‘เครื่องบินเมียนมา’ รุกล้ำน่านฟ้า กับบทบาท ‘ไม้ค้ำยัน’ ของรัฐบาลไทย?/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘เครื่องบินเมียนมา’ รุกล้ำน่านฟ้า

กับบทบาท ‘ไม้ค้ำยัน’ ของรัฐบาลไทย?

 

กรณีเครื่องบินรบของกองทัพเมียนมารุกล้ำน่านฟ้าไทยบริเวณ อ.พบพระ จ.ตาก ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี จึงนัดพูดคุยกับอดีตนักการทูตและนักวิชาการอาวุโสด้านความมั่นคงศึกษา ในประเด็นร้อนว่าด้วยสถานการณ์รุกล้ำอธิปไตยที่เพิ่งเกิดขึ้น

นี่คือรายละเอียดบางส่วนของบทสนทนา

รัศม์ ชาลีจันทร์ (ทูตนอกแถว)

อดีตเอกอัครราชทูต

ทาง ทอ. (กองทัพอากาศ) หรือนายกฯ ก็บอกว่าเขา (รัฐบาลเมียนมา) ขอโทษแล้ว ผมก็สงสัยว่าขอโทษอย่างไร? ใครขอโทษ? มีใครเห็นไหมครับ? หนังสืออยู่ที่ไหน? ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครรู้ ของอย่างนี้มันมีต้องมีหลักฐาน-หลักการ อย่างน้อยต้องมีลายลักษณ์อักษร

อย่างที่บอก เรื่องทั้งหมดนี้ สังคมก็ไม่ได้คิดว่ามันเรื่องเล็ก มันเรื่องอธิปไตย และมันกลายเป็นว่าเราจะไปพัวพัน สนับสนุนการเข่นฆ่าประชาชนในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่โลกเขารุมประณาม รวมทั้งเรื่องชีวิตทรัพย์สินของคนไทยด้วย

เพราะฉะนั้น การขอโทษมันต้องเป็นการขอโทษอย่างเป็นทางการ และเป็นระดับสูง โดยตัวแทนรัฐบาลของเขา และต้องมีหลักฐานด้วย ทั้งหมดนี้อยู่ที่ไหนครับ? หรืออย่างน้อย คุณก็ต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว

แล้วก็จะฝากไปบอกด้วยว่า เรื่องนี้ที่ทาง ทอ.มาบอกว่าให้ผู้ช่วยทูตทหารไปแจ้งเขาว่าอย่ารุกล้ำ จริงๆ มันก็ไม่ใช่ เรื่องนี้มันเกินแล้ว มันต้องเป็นตัวแทนของรัฐบาล อย่างน้อยก็เอกอัครราชทูต เพราะผู้ช่วยทูตทหารไม่ได้เป็นตัวแทนรัฐบาล หรืออย่างน้อย สิ่งที่ถูกต้องที่สุดคือ กระทรวงการต่างประเทศไทยต้องเรียกทูตพม่ามาประท้วงทันที ยื่นหนังสือให้

สมัยก่อนผมทำงานอยู่กระทรวงการต่างประเทศ ตอนที่เวียดนามยังรุกรานกัมพูชาอยู่ สมัยนั้นเราก็ต้องประท้วงอย่างนี้ เรียกทูตเขามา สมัยนั้น ต้องไปประท้วงที่ยูเอ็นด้วยนะครับ ไม่ใช่แค่ประท้วงที่เมืองไทย

สิ่งเหล่านี้ที่พูดไปไม่ใช่แค่สื่อสารให้ประชาชนไทยเท่านั้น เพราะนักการทูตทุกคนเขาต้องติดตามสิ่งเหล่านี้อยู่ เขาก็ต้องจับตามอง แล้วก็ต้องรายงานไปยังประเทศเขา และก็ต้องบอกว่าสิ่งที่พูดมาอย่างนี้ มันตีความได้อย่างไร

