‘แผนหลั่งเลือดที่วังปารุสก์’ การลอบสังหารพระยาพหลฯ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง
บันทึกความทรงจำของโพยม โรจนวิภาต "สายลับพระปกเกล้า"

ความน่าเศร้าสลดใจจากเหตุการณ์การลอบสังหารนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมนั้น มิใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นสมัยใหม่เคยมีการลอบสังหารนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ อินูไค สึโยชิ ผู้ถูกกลุ่มทหารหนุ่มชาตินิยมลอบสังหารเมื่อ 90 ปีก่อนอันเป็นชนวนเปิดทางให้กองทัพเข้ากุมบังเหียนเหนือรัฐบาลในที่สุด

สำหรับประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เคยมีการลอบสังหารนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น เราสามารถตอบได้เลยว่า เคยมีความพยายามลอบสังหารนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเริ่มประชาธิปไตย หลายครั้งหลายหน โดยกลุ่มปฏิปักษ์ทางการเมืองและผู้สูญเสียอำนาจทางการเมืองหลายครั้งนับแต่การก่อกบฏบวรเดช

กล่าวคือ ภายหลังการปฏิวัติที่ปิดฉากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงอย่างฉับพลันได้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งในกลุ่มอำนาจเก่า นำไปสู่ด้วยความหวาดระแวงต่อกัน

ส่งผลให้แต่ละฝ่ายต่างตัดสินใจที่จะมีมาตรการเตรียมตอบโต้ซึ่งกันและกัน

 

“ตำรวจสันติบาล”
กับ “หน่วยราชการพิเศษ”

ภายหลังการปฏิวัติแล้ว รัฐบาลจัดตั้ง “ตำรวจสันติบาล” ทำหน้าที่เป็นตำรวจลับ มีอำนาจสืบสวน สอบสวน ปราบปรามทั่วราชอาณาจักร รวมถึงปฏิบัติภารกิจที่รัฐบาลระบอบใหม่มอบให้คือ การสอดส่องดูแลพฤติกรรมของกลุ่มปรปักษ์ทางการเมืองของรัฐบาลหรือการต่อต้านการก่อการรัฐประหารนั่นเอง (สมพงษ์ แจ้งเร็ว, 2544, 42)

ในขณะที่กลุ่มอำนาจเก่าก็มีการจัดตั้ง “หน่วยราชการพิเศษ” ของตนเองเช่นเดียวกัน จากบันทึกความทรงจำของหม่อมเจ้าหญิง พูนพิสมัย ดิศกุล ทรงบันทึกการจัดตั้งสายลับชนิดต่างๆ ขึ้นของทั้งสองฝ่ายว่า “…ลงท้าย เขาก็ต่างคนต่างหาพวกคิดสู้กันเอง จนมีนักสืบ (spy) และนักสืบพิฆาฏ (training murderer) เกิดขึ้นชุกชุมในที่ทุกแห่ง…” (พูนพิสมัย ดิสกุล, 2544, 113)

สอดคล้องกับบันทึกของ โพยม โรจนวิภาต (อ.ก.รุ่งแสง) ข้าราชการราชสำนักเปิดเผยว่า เขาเป็นสายลับของราชสำนักและมีรหัสปฏิบัติงานว่า “พ.27” เขาบันทึกว่า ภายหลังการปฏิวัติแล้ว ราชสำนักจัดตั้งหน่วยราชการพิเศษหรือหน่วยข่าวกรองขึ้นเพื่อสอดส่องพฤติกรรมของเหล่าพระราชวงศ์และรายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ให้ทราบว่า ใครทำอะไรที่ไหน

ข่าวสารจากเหล่าสายลับนี้จะถูกเสนอต่อเสนาบดีกระทรวงวังทุกคืน จดหมายทุกฉบับจะมีการตีตราครั่งด้วยตราพิเศษ ชื่อย่อของสายลับ จากนั้นจดหมายเหล่านี้จะถูกส่งไปยังไกลกังวล เขาเล่าเสริมว่า “หน่วยราชการพิเศษนี้ ใช้บุคคลจำนวนจำกัดที่สุด ไม่มีงบประมาณเป็นล้านๆ จากภาษีอากรของราษฎร…หัวหน้าหน่วยงานนี้เป็นผู้ซึ่งผู้สำเร็จราชการสำนักพระราชวัง และข้าราชการผู้ใหญ่ระดับสูงที่ใกล้ชิดบางท่านได้คัดเลือกว่าเหมาะสม…” โดยบุคคลเหล่านี้จะต้องเป็นผู้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย (อ.ก.รุ่งแสง, 2521, 191-193)

