เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ธงช้างเผือกของสยาม” ในจิตรกรรมล้านนา (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

บทความฉบับก่อนได้อธิบายถึงพัฒนาการความเป็นมาของ “ธงสยาม” แล้วว่า ในที่สุดก็มีการประกาศใช้ “ธงช้างเผือกบนพื้นแดง” ให้เป็นธงชาติสยาม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อย่างเต็มรูปแบบ (แม้จะเริ่มมีเค้าลางมาบ้างแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แต่ก็ยังมีการแบ่งแยกระหว่างความเป็น “ธงชาติ” กับ “ธงประจำพระองค์”)

ในขณะที่สมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏบันทึกในราชกิจจานุเบกษา เรื่องตราพระราชบัญญัติธง ร.ศ.118 (พ.ศ.2442) ชัดเจนว่า

“ธงสยาม มีรูปแบบเป็นพื้นธงสีแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกสีขาวปล่อยและหันเข้าหาเสา” หรือดังที่นิยมเรียกว่า “ธงช้างเผือกเปล่า”

ธงรูปแบบนี้ใช้ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

กระทั่ง พ.ศ.2459 ได้เกิดเหตุการณ์พลิกผัน เนื่องจากการที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเมืองอุทัยธานี (เดิมสะกด อุไทยธานี) ซึ่งกำลังประสบอุทกภัย ได้ทอดพระเนตรเห็นธงที่ราษฎรนำมาถือในระหว่างรอรับเสด็จนั้น ว่ารูปช้างเผือกได้กลับหัวลง

จึงทรงมีพระราชดำริแก้ไขพระราชบัญญัติธง ตามลำดับ ดังนี้

ขั้นแรก วันที่ 26 พฤศจิกายน 2459 ลงประกาศราชกิจจานุเบกษาว่า

“พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์พิจารณาเห็นว่า การค้าขายของประเทศสยาม ได้ดำเนินมาเปนลำดับแลยังจะทวีมากขึ้นทุกที ส่วนธงสำหรับชักในเรือทั้งหลายของพ่อค้า และของสาธารณชน บรรดาที่เปนชาติชาวสยามยังไม่เหมาะ โดยที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ แม้แลแต่ไกลแล้ว เห็นผิดแผกกับธงราชการน้อยมาก และทั้งรูปช้างซึ่งใช้กันอยู่ก็ไม่งดงาม จนเกือบไม่ทราบว่าช้างหรืออะไร เปนเพราะวาดรูปช้างนั้น เปนการลำบากนั่นเอง ควรที่จะแก้ไขมิให้เปนดังที่กล่าวมาแล้วนี้ จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้เพิ่มเติมและแก้ข้อความในพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 129 ดังต่อไปนี้

คือทรงเลี่ยงที่จะใช้คำว่า ธงช้างเผือกอาจทำให้เกิดปัญหา “ช้างกลับหัว” จึงระบุแค่ว่า “ไม่งดงาม… เป็นการลำบาก”

ขั้นที่สอง นำมาซึ่งการแก้ไขพระราชบัญญัติธงอีกครั้งในปีถัดมา พ.ศ.2460 ทรงโปรดให้ปรับเปลี่ยนธงชาติ จากธงช้างเผือกมาเป็นธงไตรรงค์ “แดง ขาว น้ำเงิน” ตามแบบสากลนิยม”

ซึ่งรายละเอียดส่วนนี้ บทความของ “ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ” เพิ่งวิเคราะห์เจาะลึกไปแล้วเมื่อ 2 ฉบับก่อนในเรื่อง “100 ปี ธงไตรรงค์ กับประวัติศาสตร์ของ “ธง” ในสยามประเทศ” สามารถหาอ่านย้อนหลังได้

 

ธงช้างเผือกในจิตรกรรมล้านนา

บทความนี้จึงขอพุ่งเป้าไปที่ประเด็น การพบงานจิตรกรรมล้านนาหลายชิ้น ปรากฏรูป “ธงช้างเผือกบนพื้นแดง” หรือบางครั้งก็เป็น “ธงช้างบนพื้นขาว” ทั้งบนจิตรกรรมฝาผนัง และทั้งบนภาพ “พระบฏ”

