พฤษภารำลึก (7) พฤษภาประชาธิปไตย/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พฤษภารำลึก (7)

พฤษภาประชาธิปไตย

 

“ความกังวลที่แท้จริงในหมู่นายทหารก็คือ ความตระหนักว่าเกียรติภูมิของกองทัพในสายตาของสาธารณชนกำลังตกต่ำลง”

Alfred Stepan (1988)

ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา

 

ดังได้กล่าวแล้วว่าความหวังและความฝันใหญ่หลัง “ฤดูใบไม้ผลิครั้งที่ 2” ที่กรุงเทพฯ คือความต้องการที่จะเห็นการปฏิรูปกองทัพเกิดขึ้น อันจะทำให้การรัฐประหารไม่เกิดขึ้นอีกในการเมืองไทย แต่ในอีกด้านหนึ่งหลายคนในขณะนั้นเชื่ออย่างมากว่า รัฐประหาร 2534 คือการยึดอำนาจครั้งสุดท้ายแล้ว เพราะทหารมีบทเรียนอย่างชัดเจนจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2535 พร้อมทั้งเห็นถึงความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญอีกครั้งของผู้นำทหารและสถาบันกองทัพ

ในมุมมองเช่นนี้รัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกที่กรุงเทพฯ เป็นเพราะความเชื่อว่าผู้นำทหารมีบทเรียน และเชื่ออีกว่าบทเรียนที่เกิดขึ้นใน “พฤษภาประชาธิปไตย” จะส่งผลอย่างยาวนานให้ผู้นำกองทัพในรุ่นต่อมา ยอมรับถึงราคาแพงที่ต้องจ่ายสำหรับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น

ฉะนั้น บทเรียนจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหยุดยั้งการรัฐประหารในอนาคตได้เพียงใด จึงเป็นคำถามที่ท้าทายอย่างยิ่ง

แต่ในบรรยากาศของกองทัพที่พ่ายแพ้การลุกขึ้นสู้ของประชาชนเช่นนี้ แทบจะไม่เปิดโอกาสให้คนไทยคิดเป็นอื่น นอกจากอยู่ในอารมณ์ที่คล้อยไปกับกระแสแห่งชัยชนะ แต่ชัยชนะในวันนั้นจะสามารถเปลี่ยนจินตนาการของชนชั้นนำและผู้นำทหารที่ยังต้องการใช้กองทัพเป็นเครื่องมือของการแก้ปัญหาทางการเมืองได้หรือไม่

หรือว่าความทรงจำในบทเรียนแห่งความพ่ายแพ้นั้น ไม่เคยดำรงอยู่นานในใจของปีกสุดโต่งทั้งในและนอกกองทัพ

สมมุติฐานที่ท้าทาย!

หากย้อนกลับไปสู่ “วันแห่งชัยชนะ” ในเดือนพฤษภาคม 2535 แล้ว อาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า เราวางน้ำหนักของความคาดหวังที่จะไม่มีการยึดอำนาจในอนาคตไว้กับ “ปัจจัยบทเรียน” เป็นสำคัญ จนดูเหมือนเราเชื่อกันอย่างไร้ข้อสงสัยว่า ผู้นำทหารได้ยอมรับถึงบทเรียนดังกล่าว และมีนัยว่า “ทหารจะไม่ยึดอำนาจอีกแล้ว”

ซึ่งว่าที่จริง สังคมการเมืองไทยเองเคยอยู่ภายใต้สมมุติฐานดังกล่าวมาแล้ว ดังจะเห็นได้ว่ารัฐประหารที่ล้มเหลวถึง 2 ครั้งติดกันของผู้นำ “กลุ่มยังเติร์ก” ในปี 2524 และ 2528 ทำให้หลังจากนั้น เราเชื่อกันอย่างมากว่า การยึดอำนาจถึงจุดจบแล้ว

