บิ๊กดีลสายฟ้าแลบ ‘AIS-3BB’ เกมสองชั้นงัดข้อ ‘ทรู’ วัดใจ ‘กสทช.’/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

บิ๊กดีลสายฟ้าแลบ ‘AIS-3BB’

เกมสองชั้นงัดข้อ ‘ทรู’ วัดใจ ‘กสทช.’

 

นับเป็นอีกบิ๊กดีลที่ไม่ธรรมดา กรณี “เอไอเอส” ประกาศเข้าซื้อกิจการ “ทริปเปิลที บรอดแบนด์” หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันดีในชื่อ 3BB เบ็ดเสร็จเป็นเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท (เป็นการซื้อหุ้น 99.87% มูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท และหน่วยลงทุนใน JASIF จาก JAS ในสัดส่วน 19% มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท)

ในหนังสือที่ “เอไอเอส” แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า บริษัทจะขออนุญาตจาก กสทช. ก่อนที่จะมีการลงนามในการซื้อขายหุ้น และหน่วยลงทุนดังกล่าว พร้อมย้ำด้วยว่าการลงทุนในครั้งนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากบริการอินเตอร์เน็ตที่รวดเร็ว มีคุณภาพที่ดีครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น และส่งเสริมการลงทุนไปยังพื้นที่ใหม่เพื่อให้คนไทยได้รับบริการอินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด และรอบนอกตัวเมือง

ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของบริษัทที่ต้องการขยายการเติบโตในธุรกิจอินเตอร์เน็ตบ้าน

เป็นการกลับมาเปิดเกมรุกของ “เอไอเอส” ในขณะที่การพิจารณาบิ๊กดีลการควบรวมธุรกิจระหว่าง “ทรู-ดีแทค” ในมือ “กสทช.” กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มเป็นอย่างยิ่ง

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ตัวแทน “เอไอเอส” เคยแสดงความคิดเห็นในเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) ในรอบตัวแทนภาคธุรกิจว่า แม้การควบรวมจะเป็นเรื่องปกติทางธุรกิจ แต่ก็เป็นการลดทางเลือกในตัวเอง โดยเฉพาะในธุรกิจโทรคมนาคมที่เป็นตลาดกึ่งผูกขาด มีผู้เล่นน้อยราย การควบรวมจึงเป็นการลดทางเลือกให้น้อยลงไปอีก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งด้านราคา ด้านบริการ และเครือข่าย

ทั้งยอมรับด้วยว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยมีความเจริญทัดเทียมนานาประเทศได้ก็ด้วยการแข่งขันอย่างดุเดือดของผู้ให้บริการ และว่า การมีตัวเลือก 3 ราย ย่อมดีกว่า 2 ราย และทำให้การแข่งขันลดลงอย่างแน่นอน

แม้ความเห็นข้างต้นของตัวแทน “เอไอเอส” จะเจาะจงไปยังบิ๊กดีล “ทรูและดีแทค” โดยเฉพาะ ซึ่งหากมีการรวมธุรกิจกันได้ชัดเจนว่าจะทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดโทรศัพท์มือถือลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย

ในแง่จำนวนอาจต่างไปจากธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ปัจจุบันมีผู้เล่นรายใหญ่ 4 เจ้า โดย ณ ไตรมาส 1/2565 ทรูออนไลน์ มีฐานลูกค้า 4.7 ล้านราย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 43.1%, 3BB มีลูกค้า 2.4 ล้านราย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 22.1%, เอ็นที มีฐานลูกค้า 1.9 ล้านราย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 17.8% และเอไอเอส ไฟเบอร์ มีลูกค้า 1.8 ล้านราย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 17%

เมื่อ “3BB” ตกเป็นของ “เอไอเอส” ก็จะเหลือผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด 3 ราย แม้จะมากกว่ากรณีธุรกิจโทรศัพท์มือถือ แต่การมีผู้เล่นลดลงย่อมมีผลต่อการแข่งขันอย่างแน่นอน

