ประการที่ 3 ประเทศไทยนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ราคาน้ำมันถูกกำหนดจากราคาตลาดโลก ไม่สามารถกำหนดราคาได้เอง
แม้ประเทศไทยขึ้นอัตราดอกเบี้ย 200% แบบประเทศซิมบับเว ราคาน้ำมันก็ไม่ได้ถูกลง (ภายใต้เงื่อนไขค่าเงินไม่เปลี่ยนแปลง) เพราะเรากำหนดราคาพลังงานเองไม่ได้
แม้แต่น้ำมันที่ผลิตในประเทศเรายังกำหนดราคาเองไม่ได้ เพราะราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ราคาเกิดจากจุดตัดของอุปสงค์และอุปทาน
และหากขึ้นดอกเบี้ยแล้วแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อจากวิกฤตพลังงานรอบนี้ได้จริง ทำไมหลายๆ ประเทศ เช่น ซิมบับเว ศรีลังกา หรือลาว ที่ดอกเบี้ยสูง ปัญหาเงินเฟ้อก็ไม่หมดไป แถมอัตราเงินเฟ้อก็สูงขึ้นตามไปด้วย
ประการที่ 4 โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีขนาดเล็กและเปิด หากสินค้าใดแพงก็สามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้ ราคาสินค้าในประเทศและต่างประเทศจึงไม่แตกต่างกันมากหากไม่ใช่สินค้าที่มีมาตรการควบคุม
ไทยเองพึ่งพาการนำเข้าและส่งออก รวมกันประมาณ 120% ของ GDP แตกต่างจากโครงสร้างเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่มีการนำเข้าและส่งออกรวมกันเพียง 25% ของ GDP และมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่
การ Copy-Paste นโยบายเศรษฐกิจจากอเมริกามาใช้ที่ไทยย่อมทำไม่ได้ บริบทไม่เหมือนกัน
คําถามต่อมา หากธนาคารแห่งประเทศไทยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลอย่างไรบ้าง?
ข้อแรกเลยเหมือนที่เกริ่นไว้ตอนต้น เศรษฐกิจไทยถูกเหยียบเบรก เติบโตไม่เกิน 3% แน่นอน เพราะการบริโภคภายในประเทศจะลดลง แต่ละครัวเรือนที่มีหนี้สินต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
นอกจากการบริโภคลดลงแล้วการลงทุนก็ลดลงเป็นผลต่อเนื่องจากที่การบริโภคลดลง
ที่ลงทุนไปแล้วก็จะปิดกิจการมากขึ้น และในระยะสั้นค่าเงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น ส่งออกลำบากขึ้น อาจได้เห็นขาดดุลการค้าทั้งปีติดลบ 5 แสนล้านบาทก็เป็นไปได้ ประมาณการ GDP น่าจะปรับลดลงจากที่ประมาณการไว้เมื่อพฤษภาคมอยู่ที่ประมาณ 2.5-3.5% จะปรับลดลง 1-1.5% เหลือเติบโตเพียง 1-2% GDP หายไปประมาณ 1.8-2.7 แสนล้านบาท
บางท่านแย้งว่า เราจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้ประกอบการขึ้นราคาสินค้านำหน้าไปก่อน ถ้าผู้ประกอบการปรับราคาขึ้นได้เขาทำไปแล้ว
ถ้าเราเชื่อมั่นในกลไกของตลาดที่สมบูรณ์ ตลาดจะทำหน้าที่กำหนดราคาจากอุปสงค์และอุปทานเอง ผู้ประกอบการไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าได้เองตามใจชอบ
ที่เล่ามาทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่ใช่อะไรหรอก ถ้าหากธนาคารแห่งประเทศไทยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออกนอกประเทศ กระผมจะไม่แย้งเลยสักคำและเห็นด้วยถ้าจะใช้เหตุผลนี้ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
แต่ขอให้นำตัวเลขมาเปิดเผยถกกัน ไม่ใช่บอกว่าเพื่อลดเงินเฟ้อ
ปัญหาต่อไปที่รัฐบาลต้องประสบในอนาคตหากน้ำมันยังแพงคือ การขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หนีไม่พ้นอย่างแน่นอน
สุดท้าย จะลดเงินเฟ้อพร้อมๆ กับลด GDP หรือ จะยอมให้มีเงินเฟ้อแต่ GDP เติบโต ต้องเลือกเอา