‘เทวรูป’ กับ ‘อาร์ตทอย’ ในพรมแดนที่พร่าเลือน

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเพิ่งได้ไปงาน “Eat Pray Art with Bro! Ganesha จาก ‘พิฆเนศวร’ สู่ ‘กาเนชา'” ซึ่งจัดโดยนิตยสารสารคดี เพราะเขาให้ขึ้นเวทีเสวนาร่วมกับคุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์

ผมไปพูดในฐานะที่เป็นนักวิชาการที่สนใจเกี่ยวกับพระพิฆเนศวร ส่วนคุณจอมขวัญ หรือเจ๊ จข. ไปในฐานะนักสะสมอาร์ตทอย

งานวันนั้นมีสิ่งที่น่าสนใจหลากหลายครับ แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นไฮไลต์คือการออกร้านของบรรดาสตูดิโอที่ผลิตอาร์ตทอยเกี่ยวกับพระพิฆเนศวรจำนวนมาก

ละลานตาไปหมด

 

“อาร์ตทอย” (Art Toy) เท่าที่ผมค้นหานิยามมาหมายถึง “ของเล่นสะสมประเภทประติมากรรมที่ถูกรังสรรค์โดยศิลปิน นักออกแบบหรือจิตรกรภาพประกอบ โดยวัสดุที่ใช้มีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป เช่น โลหะ ไม้ ไวนิล เรซิ่น พลาสติก ฯลฯ”

จากนิยามนี้อาร์ตทอยจึงเป็นของเล่น (Toy) เพียงแต่เป็นของเล่นที่จัดสร้างโดยศิลปินหรือมีความเป็นศิลปะ แต่คงไม่ใช่ของเล่นสำหรับเด็กเพราะเน้นไอเดียสร้างสรรค์มากกว่าการสร้างพัฒนาการ และส่วนมากผู้ใหญ่ซึ่งมีรายได้เขาซื้อไปสะสมกันครับ คงไม่ได้เอาไป “เล่น” จริงๆ

ดังนั้น อาร์ตทอยจึงมีสถานภาพที่น่าสนใจ เพราะจะเป็นงานศิลปะชนิดแบบทำมือร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่เชิง ออกไปในแนว pop art บางชิ้นงานก็ผลิตทีละมากๆ แบบอุตสาหกรรม และมักใช้วัสดุสังเคราะห์ เช่น เรซิ่น ซอฟไวนิลหรือพลาสติก แต่จะเป็นของเล่นเลยก็ไม่เชิง เพราะไม่ได้สร้างมาเพื่อให้เล่น

ในต่างประเทศที่จริงจังกับการ “เล่น” มากๆ อย่างญี่ปุ่นหรือไต้หวัน เขาไม่เพียงทำอาร์ตทอยตามความสร้างสรรค์ของศิลปินหรือตัวละครจากแอนิเมชั่น การ์ตูนหรือภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังมีอาร์ตทอยทางวัฒนธรรมและศาสนาอีกด้วย เช่น อาร์ตทอยเทพเจ้าและรูปเคารพสำคัญๆ ไปจนถึงเหล่าพระพุทธโพธิสัตว์ก็มี

ซึ่งก็ไม่ได้ทำแค่ในรูปแบบประเพณีนิยมเท่านั้น แต่แหวกแนวออกไปมากมาย

 

ย้อนกลับมาที่งานในวันนั้น พระพิฆเนศวรหรือพระคเณศถูกสร้างสรรค์เป็นงานอาร์ตทอยหลายแบบ เช่น แบบคิวบิสม์ (Cubism) ที่มีผู้แปลไว้เก๋ๆ แต่ชวนงงว่า “บาศกนิยม” งานสไตล์น่ารักมุ้งมิ้ง พระคเณศเป็นเชฟก็มี เป็นหุ่นยนต์ก็มี

