‘พื้นที่ของสิทธิ’ แตกต่าง/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

‘พื้นที่ของสิทธิ’ แตกต่าง

 

เพราะการเข้าควบคุมอำนาจด้วยวิธีใช้กองกำลังติดอาวุธทำรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และสืบทอดไว้ด้วยการตรากติกากำหนดโครงสร้างอำนาจให้เอื้อต่อโอกาสของตัวเองและพวกพ้อง และสร้างอุปสรรคและเปิดทางทำลายคู่ต่อสู้ พร้อมกับแต่งตั้งผู้เข้าปฏิบัติการตามกลไกเช่นนั้น เพื่อสนองตอบเจตนารมณ์ และให้จัดการให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ตลอด

รัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องประนีประนอมกับความเห็นต่าง

กติกาที่เอื้อและกลไกที่พร้อมทำให้การจัดการกับกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยอย่างเข้มข้น

กระนั้นก็ตาม การชุมนุมเพื่อต่อต้านอำนาจเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เพียงแต่ทุกการชุมนุมมีแต่ความเสี่ยงที่จะถูกกลไกของกฎหมายเล่นงาน เนื่องจากไม่มีสัญญาณที่พร้อมจะให้แสดงออกถึงความคิดที่แตกต่างจากผู้กุมอำนาจ

ดังนั้น เมื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ขึ้นมาเป็นผู้บริหารกรุงเทพมหานครด้วยช่องทางที่แตกต่าง คือมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประชาชนเทคะแนนให้อย่างล้นหลาม จนเรียกว่าเป็น “ซูเปอร์แลนด์สไลด์”

และวิธีการทำงานเพื่อจัดการเมืองหลวงเปลี่ยนไปทันที โดยทุกเป้าหมายการจัดการมีความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง

เป็นการบริหารที่ได้ความเข้าอกเข้าใจทุกความปรารถนาของประชาชนอย่างสูงยิ่ง

ใครมีปัญหาเรื่องปาก เรื่องท้อง เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ผู้ว่าฯ ทุ่มเทแก้ไขให้เต็มที่ โดยไม่เกี่ยงงอนว่าเป็นหน้าที่ของใคร

สำหรับผู้ที่อึดอัดกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทุกเรื่อง ไม่ว่าการเมือง หรือความคิดความเชื่อใดๆ

ผู้ว่าฯ เปิดทางให้ด้วยการจัดพื้นที่ชุมนุมเสรี โดยกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่ว กทม. ให้ชุมนุมได้โดยรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่นำเสนอการชุมนุมกันเอาเอง

เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการจัดการกับความเห็นต่างอย่างสิ้นเชิง

ประชาชนคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

 

“นิด้าโพล” สำรวจล่าสุดเรื่อง “กทม.ไฟเขียว 7 สถานที่ชุมนุมได้” ผลออกมาร้อยละ 54.89 เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 29.06 ค่อนข้างเห็นด้วย ที่ “ไม่เห็นด้วยเลย” มีแค่ร้อยละ 9.16 และ “ไม่ค่อยเห็นด้วย” ร้อยละ 6.71

แม้ในคำถามที่ว่า ผู้ว่าฯ กทม.ควรดำเนินการอย่างไร หากมีการชุมนุมที่ไม่อยู่ในสถานที่ที่จัดไว้ให้ แต่ไปอยู่บนถนนแทน ร้อยละ 40.08 ตอบว่าไม่อำนวยความสะดวกให้ เช่น ไม่จัดห้องน้ำให้ และดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ชุมนุม, ร้อยละ 36.79 ตอบว่าอำนวยความสะดวกในการชุมนุมเหมือนเดิม และร้อยละ 22.44 ตอบว่าไม่อำนวยความสะดวกให้เท่านั้น

แต่เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นว่า กทม.จะจัดการให้เป็นไปตามประกาศนี้ได้แค่ไหน ร้อยละ 36.18 ตอบว่าค่อนข้างเชื่อมั่น, ร้อยละ 26.26 ไม่ค่อยเชื่อมั่น, ร้อยละ 22.60 เชื่อมั่นมาก, ร้อยละ 14.65 ไม่เชื่อมั่นเลย

อันหมายถึงเมื่อมองอีกมุมหนึ่งแสดงว่าประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือกับผู้ว่าฯ

ตามผลสำรวจนี้ สะท้อนชัดเจนว่าเมื่อเปิดโอกาสให้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

บรรยากาศการอยู่ร่วมกันก็ดีขึ้น

ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่รู้ว่าอำนาจของตัวเองมาจากประชาชน พร้อมจะทำความเข้าใจกับประชาชน ย่อมอยู่ร่วมกับคนทุกกลุ่มได้โดยไม่ขัดแย้ง

ต่างจากผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจ และสร้างความได้เปรียบด้วยกติกาและกลไก ย่อมยากจะมองเห็นคุณค่าของการให้พื้นที่ในการแสดงความเห็นต่าง