ถอดบทเรียน ‘คอสเพลย์อวตาร’ กฎหมายตามไม่ทันความผิด รู้จัก ‘ผู้การตุ้ม’ มือปราบค้ามนุษย์/บทความโล่เงิน

บทความโล่เงิน

 

ถอดบทเรียน ‘คอสเพลย์อวตาร’

กฎหมายตามไม่ทันความผิด

รู้จัก ‘ผู้การตุ้ม’ มือปราบค้ามนุษย์

 

สื่อสังคมออนไลน์ร้อนระอุ หลังศาลอนุญาตประกันตัว นายปิยบุตร อุไรงาม อายุ 27 ปี ผู้ต้องหาคดีสร้างบัญชีสื่อออนไลน์ปลอม หรืออวตาร ลวงเด็กหญิงอายุ 14 ปี ที่ชื่นชอบการแต่งคอสเพลย์ ให้ถ่ายภาพอนาจาร ก่อนแอบบันทึกเก็บไว้ข่มขู่ แบล๊กเมล์ให้ยอมทำตามข้อเรียกร้อง ภายหลังถูกจับกุมได้ที่บ้านพักย่านปทุมธานี จากปฏิบัติการ “คอสเพลย์อวตาร” โดยกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.)

เหตุประจักษ์จากข่าวสาร พฤติกรรมของนายปิยบุตร เรียกว่าโหดเหี้ยมเกินมนุษย์ ก็คงไม่ผิดนัก

ใบหน้าเด็กสาวที่เต็มไปด้วยน้ำตา ยกสองมือที่ถือมีดจี้คอของตนเองขึ้นไหว้ซ้ำไปมา กรีดร้องโหยหวนราวกับคนไร้สติ ทั้งหมดเพียงเพื่อขอให้นายปิยบุตรหยุดการกระทำ ขณะที่เหยื่ออีกรายถูกสั่งให้เปลื้องผ้าคลานสี่ขา ก้มลงกินอาหารที่อยู่ในชามเบื้องล่าง ราวกับสุนัขรับคำสั่งเจ้านาย สิ่งเหล่านี้ปรากฏตามคลิปที่อยู่ในโน้ตบุ๊กและโทรศัพท์นายปิยบุตร

ซ้ำร้ายเหยื่อบางรายทนความอัดอั้นไม่ไหว ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร ก่อเหตุสลดดับชีวิตตนเอง เพื่อหนีจากความเป็นจริงอันโหดร้าย

แต่นายปิยบุตรกลับไร้สำนึก หลอกลวงเด็กหญิงเรื่อยมา กระทั่งถูกจับกุมได้ก็ยังปากแข็ง ให้การภาคเสธ อ้างว่าคลิปหญิงสาวที่เก็บไว้ เป็นภาพแฟนสาว หรือภาพที่บันทึกจากทวิตเตอร์ ไม่ได้ข่มขู่ ก่อนที่ยอมรับภายหลัง

ผู้คนต่างพร้อมใจตั้งคำถาม โดยนำคดีนายปิยบุตรไปเปรียบเทียบคดีนักกิจกรรม เช่น “บุ้ง” เนติพร เสน่ห์สังคม และ “ใบปอ” ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ สมาชิกกลุ่มทะลุวัง ที่ยื่นขอประกันตัวหลายครั้ง จากคดีทำโพล ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน แต่กลับไม่เป็นผล ถูกจองจำเป็นเวลานานถึง 2 เดือนแล้ว

แล้วเหตุใดนายปิยบุตร ผู้โหดเหี้ยมเกินมนุษย์ จึงกลับได้รับการประกันตัว?

พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ ผบก.ปคม.

พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ ผบก.ปคม.ได้ไขข้อข้องใจว่า แท้จริงแล้ว การได้ประกันตัวนายปิยบุตร เพราะกฎหมายยังตามความผิดไม่ทัน ความผิดเหล่านี้ เป็นการทารุณทางเพศรูปแบบหนึ่ง เป็นขั้นตอน “การเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ” หรือการเข้าหาเด็กโดยมีจุดประสงค์ทางเพศ (Child Grooming) โดยสร้างความเป็นมิตรกับเด็ก รวมไปถึงครอบครัว ในการสร้างความน่าเชื่อถือ โดยมีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์ทางเพศ หาใช่การเอ็นดูเด็ก แบบที่ผู้ใหญ่มีต่อลูกหลาน

ในหลายประเทศให้ความสำคัญกับความผิดลักษณะนี้ มีการกำหนดความผิดไว้อย่างชัดเจน เช่น

ออสเตรเลีย ห้ามใช้บริการโทรคมนาคมเพื่อจัดหาเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี หรือให้เด็กรับข้อมูลอนาจาร โดยมีจุดประสงค์เตรียมเพื่อทารุณกรรม

