ทางเดินประชาธิปไตย บาดแผลและราคาที่ต้องจ่าย ในมุม ‘มายด์ ภัสราวลี’/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

ทางเดินประชาธิปไตย

บาดแผลและราคาที่ต้องจ่าย

ในมุม ‘มายด์ ภัสราวลี’

 

มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มราษฎร มองว่า กว่าที่ประชาธิปไตยที่คณะราษฎรดั้งเดิมต่อสู้มาถึง 90 ปี มันมีหลากหลายอารมณ์ มีทั้งล้มลุกคลุกคลาน มีทั้งช่วงขึ้นช่วงลงของการเป็นประชาธิปไตย ซึ่งตนเองมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งหนึ่งที่เรายังเห็นอยู่ชัดเจนตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปัจจุบัน ถ้าให้พูดกันตรงๆ ก็เหมือนเป็นการพยายามแย่งชิงอำนาจกัน หรือว่าความพยายามเอาอำนาจมาไว้ที่ฝ่ายของตัวเอง ระหว่างฝ่ายประชาชนกับฝ่ายอำนาจเดิม

ซึ่งอันนี้เราก็ยังเห็นอยู่ตลอด แล้วยิ่งในปัจจุบันเรายิ่งเห็นชัดมากกว่าเดิมอีก ผ่านการออกกฎหมายหลายๆ อย่าง การบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการส่งต่อความรู้สึกให้คนในสังคมจะต้องรู้สึกแบบไหน อย่างไร รักได้หรือไม่ได้ ชอบได้หรือไม่ได้อะไรแบบนี้

ส่วนตัวคิดว่ามันควรไปได้ไกลกว่านี้ คือตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความคิดที่ถูกส่งต่อมาไม่ใช่มีแค่การเข้าใจในอำนาจของตัวเองหรือว่ารู้ว่าอำนาจของตัวเองคืออะไรอย่างเดียว

แต่มันรวมถึงแนวคิดที่คิดเพื่อประโยชน์ส่วนรวมด้วย อย่างเช่น เรื่องรัฐสวัสดิการ ถ้าเราลองย้อนกลับไป ก็คล้ายกับเค้าโครงของเศรษฐกิจของ อ.ปรีดี พนมยงค์ ในช่วงตอนเริ่มต้นเหมือนมีการจะออกนโยบายหลักประกันในชีวิตให้กับคนในสังคมอย่างไร

พอมาปัจจุบันมันก็ถูกพัฒนามาเป็นรัฐสวัสดิการนั่นแหละ แน่นอนว่าผลประโยชน์ก็คือ อย่างน้อยๆ ประชาชนควรจะต้องมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน แต่ยังไงๆ มันควรไปได้ไกลกว่านี้ เพราะว่าเรายังคงพูดกันได้ไม่เต็มปากว่าตอนนี้ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ ยังคงมีเผด็จการหรือว่ายังคงมีความพยายามจะคงรูปแบบอำนาจเก่าไว้อยู่ด้วยเหมือนกัน ซึ่งมันยังอยู่ในช่วงของการต่อสู้

เรายังไม่ได้สบายใจได้ว่าเราอยู่ในประชาธิปไตยแล้วจริงๆ

น้องมายด์มองว่าการต่อสู้ต้องใช้เวลา แต่ว่า 2 ปีที่ผ่านมานี้ เราเหมือนติดเครื่องบูสต์เวลา มันเกิดการขยายตัวเร็วมาก ในการที่จะทำความเข้าใจในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย ในเรื่องของการติดเซ็นเซอร์อาวุธทางความคิดของตัวเองว่า เราต้องมีท่าทียังไงกับการทำงานของรัฐบาลนะ หรือว่าจับตาดูการทำงานของรัฐบาลอย่างไร หรือการออกกฎหมายมันถูกต้องถูกหลักที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศตัวจริงหรือเปล่า

ซึ่งตรงนี้มันถูกพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ความรู้สึกในการพัฒนาอันนี้ยังอยู่เนี่ย คือการที่ประชาชนด้วยกันเองยังคงตระหนักรู้ถึงสิทธิของตัวเองตลอดเวลา ยังคงมั่นใจในอำนาจว่าโอเคเราทำอะไรได้ รู้ว่าเรามีกลไกลส่วนไหนบ้าง ถ้าหากเราไม่พอใจเราจะทำอย่างไรได้บ้าง

แล้วความเข้าใจตรงนี้ค่ะ มันจะถูกขยายไปเองโดยปริยาย ในวงสนทนาปกติก็จะกลายเป็นว่า เราเริ่มพูดการเมืองกันมากขึ้นและ เพราะเราเข้าใจแล้วว่ามันเกี่ยวกับทุกเรื่องในชีวิตเรา รถติด ถนนหนทางเป็นยังไง ค่าน้ำมันแพง มันทำให้เราใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบต่อตัวเราด้วยส่งผลกระทบต่อคนในสังคมด้วย มันทำให้เราใส่ใจมากขึ้น แล้วสุดท้ายมองว่ามันกำลังเดินหน้าไม่ได้ถอยหลัง

