IKEA ในกรุงเทพฯ / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com

 

IKEA ในกรุงเทพฯ

 

เส้นทางธุรกิจกว่าทศวรรษในไทย ยักษ์ใหญ่แห่งสวีเดน ปรับตัว ปรับแผนชวนติดตาม

อีกฉากกำลังเกิดขึ้น เมื่อ IKEA ร้านขายเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในบ้านแห่งสวีเดน เตรียมเปิดเครือข่ายใหม่อีกแห่ง ใจกลางกรุงเทพฯ ร่วมมือกับกลุ่มเดอะมอลล์ ภายใต้ภายใต้แนวคิด City-Centre Store

“หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการขยายสโตร์ใหม่ของ IKEA ทั่วโลก และประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายเมืองใหญ่ เช่น ปารีส เวียนนา และเซี่ยงไฮ้”

ควรทราบเบื้องต้นว่า IKEA ในประเทศไทย ดำเนินการโดย IKANO GROUP ซึ่งเป็น Holding company ของครอบครัว Ingvar Kamprad ผู้ก่อตั้ง IKEA ลงทุนและดำเนินธุรกิจหลายแขนง สำนักงานใหญ่อยู่ที่ Luxemburg ฐานธุรกิจสำคัญในสวีเดน มีธุรกิจหนึ่งที่เราๆ เรียกว่า Retail Asia ต่อมาเปลี่ยนเป็น Ikano Retail

“เป็นหนึ่งใน 12 บริษัทซึ่งถือสิทธิ์ดำเนินการ (franchisee) IKEA ทั่วโลก” ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับเครือข่าย IKEA ในหลายประเทศในภูมิภาคใกล้เคียง ไม่ว่าเกาหลีใต้ จีน หรือออสเตรเลีย

IKANO กับ IKEA เริ่มต้นครั้งแรกที่สิงคโปร์เมื่อราว 4 ทศวรรษ ปัจจุบันมี 3 สาขา จากนั้นขยายมายังมาเลเซีย (2549) ปัจจุบันมี 4 สาขา ตามมาด้วยแผนการใหญ่ที่ประเทศไทย

ก่อนจะเพิ่งไปเปิดเครือข่ายในฟิลิปปินส์ และเม็กซิโกในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 (2564)

 

IKONO กับ IKEA ในเมืองไทย เปิดฉากขึ้นที่เมกาบางนา โดยบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ ทั้งนี้ ได้เปิดตัวโครงการและประกาศการร่วมทุนกับ IKEA ในปี 2552 และเปิดบริการในปี 2555 ถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ พัฒนาการรูปแบบค้าปลีกขนาดใหญ่ (Super regional mall) แห่งแรกๆ ในเมืองไทย ในพื้นที่ชุมทางชานเมืองทิศตะวันออก

ในไม่กี่ปีถัดมา ด้วยมุมมองในเชิงบวก แผนการใหญ่ทำนองข้างต้นถูกวางขึ้นอีก “จากความสำเร็จโครงการเมกาบางนาเป็นไปอย่างดีและต่อเนื่อง บริษัทจึงจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับอิเกีย (IKEA) เพื่อเริ่มโครงการเมกา 2 ที่ตอบสนองลูกค้าได้ครบทุกภาคในประเทศไทย…จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556…บนเนื้อที่ 250 ไร่ ย่านรังสิต…” รายงานประจำปี 2557 บริษัทสยามฟิวเจอร์ฯ ในฐานะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยระบุไว้

เป็นจังหวะเดียวกับเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ สะท้อนความยุ่งยากตามมา ในที่สุดได้ผ่านเข้าสู่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา (2557) จากกระบวนการรัฐประหาร อย่างไรก็ดี IKEA กับแผนการขยายเครือข่าย ไม่ได้หยุดเสียทีเดียว แต่เปลี่ยนแผนจากชุมชนชานเมืองด้านเหนือ สู่ชานเมืองด้านตะวันตก กับโครงการ “เมกาบางใหญ่” เป็นแผนการใหญ่ที่น่าสนใจอาจมองได้ทั้งสองด้าน ไม่ว่าเผชิญหน้าหรือผนึกกำลังทางอ้อมกับโครงการใหญ่ของยักษ์ใหญ่ค้าปลีกไทย-Central Plaza Westgate ของกลุ่มเซ็นทรัล

ในที่สุดปี 2558 ได้บรรลุข้อตกลงสำคัญอันพลิกแผน เมื่อ IKEA ตัดสินใจเปิดสาขาที่ 2 ในเมืองไทย ณ Central Plaza Westgate ของกลุ่มเซ็นทรัล แทนที่แผนการเดิมจะเป็น “เมกาบางใหญ่” ในที่ๆ ใกล้เคียงกัน

ว่าไปแล้วเป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจร่วมกัน “เปลี่ยนคู่แข่งให้เป็นพันธมิตร” อย่างแท้จริง

 

สําหรับ IKANO ถือเป็นการปรับแผนปรับตัวครั้งสำคัญ จากผู้ร่วมลงทุนเองเพื่อสร้างเครือข่าย กับพันธมิตรท้องงถิ่นซึ่งถือว่าเป็นรายใหม่และไม่ใช่รายใหญ่ สู่แผนการร่วมมือในฐานะผู้เช่าหลัก (Anchor) กับการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่เครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม มุมมองและโมเดลธุรกิจ คงเชื่อมั่นกับพื้นที่ขนาดใหญ่ในชานเมืองหลวงเช่นเดิม ตามบทเรียนความสำเร็จจากชานเมืองฝั่งตะวันออก อย่างที่อ้างไว้

ต่อมามีดัชนีหนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้น มีภาพเด่นชัด จากปลายปี 2561 ช่วงรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (24 มีนาคม 2562) จากนั้นก็มีรัฐบาลใหม่ต่อเนื่องอำนาจเดิม (กรกฎาคม 2562) ธุรกิจใหญ่ไทยเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก สะท้อนความเชื่อมั่น พิจารณาจากการนำกิจการในเครือข่ายที่สำคัญๆ เข้าตลาดหุ้น

ที่น่าสนใจกว่านั้น โครงการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ในใจกลางกรุงเทพฯ ปรากฏขึ้นอย่างมากมาย และกำลังเดินหน้ากันคึกคัก ค่อยๆ เปิดตัวเปิดบริการขึ้นตามลำดับ

แต่ละเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้น วิกฤตการณ์โรคระบาดระดับโลกกระหน่ำ ก่อให้เกิดการหยุดชะงักกิจกรรมสำคัญต่างๆ IKEA เรียกปรากฏการณ์อันเป็นผลกระทบใหญ่หลวงว่า “global supply chain disruption”

สิ่งที่อาจไม่คาดคิดอีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นด้วย ในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว (2564) เครือข่ายธุรกิจแห่งกลุ่มเซ็นทรัล (ภายใต้ CPN) ได้ซื้อกิจการบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ซึ่งดำเนินธุรกิจค้าปลีกในโมเดลต่างๆ มีถึง 18 แห่ง อย่างที่เรียกว่า ศูนย์การค้าชุมชน (Neighborhood Center) และศูนย์ไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Center) ที่สำคัญ มีกิจการร่วมทุนในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ (Super Regional Mail) ได้แก่ เมกาบางนา

ในที่สุด IKONO และ IKEA ในเมืองไทย ได้หลอมรวมจากเป็นคู่ค้าและผู้ร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจที่แตกต่างกัน จนมาเหลือเพียงรายเดียว นั่นคือ กลุ่มเซ็นทรัล

 

ดังนั้น แผนการใหม่ล่าสุดเพิ่งประกาศขึ้น จึงเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง

IKEA แห่งล่าสุด ใจกลางกรุงเทพฯ ในโครงการเอ็มสเฟียร์ ห้างสรรพสินค้าสูง 27 ชั้น มีพื้นที่รวมเกือบ 2 แสนตารางเมตร ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางคมนาคมใจกลางกรุงเทพฯ (ย่านสยามสแควร์) เพียง 4 กิโลเมตร โดย IKEA สุขุมวิท จะตั้งอยู่บนชั้น 3 มีพื้นที่ให้บริการกว่า 12,000 ตารางเมตร ตามแผนการเปิดบริการได้ในปลายปี 2566

เชื่อกันว่ากรุงเทพฯ ในช่วงเวลานั้นได้รับความสนใจหลากหลายมิติมากกว่าในอดีต จากการพัฒนาพื้นที่เป็นเมืองหลวงสมัยใหม่อย่างกระตือรือร้น ทั้งโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานอันหลากหลาย มีขนาดใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ระบบขนส่งมวลชนสายหลักพัฒนาอย่างเต็มกำลัง คืบหน้าครอบคลุมไปอย่างมาก ชุมชนตึกสูงชนชั้นกลางเติบโตขึ้น กระจุกตัวตามเส้นทางระบบขนส่งหลักที่ว่านั้น และเชื่ออีกว่า ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนใหม่จะสร้างสรรค์ชีวิตเมืองหลวงให้ผู้คนและชุมชนวงกว้างและหลากหลาย มีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าที่เป็นมา

ว่าด้วยแผนการธุรกิจ ดีลครั้งนี้ IKANO จะมีพันธมิตรธุรกิจใหม่ สะท้อนความเข้าใจมุมมองพัฒนาการกรุงเทพฯ และสังคมธุรกิจไทยด้วย

 

กลุ่มเดอะมอลล์ ถือเป็นคู่แข่งสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัล มาตามเส้นทางธุรกิจแตกต่าง จากทศวรรษแห่งความสำเร็จ (2526-2537) ในฐานะผู้นำห้างสรรพสินค้าชานเมือง ด้วยบทเรียนสำคัญของผู้มาทีหลัง และผู้ท้าทาย ในช่วงเวลากรุงเทพฯ ขยายชุมชนออกสู่ชานเมืองอย่างขนานใหญ่ ตามแผนการผนึกกำลัง อย่างที่ผมเรียก “โมเดลรามคำแหง”

กว่าจะมาถึงศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม จุดตั้งต้นใหม่ใช้เวลานานทีเดียว ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าใจกลางเมือง ตามแผนการยกระดับสู่ตลาดระดับบน ว่าไปแล้วเดอะมอลล์เคยอยู่ในบริเวณเดียวกันนี้ ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ แต่แล้วต้องถอยห่างออกไปในช่วงเวลาไม่เป็นใจ ในที่สุดสามารถกลับมาอีกครั้ง เมื่อเวลาล่วงเลยไปกว่า 2 ทศวรรษ

เอ็มโพเรียม เผชิญบทพิสูจน์สำคัญและหนักหนาพอสมควร เปิดตัวในปี 2540 แต่สามารถประสบความสำเร็จทางธุรกิจ แผนการซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์กับพัฒนาการใจกลางกรุงเทพฯ ใหม่ เชื่อมโยงเป็นพลังดึงดูดจากพันธมิตรและคู่แข่ง ทั้งเครือข่าย “สยาม” (สยามเซ็นเตอร์-สยามดิสคัฟเวอรี่-สยามพารากอน) และ “เซ็นทรัล” (เซ็นทรัลชิดลม-เซ็นทรัลเวิลด์-เซ็นทรัลแอมบาสซี)

ตามมาด้วยแผนการตนเอง “เอ็มดิสตริก” (เอ็มโพเอ็มเรียม-เอ็มควอเทียร์-เอ็มสเฟียร์) •