จินตนาการดังกล่าวเกิดจากการใช้กำลังของหน่วยรบที่มากที่สุดที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้นำทหารยังเติร์กในการยึดอำนาจในปี 2524 แต่กลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และต้องถือว่าเป็นความล้มเหลวครั้งสำคัญในการยึดอำนาจ เพราะหากพิจารณาจากจำนวนกรมและกองพันที่อยู่ในการควบคุมของกลุ่มยังเติร์กแล้ว รัฐประหารในวันที่ 1 เมษายน 2524 ควรจะต้องประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย

แต่ว่าที่จริงแล้ว ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการรัฐประหารไม่เคยต้องถูกอธิบายบนเงื่อนไขของจำนวนกำลังที่ใช้ หากแต่มี “ปัจจัยเบื้องหลัง” ที่ถูกซุกซ่อนจากสายตาของคนทั่วไปที่เป็นปัญหาชี้ขาดความสำเร็จ/ความล้มเหลว

ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้มักกลายเป็น “ข้อมูลบอกเล่า” หรือบางทีก็เป็นข้อมูลที่ไม่ปรากฏในที่สาธารณะ

ต่อมาในวันที่ 9 กันยายน 2528 ผู้นำกลุ่มยังเติร์กร่วมมือกับนายทหารนอกราชการบางส่วนก่อการรัฐประหาร และประสบความล้มเหลวอีกครั้ง

ซึ่งหากมองทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติแล้ว รัฐประหารน่าจะเดินทางมาถึงจุดสุดท้าย แม้ความล้มเหลวที่เกิดในการยึดอำนาจสองครั้งดังกล่าว มีความละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อนในตัวเองมากกว่าที่เรารับรู้จากสื่ออย่างแน่นอน

เพราะการยึดอำนาจที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่เรื่องของผู้นำทหารหรือผู้นำหน่วยกำลังเท่านั้น หากมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มพลังอื่นๆ ในสังคมที่มีบทบาทอยู่เบื้องหลัง เรื่องราวที่แท้จริงของการรัฐประหารจึงมักเป็น “ประวัติศาสตร์บอกเล่า”

ในทางปฏิบัตินั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยกองทัพเป็น “แกนกลาง” ของการยึดอำนาจ เนื่องจากหากปราศจากการเคลื่อนกำลังทหารเข้าควบคุมจุดสำคัญในเมืองหลวงแล้ว รัฐประหารจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ซึ่งก็คือการตอกย้ำว่า รัฐประหารคือ “อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน” ของฝ่ายขวา (ในความหมายปืนของกองทัพ) ในขณะที่สงครามประชาชนคือ การยืนยันถึงหลักการของประธานเหมาเจ๋อตุงว่า “อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน” ของฝ่ายซ้าย (ที่เป็นปืนของกองทัพประชาชน)…

ไม่น่าเชื่อว่านักรัฐประหารกับนักปฏิวัติอยู่บนฐานคิดเดียวกันของการยึดอำนาจรัฐ เป็นแต่เพียงจะยึดอำนาจให้ใคร

ปัญหาของทหาร

ในกระบวนการได้อำนาจรัฐนั้น “ปืน” ไม่ใช่คำตอบประการเดียวอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะในมุมมองของฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาก็ตาม

ถ้าสงครามประชาชนต้องการการสนับสนุนของมวลชนอย่างกว้างขวางแล้ว

การยึดอำนาจก็ต้องการการสนับสนุนของชนชั้นนำและผู้นำอนุรักษนิยมสุดโต่งที่จะเป็นแรงผลักให้เกิดการสนับสนุนการรัฐประหาร

หรืออีกนัยหนึ่งคนกลุ่มนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ละเลยไม่ได้ที่จะต้องเปลี่ยนชุดความคิด เพื่อที่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะได้ไม่สะดุดล้มลง

ความสำคัญของการเป็น “พันธมิตรทางการเมือง” ระหว่างผู้นำทหารกับผู้นำฝ่ายขวาเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของการรัฐประหารเสมอ

คำถามที่สำคัญจึงได้แก่ เราจะทำอย่างไรให้ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และผู้นำขวาสุดโต่ง ยอมรับถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และลดทอน “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” ที่ไม่มองว่าประชาธิปไตยเป็นภัยคุกคาม โดยมีพรรคการเมืองที่มาพร้อมกับระบบเลือกตั้งเป็นข้าศึก

สมมุติฐานที่เราคิดว่าผู้นำทหารได้บทเรียนจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชนอาจจะมีความสำคัญน้อยกว่าที่เราคิด

บางทีผู้นำทหารที่ตัดสินใจยึดอำนาจอาจไม่คิดมาก พวกเขามักเชื่อเสมอว่า ปืนคือปัจจัยชี้ขาด และบทเรียนในอดีตก็เป็นเรื่องของอดีต เพราะเขากำลังยึดอำนาจรัฐในปัจจุบัน

นอกจากจะต้องหาทางลดทอนทัศนคติที่ยึดมั่นใน “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” จนกลายเป็นขวาสุดโต่งแล้ว ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาคือ จะต้องลดความเข้มข้นทางการเมืองของกองทัพ และสร้างความเป็น “ทหารอาชีพ” ให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะเป็นปัจจัยเบื้องต้นในการพาสถาบันทหารให้ถอยออกจากการเมือง

เพราะตราบใดที่กองทัพยังมีบทบาททางการเมืองโดยตรงแล้ว โอกาสที่จะลดทอนความเข้มข้นทางการเมืองย่อมเป็นไปได้ยาก

ความยากลำบากของการลดบทบาททางการเมืองของทหารมาจากความเชื่อที่เกิดขึ้นในหมู่นายทหารที่ว่า การไม่มีอำนาจทางการเมืองจะทำให้กองทัพไม่สามารถปกป้อง “ความเป็นอภิสิทธิ์ของทหาร” ไว้ได้ ในอีกด้านหนึ่งมักจะเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นในผู้นำกองทัพว่า การถอยออกจากการเมืองอาจทำให้พวกเขาถูกจับในคดีคอร์รัปชั่น หรืออีกนัยหนึ่งคือ ปัญหาความกังวลต่อประเด็นทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้นหลังจากการไม่มีอำนาจทางการเมือง

ตัวอย่างของการเปลี่ยนผ่านในละตินอเมริกาสะท้อนถึงความกลัวสองประการนี้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไว้อย่างชัดเจน

หากกล่าวด้วยสำนวนการเมืองไทยแล้ว ปัญหาสำคัญของทหารในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยคือ “กลัวถูกเช็กบิล” จากสิ่งที่ผู้นำทหารได้กระทำไว้ ทำให้พวกเขา “ไม่ยอมลงหลังเสือ” และพยายามที่จะขี่หลังเสือต่อไปให้นานที่สุด

ตัวอย่างจากกองทัพในละตินอเมริกา พบว่าความกลัวเช่นนี้นำไปสู่ความพยายามที่จะชักชวน “ปีกสุดโต่ง” ในประชาคมความมั่นคงของประเทศ (รวมถึงในกองทัพ) ให้เกิดความหวาดระแวงต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง อีกทั้งประกอบสร้างชุดความคิดที่ทำให้เกิดมุมมองว่า ประชาธิปไตยเป็นปัจจัยที่สร้างความอ่อนแอให้กับประเทศในมิติด้านความมั่นคง

โจทย์การปฏิรูปกองทัพจึงเป็นเสมือน “โจทย์เชิงซ้อน” ที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอกกองทัพ เพราะในช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง อาจจะไม่มีความเข้มแข็งมากพอที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกองทัพได้จริง และความพยายามในการปฏิรูปกองทัพของรัฐบาลพลเรือนอาจจะเผชิญกับแรงต้านจากฝ่ายต่างๆ

ฉะนั้น หากพิจารณามุมมองเปรียบเทียบจากละตินอเมริกาแล้ว จะเห็นถึงบทเรียนสำคัญว่า การปฏิรูปกองทัพในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านนั้น เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนและท้าทายอย่างมาก ฝ่ายประชาธิปไตยจึงต้องการความรอบคอบและความรู้ความเข้าใจของรัฐบาลพลเรือน เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้

