หลักฐานฝ่ายล้านช้าง ‘พระนางยอดคำทิพย์’ มิใช่ราชนิกุลล้านนา? (1) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

หลักฐานฝ่ายล้านช้าง

‘พระนางยอดคำทิพย์’

มิใช่ราชนิกุลล้านนา? (1)

 

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ดิฉันได้จัดเสวนากึ่งวิชาการในช่องทางคลับเฮาส์ให้กับเครือข่าย ทั้งกลุ่มมัคคุเทศก์ และกลุ่มฉันลุกแพร่มา เนื้อหาที่นำมาพูดคุยจะเน้นแลกเปลี่ยนการนำเสนอความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนา ด้วยการเชิญผู้รู้ด้านล้านนาศึกษาหลากหลายด้านมาคุยกันยามค่ำราว 1 ทุ่มจนถึงเที่ยงคืนวันเสาร์อาทิตย์

และแล้วก็ถึงคิวของหัวข้อหนึ่ง ที่ชื่อว่า “ยุคเสื่อมของอาณาจักรล้านนา” (เริ่มจากสมัยรัชกาลของพระเมืองเกษเกล้า ท้าวซายคำ พระนางจิรประภามหาเทวี พระไชยเชษฐา พระเมกุฏิ พระนางวิสุทธิเทวี จบลงในยุคที่บุเรงนองยึดล้านนา)

กับอีกหัวข้อหนึ่ง จัดร่วมกับ “คุณซอนญ่า สร้อยนภา” กลุ่ม THEA’S CLUB ชื่อ “ล้านนา-ล้านช้าง สัมพันธ์กันฉันใด?”

ทั้งสองหัวข้อนี้ดิฉันจำเป็นต้องได้ผู้เชี่ยวชาญด้าน “ล้านช้างศึกษา” มาร่วมแจมด้วยสัก 1-2 คน เพราะประวัติศาสตร์ช่วงนั้น ล้านนากับล้านช้างมีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น ทั้งเชิงบวก-เชิงลบ เป็นทั้งมิตร-ศัตรู เป็นทั้งสหายร่วมรบและคู่แข่งตัวฉกาจ

เมื่อขอคำปรึกษาจาก ดร.ธีระวัฒน์ แสนคำ นักประวัติศาสตร์สายล้านช้าง มีมิตรจิตมิตรใจกันผ่านทางเฟซบุ๊กมายาวนานกว่า 10 ปี โดยที่ยังไม่เคยได้พบตัวจริงเป็นๆ น้องชายผู้แสนดีให้คำแนะนำว่า ตอนนี้ในวงการ “ล้านช้างศึกษา” นั้น มีนักวิชาการอิสระเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง อาชีพหลักทำงานด้านกฎหมาย แต่ชอบค้นคว้าเรื่องล้านช้างล้านนาอย่างเจาะลึกทะลุปรุโปร่ง

ดร.ธีระวัฒน์แนะนำว่า ดิฉันควรติดต่อไปที่ คุณ “ธีรานนท์ โพธะราช” แทนมากกว่า

คุณธีรานนท์ตอบตกลงยินดีร่วมแจมการเสวนาทั้งสองรายการ แต่มีการออกตัวเล็กน้อยว่า “ทฤษฎีที่ผมจะนำเสนอนั้น มันค่อนข้างจะขัดแย้งกับองค์ความรู้เดิมๆ ที่ชาวล้านนาเคยเชื่อถือกันมานาน ไม่ทราบว่าจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่าครับ”

เมื่อดิฉันลองฟังตัวอย่างบางข้อคิดเห็นของคุณธีรานนท์ผ่านการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ พบว่าเป็นทฤษฎีที่ขัดแย้งกับองค์ความรู้เดิมของชาวล้านนามากจริงๆ

แต่ในโลกของประวัติศาสตร์ ไม่มีอะไรผิดหรือถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ การศึกษาประวัติศาสตร์ต้องไม่หยุดนิ่ง ไม่มีทฤษฎีอะไรตายตัวมิใช่หรือ ขึ้นอยู่กับว่า คนรุ่นหลังจักสามารถค้นหาหลักฐานอะไรใหม่ๆ มายืนยัน มาหักล้าง หรือมาเสริมทฤษฎีเดิมๆ ได้แค่ไหนต่างหากเล่า

