อ่าน ทหารพระราชา ภาคสอง ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

อ่าน ทหารพระราชา ภาคสอง

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร

ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1

90 ปีมาแล้ว ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่

ความจริงแล้ว การถกเถียงที่ว่านี้นับเป็นการต่อสู้ทางการเมือง การต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างพลังอำนาจเก่ากับพลังอำนาจใหม่ ที่เริ่มต้นจากคณะราษฎรที่นำโดยฝ่ายพลเรือน อาจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำฝ่ายทหาร ได้แก่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ร.อ.แปลก ขีตสังขะ หรือจอมพล ป.พิบูลสงครามในเวลาต่อมา พร้อมด้วยเหล่า 4 ทหารเสือที่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่การปกครองด้วยรัฐธรรมนูญหรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีนามสกุล

พอดีผมมีโอกาสเข้าร่วมงาน 90 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่จัดโดยวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ผมขอรายงานงานสัมมนาอันยิ่งใหญ่นี้ด้วยการเริ่มต้นว่า

ผมเห็นด้วยที่แต่ละฝ่ายในที่ประชุมสัมมนาแห่งนั้น โดยเฉพาะปัญญาชนสยาม อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ย้ำให้เข้าใจว่า หัวใจของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 90 ปีที่ผ่านมาคือ ราษฎร และประเทศของเรานี้ยังไม่ได้เป็นของราษฎรเสียที

 

ทำไม?

ทหารกับการเมืองไทย

พอดีงานสัมมนาวันนั้นมีการนำเสนองานวิชาการของสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นั่นคือ A Soldier King : Monarchy and Military in the Rama X ซึ่งพิมพ์โดย Institute of Southeast Asian Studies, Yusof Ishak Institute, Singapore 2022 ที่ผมเคยเขียน อ่าน ทหารพระราชา มาแล้วครั้งหนึ่ง1 ซึ่งเป็นเพียง อ่าน ในบางเรื่องเท่านั้น คราวนี้จึงขอ อ่าน ทหารพระราชา ครั้งที่ 2 โดยเรียบเรียงบางประเด็นจากนักวิชาการบางท่านที่นำเสนอความเห็นในเวทีการสัมมนา แล้วผมขอ อ่าน ทหารพระราชาอีกครั้งหนึ่ง

อ่าน ทหารพระราชา ของ Dr. Paul Chamber

Paul Chamber เป็นนักวิชาการชาวอเมริกันที่ใช้ภาษาลาวและไทยได้อย่างคล่องแคล่ว2 โดยที่อยู่ลาวและไทยมานานหลายปี ที่สำคัญ พอลเขียนงานเกี่ยวกับประชาธิปไตย การเมืองและการต่างประเทศไทยหลายชิ้นทั้งบทความและหนังสือภาษาอังกฤษ ภายหลังพอลเขียนวิเคราะห์ทหารกับการเมืองไทยหลายชิ้น แล้วเขียนได้ดีเสียด้วย

สาระสำคัญที่พอลใช้แสดงความเห็นต่องานเรื่อง ทหารพระราชา ของสุภลักษณ์นั้น พอลนำเสนอคือ Monarchized Military ซึ่งพอลเน้นว่าเป็นแนววิเคราะห์เน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับทหาร (Monarchy and Military relation) โดยพอลได้ขยายประเด็นและกรอบคิดอื่นๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และทหาร ได้แก่ มีพลวัตอย่างมีการดำเนินการ (transactional dynamics) มีสัญลักษณ์เพื่อความชอบธรรมทางการเมือง (legitimizing symbols) มีเรื่องของพิธีกรรม (Ritual) และเป็นกระบวนการ (processes)

Monarchized Military ของพอลช่วยเสริมความเข้าใจ ทหารพระราชา เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะยุคหลังรัฐประหาร 2557 ส่วนผม ทหารพระราชา ควรอย่างยิ่งที่ต้องดูผลกระทบทางการเมืองและผลกระทบต่อประชาธิปไตยไทย ในช่วงระบอบการเมืองที่ยังไม่มีชื่อเรียก …

 

อ่าน ทหารพระราชา ภาคสอง

เมื่อ ทหารพระราชา ของสุภลักษณ์ได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจคือ พวกทหารพระราชา

เขาเกิด เติบโตและสถาปนาตนขึ้นมาอย่างไร? สุภลักษณ์เองวิเคราะห์พอสมควรถึงผลกระทบต่อการเมืองร่วมสมัยของไทยหลังการรัฐประหาร 2557

อย่างไรก็ตาม ผมขอขยายความประเด็นหลักของ ทหารพระราชา ว่า กล่าวอย่างย่อที่สุด นับตั้งแต่ยุคความทันสมัย (Modernization) ของสยามในศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ในยุคก่อเกิดรัฐชาติ (Nation State) ทหารพระราชา หรือทหารสมัยใหม่ (modern military) ไม่เคยทำสงครามในรูปแบบ (conventional warfare) กับภัยคุกคามจากภายนอก (external threat) ได้แก่ลัทธิล่าอาณานิคม ลัทธิคอมมิวนิสต์

