ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
ชิลีเป็นประเทศที่ยาวและแคบที่สุดในโลก ขนาบข้างด้วยเทือกเขาแอนดีส (Cordillera de los Andes) และมหาสมุทรแปซิฟิก อยู่ทางใต้สุดของโลกโดยใกล้ทวีปแอนตาร์กติกามากที่สุด มีประเพณีที่มีความหลากหลายพอๆ กับภูมิประเทศที่ทอดยาวตั้งแต่ทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดในโลกไปจนถึงธารน้ำแข็งโบราณที่ยังคงรอการค้นพบ
ชิลีไตรทวีป (Chile tricontinental) เป็นแนวคิดทางภูมิศาสตร์การเมืองที่แสดงถึงตำแหน่งอันเป็นเอกลักษณ์ของชิลีโดยแผ่นดินใหญ่อยู่ในอเมริกาใต้ เกาะอีสเตอร์ (Easter Island) ในโอเชียเนีย (Oceania) หรือโพลินีเซีย (Polynesia) และดินแดนชิเลียนแอนตาร์กติกเทร์ริทอรี (Chilean Antarctic Territory) หรือ เตร์ริโตริโอชิเลโนอันตาร์ติโก (Territorio Chileno Antártico) ดินแดนในทวีปแอนตาร์กติกาที่ประเทศชิลีอ้างสิทธิ์ครอบครอง แม้ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภูมิอากาศของชิลี บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของประเทศและประชาชน ชาวชิลีมีจิตใจอบอุ่น มีพลัง เป็นมิตร ชอบช่วยเหลือ แบ่งปันความรักต่อบ้านเกิด และเชิญชวนผู้คนสร้างความผูกพันข้ามพรมแดน

เมืองหลวงของชิลีชื่อว่าซันติอาโก (Santiago) ส่วนภาษาที่ใช้คือภาษาสเปน
เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2023 สถานเอกอัครราชทูตชิลี กรุงเทพฯ ให้การต้อนรับนายปาตริซิโอ เฟร์นันโด พาวเวลล์ โอโซริโอ (H.E. Mr. Patricio Fernando Powell Osorio) ซึ่งเดินทางมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทยคนล่าสุด
และเป็นครั้งแรกที่เอกอัครราชทูตพาวเวลล์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชนสุดสัปดาห์” ถึงเสน่ห์อันหลากหลายของชิลี ประเทศสามทวีป ประกอบด้วยที่ราบสูง ทะเลทราย ผืนป่าเขียวขจี ทะเลสาบกว้างใหญ่ ภูเขาไฟ แม่น้ำ ถ้ำน้ำแข็งพันปี และวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวเกาะอีสเตอร์

การทูตกับความท้าทายและความใฝ่ฝันในวัยเด็ก
“การทูตเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นงานที่ท้าทายเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ แต่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า การเป็นทูตถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ ‘พูดเพื่อประเทศ’ และทำให้ได้พบปะผู้คนที่น่าทึ่ง”
“ประเทศทั่วโลกมักมีวัฒนธรรมที่เราอาจจะไม่เคยรู้และไม่เคยไปสัมผัส การไปต่างแดนก็ถือเป็นการไปเห็นวัฒนธรรมใหม่ๆ ของประเทศอื่น โดยหวังว่าจะนำไปพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของประเทศของเรา ดีที่สุดคือรวมถึงผลประโยชน์ของคู่หูของเราด้วย”
เอกอัครราชทูตพาวเวลล์ ไม่พลาดที่จะตอบทุกคำถาม พร้อมให้รายละเอียดเพิ่มเติมอย่างน่าสนใจ
“ในกรณีของผม ผมเข้าสู่วงการทูตหลังจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมทั้งวารสารศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ”
“ตอนเด็กๆ ผมชอบเครื่องบิน แต่สุดท้ายผมก็มาเป็นผู้โดยสาร มิใช่นักบิน!”

ความเป็นมาและเป้าหมายในการทำงาน
“ในฐานะนักการทูตอาชีพ ผมทำงานในมิติการทูตทั้งทวิภาคีและพหุภาคีหลากหลายสาขาได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ และกิจการกงสุลในอเมริกา ยุโรป และเอเชียแปซิฟิก”
“ประเทศที่ผมไปทำงาน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และปัจจุบัน คือประเทศไทย รวมถึงสำนักงานใหญ่กระทรวงต่างประเทศในชิลี”
“เป้าหมายหลักในฐานะเอกอัครราชทูต คือการพัฒนาผลประโยชน์ด้านนโยบายต่างประเทศที่กำหนดโดยประเทศชิลีกับประเทศเจ้าบ้าน โดยดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์ จนบรรลุระดับความสัมพันธ์ที่ดีที่สุดกับประเทศที่เป็นคู่ของเรา ในกรณีนี้คือราชอาณาจักรไทย”
“ผมหวังว่า เมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของประเทศไทย จะสามารถแสดงความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมและมีความเชื่อมโยงทวิภาคีที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากโอกาสทั้งหมดที่มีร่วมกันในการดำเนินงานเช่นนั้น”

ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ชิลี
“ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับชิลีอันแข็งแกร่ง ในปีนี้ครบรอบ 62 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน แต่ชิลีเข้ามาในภูมิภาคนี้เนิ่นนานกว่านั้นมาก สิ่งสำคัญอันดับแรก คือการรักษาและเสริมสร้างความเชื่อมโยงเหล่านั้น ตลอดจนการปรับปรุงความรู้ของเราร่วมกัน ซึ่งจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและขยายโอกาสให้มากขึ้น”
ส่วนความร่วมมือ ไทย-ชิลีในปัจจุบัน และในอนาคตนั้น
“เราบุกเบิกข้อตกลงการค้าเสรีมานานกว่าทศวรรษแล้ว ได้ช่วยเพิ่มกระแสทางการค้าของเราเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีช่องทางสำหรับการเติบโตอีกมากมาย เรายังทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ เช่น ดาราศาสตร์ (ชิลีมีอิทธิพลในระดับโลกเมื่อพูดถึงการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ส่วนประเทศไทยก็มีวิศวกรและนักดาราศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม)”
“นอกจากนี้ ในด้านการเกษตร ชิลีมีบทบาทในการเพาะปลูกคีนัว (Quinoa) ในประเทศไทย”
“ในอนาคต เรากำลังพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอน การปกป้องมหาสมุทรและความยั่งยืนโดยทั่วไป และยังรวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และการท่องเที่ยว”
“ยิ่งไปกว่านั้น เรายังสนใจที่จะส่งเสริมการลงทุนในภาคส่วนต่างๆ เช่น เหมืองแร่ พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์ข้อมูลและการผลิตอาหาร”
“นอกจากที่กล่าวมาแล้ว เรามีความร่วมมือกับประเทศไทยในระดับภูมิภาค ทั้งในบริบทของอาเซียน (ASEAN) และเอเปค (APEC)”

ความสนใจร่วมกันระหว่างสองประเทศ
ที่วิทยาศาสตร์สามารถมีบทบาทสำคัญ
“ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ดาราศาสตร์เป็นพื้นที่ที่มีความร่วมมืออยู่แล้ว และเราต้องการที่จะขยายออกไปอีก ในด้านวิทยาศาสตร์ยังเชื่อมโยงกับการเกษตรและการผลิตอาหารโดยทั่วไปด้วย”
“วิทยาศาสตร์ทางทะเลเป็นอีกสาขาหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากเรามีชายฝั่งที่ยาวและทั้งสองประเทศต่างมีทะเล และแน่นอนว่าในเรื่องที่เกี่ยวกับ IT”
“ภูมิศาสตร์ของชิลียังมอบโอกาสพิเศษในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยเป็น ‘ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ในธรรมชาติ’ อีกด้วย”
โดยวิทยาศาสตร์เชิงการทูตในอนาคตนั้น
“ผมมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนบทบาทในความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศในช่วงเวลาต่างๆ เช่น ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สิงคโปร์ และออสเตรเลีย และตอนนี้ ในประเทศไทย ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของผู้เชี่ยวชาญ”
“ชิลีเข้าใจถึงบทบาทที่สำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ สำหรับประเทศใดๆ ก็ได้ โดยไม่ขึ้นอยู่กับขนาดหรือขีดความสามารถ”
“นอกเหนือจากวิทยาศาสตร์ การพัฒนาความรู้และคุณภาพชีวิตแล้ว ยังมีด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านยุทธศาสตร์ และด้านศักดิ์ศรี ซึ่งสามารถเป็นพื้นที่ที่ดีสำหรับความร่วมมือได้ เราจึงต้องการนักการทูตที่ได้รับการฝึกอบรมในสาขานี้มากขึ้นอย่างแน่นอน”

ชิลีมีความงามทางธรรมชาติที่หลากหลายเป็นอย่างมาก รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการอะไรบ้างเพื่อเป็นการธำรงไว้ซึ่งการอนุรักษ์
เอกอัครราชทูตชิลีบอกว่า “เราได้รับพรจากธรรมชาติอย่างแน่นอน เพราะมีสถานที่ที่สวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างไม่น่าเชื่อ รัฐบาลและสังคมชิลีโดยทั่วไปตระหนักดีถึงความรับผิดชอบในการปกป้อง มีการดำเนินงานอยู่หลายวิธี วิธีแรกคือ ผ่านทางกฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบายสาธารณะ, ผ่าน ‘การกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจให้ปฏิบัติ’ (CTA) รวมทั้งการให้ข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน เป้าหมายคือการอนุรักษ์และปกป้องมรดกทางธรรมชาติและทำให้การอนุรักษ์สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน”
ส่วนความพยายามในการอนุรักษ์เพื่อปกป้องสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์นั้น
“ผมขอกล่าวถึงสองประเด็นหลัก ประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ได้รับการคุ้มครองในฐานะอุทยานแห่งชาติหรือการจัดการที่คล้ายกัน และจำนวนดังกล่าวกำลังเพิ่มมากขึ้น เช่น ชิลีมีเครือข่ายอุทยานแห่งชาติที่ปกป้องผืนดินและผืนน้ำอันกว้างใหญ่ในปาตาโกเนีย (Patagonia) ซี่งอยู่ปลายใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้”
“มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของเขตอำนาจศาลในมหาสมุทรของชิลีได้รับการคุ้มครอง ชิลีมุ่งมั่นที่จะเติบโตโดยการทำงานอย่างแข็งขันในเวทีระหว่างประเทศเพื่อปกป้องสุขภาพของชีวิตด้านล่างและเหนือผิวมหาสมุทร รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพด้วย” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022