ผมลองสำรวจด้วยตนเองคร่าวๆ ว่า เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดถูกนำมาเป็นอาร์ตทอยมากที่สุดในบ้านเรา ก็ไม่พ้นพระพิฆเนศวร หลังๆ เริ่มมีเทพเจ้าฮินดูองค์อื่นๆ ทยอยตามมา เช่น พระแม่ลักษมี พระแม่ทุรคา พระศิวะ ฯลฯ

คำถามหนึ่งในวงเสวนาวันนั้นคือ เหตุใดพระพิฆเนศวรจึงถูกนำมาสร้างเป็นอาร์ตทอยมากที่สุด

ผมคิดว่ามีหลายปัจจัย

อย่างแรก คือพระคเณศเป็นเทพที่มีความสร้างสรรค์ในรูปลักษณ์มาแต่เดิม คือเป็นครึ่งคนครึ่งช้าง จะเด็กก็ไม่เชิงผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง มีตำนานหลากหลาย อะไรที่ “กำกวม ก้ำกึ่ง หลากหลาย” ล้วนเป็นปัจจัยชั้นดีของการสร้างสรรค์และการสร้าง “เรื่องเล่า” ใหม่ๆ เสมอครับ

อย่างที่สอง คือมีตัวอย่างของการสร้างพระคเณศใหม่ๆ แปลกๆ ให้เห็นมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งในอินเดียและในเมืองไทยเอง ศิลปินเขาจึงอาจไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่ทำนั้นออกจะแหวกขนบมากมายอะไร แต่เขาต้องสร้าง “ลายเซ็น” ของตัวให้ได้

สาม พระคเณศนั้นเป็นเทพเจ้าที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่เรื่องมาก ดังมีคำอธิบายในฝ่ายฮินดูเองว่า พระคเณศนั้น “เราทรภาวรหิตัม” แปลว่าปราศจากภาวะโกรธหรือดุร้าย แถมในเมืองไทยท่านยังเกี่ยวข้องกับศิลปะและสถาบันทางศิลปะ ทำให้บรรดาศิลปินรู้สึกว่าเป็นเทพเจ้าของตัว และรู้สึกใกล้ชิดเป็นอย่างมาก

สี่ ก็ทำออกมาแล้วขายได้แน่นอนนั่นแหละครับ (ฮา)

 

งานวันนั้นมีเจ้าของสตูดิโอหนึ่งเปรยกับผมว่า เขาไม่รู้จะทำอย่างไรดีเมื่อมีลูกค้าถามว่าอาร์ตทอยพระพิฆเนศวรของเขานั้น “ปลุกเสก” แล้วหรือยังเพราะลูกค้าอยากได้ไปบูชา ในขณะที่ลูกค้าคนอื่นก็อยากได้แบบที่ไม่ต้องปลุกเสก เพราะจะได้เอาไปวางตั้งสะสมได้อย่างสะดวกใจ ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดบาปโทษอะไร

ขณะเดียวกันลูกศิษย์ของผมจำนวนหนึ่งก็มักมีคำถามว่า เขาไม่ได้ชอบเทวรูปตามขนบ เมื่อไปเจองานอาร์ตทอยสวยๆ เขาก็อยากเอามาเป็นเทวรูปไว้กราบไหว้ ควรทำอย่างไรดี

ในฐานะที่เห็นตัวเองเป็น “คนติดขนบที่พยายามจะใจกว้าง” ผมเก็บเรื่องพวกนี้มาคิดทบทวนดู ก็พอจะคิดได้ว่า สำหรับตัวเอง (ซึ่งก็พอมีอาร์ตทอยพระคเณศอยู่บ้าง) ผมแยกระหว่าง “เทวรูปสำหรับบูชา” และ “อาร์ตทอยหรืองานศิลปะสำหรับสะสม” ออกจากกัน

ผมคิดว่า หากเราเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ (หรือพลังงาน) จะมีเทวรูปบูชาก็ควรเอาของที่สร้างตามขนบ เพราะการสร้างเทวรูปของฮินดูมีหลักคิดและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องมากมาย มาจากความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์และพลังงานนี่แหละครับ

