มรดกคุณลุงทรัมป์/ดาวพลูโตมองดูโลก ดาวพลูโต

ดาวพลูโตมองดูโลก

ดาวพลูโต

 

มรดกคุณลุงทรัมป์

 

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กระผมได้มีโอกาสเจอท่านขรรค์ชัย บุนปาน ท่านเมตตาต่อกระผมเป็นอย่างมาก ดั่งเช่นที่ท่านเมตตากระผมและครอบครัวเสมอมา

ท่านได้ชักชวนให้กระผมเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน ท่านพูดสั้นๆ ว่า “เขียนเรื่องอะไรก็ได้ เรื่องโหราศาสตร์ก็ได้”

จากคำพูดสั้นๆ ของท่าน กลายเป็นการบ้านชิ้นใหญ่สำหรับกระผมเป็นอย่างมาก จะเขียนเรื่องอะไรดี ความรู้ก็ไม่ค่อยมี เรื่องโหราศาสตร์ก็มีความรู้เท่าหางอึ่ง อาศัยครูพักลักจำมา เกรงว่าจะเขียนผิดๆ ถูกๆ

กลับไปนั่งคิดนอนคิดอยู่หลายเดือน ใจอยากปฏิเสธแต่ตกปากรับคำผู้ใหญ่ท่านไว้แล้ว

จึงต้องหยิบปากกาขึ้นเริ่มต้นที่ฉบับนี้เป็นฉบับแรก

หลังจากที่ทำการบ้านอยู่พักใหญ่ว่าจะเขียนเกี่ยวเรื่องอะไรดี จึงตกผลึกว่าจะขอเขียนเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ โหราศาสตร์บ้าง เทคโนโลยีบ้าง กฎหมายบ้าง การเงินบ้าง แล้วแต่ว่าเหตุการณ์ในช่วงนั้นอะไรมาแรง

โดยมองดูในมุมมองของเด็ก Gen X

จากที่ท่านขรรค์ชัยชวนเขียนเรื่องโหราศาสตร์ จึงขออนุญาตตั้งชื่อคอลัมน์ให้มีกลิ่นอายโหราศาสตร์หน่อยๆ ว่า คอลัมน์ “ดาวพลูโตมองดูโลก”

เหตุเพราะดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดในระบบสุริยะ และไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุดด้วยเช่นกัน

ด้วยความเล็กและอยู่ไกลจึงสามารถมองเห็นความเป็นไปของดาวดวงอื่นๆ รวมทั้งดาวโลกเสมอ มองดูอยู่อย่างห่างๆ เหมือนคนนอกมองกลับเข้ามา เหมือนกระผมที่เป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่งในสังคม คนตัวเล็กๆ คนหนึ่งมองดูความเป็นไปของสังคม ดื่มด่ำกับความเป็นไปของสังคมในฐานะผู้รับชม

ขอฝากเนื้อฝากตัวท่านผู้อ่านทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ครับ หากเขียนไม่ถูกใจขอโปรดติชมได้ครับ

 

บทความแรกจริงๆ ตั้งใจจะเขียนเรื่องอื่น แต่มีเรื่องใหม่ร้อนแรงเข้ามาแทรก ซึ่งส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นเรื่องด่วนสุดกว่าเรื่องอื่นๆ

นั่นก็คือ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา Supreme Court หรือศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาได้มีคำตัดสินให้การทำแท้งไม่ใช่สิทธิเสรีภาพของคุณสุภาพสตรีที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาให้การรับรองอีกต่อไป

เป็นการตัดสินกลับจากแนวคำพิพากษาเดิมอันเป็นบรรทัดฐานที่ศาลวางไว้เมื่อเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นผลพวงจากมรดกของคุณลุงทรัมป์นั่นเอง

ขึ้นชื่อว่าเป็นมรดกใครๆ ก็อยากได้ หากดูนิยามที่ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยนิยามไว้ มรดกก็คือทรัพย์สินที่เราไม่ได้มีส่วนร่วมในการหา แต่เราทุกคนกลับอยากได้ ซึ่งน่าจะเป็นจริงสำหรับมรดกประเภททรัพย์สิน

ส่วนมรดกคุณลุงโดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะเป็นมรดกกรรมมากกว่า

คือเราไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้าง แต่ต้องร่วมรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ก่อนอื่นขอออนุญาตเล่าถึงระบบกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งแตกต่างจากระบบกฎหมายบ้านเรา

ประเทศไทยใช้ระบบกฎหมาย Civil Law หรือระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร

หากกฎหมายใดระบุไว้ ก็ให้บังคับใช้ตามนั้น

หากไม่มีกฎหมายระบุไว้โดยชัดแจ้งก็ใช้การอุดช่องว่างทางกฎหมายโดยใช้กฎหมายใกล้เคียง คำพิพากษาของศาลจึงมีสถานะเป็นแนวทางในการตัดสินวินิจฉัยชี้ขาดคดีในเรื่องแบบเดียวกันในอนาคตแต่ไม่ถึงขั้นเป็นกฎหมายบังคับใช้

ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาใช้ระบบกฎหมาย Common Law คำพิพากษาในเรื่องที่ไม่เคยมีคำตัดสินวางบรรทัดฐานไว้สามารถเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้หากไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องนั้นไว้