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจเก่าจึงไม่รอดพ้นจากสายตาของตำรวจสันติบาลของรัฐบาลที่เฝ้าสอดส่องดูแลปฏิปักษ์อย่างยาวนานไปได้ ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจเก่าจึงอยู่ในสายตาของรัฐบาลมาตลอด (สมพงษ์ แจ้งเร็ว, 77)

วังปารุสกวัน ทำเนียบรัฐบาลและบ้านพักนายกรัฐมนตรีหลัง 2475

แผนต่อต้านการปฏิวัติ 2475

ก่อนเกิดกบฏบวรเดช ไม่นาน มีบันทึกเล่าถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจเก่าที่วิพากษ์วิจารณ์การปกครองประชาธิปไตยว่า “สำหรับประเทศเรายังไม่สมแก่ระบอบเช่นนี้ เพราะพลเมืองของเรายังป่าเถื่อนอยู่มาก ดีเฉพาะแต่พวกการศึกษาสูงและข้าราชการเท่านั้น นอกนั้น มันก็เหลว ทั้งเรื่อง นิสัยของคนไทยโดยมากแทบถูกจูงจมูกกันได้ง่ายๆ… เมื่อครั้งเจ้าคุณมโนฯ ท่านเข้าใจบั่นรอนและลิดแขนงทางอำนาจออกทีละเล็กทีละน้อยเกือบเป็นผลสำเร็จ ” (กรมโฆษณาการ, 2482, 296-297)

รัฐบาลเริ่มระแคะระคายถึงความเคลื่อนไหวบางอย่างของกลุ่มอำนาจเก่า ดังนั้น ตัวแทนรัฐบาล คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลวงศุภชลาศัยจึงออกหนังสือเตือนนายทหารผู้ใหญ่ที่ภักดีกับระบอบเก่าหลายคนเช่น พระยาศราภัยพิพัฒน์ และพระองค์เจ้าบวรเดช ให้วางตัวให้สงบ (ประยูร ภมรมนตรี, 2518, 273-274)

คำให้การของสายลับ

ส่วนในด้านปฏิปักษ์นั้น โพยม โรจนวิภาตหนึ่งในสายลับ ผู้เป็นข้าราชการกระทรวงวังและนักหนังสือพิมพ์บันทึกว่า เขาทำหน้าที่เป็นสายลับของราชสำนักและมีรหัสปฏิบัติงานว่า “พ.27” ทำหน้าที่รายงานลับ โดยจดหมายลับทุกฉบับจะถูกจัดส่งโดยข้าราชการกระทรวงวังด้วยรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงไกลกังวล (อ.ก.รุ่งแสง, 2521, 192-193)

เขาเล่าต่ออีกว่า เขาเคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์” หรือการลอบสังหารผู้นำคนสำคัญของรัฐบาล ที่พำนัก ณ วังปารุสกวัน ขณะนั้น ซึ่งกลุ่มอำนาจเก่าคาดหวังว่า หากแผนการนี้สำเร็จจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถต่อต้านการยกทัพประชิดพระนครของพระองค์เจ้าบวรเดชได้

“แผนหลั่งเลือดในวังปารุสก์” อันเป็นแผนการกลุ่มบวรเดชที่อยู่ในพระนครจัดขึ้น เป็นแผนคู่ขนานไปกับกองทัพจากหัวเมืองของพระองค์เจ้าบวรเดชยกทัพประชิดพระนคร ด้วยการบุกเข้าสังหารบุคคลคนสำคัญของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งพักอยู่ในวังปารุสกวันเพื่อสกัดการต่อต้าน ตามแผนนี้ จะมีการจ้างนักเลงปืนชั้นยอดจากต่างจังหวัดมากำจัดบุคคลสำคัญ โดยจังหวะการลงมือตามคำบอกเล่าของ “พ.27” คือ เมื่อบุคคลสำคัญนั้นรีบออกมาจากที่พักขณะมีเสียงสัญญาณเตือนบอกเหตุร้ายดังขึ้น เมื่อกองทัพจากหัวเมืองยกมาถึงสถานีจิตรลดา และกองหน้าส่วนหนึ่งกำลังบุกเข้าวังปารุสก์แล้ว

เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง และโพยม โรจนวิภาต สายลับรหัส “พ.27”

อย่างไรก็ตาม แม้นว่าสายลับคนนี้ไม่ได้ระบุว่าคนสำคัญในที่นี้เป็นใคร แต่เขาได้เคยให้ร่องรอยไว้ว่า มีแผนจู่โจมแกนนำของรัฐบาลทั้งคู่ ณ วังปารุสก์ คือ พระยาพหลฯ กับจอมพล ป. แต่ช่วงเวลานั้น นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ เนื่องจากไปราชการต่างจังหวัด จึงเหลือแต่จอมพล ป. พักอยู่คนเดียว ดังนั้น หากแผนการในวันนั้นสำเร็จ จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรี คงตกเป็นเหยื่อการลอบสังหารในวันนั้นนั่นเอง

“พ.27” อธิบายแผนการต่อไปว่า “…เมื่อมือปืน ทำงานสำเร็จแล้ว จะต้องวิ่งลงจากตัวตึก ผ่านไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้บนแผนผังบริเวณวัง ตามที่เขาได้ศึกษาแล้วอย่างทะลุปรุโปร่ง… จะไม่รู้ก็เพียงว่า จุดดับของตัวเขาเองอยู่ตรงไหนเท่านั้น! เมื่อวิ่งมาถึงมุมหนึ่งของตึก ซึ่งเป็นจุดจบ ตามแผนการอันโหดเหี้ยมตามแบบฉบับที่ผู้มีอำนาจใหญ่ในยุคทมิฬนั้นชอบใช้กัน การกระทำดังกล่าวนี้คือ การปิดปากมือปืน ที่เขาจ้างมาด้วยการยิงทิ้งเสียทันที ตรงจุดที่เขาจัดวางมือปืน พวกของเขาไว้คอยลงมือสังหาร นักเลงมือปืนรับจ้าง เสียด้วย เพื่อเป็นการปิดปาก! ฆาตกรที่ถูกจัดเตรียมมาไว้ฆ่ามือปืนรับจ้างนั้น มีอยู่แล้ว 2 คน เพื่อช่วยกันปฏิบัติงานให้ได้ผลแน่นอน!…”

แผนการนี้ต้องการให้มือปือสังหารผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎร เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนภายในรัฐบาล ทำให้ขาดเสถียรภาพของการสั่งการ จากนั้นจึงให้มือปืนชุดที่สอง สังหารมือปืนชุดแรกเพื่อปิดปาก (อ.ก.รุ่งแสง, 2521, 80-82)

สายลับ “พ.27” เล่าว่า เขาขอเข้าไปแอบดูมือปืนปฏิบัติงาน เพื่อจะได้เขียนรายงานให้แน่ใจถูกต้อง แต่เขากลับได้มอบหมายให้เป็นมือปืนชุดที่สองเพื่อสังหารมือปืนชุดที่หนึ่ง สุดท้าย เขาได้รับปืน 2 กระบอกใช้ป้องกันตัว ยามจำเป็น เพื่อมิให้สายลับกลายเป็นศพตกเป็นหลักฐานให้รัฐบาลสืบสาวราวเรื่องมายังต้นแหล่งได้

อย่างไรก็ตาม แผนการดังกล่าวไม่สำเร็จเนื่องจากฝ่ายกบฏมาล่าช้าไม่ตรงตามนัดหมายทำให้แผนนองเลือดดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นได้ตามแผนของพวกเขาได้ กระนั้นก็ดี แผนการสอบสังหารผู้นำคณะราษฎรโดยฝ่ายปฏิปักษ์ยังคงเกิดขึ้นติดตามมาอีกหลายครั้งในช่วงต้นของระบอบประชาธิปไตย

เป้าหมายสังหาร คือ พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี และจอมพล ป. รัฐมนตรี แกนนำคนสำคัญ