คัมภีร์ว่าด้วยการสร้างเทวรูปอยู่ในหมวด “ศิลปศาสตร์” หลายเล่ม เช่น ศิลปศาสตรัม วิษณุธรรโมตระ มะยะตัม ฯลฯ รวมทั้งที่ปรากฏเนื้อหาในคัมภีร์อาคมและปุราณะอีกหลายเล่ม คัมภีร์เหล่านี้ระบุทั้งลักษณะท่าทางของเทวรูป รายละเอียดต่างๆ เช่น ของที่ถือ อาวุธ ลักษณะของภาวะหรือรส ไปจนถึงเรื่องวัสดุและพิธีกรรมในการสร้าง

ท่านว่าหากสร้างตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ เทวรูปนั้นก็จะศักดิ์สิทธิ์มีฤทธานุภาพ บางคัมภีร์ถึงกับมีคำแช่งชักว่าหากศิลปินไม่สร้างตามนี้จะมีโทษภัยใดบ้าง

ใครสนใจรายละเอียดของเรื่องนี้ โปรดหาหนังสือ “ประติมากรรมฮินดู-พุทธในศิลปะอินเดีย กับคัมภีร์ศิลปศาสตร์ภาษาสันสกฤต” ของศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี มาอ่านดูเถิดครับ

 

กระนั้น ทั้งในงานวิจัยของท่านอาจารย์เชษฐ์และนักค้นคว้าต่างชาติก็เห็นตรงกันว่า เทวรูปที่สร้างจริงๆ มีน้อยที่จะตรงกับคัมภีร์ทุกกระเบียดนิ้ว ต่างแปรเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมและรสนิยมแต่และท้องที่ กระนั้นก็ยังรักษาพิธีกรรมและมีระบบที่พยายามคงกันไว้ โดยถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการสร้างเทวรูป คือเรื่อง “สัดส่วน” และวัสดุครับ

ระบบสัดส่วนของเทวรูปกำหนดโดยใช้ความยาวของฝ่ามือ (ตาลัม) เช่น แต่ละส่วนของร่างกายมีกี่ตาลัมและภาวะของแต่ละเทวดาเป็นอย่างไร เช่น เทวดาที่เป็นบุรุษผู้ใหญ่อย่างพระวิษณุมีความสูงเท่ากับสิบตาลัม แต่พระคเณศสูงเพียงห้าตาลัม เป็นต้น

ส่วนวัสดุในการสร้างเขาก็มีลำดับความสำคัญต่างๆ กันไป เช่น หิน โลหะต่างๆ และไม้ แต่โดยมากก็เป็นวัสดุธรรมชาติและเมื่อสร้างเสร็จก็จะต้องมีพิธี “ปราณประติษฐา” หรือปลุกเสกนั่นเอง

ที่เล่ามามิได้จะพยายามโน้มน้าวให้แยกของสองอย่างนี้ออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพราะเอาเข้าจริงปัจจุบันเส้นแบ่งมันก็พร่าเลือนมาก

บางทีศิลปินก็ทำอาร์ตทอยได้งามอย่างเทวรูปดีๆ

บางทีคนสร้างเทวรูปจริงๆ ก็ดันไปทำอย่างกับงานอาร์ตทอย ทำแล้วปลุกเสกบ้างไม่ปลุกเสกบ้างว่ากันไป

ทว่า คนติดขนบอย่างผมโดยส่วนตัวก็อดไม่ได้ที่จะแยกสองอย่างนี้ออกจากกัน แต่ก็อย่างที่บอกมาเสมอครับ ใครจะเชื่อจะคิดอย่างไรก็ล้วนเป็นเสรีภาพของท่านเอง เงินท่านเอง รับผิดชอบดูแลตัวเองกันไป (ฮา)

 

