E-DUANG : การปรากฏ ของคำ “หย่อมหญ้า” ขณะที่ “หย่อนย่าน” ยังดำรงอยู่

ไม่ว่าจะเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ว่าจะเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อเอ่ยถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระ ทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ

ก็มักจะสรุปอย่างรวบรัด และระบุว่าเป็นความเดือดร้อนไปทุก “หย่อมหญ้า”

อาจเป็นความเคยชิน เมื่อเป็น”หย่อม” ก็ตามมาด้วย”หญ้า”

เท่ากับเป็นการเปรียบเทียบให้ประจักษ์และตระหนักว่า เป็น ความเดือดร้อนอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่คนจน ในระดับที่เรียกกันว่า “รากหญ้า”

ไม่ว่าจะเป็นผลสะเทือนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด ไม่ว่าจะเป็นผลสะเทือนจากสถานการณ์รัสเซียเปิดเกมรุกหวังเข้าไปยึดครองยูเครน

เมื่ออยู่ในมือของรัฐบาลอันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และสถาปนาตนเองเป็น”หัวหน้าทีม”เศรษฐกิจ

สภาพก็เห็นอย่างที่เป็นอยู่

นั่นก็คือ เกิดความเดือดร้อนไปทุก”หย่อมหญ้า” ทั้งๆที่ในความเป็นจริงน่าจะใช้คำว่า “หย่อมย่าน”มากกว่า

นี่ย่อมเป็นสภาพและอาการเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนของถ้อยคำ

 

คำว่าหย่อมเมื่อวางเรียงอยู่เคียงกับคำว่า”ย่าน”อันสะท้อนความหมายอันเป็นที่อยู่อาศัย อย่างเช่นย่านบางลำพู ย่านบางกะปิ ย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่

เมื่อนีคำว่า “หย่อม” มาขยาย และมีคำว่า”ทุก”มานำหน้าอีกชั้นหนึ่งจึงเน้นอย่างหนักแน่นว่าเป็นทุก”หย่อมย่าน”

แล้วเหตุใดคำว่า”หย่อนย่าน”จึงเป็นคำว่า”หย่อมหญ้า”

นี่คือสภาพและวิถีดำเนินของถ้อยคำและสำนวนอันยืนยันการมีชีวิตของมันเอง ที่ไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หากแต่เปลี่ยนไปตามความเคยชินเฉพาะหน้า

คำว่า”หย่อมหญ้า”สามารถเห็นได้อย่างฉับพลันทันใด ณ เบื้องหน้า ขณะที่คำว่า”หย่อมย่าน”แฝงกลิ่นอายโบราณและยาก ต่อการทำความเข้าใจ

จึงถนัดปาก”คนรุ่นใหม่”และสื่อได้อย่างรวดเร็ว ฉับไวกว่า

 

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เติบโตมาอย่างไร อย่าลืมเป็นอันขาดว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่เพียงแต่เรียนที่นิวซีแลนด์ หากยังเรียนที่สหรัฐอเมริกา

พวกเขาล้วนเป็นคนที่มาพร้อมกับความรุ่งเรืองของ”ดิจิทัล”

ขณะที่คำว่า”หย่อมย่าน”ดำรงอยู่ในยุคแห่ง”อะนาล็อก”จึงสันทัดที่จะใช้”หย่อมหญ้า”ในการอุปมาฉันใด อุปมัยฉันนั้น

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง”หย่อมย่าน”เป็นของแท้ ดั้งเดิมกว่า