คอสตาริกา กำหนดให้การล่อลวงเด็กทางเพศทางอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมาย กำหนดโทษ 1-3 ปี สำหรับบุคคลที่พยายามเริ่มสื่อสารเพื่อให้เกิดกามารมณ์ หรือการสื่อสารทางเพศกับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

แคนาดา การสื่อสารกับเด็กผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำผิดทางเพศ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

เนเธอร์แลนด์ การเตรียมเด็กออนไลน์เพื่อทารุณกรรมทางเพศ มีโทษสูงสุดคือจำคุก 2 ปี หรือปรับ

อังกฤษและเวลส์ การนัดพบเด็กโดยมีจุดประสงค์เพื่อทารุณเด็กทางเพศ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ส่วนในสหรัฐอเมริกา กิจกรรมทางเพศกับเด็กทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่การชักชวน ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ขณะที่ไทย แม้มีกฎหมายควบคุม ใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก กฎหมายล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่เอาผิดได้ แต่เอาผิดหลังเกิดเหตุ ส่งผลให้เหยื่อได้รับความเสียหายทั้งทางกายและทางใจไปแล้ว ไม่ใช่การป้องกัน รวมไปถึงไม่มีคำนิยามที่แน่ชัด ส่งผลให้แม้คนร้ายจะถูกดำเนินคดี แต่กลับไม่สำนึก ก่อเหตุซ้ำ

ดังจะเห็นได้จากพนักงานสอบสวน บก.ปคม. แจ้งดำเนินคดีนายปิยบุตร 3 ข้อหา คือ ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก เพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเพศ, ข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน หรือโดยใช้กำลัง และยุยงส่งเสริมเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่ง “เค้น” ข้อกล่าวหา เพื่อเอาผิดให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.วิวัฒน์ได้สั่งการให้เร่งตรวจสอบจำนวนเหยื่อที่แน่ชัด เนื่องจากในโทรศัพท์และโน้ตบุ๊กนายปิยบุตร ปรากฏคลิปหญิงสาวกว่า 20 ราย จึงต้องพิสูจน์ทราบตัวผู้เสียหาย และพิสูจน์ว่าคลิปดังกล่าวเป็นของนายปิยบุตรหรือไม่ รวมถึงคำเนินคดีในลักษณะต่างกรรมต่างวาระ เป็นแนวทางที่ดีที่สุด ขณะที่กฎหมายไทยยังไปไม่ถึงความผิด

 

สําหรับ พล.ต.ต.วิวัฒน์ หรือ “ผู้การตุ้ม” จบจาก นรต. รุ่น 45 พ่วงดีกรีปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮูรอน เคยนั่งผ่านตำแหน่งรอง สวส.สน.นางเลิ้ง, สว.งาน 3 ทนท.วิเทศสัมพันธ์ ตท., รอง ผกก.1 บก.ป., ผกก.สายตรวจ 191 บก.สปพ. และรอง ผบก.น.5

หลังขึ้นกุมบังเหียน บก.ปคม. เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ได้เปิดปฏิบัติการสำคัญ ปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์มากมาย อาทิ ยุทธการลูกแกะน้อยออนไลน์เฟส 1, 2 จับเครือข่ายโมเดลลิ่งกว่า 10 ราย นำเด็กค้าบริการออนไลน์

ยุทธการดาวลูกไก่ เข้าค้น 3 จุด สระบุรี, เชียงราย ทลายเครือข่ายลวงเด็กหญิงค้ากาม

ยุทธการผัดกะเพรา เข้าค้น 4 จุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ, อ่างทอง, ชัยภูมิ และกาญจนบุรี บุกรวบแก๊งลวงเด็กชายถ่ายของลับ แลกไอเทมเกมส์

ยุทธการเรือมนุษย์ สนธิกำลังตำรวจสอบสวนกลาง เข้าค้น 6 จุด กวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์ บังคับใช้แรงงานบนเรือประมง

นอกจากนี้ บก.ปคม. เป็น “คีย์” ของศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) หนึ่งในฟันเฟืองที่กำลังเร่งอัพ “เทียร์” รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือทิปรีพอร์ต ขณะนี้อยู่อันดับ 2 ที่ต้องจับตามอง

ถือได้ว่าผลงานเข้าตากรรมการ เพราะหลัง “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. กลับจากหารือปัญหาการค้ามนุษย์กับรัฐบาลสหรัฐอมริกา เมื่อช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าสหรัฐพอใจการปราบปรามค้ามนุษย์ไทย ที่มีการจับกุมผู้ต้องหาอย่างก้าวกระโดด

“คอสเพลย์อวตาร” จึงเป็นอีกคดีสำคัญ ที่สามารถนำไปสู่การแก้กฎหมาย ไม่เพียงแต่ช่วยอัพเทียร์ แต่ยังช่วยป้องกันไม่ให้ “ผ้าขาว” ถูกย้อมด้วยสีดำแห่งมลทิน