อีกทั้งจะต้องตระหนักเสมอว่าการปฏิรูปกองทัพคือ จุดเริ่มต้นของการจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารใหม่ เพื่อที่จะปูทางไปสู่การสร้างกองทัพของทหารอาชีพ

 

ทหารอาชีพไทย

อย่างไรก็ตาม คำว่า “ทหารอาชีพ” อาจดูเป็นคำที่ถูกฝ่ายประชาธิปไตยนำมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย หรืออาจถูกโต้แย้งว่า เป็นคำที่กำกวม และอาจถูกตีความได้มากกว่านิยามในแบบของนักรัฐศาสตร์อเมริกันอย่างแซมมวล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) ซึ่งผลงานของเขาถือเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาเรื่องทหารกับการเมือง หรือที่ในสาขารัฐศาสตร์เรียกหัวข้อนี้ว่า “ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร” (Civil-Military Relations)

หรืออีกนัยหนึ่งคือ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ และการจัดความสัมพันธ์เช่นนี้ในระบอบประชาธิปไตยต้องเริ่มด้วยการลดบทบาททางการเมืองของทหาร

ดังนั้น ถ้ากองทัพไม่เป็นทหารอาชีพ และพยายามที่จะดำรงบทบาททางการเมืองต่อไปแล้ว ผลที่เกิดอย่างชัดเจนคือ การเกิดของ “ทหารการเมือง” อันอาจถือเป็นมุมที่อยู่ตรงข้ามกับความเป็นทหารอาชีพ

ซึ่งจะส่งผลให้การจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารในกรอบของความเป็นประชาธิปไตยนั้น เกิดขึ้นไม่ได้เลย ความล้มเหลวในการจัดความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงเป็นสัญญาณของรัฐประหารครั้งใหม่ เพราะรัฐบาลเลือกตั้งเกิดขึ้นและดำเนินกิจกรรมในภาวะที่ผู้นำกองทัพอยู่ในจินตนาการเก่าที่กองทัพมีอำนาจเหนือรัฐบาล

ในเงื่อนไขเช่นนี้ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอาจจะเดินได้เพียงระยะสั้นๆ และจะไม่สามารถเดินไปสู่จุดหมายปลายทางของการสร้างความเข้มแข็งของประชาธิปไตยได้ในอนาคต

ความหวังที่บทเรียนจากความพ่ายแพ้ของกองทัพต่อการลุกขึ้นสู้ของมวลชน จะเป็น “เครื่องกีดขวางทางใจ” เพื่อไม่คิดยึดอำนาจนั้น อาจจะไม่เพียงพอ แต่ชัยชนะในปี 2535 ทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในภวังค์ของความฝัน… ทหารถอยออกจากการเมืองแล้ว รัฐประหารไม่มีแล้ว ในตอนนั้น แทบไม่มีใครตั้งข้อสงสัยเลยว่า ความฝันชุดนี้จะอยู่ไปได้อีกนานเท่าใด

ว่าที่จริงแล้ว สังคมไทยที่ผ่านรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 2524 และ 2528 ก็เคยมีจินตนาการว่า รัฐประหารมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว เพราะมีการใช้กำลังทหารถึง 2 ครั้งในการยึดอำนาจ แต่ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

โดยหลักการแล้ว รัฐประหารจึงไม่น่าเป็นสินค้าที่ขายได้ในสังคมการเมืองไทย

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว รัฐประหารยังคงเป็นสินค้าที่ขายได้เสมอกับบรรดาผู้ซื้อในปีกขวาสุด ที่พร้อมจะผลักดันให้กองทัพเข้าโค่นล้มรัฐบาลที่ฝ่ายตนไม่ชอบ

และสามารถล้มรัฐบาลที่ไม่ชอบได้อย่างรวดเร็วทันใจด้วย!