ก่อนหน้าที่ท่านนายกฯ จะออกมา (สัมภาษณ์) ท่านโฆษก ทอ.ก็ออกมาแถลงแล้วว่า เขาได้จับตาดูตลอด 24 ชั่วโมง เห็น (เครื่องบินรบเมียนมา) บินวนอยู่แล้ว ซึ่งไอ้บินวน ก็รู้อยู่แล้วว่าบินวนอยู่ที่ไหน ก็เหนือบริเวณที่กำลังสู้รบกันอยู่

เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมันไม่สามารถมองไปอย่างอื่นได้ มันเป็นการจงใจบินเข้ามาของพม่าแน่นอน เพราะเขาบินวนอยู่นานแล้ว แล้วเขาถึงบินโค้งมาตั้งลำ เพื่อจะบุกเข้าไปโจมตีจากด้านหลัง

สิ่งนี้มันชี้ชัดว่า หนึ่ง พม่าเขาจงใจ สอง เราบอกว่าไม่เป็นอะไร เขาขอโทษแล้วก็จบ และการที่เครื่องบินของเราขึ้นช้าไป 15 นาที ซึ่งมันช้ามาก กว่าเครื่องบินเราจะขึ้นไป ถ้าผมจำไม่ผิดก็คือเขาไปแล้ว

ถ้าท่านนายกฯ ออกมาพูดแบบนี้ คือสื่อสารกับประชาชนคนไทย แต่ (สำหรับ) คนอื่น นักการทูตอื่น มันก็ยากที่จะไปแปลอย่างอื่นได้ หนึ่ง เขาคงหัวเราะ อีกเรื่องหนึ่ง คือ มันเหมือนกับเราให้ท้ายหรือสมรู้ร่วมคิด ร่วมมือกับทางเผด็จการทหารพม่า ให้ไปโจมตีเข่นฆ่าชนกลุ่มน้อย

ผมยืนยันนะครับ ไม่มีหรอกผู้นำประเทศไหนที่จะพูดแบบนี้ ไม่มีผู้นำประเทศไหนที่จะบอกว่าอธิปไตยของประเทศชาติเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ ชีวิต ทรัพย์สิน สวัสดิภาพของประชาชน เป็นสิ่งไม่สำคัญ สิ่งเหล่านี้ไม่มีผู้นำคนไหนเขาพูด

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

นักวิชาการด้านความมั่นคง

ถ้าย้อนกลับไปในอดีต เรามีความระแวดระวังทางอากาศอยู่พอสมควร เพราะในช่วงสงครามเย็น พูดตรงๆ เรากลัวเครื่องบินเวียดนามล้ำเขตอธิปไตยน่านฟ้าไทย เพราะฉะนั้น เราก็มีระบบ (ป้องกันภัยทางอากาศ) พอตอนนี้ ระบบพวกนี้มันทำงานทั้งประเทศ รวมทั้งด้านตะวันตกคือฝั่งทางพม่า

หนึ่ง ผมไม่คิดว่าเป็นความผิดระดับเจ้าหน้าที่ สอง ผมว่าเรดาร์ (ตรวจจับอากาศยาน) มันคงไม่ถึงขั้นไม่ทำงาน แต่ปัญหาคือ ขั้นตอนพวกนี้มันเกิดอะไรขึ้น? ผมว่าเป็นคำถามใหญ่

ถ้าเป็นเมืองนอก ผู้นำลาออก เคสอย่างนี้ถ้าเป็นในต่างประเทศ จะมีนายทหารระดับสูงของกองทัพอากาศต้องลาออก เพราะมันตรวจได้ง่ายที่สุด ข้อมูลอยู่ในตัวสัญญาณเรดาร์ที่ถูกจับ แล้วมันเป็นเวลาจริงหมด ก็แปลว่าของจริงข้อมูลมีอยู่