ภาพพระบฏ หมายถึงจิตรกรรมบนผืนผ้า ที่อาจเขียนผืนเดียวหรือเขียนเป็นชุดๆ ใช้แขวนห้อยประกอบพิธีการเทศน์มหาชาติในช่วงวันเพ็ญเดือน 12 (ภาษาล้านนาเรียก ยี่เป็ง) เพื่อให้ญาติโยมที่ไปวัดในอดีตแต่ไม่รู้หนังสือสามารถจินตนาการเรื่องราวตามที่พระเทศนาได้

แม้จะไม่มีการจารึกปีศักราชที่วาดภาพจิตรกรรมนั้นๆ แต่ทันทีที่เห็นธงรูปช้างปรากฏอยู่ ก็พอจะอนุมานเอาได้ว่า ย่อมจะเป็นงานจิตรกรรมที่สร้างขึ้นในช่วงระหว่างรัชกาลที่ 5-6 ไม่ก่อนหรือหลังจากนั้นอย่างแน่นอน

แล้วการปรากฏรูปธงช้างเผือกของสยามบนแผ่นดินล้านนา จงใจสื่อสะท้อนถึงสิ่งใดเป็นกรณีพิเศษด้วยหรือไม่

 

วัตถุวัฒนธรรม กับอุดมการณ์รัฐสยาม

เมื่อวิเคราะห์ถึงสังคมล้านนาในยุคเปลี่ยนผ่าน ช่วงที่สยามปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หัวเมืองต่างๆ ถูกเรียกว่า “มณฑลเทศาภิบาล” ในสมัยรัชกาลที่ 5-6 นั้น

ได้มีการส่งข้าหลวงใหญ่ หรืออุปราชมณฑลเทศาภิบาลมาปกครองคนในท้องถิ่นแต่ละมณฑล

ส่วนเจ้านายฝ่ายเหนือ มีสถานะเป็นเพียง “สัญลักษณ์” ทางประวัติศาสตร์เท่านั้น

วัดที่พบรูปธงช้างเผือกบนพื้นแดง มักเป็นวัดหลวงที่มีเจ้านายอุปภัมภ์ โปรดสังเกตว่ามักมีคำว่า “หลวง” ต่อท้ายเช่น วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดบวกครกหลวง (เชียงใหม่) วัดนาคตหลวง (ลำปาง) หรือเป็นวัดสำคัญที่อยู่ในสถานะเป็นที่ตั้งสำนักงานของพระราชาคณะระดับเจ้าคณะจังหวัด เช่น วัดพระยืน (ลำพูน) เป็นต้น

วัดเหล่านี้ล้วนถูกใช้เป็นพื้นที่ทางศิลปกรรมหรือเวทีแสดงออกซึ่ง “วัตถุวัฒนธรรม” (Material Culture) ที่แฝงไปด้วย ค่านิยม อุดมการณ์ หน้าที่ ที่ต้องคอยคัดเลือกสรรวัตถุต่างๆ ขึ้นรองรับกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละยุคสมัย ก่อนวัดอื่นๆ

การพบภาพรูปธงช้างเผือกบนงานจิตรกรรม ยิ่งช่วยตอกย้ำว่าวัดเหล่านี้ พร้อมจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำในหน้าประวัติศาสตร์ ในยุคที่ล้านนาน้อมรับธรรมเนียมการชักธงรูปช้างเผือกขึ้นตามคุ้มเจ้าหลวง อาคารสถานที่ราชการ และวัดสำคัญ ตามรูปแบบที่สยามกำหนดขึ้นตามอย่างตะวันตก

สอดคล้องกับเหตุการณ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ 6 ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ หรือสมเด็จพระยุพราช ในครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสที่หัวเมืองฝ่ายเหนือครั้งแรกในปี พ.ศ.2448

