วันสังหารผู้นำ / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์
Former Japanese prime minister Shinzo Abe /Theâ Asahiâ Shimbun/via Reuters

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

วันสังหารผู้นำ

 

เป็นข่าวดังที่ช็อกคนทั้งโลก เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายชินโสะ อาเบะ ถูกลอบยิงขณะปราศรัยหาเสียงช่วยลูกพรรคอยู่ที่เมืองนารา และไปสิ้นชีวิตลงหลังจากนำตัวส่งโรงพยายาลได้ไม่นาน

ที่ช็อกคือ คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปลอดภัย ไม่ค่อยมีข่าวคนถูกยิงตายปรากฏเท่าไหร่ โดยมีสถิติผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนเพียง 10 กว่าคนต่อปีเท่านั้น และนี่เป็นการประทุษร้ายต่อคนระดับผู้นำประเทศอย่างอุกอาจอีกด้วย

ความมีชื่อเสียงและมีอิทธิพลของอดีตนายกฯ อาเบะ คงไม่ต้องพูดถึง เพราะสำนักข่าวต่างๆ คงนำเสนอกันไปแล้ว แต่อย่างน้อยก็ต้องยอมรับว่า นายอาเบะเป็นผู้นำที่โดดเด่นและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศญี่ปุ่นในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะกับเวทีระหว่างประเทศ

ภาพจำภาพหนึ่งของชาวโลก คือ ภาพที่เขาปรากฏตัวในพิธีปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่กรุงริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เขาสวมชุดมาสคอต “ซูเปอร์มาริโอ้” การ์ตูนดังของญี่ปุ่น เด้งขึ้นมาจากท่อกลางสนาม ท่ามกลางเสียงปรบมือและร้องออกมาด้วยความประหลาดใจของผู้ชม ให้ความรู้สึกถึงการเป็นคุณลุงน่ารักๆ คนหนึ่ง

และวันนี้คุณลุงที่น่ารักคนนี้ถูกลอบสังหารจนเสียชีวิตแล้ว

 

จากข้อมูลของสำนักข่าวต่างๆ ทำให้เรารู้ว่า การลอบสังหารผู้นำในประเทศญี่ปุ่นเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แม้แต่การใช้มีดเป็นอาวุธก็ยังเคยมี หรือว่าการใช้ความรุนแรงจะเป็นหนทางในการตัดสินเรื่องราวทางการเมืองที่เราจำต้องเรียนรู้และยอมรับ

เป็นธรรมดาที่เมื่อมีคนมีอำนาจ ก็ต้องมีคนสูญเสียอำนาจ และรวมไปถึงสูญเสียผลประโยชน์ที่พึงได้จากอำนาจที่มี เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้เสียผลประโยชน์จึงเลือกใช้วิธีรุนแรงจัดการ คือ “เอามันลงด้วยกระสุน”

เหตุการณ์การสังหารผู้นำนี้เกิดขึ้นมาแล้วในหลายๆ ประเทศ เช่น ที่เกิดกับนางอินทิรา คานธี แห่งอินเดีย ที่นางถูกสังหารด้วยปืนกลมือ, นางเบนาซี บุตโต แห่งปากีสถาน ที่ถูกระเบิดพลีชีพสังหาร หรือนายยิตส์ฮัก ราบิน แห่งอิสราเอล ที่ถูกยิงด้วยปืนพกในกรุงเทลอาวีฟ

แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ประวัติศาสตร์ของประเทศก็ได้บันทึกเหตุการณ์ของการลอบสังหารผู้นำมาแล้วคือ อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ในปี พ.ศ.2408, ประธานาธิบดีเจมส์ การ์ฟิลด์ ประธานาธิบดีคนที่ 20 ในปี 2424, วิลเลียม แม็กคินลีย์ ประธานาธิบดีคนที่ 25 ในปี 2444

แต่ที่โด่งดังที่สุดก็คือการลอบสังหารประธานาธิบดีคนที่ 35 จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2506