เราเห็นข้อมูลที่ปรากฏในสื่อ แล้ววันนี้พวกนักบินหลายส่วนพูดตรงกันว่า ถ้าสัญญาณจับได้ มีการเตือนแล้วเนี่ย 5 นาที ล้อเอฟ-16 ยกเหนือพื้นกองบิน 4 ที่ตาคลี แปลว่า 5 นาทีเครื่องออกได้แล้ว ไปถึงพบพระ บวกอีกสัก 10 นาที

แต่ความน่าตกใจ ผมคิดว่าข้อมูลที่ปรากฏในสื่อ เราตรวจสอบหลายส่วนคล้ายกัน ก็คือเครื่องบินเอฟ-16 ไทย ไปถึง (ช้า) เป็นเวลาเกือบชั่วโมงหนึ่ง

ผมถึงอยากเห็นข้อมูลจริง เพราะว่าทางโฆษกของกองทัพแถลงว่าเครื่องบินช้า 15 นาที ผมเข้าใจว่าข้อมูลนี้อาจจะไม่ตรงกับข้อมูลที่สื่อได้ หรือข้อมูลฝั่งที่พวกเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวบ้านบอกเลยว่าเครื่องฝั่งไทยไปถึง มันปฏิบัติการจบไปแล้ว แสดงว่ามากกว่า 15 นาที เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันคิดเป็นอื่นไม่ได้

กต. (กระทรวงการต่างประเทศ) บทบาทอยู่ตรงไหน? กต.จะทำอะไร? ตั้งแต่เกิดเหตุ เรายังไม่เห็นบทบาท กต.เลยนะครับ ไม่เห็นบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเลย ไม่เห็นบทบาทผู้แทนพิเศษด้านพม่าที่มีการแต่งตั้งในกระทรวงการต่างประเทศเลย

ตกลงเกิดอะไรกับกระทรวงการต่างประเทศไทย? เพราะการประท้วงทางการทูตต้องทำผ่านกระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผมว่าประเทศไทยต้องตั้งหลักแล้ว และคำว่า “ประเทศไทย” ผมว่ารัฐบาลไทยกับผู้นำทหารไทยคงต้องคิดและตั้งหลักกันดีๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ เราจะกลายเป็นตัวตลกในเวทีระหว่างประเทศ อย่าคิดว่าเวทีระหว่างประเทศเขาอ่านโจทย์ไทยไม่ออก

แล้วอีกส่วนหนึ่ง บรรดาชนกลุ่มน้อย ซึ่งคาดหวังความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมจากเราบ้าง ก็จะยิ่งหวาดระแวงรัฐบาลไทย จะทำให้ปัญหาเรื่องจุดยืนเราเสียหายมากขึ้น

ก่อนวันเกิดเหตุใหญ่ ผมเชื่อว่าวันนี้ก็ไม่ใช่ข้อมูลปิด เพราะปรากฏในสื่อเปิด คือแม่ทัพภาคที่ 3 เยือนเนปิดอว์ แล้วก็พบกับผู้นำพม่า “มิน อ่อง ลาย” แล้ววันถัดมา เครื่องบินมิก-29 ก็ตีวง พอเป็นอย่างนั้น มันไม่มีทางคิดเป็นอื่นเลย

เรากำลังทำตัวเหมือน “ไม้ค้ำยัน” ให้ระบอบทหารในพม่า แล้วพอทำตัวอย่างนี้ มันทำให้ศักดิ์ศรีงานการทูตไทย ซึ่งเคยเป็นอะไรที่มีบทบาทสำคัญในเวทีอาเซียน วันนี้ เพื่อนบ้านในอาเซียนก็รู้สึกว่าไทยไม่สามารถที่จะเป็นผู้นำได้

จากที่ผ่านมา เราก็ย่ำแย่พออยู่แล้ว แต่มาถึงกรณีนี้ ผมกลัวอย่างเดียว ผมกลัวว่ากรณีนี้มันทำให้สิ่งที่โลกเขาสงสัย มันไม่ต้องสงสัย

คือมันกลายเป็นความชัดเจนว่า เรานั่นแหละคือ “ไม้ค้ำยัน”