จากเอกสารจดหมายเหตุภาพถ่ายเก่า พบว่าเจ้านายทั้งเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ต่างประดับธงช้างเผือกตามท้องถนน สะพาน อาคารที่ประทับ ตลอดเส้นทางจุดรับเสด็จ ตามขนบของราชสำนักกรุงเทพฯ

นอกเหนือไปจากธงรูปช้างเผือกแล้ว พบว่าเนื้อหาที่ปรากฏในงานจิตรกรรม ยังนิยมแสดงภาพบุคคลในกลุ่มเสนามาตย์ที่แต่งกายในชุดราชปะแตน (Raja Pattern) หรือเสื้อสูทแขนยาวแบบไทยๆ นุ่งผ้าม่วง (ผ้าโจงกระเบน) และสวมหมวก แบบภาคกลาง

มาร่วมยืนปะปนกันกับประชากรพื้นเมืองที่เป็นชาวบ้านชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น กะเหรี่ยง ลัวะ มอญ ไทโยน เงี้ยว ฯลฯ ซึ่งไม่มีธงใดๆ เป็นสัญลักษณ์ของตนเอง มีแต่เพียงตุงและโคมแขวนแบบล้านนา

บุคลลทั้งหมดนี้ อันที่จริงเป็นแค่ตัวละครเล็กๆ หรือฉากประกอบย่อยๆ (ไม่ถึงกับเรียกว่า “ภาพกาก”) ไม่ใช่ตัวละครเอก เช่น พระเวสสันดร นางมัทรี กัญหา ชาลี พบว่าตัวละครหลักยังคงแต่งกายแบบล้านนาผสมอิทธิพลศิลปะพม่า ซึ่งรับผ่านเข้ามาจากระบบการทำสัมปทานป่าไม้

ดังนั้น “ธงรูปช้างเผือก” ในจิตรกรรม จึงเป็น “วัตถุวัฒนธรรม” ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปของหัวเมืองประเทศราชล้านนา

เป็นการเน้นย้ำภาพตัวแทนอุดมการณ์ของรัฐสยาม ว่าต้องการกระชับฐานอำนาจของล้านนาภายใต้ธงช้างเผือกในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

นอกจากนี้แล้ว วัดหลวงหลายแห่ง เช่น วัดพระธาตุลำปางหลวง ยังมีการใช้สัญลักษณ์รูปตาลปัตรพัดยศ เครื่องประกอบสมณศักดิ์ของพระราชาคณะที่ได้รับแต่งตั้งมาจากคณะสงฆ์สยาม มาใช้ประดับตกแต่งตามหน้าบันของวิหารอีกด้วย

ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมีขึ้นมาก่อนในงานศิลปกรรมของล้านนา

แนวคิดเรื่องการใช้ธงชาติสยามเป็นวัตถุวัฒนธรรมผ่านงานจิตรกรรมตามภูมิภาคต่างๆ ยังคงสืบทอดเด่นชัดมาจนถึงช่วงที่มีการเปลี่ยนธงชาติจากธงช้างเผือกมาเป็นธงไตรรงค์

ดังเช่น ภาพพระบฏขนาดยาวหลายสิบเมตร ที่เก็บรักษาด้วยวิธีการม้วน ณ วัดศรีดอนมูล ตำบลทุ่งผึ้ง อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ก็มีการพบภาพธงไตรรงค์กับคณะบุคคลชายหญิงแต่งกายคล้ายอยู่ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม

แม้จะไม่ใช่ตัวละครหลัก (ตัวละครหลัก เช่น พระเวสสันดร ยังคงสวมชุดคล้ายเทวดาหรือคล้ายลิเกอยู่) แต่ก็ถือว่าตัวละครประกอบเหล่านี้ เป็นเครื่องแต้มสีสันให้กระจายอยู่ทั่วผืนผ้าหรือฝาผนัง

ราวกับเป็นสัญญาณการเปิดโอกาสให้คนในพื้นถิ่นล้านนา มีสำนึกร่วมในความเป็นรัฐชาติของสยาม ผ่านการชูธงชาติ (จากช้างเผือก ถึงไตรรงค์) แต่ละผืนนั้นๆ อย่างเนียนๆ