ประเด็นเรื่องเสรีภาพในการทำแท้งของสุภาพสตรีนั้น ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ได้รับที่รับรองเสรีภาพดังกล่าวไว้โดยผลของคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ของศาลสูงสุดในคดี Roe v Wade เมื่อ ค.ศ.1973 หรือเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา

ในสมัยนั้นกฎหมายยกเว้นให้สามารถทำแท้งได้เฉพาะหญิงที่เสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการตั้งครรภ์เท่านั้น

คดีนี้เริ่มฟ้องร้องกันในปี ค.ศ.1969 โดย น.ส.นอร์มสา แม็กคอร์วี ซึ่งใช้นามแฝงในในการฟ้องร้องคดีว่า Jane Roe ต่อสู้กับอัยการของเขตดัลลัส นามว่า Henry Wade

จึงเป็นที่มาของชื่อคดีประวัติศาสตร์ Roe v Wade อันโด่งดัง ซึ่งนักเรียนกฎหมายทุกคนได้เรียนเนื้อหาคดีนี้อย่างแน่นอน

ผลของคำพิพากษาคดีนั้นก่อนให้เกิดการรับรองสิทธิเสรีภาพในการทำแท้งของสุภาพสตรี เป็นต้นกำเนิดของเสรีภาพในการทำแท้ง

ซึ่งต่อมาแนวคิดดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งประเทศไทย

ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ยอมรับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิง วินิจฉัยไว้ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่บัญญัติไว้ว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ขัดหรือแย้งกับมาตรา 28 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ส่งผลให้รัฐสภาต้องแก้ไขมาตรา 301 ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน คือยอมรับเสรีภาพในการทำแท้งหากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์

 

กลับมาที่ศาลสูงสุด หรือ Supreme Court ของสหรัฐอเมริกา ศาลสูงสุดประกอบด้วยตุลาการจำนวน 9 ท่าน ดำรงแหน่งโดยไม่มีเกษียณอายุราชการ เรียกได้ว่าเป็นจนกว่าวาระสุดท้ายของชีวิต หรือลาออก หรือถูกถอดถอน ไม่ได้เกษียณเมื่ออายุครบ 70 ปีบริบูรณ์แบบบ้านเรา ในประวัติศาสตร์ยังไม่มีตุลาการศาลสูงสุดท่านใดถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งการเข้าสู่ตำแหน่งของตุลาการศาลสูงสุดก็ด้วยประธานาธิบดีเสนอชื่อเพื่อให้วุฒิสภาให้การรับรอง

ปรากฏว่าในสมัยของ ฯพณฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียง 4 ปี กลับมีตุลาการศาลสูงสุดถึงแก่กรรมถึง 3 ท่าน จากองค์คณะทั้งหมด 9 ท่าน

คุณลุงทรัมป์จึงมีโอกาสแต่งตั้งตุลาการศาลสูงสุดถึง 3 ท่าน ส่งผลให้ดุลความคิดเปลี่ยนแปลงจากแนวคิดเสรีนิยมกลายเป็นแนวคิดอนุรักษนิยม เรียกได้ว่าตุลาการศาลสูงสุดเป็นมรดกของคุณลุงทรัมป์ก็ว่าได้

สิทธิเสรีภาพในการทำแท้งที่คุณสุภาพสตรีเคยมีมาเกือบครึ่งทศวรรษ อันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิง ถูกสะบั้นลงเมื่อศาลสูงสุดพิพากษาคดี Dobbs v Jackson Women’s Health Organization ให้เหตุผลว่ากฎหมายห้ามการทำแท้งเมื่ออายุครรภ์เกิน 15 สัปดาห์ ของรัฐมิสซิสซิปปีสามารถบังคับใช้ต่อไปได้ ด้วยคะแนน 6 ต่อ 3

และ 5 ต่อ 4 คะแนนเห็นควรกลับคำพิพากษาคดี Roe v Wade

 

ผลของคำตัดสินคดีนี้ที่นักวิเคราะห์มองกันอาจส่งผลให้รัฐสามารถควบคุมการทำแท้งได้ตามความเหมาะสม ซึ่งอาจไปไกลถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากเพื่อไม่ให้สามารถทำแท้งได้หรือทำได้แต่ยากมากๆ หรือหากมองไปไกลกว่านั้นอาจส่งผลถึงการยกเลิกการสมรสเท่าเทียมโดยให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้รับรองสิทธิไว้ไกลถึงขั้นนั้นโดยอาศัยฐานจากคำพิพากษาคดีนี้ก็เป็นได้

แน่นอนว่าเมื่อมีคำพิพากษาออกมา ร้อนถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น ของนิวซีแลนด์ ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาสุดโต่งอย่างทันควัน

จึงอาจกล่าวได้ว่ามรดกชิ้นนี้ของคุณลุงทรัมป์สร้างความตกตะลึงให้กับคนทั้งโลก แม้ว่าลุงจะพ้นจากตำแหน่งแล้วก็ตาม

ส่วนกระผมก็ได้แต่หวังว่าคุณลุงแถวบ้านเราจะไม่ทิ้งมรดกอะไรไว้