แล้วเมื่อเราเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งมันจะมีประชาธิปไตยเต็มใบเอง

แต่ว่าเงื่อนไขที่ว่าจะเร็วจะช้าก็หนึ่งคือขึ้นอยู่กับเราสามารถที่จะปกป้องอำนาจเราได้มากแค่ไหนจากเผด็จการจากอำนาจเก่า

ที่สำคัญก็คือถ้าหากไม่มีการรัฐประหาร เราสามารถจะเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ถ้ารัฐประหารเมื่อไหร่ก็มันจะเป็นการหยุดชะงักอีกครั้งหนึ่งอยู่ดี

มายด์บอกว่า จริงๆ เราไม่ควรที่จะโอเคกับการรัฐประหารที่ถูกพูดถึงถามถึงราวกับว่ามันถูกทำให้เป็นปกติ

ก่อนหน้านี้ คือกลุ่มชนชั้นนำพยายามทำให้มันเป็นปกติ เหมือนกับว่ามีปัญหาเมื่อไหร่ก็จะต้องรัฐประหารเมื่อนั้น ซึ่งความจริงแล้วการสร้างความรู้สึกผิดแบบเนี่ย มันผิดต่อคนในสังคมต่อๆ ไปอีก

กลายเป็นว่าพอถึงเมื่อไหร่ที่บ้านเมืองรู้สึกว่ามีความขัดแย้งกัน เริ่มจะอยากให้ใครออกมาทำให้บ้านสงบ

ซึ่งความรู้สึกนั้นมันผิดมากเลยนะ

การทำรัฐประหารมันไม่ใช่การให้ฮีโร่เข้ามาทำให้มันสงบ แต่มันคือการฉีกอำนาจเดิม ยึดอำนาจก่อนแล้วก็รวบรวมอำนาจไว้ที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง แล้วมันอยู่ที่เขาแล้วว่าเขาจะจัดสรรยังไง เราไม่รู้ว่ามันจะเป็นประโยชน์กับเราหรือเปล่า หรือแค่เป็นประโยชน์กับเขา

ส่วนหนึ่งที่เราต้องยึดหลักไว้คือ เมื่อไหร่หากมีการรัฐประหารเราต้องออกมาต่อต้านอย่างเต็มที่ เพราะว่าการรัฐประหารมันคือศัตรูตัวฉกาจของประชาธิปไตย

เมื่อไหร่ที่มีรัฐประหาร ความเป็นประชาธิปไตยจะถูกทำให้หยุดชะงักลง เผด็จการจะเข้ามาครอบอำนาจทุกอย่างแทน

เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดการรัฐประหารปุ๊บเราต้องต่อต้านก่อน

แล้วทำอย่างไรก็ได้ให้ความคิดที่ว่าเผด็จการหรือรัฐประหารเนี่ยมันไม่สมควรที่จะเกิดขึ้นเลยในสังคม

ทำไงก็ได้ให้ความคิดไม่แผ่ขยายออกไปในวงกว้างที่สุด

ตลอด 90 ปีที่ผ่าน มายด์เห็นว่า บทเรียนหนักมากก็คือว่า เมื่อใดที่เราอาจจะจำเป็นต้องตัดสินใจอะไร เราอาจจะต้องมีการวางแผนที่เด็ดขาดหรือว่าคิดถึงประโยชน์ในระยะยาวอย่างไร จะต้องคิดยาวขึ้นไกลกว่าเดิม การที่จะมีอำนาจเป็นไปตามแบบแผนของประชาธิปไตยจริงๆ คือประชาชนต้องมีอำนาจในการกำหนดทุกอย่างก่อน ไม่ใช่ว่าจะเปิดโอกาสช่องว่างส่วนใดเอาไว้

บทเรียนที่ได้ในอดีตก็คือบางส่วนอาจจะยังไม่เด็ดขาดหรือเปล่า ในการจัดวางรูปแบบการเป็นประชาธิปไตยมันยังไม่ได้เต็มหน่วยหรือเปล่า ยังไม่เต็มใบหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราจะคงความเป็นประชาธิปไตยให้ได้ในอนาคต อย่างน้อยๆ ประชาชนจะต้องมีส่วนในอำนาจทุกๆ ด้าน ไม่ใช่อยู่ที่ส่วนอื่น

ซึ่งพื้นที่ในการพูดคุยวันนี้มันไม่ปลอดภัย ตราบใดที่ยังมีมาตรา 112 ที่ถูกบังคับใช้อยู่แบบนี้ แล้วยังมีคนถูกขังทั้งๆ ที่ยังไม่ถูกพิสูจน์ความบริสุทธิ์แบบสิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนถ้าหากเราออกมาตั้งคำถามจะถูกมาตรา 112 กล่าวหาก่อน

ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งที่เขามีความรักชอบ มีความสรรเสริญอยู่แล้วเนี่ย เขาก็ออกมาตั้งคำถามในลักษณะใกล้เคียงกัน หรือการจัดการชุมนุมในรูปแบบลักษณะแบบใกล้ๆ กัน กลับไม่ถูกดำเนินคดีอะไรเลยกับไม่ถูกตีตรา

อันนี้คือความไม่ปกติที่รัฐพยายามทำให้มันเป็น แบ่งแยกคนออกเป็น 2 ฝ่าย แล้วให้ประชาชนเกิดการเกลียดชังกันเอง ซึ่งอันนี้อันตรายมากเลย

พอมันไม่ปลอดภัยแบบนี้ถามว่า สุดท้ายแล้วปลายทางเราจะพูดคุยกันได้ยังไง ทั้งที่รัฐก็ส่งเสริมยั่วยุบอกว่า มีคนอีกฝั่งหนึ่งที่เป็นคนผิดนะ และก็มีคนอีกฝั่งหนึ่งที่เป็นคนถูก กระบวนการยุติธรรมเองก็ส่งเสริมทำให้เป็นอย่างนั้นด้วยเหมือนกัน การไม่ให้ประกันตัว การสั่งฟ้อง การจับเด็กเข้าไปขัง การจับประชาชนเข้าไปขัง การออกเงื่อนไขว่าห้ามกระทำผิดซ้ำ ตัดสินก่อนแล้วว่าการกระทำแบบนั้นผิด

หากรัฐเองหรือกระบวนการยุติธรรมเองไม่มีท่าทีใหม่ มันจะทำให้คนในสังคมเกิดการแบ่งแยกและเกลียดชังกันมากขึ้น

และจนถึงจุดหนึ่งมันอาจจะไม่มีพื้นที่ให้เราได้พูดคุยกันเลยก็ได้ ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดแบบนั้นหรอก หนูคิดว่าประชาชนกันเองเราสามารถหาทางออกพูดคุยร่วมกันได้

 

การต่อสู้ที่ผ่านมา มายด์บอกว่า แต่ละคนมี “ราคาที่ต้องจ่าย” แพงมาก ตัวหนูเองหนูคิดว่าอาจยังไม่เท่าไหร่ หนูยังไม่เคยเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ยังมีโอกาสที่จะอยู่ข้างนอกมากกว่าเพื่อนๆ อีกหลายคน แต่แค่นี้ก็แพงมากแล้วในมุมที่ว่าการต่อสู้ของเราถูกตัดสินไปก่อนว่าเราเป็นคนผิด ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้ถูกพิสูจน์เจตนา

กฎหมาย 112 มันเป็นกฎหมายที่ประทับตราให้คนกลัวไว้ก่อนอยู่แล้ว แล้วสิ่งที่จะมาเป็นปัญหามากอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นภาระในการที่จะต้องไปศาล ไปอัยการ ไปต่อสู้คดีเพื่อที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจของตัวเองเนี่ย ทั้งหมดนี้ต้องใช้ต้นทุนในทางการเงิน ต้นทุนทางอาชีพของแต่ละคน บางคนต้องลางาน บางคนต้องมีปัญหากับที่ทำงาน

ต้นทุนหลายๆ อย่างที่แต่ละคนถูกพรากไปจากการถูกมาตรา 112 มันเยอะมาก แถมได้สร้างบาดแผลให้กับประชาชน ให้กับคนในสังคมด้วย ถูกฝังลึกในตัวของประชาชนไทย ถ้ามันมีปัญหามากขนาดนี้กับประชาชน ควรจะต้องถูกพิจารณาใหม่หรือไม่?

สุดท้าย มายด์มองว่า ความหวังยังมีแน่นอน จนถึงตอนนี้ ความหวังมันเพิ่มขึ้นเยอะมาก เหมือนกับว่าเราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ชัดขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าเราลองติดตามกระแสในโซเชียลทางทวิตเตอร์หรือว่าทางเฟซบุ๊ก หรือว่าทางติ๊กต็อกหรือทางสื่อโซเชียลใหม่ๆ ที่วัยรุ่นใช้กัน มีคอนเทนต์ทางการเมืองมากขึ้น เริ่มมีการพูดถึงความเป็นมาในบ้านเมืองมากขึ้นๆ

คิดว่านี่เป็นจุดก่อตัวเล็กๆ ที่ทำให้เรื่องการเมืองเป็นเรื่องปกติในชีวิตเรา แล้วเด็กๆ รุ่นต่อๆ ไปเขาจะไม่รู้สึกว่าการเมืองมันห่างไกล จะกลายเป็นสิ่งหนึ่งในชีวิตที่เขาต้องใส่ใจ เรายังมีความหวังกันต่อแน่นอน แล้วเราก็ยังคงเรียกร้องต่อสู้กันไป จนกว่าเราจะได้ประชาธิปไตยมาเป็นของประชาชนจริงๆ

จนกว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่เราไว้ใจได้จริงๆ

ชมคลิป