อันที่จริงประเด็นที่ผมอยากโยนทิ้งท้ายไว้ เพื่อจะกลับไปตอบคำถามเพิ่มเติมว่า เหตุใดพระคเณศจึงถูกนำมาทำเป็นอาร์ตทอยมากมายในบ้านเรา หรือเพียงเพราะว่าพระคเณศเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอื่น ศาสนิกจริงๆ เขาก็มีน้อย เหตุนั้นจึงไม่มีองค์กรศาสนาไหนจะมาคอยตรวจสอบหรือใช้อำนาจจัดการได้ผิดกับพุทธศาสนา

เหตุผลเดียวกันนี้ เราจึงแทบไม่เห็นอาร์ตทอยพระพุทธเจ้าจากศิลปินไทยเลย ไม่ว่าจะเพราะข้อจำกัดจากอำนาจรัฐ กลัวทัวร์จะลง หรือแม้แต่การมองพระพุทธเจ้าสูงส่งกว่า “เทวดา” อย่างพระคเณศ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเหล่าศิลปินคิดกันอย่างไร

ผมคิดว่าศิลปินส่วนมากก็เคารพพระคเณศนั่นแหละครับ ทำงานกันด้วยความสร้างสรรค์ แต่เราก็น่าจะลองสำรวจดูว่าความสร้างสรรค์ของเรานั้น ศาสนิกอื่นที่เขาถือพระคเณศเป็นพระเจ้าเขาคิดอย่างไร อย่างน้อยเผื่อจะลองเอามาปรับปรุงงานของเราได้

ผมจำได้ว่า พราหมณ์อินเดียหลายท่านไม่ชอบใจเอาเลยที่บางหน่วยงานในไทยเอาพระพุทธรูปไว้บนเศียรพระคเณศ เขารู้สึกว่าพระเป็นเจ้าของเขาโดนดูถูก ทว่า พวกเขาไม่เพียงไม่มีอำนาจรัฐที่จะมาจัดการ (ซึ่งผมคิดว่าดีแล้ว) แต่เขายังไม่มีปากเสียงที่จะส่งออกมาบอกว่าเขาไม่ชอบใจอย่างไรอีกด้วย ซึ่งอันนี้สำคัญกว่า เพราะอย่างน้อยๆ ศิลปินหรือคนสร้างก็น่าจะได้ยินเสียงสะท้อนนี้บ้าง

แม้ศิลปะจะไม่มีกฎเกณฑ์และสามารถสร้างในแนววิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านก็ได้ (ซึ่งก็ไม่ค่อยจะมีอยู่แล้วในบ้านเรา) แต่หากเราได้ลองฟังความคิดเห็นจากคนที่เกี่ยวข้องดูก็น่าจะดียิ่งขึ้นอีกมิใช่หรือ เพราะเรามักไม่ค่อยไปวิจารณ์ผู้มีอำนาจ แต่มักวิจารณ์กันเอง หรือวิจารณ์คนส่วนน้อยด้อยอำนาจหรือคนที่ต่ำต้อยกว่า

ดังนั้น ผมไม่คิดว่าเราจะต้องเลิกทำงานอาร์ตทอยสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือไปแยกกันให้ชัดอะไรเทือกนั้น อันที่จริงผมออกจะชอบอาร์ตทอยทางศาสนามิฉะนั้นคงไม่สะสม และที่จริงข้อดีมากๆ ของอาร์ตทอยคือได้ช่วยปลดปล่อยความศักดิ์สิทธิ์มาสู่ผู้คนธรรมดาในความเป็นธรรมดา มองในแง่ดี อาร์ตทอยได้ช่วยให้พระคเณศใกล้ชิดผู้ศรัทธามากขึ้น

แต่จะดีกว่านี้อีกไหม ถ้าไม่ใช่เพียงพระคเณศเท่านั้นที่จะถูกทำเป็นอาร์ตทอยในบ้านเรา แต่หากเราต้องการปลดปล่อยความศักดิ์สิทธิ์มาสู่ความธรรมดาสามัญ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงในทุกศาสนาหรือทุกวัฒนธรรม

ก็ควรจะกลายเป็นอาร์ตทอยได้ด้วย •