 

แหล่งข่าวในธุรกิจโทรคมนาคมมองการเข้าซื้อกิจการ 3BB ของเอไอเอสว่าเป็นการเดินเกมสองชั้น

กล่าวคือ ในทางหนึ่งเพื่อเร่งเกมโตในตลาดบรอดแบนด์ เพราะหากดีลนี้สำเร็จจะทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของเอไอเอสขยับจากเบอร์สี่ขึ้นมาเป็นเบอร์สองชนิดหายใจรดต้นคอเบอร์หนึ่งอย่าง “ทรู” ในทันที ทั้งยังเป็นเกมวัดใจ “กสทช.” ต่อการวางแนวทางในการกำกับดูแลการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในอนาคตอีกด้วย

“แม้เทียบสเกลกันแล้ว ดีลทรู-ดีแทค จะใหญ่กว่าการซื้อ 3BB ของเอไอเอสมาก แต่ทั้งสองดีลเป็นการควบรวมธุรกิจที่ส่งผลทั้งต่อตลาด ทั้งในเชิงการแข่งขัน และผลกระทบที่อาจเกิดกับผู้บริโภคด้วย ซึ่ง กสทช.ในฐานะผู้กำกับดูแลกิจการ จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้านมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรย่อมส่งผลในทางใดทางหนึ่งด้วย”

แหล่งข่าวมองว่า ไม่ว่า “กสทช.” จะมีแนวทางอย่างไรก็จะไม่เป็นผลเสียกับ “เอไอเอส” เพราะถ้าอนุมัติให้ทรูและดีแทคควบรวมกิจการกันได้ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะยับยั้งการซื้อกิจการ 3BB ทำให้ธุรกิจบรอดแบนด์ของเอไอเอสเติบโตแบบก้าวกระโดด สามารถต่อกรกับทรูได้ดีขึ้นมากด้วย แต่ถ้าไม่ให้ควบรวมทั้งทรูและดีแทคที่เคยตั้งใจว่าจะร่วมมือกันปิดจุดอ่อนเสริมจุดแข็ง พลิกขึ้นมาเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งทัดเทียมคู่แข่งสะดุดหยุดลงด้วย

ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่มทรูมองว่าการประกาศเข้าซื้อกิจการ 3BB ของเอไอเอสเท่ากับเป็นการยืนยันว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนสูง และมีการแข่งขันด้านเทคโนโลยี ซึ่งผู้ประกอบการรายเล็กยากที่จะไปต่อได้ ดังนั้น ภาครัฐโดยเฉพาะ กสทช.จึงควรที่จะหันมาหาแนวทางกำกับการควบรวมของผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ มากกว่าที่จะมาตั้งหน้าตั้งตาหาเหตุผลมาขัดขวาง

ต้องยอมรับว่าในเกมธุรกิจ การที่ “คู่แข่ง” จะเปลี่ยนมาเป็นพันธมิตรหรือคู่ค้ากันได้ย่อมเกิดขึ้นโดยมองถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่ง “กสทช.” ในฐานะผู้กำกับดูแลผู้ประกอบการ และคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคจึงต้องคิดถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย

 

ในมุมมองนักวิชาการ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกมาแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กต่อกรณีดังกล่าวในเชิงตั้งคำถามว่า “คนไทยจะยอมทุนผูกขาดไปอีกนานแค่ไหน” จากกรณีที่เอไอเอสเทกโอเวอร์ 3BB บรอดแบนด์ ท่ามกลางดีลทรู ดีแทคที่ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ

โดยระบุว่า ตลาดโทรคมนาคมไทยกำลังเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเพิ่มโครงสร้างที่ผูกขาดมากขึ้นจนถึงขั้นอันตราย เพราะหลังจากที่ทรูและดีแทคที่กำลังเดินหน้าควบรวมกัน ตอนนี้เอไอเอสก็กำลังจะซื้อ 3BB อีก ผมคิดว่า 2 ดีลนี้มีความเกี่ยวข้องกัน โดยดีลหลังน่าจะเป็นปฏิกิริยาต่อดีลแรก แต่ดีกว่าตรงที่ยังยอมรับว่า การควบรวมต้องผ่านการอนุญาตจาก กสทช.ก่อน

ในขณะที่ผู้เกี่ยวข้องกับดีลแรกยังยืนกระต่ายขาเดียวว่าแค่ขออนุญาตผู้ถือหุ้นก็พอ ไม่ต้องขออนุญาตควบรวม ท่ามกลางการสร้างกระแสว่าประชาชนและนักวิชาการจำนวนมากสนับสนุนการควบรวม หากการควบรวมทั้งสองดีลเกิดขึ้นสำเร็จ ผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยของไทยก็จะเหลือทางเลือกน้อยลง และเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบโดยทุนใหญ่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในธุรกิจโรงหนัง ค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงพยาบาล และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ยังกระทบมาถึงคนชั้นกลางจำนวนมากด้วย

ดร.สมเกียรติย้ำว่า การจัดการอำนาจผูกขาดของธุรกิจเอกชนโดยหน่วยงานรัฐไทย ทั้ง กสทช. หรือคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ตลอดจนผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งคณะรัฐมนตรี สภา และฝ่ายตุลาการ ไม่ว่าจะไปในทิศทางไหน จะกำหนดอนาคตของทุนนิยมไทย อนาคตการพัฒนาประเทศ และแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคมไทย

ซึ่งจะมีผลต่อการเมืองของประเทศอย่างแน่นอน

 

ในมุมของนักวิเคราะห์ นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ดีลซื้อ 3BB ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ธุรกรรมเพิ่งเกิดขึ้นช่วงนี้ด้วย 2 ปัจจัย คือ 1.เอไอเอสเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และ 2.การเดินหมากของคู่แข่งทรู-ดีแทค ที่ประกาศควบรวมกิจการ ทำให้ดีลนี้เกิดขึ้นตามมา

เหตุผลที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ JAS ตกลงขายก็คงเหมือนกรณีดีแทคกับทรู เพราะสภาพธุรกิจหรือความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เกิดการหลอมรวมกัน การที่ธุรกิจมีของขายอย่างเดียวจะอยู่ไม่ได้ ดังนั้น ผู้เล่นที่มีของขายมากที่สุดหรือมากกว่า และเป็นของที่มีคุณภาพดีกว่าจะได้ใจของผู้บริโภคไป

“ในมุมผู้บริโภค ผลจากดีลนี้อาจทำให้ได้โปรโมชั่นน้อยลง แต่จะได้คุณภาพบริการดีขึ้น โดยไม่ได้จ่ายแพงขึ้น เพราะ 3BB ไม่มีมือถือ ต่อไปก็จะมีมือถือของ AIS มาช่วย รวมถึงในแง่คอนเทนต์ก็จะมี Disney+ เพิ่มเข้ามา”

แต่เอไอเอสคงพูดได้ไม่เต็มปากแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการควบรวมดีแทคและทรู จากดีลของตนเองที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะที่ กสทช.ก็คงต้องคิดหนักหากไม่อนุมัติดีลทรูและดีแทค จะอนุมัติดีลเอไอเอส-3BB ก็จะทำให้เอไอเอสที่แข็งแรงอยู่แล้วแข็งแรงขึ้นไปอีก ทำให้ดีแทคและทรูที่อ่อนแออยู่แล้ว อ่อนแอลงไปอีก

ชัดเจนว่าการควบรวมกิจการทั้งในธุรกิจโทรศัพท์มือถือระหว่าง “ทรู-ดีแทค” และกรณีล่าสุด “เอไอเอส-3BB ในธุรกิจบรอดแบนด์ ล้วนท้าทายบทบาท “กสทช.” ชุดใหม่อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้