ในทางตรงกันข้าม พวกเขาได้ทำหน้าที่ผู้ปกป้องหลักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

แล้วทหารพระราชาในช่วงการเมืองร่วมสมัยมักอ้างเสมอมาว่า พวกเขาได้ทำหน้าที่หลักแห่งชาติ 3 หน้าที่ คือ ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

แต่แท้จริงแล้ว พวกเขาทำหน้าที่หลักเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุนี้ ในการตีความของผมจึงเกิดความย้อนแย้งคือ แท้จริง ทหารทุกคนล้วนเป็นทหารพระราชาตั้งแต่ต้นทั้งในแง่กฎหมายของสังคมคือ พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นจอมทัพ

ในชีวิตจริงของสังคมการเมืองไทย ทหารทำหน้าที่ปกป้องสถาบันพระทหารกษัตริย์ แต่ด้วยพลวัตและความเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทยร่วมสมัย ทหารพระราชากำเนิดใหม่ เมื่อปี ค.ศ.2019 ในนาม ทหารคอแดง (Red Rim) หรือที่สุภลักษณ์และพอลเรียกว่า Thahand Ko Daeng

ในความเห็นของผม เรื่องที่น่าสนใจคือ กำเนิดใหม่ ของทหารพระราชาก่อเกิดมาเพื่อทำหน้าที่อะไร และทำไม?

พร้อมกันนั้น ประเด็นที่สำคัญมากคือ ทหารพระราชายุคนี้มีผลต่อการเมืองและประชาธิปไตยไทยหรือไม่และอย่างไร?

สำหรับผม คำอธิบาย ผลกระทบทางการเมืองของทหารพระราชาควรต้องเน้นที่ในการเมืองเมืองไทยร่วมสมัย ที่โครงเรื่องหลักของทหารคือ ความขัดแย้งอย่างลึกภายใน (deep intra-conflict) กองทัพระหว่างรุ่น ในรายละเอียดคือ

ทศวรรษ 1980 นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 1-5-7 นำโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นคู่ขัดแย้งหลัก ขออนุญาตไม่กล่าวถึงประเด็นและพัฒนาการของความขัดแย้ง

ทศวรรษ 2000 นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 19-20-21-22 จุดที่ต้องเน้นหลักคือ การครองอำนาจทางการเมืองในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2003-2019) นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของ 3 ป.

ในปี 2019-การเมืองของนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นต่อๆ มาน่าจะยุ่งยากขึ้น เพราะกำเนิดใหม่ของทหารพระราชา (ของจริง) ทหารคอแดงที่ค่อยๆ แซะฐานอำนาจของ 3 ป. จากการยึดครองตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ไปเป็น พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท (หน่วยรบพิเศษ) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ กองพลที่ 1 (วงศ์เทวัญ) และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ (วงศ์เทวัญ)

แล้วการโยกย้ายนายทหาร โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกกันยายนปีนี้ การแข่งขันและชิงชัยกันกำลังก้าวสู่ การเมืองเรื่องรุ่น (classmate politics) ที่ซับซ้อนกว่าเดิม เพราะการเมืองเรื่องรุ่น ผนวกกับฝักฝ่ายการเมือง

และการแข่งขันใหม่ที่ทรงพลังมากๆ ระหว่างทหารพระราชากับบูรพาพยัคฆ์ นั่นเอง

 

สรุป

คํากล่าวของปัญญาชนสยามผู้อายุครบ 90 ปี เพราะเกิดปี 2475 ปีเดียวกับการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่มีนามสกุล กล่าวทิ้งทายไว้ ก่อนจะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยอังกฤษ ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยว่า

ผู้นำที่ฉลาด มักไม่แสดงความฉลาดออกมามากจนเกินไป

ตัวผู้เขียนคิดว่า การเมืองไทยและประชาธิปไตยไทยมีส่วนคล้าย แต่ไม่เหมือน ลึกแต่ไม่ลับ เหมือนการเมืองและประชาธิปไตยในที่อื่นๆ ในโลก สำหรับผม คำเตือนแห่งปัญญาชนสยามใช้ได้กับผู้นำทั้งหลาย โดยเฉพาะประเทศไทย

ไม่มีใครรู้ว่าคำเตือนนั้น เตือนผู้นำทางการเมืองท่านใด สำหรับผม เราต้องรอดูจากการเปลี่ยนแปลงใหญ่

1 อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ อ่าน ทหารพระราชา มติชนสุดสัปดาห์ 27 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2565 : 88.

2 Paul Chamber เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก