นรสี เมห์ตา : เต้นรำกับพระเจ้าในความรัก / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
Statue of Narsinh Mehta in Vadodara /en.wikipedia.org

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

นรสี เมห์ตา

: เต้นรำกับพระเจ้าในความรัก

 

“ใครสั่นไหวกับความเจ็บปวดของผู้อื่น แลยื่นมือเข้าช่วยยามทุกข์ยาก ทั้งปราศจากความทระนงตน ผู้นี้แลเรียกไวษณวะชนแน่แท้ ผู้น้อมไหว้เคารพทั่วสกล ไม่กล่าวบ่นติฉินใคร ทั้งทำกายวาจาใจให้พิสุทธิ์ มารดาของบุตรเช่นนี้นับว่ามีโชค”

นี่เป็นบางส่วนจากบทกวีเลื่องชื่อในภาษาคุชราตี “ไวษณวะ ชนะ โต” (Vishnava jana to) ของนักบุญนรสี เมห์ตา (Narsi Mehta) ว่ากันว่ากวีนิพนธ์บทนี้เป็นที่ชื่นชอบของมหาตมาคานธีมาก ตัวคานธีเองก็เป็นคนคุชราตีเช่นเดียวกับท่านนักบุญ และใครที่เติบโตในอินเดียย่อมเคยได้ยินบทเพลงจากบทกวีนี้ ไม่ว่าจะจากวิทยุหรือภาพยนตร์

ปกติแล้วเรามักได้ยินคำว่า “ไวษณวะชน” ในความหมายถึงผู้สังกัดนิกายที่นับถือพระวิษณุ ทว่า นรสี เมห์ตา ได้ให้ความหมายของคำนี้ใหม่ ไวษณวะชนที่แท้จริงคือผู้ที่มีความเมตตาและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มากกว่าผู้ที่ยึดถือความเชื่อหรือถือว่าตนบริสุทธิ์สูงส่งกว่าผู้อื่นโดยลัทธินิกายของตน

ขบวนการภักติมีจุดเริ่มต้นจากคำสอนของปราชญ์ในภาคใต้ของอินเดีย ทว่า เบ่งบานและแผ่ขยายขึ้นมาสู่ภาคเหนือ ภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือเป็นหลัก

นอกจากแคว้นมหาราษฎร์แล้ว บริเวณใกล้เคียงอย่างคุชราตและราชสถานก็กลายเป็นแหล่งกำเนิดของนักบุญในขบวนภักติยุคกลางอีกหลายท่าน

 

นรสี เมห์ตา ถือกำเนิดในปีวิกรมสัมวัตที่ 1470 ตรงกับ ค.ศ.1414 ในเมืองตลาชะ แคว้นคุชราต ชีวิตของท่านต่างจากนักบุญคนอื่นตรงที่มีบันทึกไว้ค่อนข้างมาก บิดาชื่อกฤษณะ ทาสซึ่งเสียชีวิตหลังเขาเกิดได้เพียงสามปี เขาจึงต้องย้ายไปอยู่กับครอบครัวของลุงฝ่ายแม่

ตระกูลบิดาเป็นนาครพราหมณ์ ซึ่งถือกันว่าสูงสุดแม้ในพวกวรรณะพราหมณ์ด้วยกัน แต่ถึงจะเกิดในตระกูลสูงเพียงใด นรสีก็ไม่เคยถือเรื่องชนชั้นวรรณะ

ตำนานเล่าว่า นรสีเกิดมาพร้อมความบกพร่องด้านการพูดและดูเป็นคนทึ่มๆ กว่าจะเริ่มพูดก็อายุล่วงไปถึงแปดขวบแล้ว

ท่านได้รับการศึกษาอย่างเด็กพราหมณ์ทั่วๆ ไป แต่ด้วยเหตุที่ลุงคือปารวัตทาสเป็นผู้นับถือพระวิษณุ (กฤษณะ-ราม) อย่างเหนียวแน่น นรสี เมห์ตา คงได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อจากลุงนี่เองและทำให้เขากลายเป็นสาวกสำคัญของพระกฤษณะในที่สุด

ลุปี ค.ศ.1425 มารดาของนรสีก็เสียชีวิต สามปีถัดมาลุงก็เสียชีวิตตามไป แต่ก่อนจะเสียชีวิตไม่นาน ลุงของท่านได้จัดแจงให้แต่งงานกับมาเณกพาอีขณะที่นรสีมีอายุได้สิบสี่ปี ทั้งคู่ย้ายไปอยู่กับลูกผู้พี่ของนรสีชื่อพันสีธร

นรสีไม่ใคร่สนใจชีวิตทางโลก ไม่ขวนขวายที่จะหาเงินทอง ท่านมักจะออกไปร้องเพลงสรรเสริญและเต้นรำกับพวกนักบวชอยู่บ่อยๆ

วันหนึ่งภรรยาของพันสีธรเหน็บแนมว่าตัวนรสียากจนและเป็นภาระแก่ครอบครัวของเธอ นรสีเป็นคนจิตใจอ่อนบางอยู่แล้ว เมื่อได้ยินดังนั้นเขาจึงออกจากบ้านทันที แล้วเดินทางไปถึงเทวาลัยพระศิวะ “โคปนาถ” ในแคว้นเสาราษฎร์ ซึ่งห่างออกไปสี่สิบกิโลเมตร

ท่านนั่งภาวนาในเทวสถานโดยปราศจากน้ำและอาหาร เจ็ดวันถัดมาก็ล้มลงเพราะหมดแรง ในระหว่างนั้น พระศิวะได้มาปรากฏในนิมิตและมอบพรหนึ่งข้อให้

นรสีขอพรต่อพระศิวะว่าเขาอยากจะเห็นการเต้นรำ “รสลีลา” ระหว่างพระกฤษณะและเหล่านางโคปีสักครั้ง สาวกแห่งพระกฤษณะผู้นี้ประสงค์จะได้เห็นลีลารัก ซึ่งสำแดงผ่านการร่ายรำยั่วเย้าระหว่างสาวเลี้ยงโคกับพระกฤษณะผู้ทรงเสน่ห์

ฉากนี้สำคัญยิ่งกว่าฉากใดๆ สำหรับผู้ศรัทธา เพราะมันเต็มเปี่ยมไปด้วยปีติสุขของการหลอมรวมกันระหว่างพระเจ้ากับดวงจิตวิญญาณแห่งสรรพชีพ โดยมีพระกฤษณะและนางโคปีเป็นตัวแทน

พระศิวะทรงยอมตาม เมื่อปกมือลงบนศีรษะของนรสีแล้ว ท่านก็ไปยืนอยู่ในป่าพฤนทาวันยามค่ำคืน ฉากการเต้นรำระหว่างเหล่านางโคปีและพระกฤษณะปรากฏอยู่เบื้องหน้า แม้ภายนอกร่างกายจวนเจียนจะแตกดับอยู่รอมร่อ ทว่า ภายในลิงโลดไปด้วยปีติจนน้ำตาไหลหลั่งออกมา นรสีเขียนถึงนิมิตนี้ไว้ว่า

“เหล่านางโคปีผู้งดงามกำลังดื่มด่ำรสลีลาแห่งบดีของเธอ การเต้นรำช่างสนุกสนานชวนเคลิบเคลิ้มอยู่ในรัก นรสีเองก็อยู่ที่นั่นด้วย ฉันรู้สึกว่าลีลาแห่งพระกฤษณะกำซาบอยู่ในดวงใจและดวงจิต และในชีวิตนี้ ฉันจะขับร้องลีลานั้น ซึ่งดวงตาของฉันได้เก็บเอาไว้”

 

เมื่อฟื้นขึ้นจากนิมิตก็ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านไปหาภรรยา แต่ในใจของนรสีมีเพียงพระกฤษณะและภาพจำของรสลีลาที่ได้เห็นเท่านั้น ท่านมีความปรารถนาแรงกล้าที่จะบรรยายภาพนิมิตนั้นในบทกวี ด้วยเหตุนี้งานส่วนใหญ่ของนักบุญนรสี เมห์ตา จึงเป็นกวีนิพนธ์เชิงภาพลักษณ์ที่กล่าวถึงรสลีลาเป็นหลัก

นรสีพาภรรยาย้ายไปตั้งบ้านเรือนที่เมืองชูนาคัฒ (Junagadh) แม้จะกลับไปอยู่บ้าน ดูเหมือนความสนใจทางโลกจะน้อยลงกว่าเดิม ท่านใช้เวลาไปกับการเต้นรำและร้องเพลง ไม่ก็ภาวนาเงียบๆ

หลังจากย้ายมาอยู่ที่ใหม่ ภรรยากับนรสีก็มีลูกสาวคนแรกคือกันวราพาอีและลูกชาย ศมัลทาส เศรษฐกิจของครอบครัวไม่ได้ย่ำแย่นักเพราะได้รับการอุปถัมป์จากชนชั้นสูงซึ่งนับถือไวษณวะ

แต่ตำนานมักเล่าว่า นรสีได้รับการช่วยเหลือจากพระเจ้าเสมอ

 