เหตุการณ์นี้ได้ถูกพูดถึงในภาพยนตร์อเมริกันหลายต่อหลายเรื่อง รวมทั้งได้มีการนำเรื่องนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วเพื่อพูดถึงเรื่องมิชอบมาพากลที่ซ่อนอยู่หลังการสังหารนี้

 

จริงๆ แล้ว พล็อตหนังที่ว่าด้วยการสังหารประธานาธิดีสหรัฐในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดมีมาตลอด เท่าที่นึกได้ก็มี Vantage point, White House Dawn, Lincoln

ส่วนเรื่องที่อยากพูดถึงเป็นพิเศษคือเรื่อง JFK สร้างโดยผู้กำกับฯ โอลิเวอร์ สโตน ที่มีผลงานเด่นๆ คือ Platoon, Born on the Fourth of July ที่มีพระเอกดังจาก Top Gun คือ Tom Cruise นำแสดง

JFK เป็นชื่อย่อของ John Fitzgerald Kennedy ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 35 จากพรรคเดโมแครต เขาขึ้นครองอำนาจอยู่ได้ 2 ปีกว่าๆ ก็จบชีวิตลง วันที่เขาขึ้นร่วมในพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เขาได้พูดประโยคหนึ่งที่กลายเป็นประโยคที่คนจดจำในตัวเขา นั่นคือ

“อย่าถามว่าประเทศของคุณทำอะไรให้คุณได้บ้าง ให้ถามว่าคุณสามารถทำอะไรเพื่อประเทศของคุณได้บ้าง”

การเป็นคนหนุ่มหัวสมัยใหม่และมีความมุ่งมั่นในตนเอง ทำให้นโยบายหลายอย่างของเขากระทบต่อผู้ที่เสียผลประโยชน์ในระดับประเทศ จนถึงขั้นถูกลอบสังหาร

และผู้ที่ถูกจับกุมว่าเป็นผู้กระทำการครั้งนี้ก็คือ “ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์” อดีตนาวิกโยธินสหรัฐผู้นิยมลัทธิมาร์กซิสต์

ออสวอลด์ถูกจับกุมด้วยข้อหาก่ออาชญากรรมต่อรัฐ แต่เขาก็ถูกยิงและเสียชีวิตโดยแจ็ก รูบี ในอีกสองวันต่อมา ต่อให้คนที่โง่ที่สุดก็รู้ว่านั่นคือการฆ่าปิดปาก

สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) และคณะกรรมการวอร์เรนต่างสรุปกันว่า ออสวอลด์เป็นผู้กระทำแต่เพียงผู้เดียวในการลอบสังหาร แต่มีกลุ่มต่างๆ ได้โต้แย้งต่อรายงานวอร์เรนและเชื่อว่าเคนเนดี้เป็นเหยื่อของการสมรู้ร่วมคิดของผู้เสียผลประโยชน์นั่นเอง

 

ในภาพยนตร์เรื่อง JFK สโตนเล่าเรื่องผ่านอดีตอัยการเขตนิวออร์ลีนส์ “จิม แกร์ริสัน”รับบทโดยพระเอกหนุ่มชื่อดังตอนนั้นคือ เควิน คอสต์เนอร์ ที่มุ่งมั่นในอันจะขุดคุ้ยหาความจริงในเรื่องนี้ออกมาตีแผ่แก่สาธรณชนให้ได้

สไตล์การดำเนินเรื่องใช้วิธีของภาพยนตร์ผสมกับฟุตเทจจริงในแบบสารคดี ทำให้ดูน่าเชื่อถือและสมจริง โดยเฉพาะในฉากของวันลอบสังหารนั้น

เขายิ่งสืบก็ยิ่งสาวลึกไปถึงผู้มีอิทธิพลกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลของคิวบา ที่เคนเนดี้กำลังมีประเด็นระหว่างประเทศกับคิวบาอยู่ เพราะสืบทราบว่าโซเวียตรัสเซียได้ลอบมาติดตั้งขีปนาวุธขึ้นในคิวบา