ดิฉันตัดสินใจแล้วว่า ยินดีเปิดพื้นที่เชื่อมโยงแนวคิดของคุณธีรานนท์มาสู่โลกคลับเฮาส์ที่ผู้ฟังเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นผู้มีพื้นฐานด้านล้านนาศึกษามาอย่างละเอียด เพื่อให้คุณธีรานนท์ได้เสนอแนวคิดที่ว่า

1. พระนางยอดคำทิพย์ ผู้เป็นพระราชมารดาของพระไชยเชษฐา ที่เคยรับรู้กันทั้งประเทศว่านางเป็นราชนิกุลฝ่ายล้านนานั้น ที่แท้แล้วเป็นชาวล้านช้าง เรื่องนี้เรื่องใหญ่มากนะคะ เพราะเท่ากับว่า พระเจ้าไชยเชษฐาเอง ก็ย่อมมีทั้งพ่อและแม่เป็นสายล้านช้าง?

2. พระนางจิรประภา ที่เคยรับรู้ว่าน่าจะเป็นพระมเหสีของพระเมืองเกษเกล้านั้น ไปๆ มาๆ น่าจะเป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระบิดาพระเมืองเกษเกล้า คือพระเมืองแก้วมากกว่า ซึ่งประเด็นเรื่องพระนางจิรประภามหาเทวี ก็สุดจะซับซ้อนซ่อนเงื่อน จำเป็นต้องใช้พื้นที่แยกต่างหากในการขยายความอย่างละเอียดในฉบับถัดๆ ไป

ฉบับนี้และฉบับหน้าขอเปิดประเด็นร้อนแรงแค่เรื่อง เสด็จแม่ของพระเจ้าไชยเชษฐามิใช่ราชนิกุลล้านนาก่อน

 

สายตระกูลของพระนางยอดคำทิพย์

จากเอกสารฝ่ายล้านนา

เอกสารในฝ่ายล้านนามีเพียงฉบับเดียวคือ “พื้นเมืองเชียงแสน” ที่กล่าวอ้างว่า “พระนางยอดคำทิพย์” (บางเล่มเขียน นางยอดคำ) มีศักดิ์เป็นน้องสาวของ “ท้าวซายคำ” กษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 13 (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.2081-2086)

ซึ่งท้าวซายคำเป็นราชบุตรของพระเมืองเกษเกล้า (หรือพระญาเกศเชษฐราช กษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 12 ครองราชย์สองช่วง ครั้งแรก พ.ศ.2069-2081 ครั้งที่ 2 พ.ศ.2086-2088) ฉะนี้แล้ว นางยอดคำผู้เป็นน้องสาวของท้าวซายคำ ก็มีสถานะเป็นราชธิดาของพระเมืองเกษเกล้าด้วยเช่นกัน

ดังที่เอกสาร “พื้นเมืองเชียงแสน” ให้รายละเอียดไว้ว่า

“…ถัดนั้นพระอุปโย ลูกนางยอดคำ ลุกเมืองล้านช้าง มากินเชียงใหม่แทนท้าวซายคำตนเป็นลุงเล่า เหตุว่าแม่เป็นลูกพระเมืองเกศเกล้าแล…”

คำว่า “พระอุปโย” หมายถึงพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ขณะที่มากินเมืองเชียงใหม่นั้นยังทรงพระเยาว์อายุเพียง 12 ชันษา จึงเรียกว่า พระอุปโย หรือพระอุปเยาว์

จากข้อความนี้ เห็นภาพวงศาคณาญาติได้ชัดเจนว่า พระไชยเชษฐามีสถานะเป็นโอรสของนางยอดคำ (นางยอดคำเป็นมเหสีของพระเจ้าโพธิสาลราช กษัตริย์ล้านช้าง) นางยอดคำเป็นธิดาของพระเมืองเกษเกล้า (ส่วนพระราชมารดาของนางยอดคำ เดิมเคยเชื่อว่าคือพระนางจิรประภานั้น ตอนนี้เริ่มลังเลสงสัยเสียแล้วว่าอาจไม่ใช่ เอาไว้ฉบับหน้าค่อยว่ากัน)

นางยอดคำเป็นน้องสาวของท้าวซายคำ ผู้เป็นราชบุตรของพระเมืองเกษเกล้าเช่นกัน และท้าวซายคำมีฐานะเป็นลุงของพระไชยเชษฐา

นี่คือหลักฐานฝ่ายล้านนาที่ระบุชัดว่า พระมารดาของพระไชยเชษฐาธิราช นามพระนางยอดคำทิพย์ มีสถานะเป็นราชนิกุลฝ่ายล้านนา

 

ตำนานพระแก้วมรกต

ระบุเรื่องการถวายธิดาล้านนา

ให้กษัตริย์ล้านช้าง

นอกจากพื้นเมืองเชียงแสนแล้ว “ตำนานพระแก้วมรกต” จากประชุมพงศาวดารภาคที่ 1 เล่มที่ 1 ซึ่งรจนาขึ้นในล้านช้างราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ก็มีเนื้อหาสอดคล้องต้องตรงกันในทำนองว่า พระเมืองเกษเกล้า (เอกสารนี้เรียกว่า พระญาพรหมราช) ได้พระราชทานนางยอดคำ พระธิดาไปเป็นพระอัครมเหสีของพระญาโพธิสาลราช กษัตริย์ล้านช้าง ขอยกความมาอย่างละเอียดดังนี้

“พระเจ้าโพธิสารราช (เอกสารบางเล่มใช้ ล บางเล่มใช้ ร) ครองราชย์สมบัติในเมืองศรีสัตนาคนหุตอุดมรัตนชวาละวัติมหานคร ท่านมีบุญสมภารก็มาก มีเดชานุภาพก็มากนัก แต่นั้นยังมีพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งครองราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ ท่านได้ยินข่าวสารว่าพระเจ้าโพธิสารราชมหากษัตริย์ มีบุญฤทธิ์ อิทธิฤทธิ์ มหิทธิศักดานุภาพมากนัก ดังนั้น ท่านก็มีความยินดีซึ่งบุญพระเจ้าโพธิสารราชมหากษัตริย์เป็นนักหนา

ท่านจึงให้อำมาตย์นำเอาพระราชธิกาองค์หนึ่ง อันเป็นบุตรของท่านนั้น ชื่อว่า ‘นางยอดคำราชกัญญา’ มาถวายพระเจ้าโพธิสารราชมหากษัตริย์พระองค์นั้นแล

จึงพระเจ้าโพธิสารราชมหากษัตริย์พระองค์นั้น ท่านก็ได้ตั้งไว้ยังนางยอดคำราชกัญญาองค์นั้น ให้เป็นอัครมเหสีแล้ว จึงแปลงพระนามว่า ‘นางหอสูง’ นั้นแล อยู่ไปข้างหน้าแต่นั้น จึงนางหอสูงราชเทวีองค์นั้น ก็ประสูติพระราชโอรสองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า เจ้าชัยเชษฐาราชกุมารนั้นแล”

นี่คือหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่เขียนขึ้นในช่วงใกล้เคียงกับยุคที่พระเจ้าไชยเชษฐายังมีพระชนม์ชีพ

ภาพจากจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน

แม่พระไชยเชษฐา

เป็นลูกของกษัตริย์ล้านช้างลำดับที่ 5

จนกระทั่ง คุณธีรานนท์ได้เปิดเผยข้อมูลใหม่ อันเป็นเอกสารฝ่ายล้านช้างในรายการคลับเฮาส์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2564 (เสวนาหัวข้อ “ยุคเสื่อมของอาณาจักรล้านนา” ) และอีกครั้งวันที่ 17 เมษายน 2565 (เสวนาหัวข้อ “ล้านนา-ล้านช้าง สัมพันธ์กันฉันใด?) ว่า

มีเอกสารลาวฉบับหนึ่งชื่อ “พื้นขุนบรมราชาธิราช ฉบับวัดธาตุหลวง นครหลวงพระบาง” รจนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2403 ว่า

“พระโพธิสาลราชเสวยบ้านเมือง จึงมีลูกชาย 1 ดอมนางใหญ่ผู้หนึ่ง ชื่อนางหอสูง ตนนางนั้นเป็นเชื้อพระยาจิกคำ ทั้งเป็นเชื้อนางน้อยอ่อนสอ ลูกชายตนนั้น แม่นพระไชยเสฐาทิราชนิแล…”

ข้อมูลชุดนี้คุณธีรานนท์อธิบายเพิ่มเติมว่าหมายถึง พระมารดาของพระไชยเชษฐาธิราช หรือผู้เป็นมเหสีของพระเจ้าโพธิสาลราชนั้น มีชื่อว่า “นางหอสูง” นางเป็นลูกสาวของพระญาจิกคำ ซึ่งพระญาจิกคำมีเชื้อสายมาจาก “นางน้อยอ่อนสอ”

ถามว่าทำไมจึงกลายเป็นหนังคนละม้วนกันซะยังงั้น ข้อมูลชุดพื้นขุนบรมทำไมจึงขัดแย้งกับข้อมูลที่ได้จาก “พื้นเมืองเชียงแสน” และ “ตำนานพระแก้วมรกต” โดยสิ้นเชิง

ใครคือ “พระญาจิกคำ” ไหนจะ “นางน้อยอ่อนสอ” อีก คุณธีรานนท์สืบค้นต่อไป ได้ข้อมูลมาว่า

พระญาจิกคำมีอีกชื่อว่า “พระเจ้าคำเต็มซ้า” เป็นกษัตริย์ล้านช้างลำดับที่ 5 มีสถานะเป็นถึงพระโอรสของพระญาสามแสนไท ซึ่งพระญาสามแสนไทผู้นี้ยิ่งใหญ่มาก

พระองค์ประสูติแต่พระราชมารดาชื่อ เจ้านางน้อยอ่อนสอ

 

มาถึงจุดนี้แล้ว ดิฉันต้องมานั่งสอบศักราชไล่เรียงประวัติลำดับกษัตริย์ลาวอย่างละเอียดด้วยตัวเอง ได้ข้อสรุปดังนี้

พระญาสามแทนไท เป็นกษัตริย์ลาวลำดับที่ 2 โดยเริ่มนับจากพระเจ้าฟ้างุ้มเป็นลำดับที่ 1 ชื่อเดิมของสามแสนไทคือ ท้าวอุ่นเรือน ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1916-1959 รัชสมัยของสามแทนไทจะตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระรามราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (1938-1952) หรือตรงกับกษัตริย์ล้านนาสองพระองค์คือ พระญาแสนเมืองมา (1928-1944) และพระญาสามฝั่งแกน (1945-1984)

หนังสือ “ลำดับกษัตริย์ลาว” ชำระโดยกระทรวงศึกษาธิการของ สปป.ลาว ระบุว่า พระญาสามแสนไทมีโอรสหลายพระองค์ โอรสลำดับที่ 3 มีชื่อว่า “ท้าวคำเต็ม” (พิจารณาจากชื่อแล้ว คือคนเดียวกันกับพระเจ้าคำเต็มซ้า หรือพระญาจิกคำ) ท้าวคำเต็มประสูติแต่มเหสีที่เป็นธิดาของพระญาเชียงรุ่ง ต่อมาท้าวคำเต็มได้เป็นเจ้าเมืองห้วยหลวง และขึ้นเป็นกษัตริย์หลวงพระบางลำดับที่ 5 ครองราชย์ได้เพียงปีเดียวก็สวรรคต

หากนางหอสูง ผู้เป็นชายาของพระเจ้าโพธิสาลราช กษัตริย์ล้านช้างลำดับที่ 16 เป็นราชธิดาของกษัตริย์ล้านช้างองค์ที่ 5 (ท้าวคำเต็มซ้า) จริง ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลก

เหตุที่นางหอสูงมีศักดิ์เป็น “หลานตา” ของพระญาสามแสนไท กษัตริย์ล้านช้างลำดับที่ 2

ในขณะที่พระราชสวามีของนาง พระเจ้าโพธิสาลราช มีศักดิ์เป็น “เหลนทวด” ของพระญาสามแสนไท กล่าวคือ

พระเจ้าโพธิสาลราช (กษัตริย์ล้านช้างลำดับที่ 16) เป็นโอรสของพระเจ้าวิชุนราช (กษัตริย์ล้านช้างลำดับที่ 15) พระเจ้าวิชุนราชเป็นโอรสของพระไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว (ท้าวลือไชย กษัตริย์ล้านช้างลำดับที่ 11)

ซึ่งท้าวลือไชยเป็นน้องชายองค์เล็กของท้าวคำเต็มซ้า คือเป็นราชบุตรคนสุดท้องของพระญาสามแสนไท

นับกันตามวงศาคณาญาติแล้ว นางหอสูงมีศักดิ์เป็น “ป้า” ของพระเจ้าโพธิสาลราช เพราะนางหอสูงเป็นลูกพี่ลูกน้องในฐานะญาติผู้พี่ Generation เดียวกันกับพระเจ้าวิชุนราช

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก บางทีท้าวคำเต็มอาจมีลูกตอนชราก็เป็นได้ เรื่องของนางหอสูง-ยอดคำทิพย์ยังไม่จบ รออ่านต่อฉบับหน้า •