ระหว่างนี้ ดูเหมือนนรสีจะเป็นที่จับตาของพวกนาครพราหมณ์ เหตุเพราะท่านละเมิดกฎความบริสุทธ์ของวรรณะ นรสีถือว่าไม่ว่าใครก็ตามที่เชิญเขาไปขับร้องสรรเสริญ ไม่ว่าที่นั่นจะเป็นบ้านของพราหมณ์หรือคนนอกวรรณะ ท่านก็จะไปทุกที่ นรสีจึงปรากฏตัวในบ้านพราหมณ์บ้าง บ้านของคนนอกวรรณะบ้าง ท่านบันทึกไว้ว่า

“เชิงเขาคิรนา อันเป็นท่าน้ำบุญยสถานของวิหารทาโมทระ นรสีไปลงสนานกายทุกเพลาเช้า วันหนึ่งคนนอกวรรณะผู้เป็นสาวกที่ศรัทธาจริงใจ พนมมือทั้งสองพร้อมร้องขอ ‘ขอท่านโปรดไปร้องเพลงและเต้นรำ เพื่อนำความสูงส่งแห่งจิตใจไปสู่บ้านของพวกเรา'”

นรสีตอบตกลง และท่านกลายเป็นนิยมในหมู่คนนอกวรรณะ ข่าวการออกไปร้องเพลงในบ้าน “หริชน” (คนของพระเจ้า ซึ่งหมายถึงคนนอกวรรณะ) ดังไปถึงพวกพราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายจึงประณามดูถูกว่าท่านมี “มลทิน” นรสีตอบเพียงว่า

“เขากล่าวว่าฉันมีมลทินและพวกเขาเท่านั้นถูกต้อง ฉันรักเพียงแค่คนผู้รักพระหริเจ้าเท่านั้น ฉันมิเห็นความต่างระหว่างหริชนกันคนอื่นๆ ทว่า ใครที่กระทำให้เกิดการแบ่งแยกอย่างคับแคบเช่นนี้ ย่อมเวียนว่ายเกิดแล้วเกิดอีก และไม่พบความหลุดพ้น”

ตำนานเล่าว่า พวกพราหมณ์โกรธมากและขับนรสีออกจากวรรณะ ท่านตอบว่าดีเสียด้วยซ้ำ หากเกิดชาติหน้าจะไม่ขอเกิดเป็นพวกนาครพราหมณ์ที่มีจิตใจคับแคบเช่นนี้อีก

พวกพราหมณ์จึงพยายามกล่าวโทษต่อทางการ ทว่า นรสีก็พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้

 

หลังจากภรรยาสิ้นชีวิต นรสีรู้สึกหมดภาระทางโลก ท่านทุ่มเทเวลาให้กับการแต่งบทกวีและรู้สึกว่าสิ่งที่ท่านรักอย่างแท้จริงนอกจากพระเจ้าก็คือบรรดาสาวกของพระเจ้านั่นเอง “ไวษณวะชนเป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตฉันเอง” ท่านกล่าว

แม้บทกวีส่วนใหญ่ของนรสี เมห์ตา จะเน้นภาพลักษณ์ความงามของรสลีลา แต่ก็มีบทกวีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ชวนให้ผู้คนพิจารณาความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต และยอมตนศิโรราบต่อพระเป็นเจ้าอย่างสุดจิตสุดใจ

นรสี เมห์ตา สิ้นชีวิตในปี ค.ศ.1480 ขณะมีอายุได้หกสิบหกปี

ว่ากันว่าท้ายที่สุดพวกนาครพราหมณ์กลับมาปฏิบัติต่อท่านอย่างดี และจัดการศพตามประเพณีพวกพราหมณ์

 

ผมขอจบบทความนี้ด้วยบทกวีของนักบุญ นรสี เมห์ตา ดังนี้

“โปรดประทานความภักดีให้ฉันเถิดพระเป็นเจ้า

เพราะฉันยากจนจึงยอมตนขึ้นกับการดูแลของท่าน

ทว่า ขอประทานภักดีให้ฉันเป็นอย่างแรก

แล้วเสด็จเข้ามาสู่หัวใจ ประทับอยู่ในนั้นเสมอ

มีภักดีต่อท่าน ฉันไม่สนใจบำรุงบำเรอกาย ฉันไม่สนความสุขใดในทางโลก

ทว่า หากฉันปล่อยท่านไป โอ้ ที่รัก! ใครเล่าจะเป็นผู้คอยฉุดช่วย

ฉันสั่งสมความชั่วกองท่วมผนังทั้งสี่ของบ้าน

บัดนี้นรสีมีทางเดียวที่จะหนีออกไปได้

คือโดยช่องหน้าต่างแห่งพระนามของพระกฤษณะ”

นรสี •