ฉากที่แกร์ริสัน (คอสต์เนอร์) ขึ้นแถลงต่อศาลเพื่อแสดงถึงหลักฐานในการกล่าวหาว่า เคลย์ ชอว์ นักธุรกิจใหญ่ที่มีอิทธิพลแห่งนิวออร์ลีน มีส่วนเชื่อมโยงกับการลอบสังหารเคนเนดี้ เป็นฉากไคลแมกซ์ของเรื่อง และดึงอารมณ์ผู้ชมที่ร่วมสืบค้นหาความจริงมาตลอดทั้งเรื่องได้เป็นอย่างดี

ฉากนี้ เควิน คอสต์เนอร์ ต้องพูดคนเดียวถึง 10 กว่านาที สำหรับการเป็นหนังแล้วการเขียนบทภาพยนตร์ในฉากพูดที่ยืดยาวให้รอดนั้นถือว่ายอดเยี่ยมมาก เพราะหนังพิสูจน์ได้ว่าสามารถดึงคนดูให้ติดตามได้ตลอด พร้อมมีอารมณ์ร่วมไปกับถ้อยแถลงของคอสเนอร์ เสมือนว่าเราเป็นหนึ่งในคณะลูกขุนไปด้วย

แกร์ริสันชี้ให้เห็นถึงความน่าเคลือบแคลงที่ออสวอลด์จะเป็นผู้ลอบสังหาร มีเรื่องที่ขัดแย้งและผิดตรรกะความเป็นจริงอยู่มาก แต่ตำรวจของรัฐเท็กซัส และรัฐบาลกลางก็รีบด่วนสรุปเช่นนั้น รวมทั้งการแสดงถึง “กระสุนวิเศษ” ที่ออกมาจากปากกระบอกปืนของออสวอลด์ที่ทำงานได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่งในการสังหารเคนเนดี้

เขาชี้ว่ากระสุนเพียงนัดเดียวตามข้อสรุปของอัยการเจ้าของคดีนั้น ต้องวิ่งซิกแซ็กเพียงใดจึงจะปรากฏเป็นร่องรอยการถูกยิงบนร่างกายของเคนเนดี้ได้เช่นนั้น…ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

แต่สุดท้าย มันกลับโหดร้ายที่ว่าความจริงไม่สามารถสู้กับอิทธิพลและผลประโยชน์ได้ เพราะแกร์ริสันพ่ายแพ้ ในขณะที่เคลย์ ชอว์ พ้นข้อกล่าวหาไม่มีมลทินใดๆ

 

กลับมาในกรณีของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ กว่ามติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้จะตีพิมพ์ ก็คงมีความคืบหน้าของข่าวคราวมากขึ้น รวมทั้งบทสรุปของสาเหตุการสังหารครั้งนี้ ที่หลายคนสงสัยว่ากระทำขึ้นโดยคนคนเดียวตามที่ถูกจับกุมจริงหรือ มีอะไรอยู่เบื้องหลังมากกว่านั้นหรือไม่

มีผู้ให้ความเห็นว่า ในวันนั้น อดีตนายกฯ อาเบะ อยู่ในที่โล่งแจ้งที่ง่ายต่อการถูกสังหารอย่างมากหากว่าใครคิดจะทำ ซึ่งก็คล้ายๆ กับที่เคนเนดี้ถูกสังหารเช่นกัน เขาอยู่ในขบวนรถที่เปิดประทุนกลางท้องถนนที่โล่งแจ้ง และตอนที่เขาถูกยิงนั้นเป็นตอนที่รถต้องชะลอความเร็วลง เพราะอยู่ในช่วงทางโค้ง หากใครจะคิดสังหารเขาก็ต้องใช้วินาทีตอนช่วงนี้

และมันก็ทำได้สำเร็จ

ไม่ว่าผลของการสืบสวนจะออกมาอย่างไร แต่สำหรับการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ แต่ทว่า ที่น่าเจ็บปวดยิ่งคือในความเป็นจริงดูเหมือนกับว่าโลกจำต้องยอมรับมันเสียแล้ว

วันที่ได้ชื่อว่า วันสังหารผู้นำ มันได้สังหารความถูกต้องและชอบธรรมของมนุษยชาติลงไปด้วยจนหมดสิ้น

น่าสงสารสังคมของโลกมนุษย์เราเสียจริงๆ •