ผ่าปมเปลี่ยนชื่อสะพาน ‘พิบูลสงคราม’ สู่ ‘ท่าราบ’ เช็กวงจรปิดจับภาพชัด บช.น.สั่งเร่งล่าคนลงมือ/อาชญา ข่าวสด

รื้อป้ายสะพาน

อาชญา ข่าวสด

 

ผ่าปมเปลี่ยนชื่อสะพาน

‘พิบูลสงคราม’ สู่ ‘ท่าราบ’

เช็กวงจรปิดจับภาพชัด

บช.น.สั่งเร่งล่าคนลงมือ

 

กลายเป็นประเด็นที่สร้างความสนใจในสังคมอย่างยิ่ง สำหรับกรณีป้ายสะพานพิบูลสงคราม ย่านเกียกกาย ถูกมือดีบุกแปะป้ายทับกลางดึก

เปลี่ยนจากป้ายชื่อ “พิบูลสงคราม” เป็น “สะพานท่าราบ” ท่ามกลางความมึนงงของสังคมว่ามีเหตุอันใดจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อ

จนเกิดการตั้งสมมุติฐานกันไปต่างๆ นานา

และยิ่งสับสนไปกันใหญ่ เมื่อ ผอ.เขตดุสิต และ ผอ.สำนักการโยธาฯ กทม. ต่างก็ตกอกตกใจว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และไม่เพิกเฉย แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางโพโดยทันที

ก่อนที่จะนำเจ้าหน้าที่รื้อถอนป้ายออกไป

แต่ก็สร้างกระแสความตื่นตัวในการศึกษาประวัติศาสตร์ เพราะชื่อ “พิบูลสงคราม” เองก็คือนามสกุลของอดีตนายกฯ ที่มาจากคณะราษฎร ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ขณะที่ “ท่าราบ” นั้นเป็นสกุลของพระยาศรีสิทธิสงคราม ที่เป็นแกนนำคนสำคัญของกบฏบวรเดช จึงถูกตั้งคำถามว่าเชื่อมโยงกันหรือไม่อย่างไร

รวมทั้งสัญลักษณ์คณะราษฎรอีกหลายอย่าง อาทิ หมุดคณะราษฎร หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ อันถือเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ แต่กลับสูญหายไป

จะเกี่ยวกับกรณีนี้หรือไม่ คงต้องรอผลการคลี่คลายจากเจ้าหน้าที่

คนก่อเหตุ

มึนเปลี่ยนชื่อสะพานพิบูลสงคราม

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องฮือฮา เป็นกระแสในโลกออนไลน์ก่อน โดยช่วงเช้าวันที่ 2 กรกฎาคม มีการโพสต์ภาพป้ายสะพานพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองบางซื่อ บนถนนประชาราษฎร์สาย 1 เขตดุสิต กทม. ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสะพานท่าราบ โดยไม่มีใครทราบที่มาที่ไป

ต่อมาช่วงสาย นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบเป็นป้ายอะคริลิก ข้อความ สะพานท่าราบ มาติดทับชื่อสะพานพิบูลสงคราม เชื่อว่าเป็นการกลั่นแกล้ง จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.บางโพ เนื่องจากเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ความสะอาด และกฎหมายเกี่ยวกับที่สาธารณะ

จากนั้นในช่วงบ่าย นายธานินทร์ เนียมหอม ผอ.เขตดุสิต พร้อมเจ้าหน้าที่เทศกิจ และตำรวจสายตรวจ สน.บางโพ ร่วมตรวจสอบสะพานพิบูลสงคราม ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าป้ายชื่อสะพานใหม่นั้นถูกปิดทับทั้ง 2 ฝั่งคลองของตัวสะพาน เจ้าหน้าที่ใช้ชะแลงงัดออก ก็พบป้ายชื่อเดิมเป็นป้ายสะพานพิบูลสงคราม แต่ก็ก่อให้ป้ายสะพานเดิมเสียหายบางส่วน มีเศษปูนหลุดลอกติดกับกาวของป้ายสะพานใหม่

นายธานินทร์ระบุว่า รับแจ้งจากแอพพลิเคชั่นทราฟฟี่ ฟองดูว์ ของ กทม. จึงมาตรวจสอบพร้อมตำรวจ สน.บางโพ เพื่อเร่งปรับแก้ให้คืนสู่สภาพเดิม สะพานแห่งนี้อยู่ในเขตของสำนักงานเขตดุสิต แต่เป็นความรับผิดชอบของสำนักการโยธา กทม.

ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าใครมาติดตั้ง ต้องไปไล่ดูกล้องวงจรปิดว่ามีใครทำผิดสังเกตบ้าง ซึ่งดูจากลักษณะกาวที่นำมาติดทับป้ายนั้นยังผ่านเวลามาไม่นาน ตำรวจ สน.บางโพจะนำเป็นหลักฐานไปสืบหาบุคคลต่อไป ซึ่งยังตอบไม่ได้ถึงจุดประสงค์ของผู้กระทำว่าเป็นกลุ่มคนหรือบุคคลใด และจะสืบหาข้อมูลด้วยว่า เหตุใดต้องเป็นชื่อท่าราบ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่หน่วยงานใดที่เข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน เพราะลักษณะของสะพานเป็นทรายล้างและคอนกรีต แต่แผ่นป้ายดังกล่าวเป็นอะคริลิก

ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมาย เพราะเป็นการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ กทม.มีหน้าที่ต้องดูแลทรัพย์สิน หากพบจุดไหนเสียหายต้องปรับปรุงแก้ไข ส่วนจะเอาผิดคนติดป้ายหรือไม่นั้น จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตามความเหมาะสม

ส่วนมีนัยยะทางการเมืองหรือไม่ ก็รู้อยู่เลาๆ แต่อย่าไปพูดถึง ประเด็นคือเป็นการกระทำผิดกฎหมายเพราะ กทม.ต้องดูแลทรัพย์สินราชการ

ส่วนใครเป็นผู้กระทำคงต้องหาตัวกันต่อไป!!

รถต้องสงสัย

เช็กวงจรปิดพบ 2 คนร้าย

ส่วนเรื่องทางคดีหลังจากเจ้าหน้าที่ กทม.รื้อถอนป้ายทั้ง 4 ออกพ้นสะพานแล้ว ก็ได้นำป้ายดังกล่าวมามอบให้ สน.บางโพเก็บรักษาไว้ พร้อมลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อเป็นหลักฐาน พร้อมสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำ และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

โดย พ.ต.อ.ศักดิเดช กัมพลานุวงศ์ ผกก.สน.บางโพ เปิดเผยว่า พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผบช.น. สั่งการให้เร่งรัดตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งทาง สน.บางโพประสานกับชุดสืบสวน บก.น.1 เพื่อเร่งตรวจสอบข้อมูลพยานหลักฐานและติดตามรายละเอียดข้อมูลผู้ก่อเหตุ

ทั้งนี้ จากการเช็กภาพจากกล้องวงจรปิด พบว่าช่วงระยะเกิดเหตุอยู่ที่คืนวันที่ 30 มิถุนายน ต่อเนื่องวันที่ 1 กรกฎาคม โดยพบชาย 2 คนผมสั้นเกรียน ใส่หน้ากากอนามัยปิดบังใบหน้า สวมเสื้อคลุมแขนยาว ขับกระบะสีเลือดหมู มาจากถนนสามเสน ผ่านแยกเกียกกายมาบริเวณดังกล่าว ก่อนนำป้าย 4 แผ่นติดบริเวณดังกล่าว มาถึงจุดลงมือเวลา 00.05 น. และใช้เวลาประมาณ 17 นาที ก่อนออกจากจุดดังกล่าวช่วงเวลาประมาณ 00.22 น. โดยก่อนลงมือพบว่ามีการขับวนเพื่อดูลู่ทางก่อนถึง 3 รอบ

จากนั้นกลับรถไปยังถนนสามเสน ตรงมาเลี้ยวซ้ายแยกบางกระบือ ก่อนวนอยู่บริเวณดังกล่าว แล้วใช้เส้นทางถนนสวรรคโลกแล้วหายไปจากบริเวณดังกล่าว

โดยเจ้าหน้าที่ตั้งข้อสังเกตว่า ป้ายดังกล่าวมีการจัดทำมาค่อนข้างดี ขนาดพอดีกับป้ายชื่อสะพาน เหมือนมีการวัดขนาดมาเป็นอย่างดี และตั้งใจจะให้ติดอยู่บริเวณสะพานดังกล่าวแบบถาวรโดยใช้กาวร้อนติดทับ

สำหรับข้อสงสัยว่าทำไมต้องเป็นสะพานพิบูลสงครามนั้น พบว่าชื่อพิบูลสงครามนั้น เป็นนามสกุลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือหลวงพิบูลสงคราม แกนนำคนสำคัญสายทหารของคณะราษฎร ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และมีส่วนร่วมกับการปราบกบฏบวรเดช ในปี พ.ศ.2476 ต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2481 และเป็นอีกหลายสมัยจนกระทั่งถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500

หลวงพิบูลสงคราม ถือเป็นผู้นำที่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ เป็นผู้เปลี่ยนชื่อสยามมาเป็นไทย และเป็นผู้บัญญัติรัฐนิยมหลายประการ

ขณะที่ “ท่าราบ” เป็นนามสกุลของพระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งมีศักดิ์เป็นตาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี

โดยพระยาศรีสิทธิสงคราม ถือเป็นแกนนำคนสำคัญของคณะกบฏบวรเดช รับหน้าที่เป็นกองระวังหลัง และถูกยิงเสียชีวิตขณะถอยทัพ ที่สถานีรถไฟหินลับ จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2476

เป็น 2 บุคคลที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างเข้มข้น

 

ย้อนเหตุ ‘อนุสาวรีย์-หมุด’ หาย

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวถูกนำไปตีความสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของกองทัพบก เมื่อปี พ.ศ.2562 ที่ตั้งชื่อห้อง “บวรเดช” และห้อง “ศรีสิทธิสงคราม” ในการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์กองทัพบก ที่อาคารสรรพาวุธ โดยชั้นบนเป็นห้องชื่อบวรเดช และห้องข้างล่างใช้ชื่อห้องศรีสิทธิสงคราม

เพื่อรำถึงถึงพลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ผู้นำคณะกู้บ้านเมือง เพื่อล้มอำนาจของคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยก่อการขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2476 โดยใช้กำลังทหารจากหัวเมือง อาทิ อุบลราชธานี นครราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก ปราจีนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี เข้ามายึดพื้นที่ดอนเมือง เพื่อเรียกร้องให้พระยาพหลพลพยุหเสนาลาออก

ภายหลังการต่อสู้อย่างดุเดือด ฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ชนะ พระองค์เจ้าบวรเดชลี้ภัยไปอินโดจีน ขณะที่พระยาศรีสิทธิสงครามเสียชีวิตที่สถานีรถไฟบ้านหินลับ จ.สระบุรี ขณะกำลังถอนกำลัง

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏ ใช้ชื่อว่าเป็นอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก่อสร้างขึ้นในปี 2479 ที่บริเวณวงเวียนหลักสี่ เป็นอนุสรณ์แห่งความร่วมมือของประชาชน และรัฐบาลที่ปกป้องระบอบประชาธิปไตยที่กำลังฝังรากในประเทศไทย ผนังจารึกรายชื่อของทหาร-ตำรวจที่พลีชีพในการปราบกบฏครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 เกิดการเคลื่อนย้ายรื้อถอนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญแห่งนี้ โดยปัจจุบันยังไม่ทราบว่าถูกเคลื่อนย้ายไปที่ใด

เช่นเดียวกับหมุดคณะราษฎร ที่ลานพระราชวังดุสิต จุดที่พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) อ่านประกาศคณะราษฎรในการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 ก็ได้สูญหายไปเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2560 กลายเป็นมีหมุดใหม่มาบรรจุเอาไว้แทน

ทั้งหมดเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกนำมาผูกโยงกับเรื่องชื่อป้ายสะพาน

ส่วนคนร้ายที่เปลี่ยนป้ายโดยพลการนั้น คงต้องรอผลการคลี่คลายจากเจ้าหน้าที่ ว่าจะมีผลออกมาเป็นอย่างไร!!!