สมการการเมืองไทย-เมียนมา/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

สมการการเมืองไทย-เมียนมา

 

ช่วงนี้เพื่อนๆ มาถามผมว่า เมียนมามีความเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างไรบ้าง

ฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมา ทหารและพันธมิตรเอาชนะการต่อต้านของกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย รวมทั้งการต่อต้านของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาที่ทำท่าจะต่อกรกับรัฐบาลได้ จริงหรือเปล่า?

นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลพลเรือนที่ถูกรัฐประหารปล้นอำนาจเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ยังปลอดภัย เธอและพรรคพวกจะรอดพ้นข้อกล่าวหาฝ่ายเดียวจากรัฐบาลทหารเมียนมาได้ไหม?

พร้อมกันนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองภายในของเมียนมา ที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง การพัฒนาประชาธิปไตยและสถานะของอาเซียนในภูมิภาคอย่างมากนั้น จะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด?

ผมได้อธิบายอย่างสั้นๆ เพียงว่า ทุกอย่างเกี่ยวกับเมียนมา สัมพันธ์ซึ่งกันและกันจนเป็น สมการการเมือง แต่ไม่ใช่แค่เมียนมา ต้องดู สมการการเมืองไทย-เมียนมา จึงเข้าใจมากขึ้น

ผมจึงขยายความต่อไปอีก ดังนี้

 

บริบทของสมการการเมืองไทย-เมียนมา

: ความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง

สงครามเย็น

: เศรษฐศาสตร์การเมืองของพรมแดน

(Cold War : political economy of border)

ไทย-เมียนมา ชายแดนติดกัน 1,300 กิโลเมตร ผมขอเริ่มต้นที่ อมตะวาจา ที่ออกมาจากปากของผู้กำหนดนโยบายฝ่ายไทยไม่ว่าฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายทหารและฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง

อมตะวาจาที่ว่าชายแดนไทย-เมียนมานี้ เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผมได้ยินมาตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้นประถม แล้วทุกวันนี้ก็ยังได้ยินอยู่เสมอ ทุกครั้งที่มีการพูดถึงความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา ไม่มีใครเถียงเรื่องความยาวของเส้นพรมแดนระหว่างสองประเทศนี้ แล้วก็ไม่มีใครไม่เห็นความสำคัญตรงนี้ รวมทั้งผลของเส้นพรมแดนที่ลากยาวใกล้ในทำนองที่ว่า อะไรเกิดขึ้นกับเมียนมา ไทยย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นอยู่ดี

แต่ประการแรก นี่ไม่ใช่ อมตะ ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่ก่อนรัฐชาติ งั้นความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยาและรัฐพุกาม หงสาวดี ตองอู มอญ ฯ ก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลยน่ะสิ ตรงกันข้าม เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ประการที่สอง ผลกระทบต่อไทยในแต่ละยุคสมัย หาใช่มีแต่ด้านลบ ด้านบวกก็มีหลากหลาย โดยเฉพาะด้านบวกต่อพื้นที่ชายแดน เช่น ยิ่งรบกันพ่อค้าไทย-ชนกลุ่มน้อยยิ่งร่ำรวย

แม้แต่ในกลางพระนคร ใจกลางแห่งอำนาจ ซึ่งได้รับผลที่แตกต่างจากพื้นที่ชายแดน ก็ได้รับผลทางบวก ขึ้นอยู่กับว่า ฐานะ แห่งฝ่ายนั้นอยู่ตรงไหนของสมการการเมือง

 

สมการการเมือง

ในยุคสงครามเย็น ไทย-เมียนมา

อย่างย่นย่อคือ รัฐไทยใช้นโยบายอิงกับชาติตะวันตก ที่นำโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เป็นนโยบายที่ใกล้เคียงกับนโยบายของเพนตากอนคือ อุ้มชูเผด็จการทหารเมียนมา แล้วแตะมือกับชนกลุ่มน้อยด้วยการให้อาวุธ เสบียง ยารักษาโรค ฯ ไม่แตะต้องการค้าสินค้าต่างๆ ทั้งไม้ อัญมณี ได้แก่ หยก พลอย ฯ ยังมียาเสพติดและอาวุธเถื่อนอีกด้วย ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ Front line policy หรือนโยบาย (รบ) ส่วนหน้า รัฐไทยใช้นโยบาย (รบ) ส่วนหน้าคือ ให้เขตอำนาจของชนชาติกลุ่มน้อย รบกับรัฐบาลส่วนกลางของเมียนมา

ผมไม่ทราบว่ากองกำลังที่ไม่ทราบฝ่าย ฝั่งไทยจะร่ำรวยจากนโยบาย (รบ) ส่วนหน้าหรือไม่ เมียนมาสมัยนั้นคือ รัฐกันชน ของไทยและสหรัฐอเมริกา ด้วยเพราะว่าเมียนมามีพรมแดนติดต่อยาวมากๆ กับยูนนาน และมีความสัมพันธ์ต่อกันซึ่งทางปักกิ่ง (รวมทั้งสหรัฐ) ยังรู้สึกไม่มั่นคง ตราบเท่าทุกวันนี้

มองจากไทย สัมปทานไม้ การค้าส่งอาหาร เครื่องอุปโภคนานาชนิด รวมทั้งผงชูรสได้สถาปนาเมืองชายแดนชื่อ แม่สอด เป็นทุนนิยมท้องถิ่น ตราบเท่าทุกวันนี้

 

หลังสงครามเย็น โลกาภิวัตน์ ข้ามพรมแดน

(Post Cold War, Globalization, Transboundary)

ถึงแม้ไทยจะมีพรมแดนยาวเป็นพันกิโลเมตร เมื่อโลกเปลี่ยน ภูมิภาคเปลี่ยน ปฏิสัมพันธ์ชายแดนไทย-เมียนมาก็เปลี่ยนแปลง แล้วเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญเสียด้วย

ก้าวสู่ทศวรรษ 1990 หลังยุคสงครามเย็น แล้วก่อเกิดการปฏิรูปการเมืองภายในไทย รัฐบาลพลเรือนมีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจ พลวัตของต่างจังหวัด แต่ที่พลวัตสูงก็คือ เมืองชายแดนทั้งหลายนั่นเอง ภายใต้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์สมัยนั้น ไม่ทราบใครเป็นสถาปนิก ประดิษฐ์นโยบายต่างประเทศต่อเมียนมาว่า นโยบายผูกพันอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Engagement) แล้วต่อมา ดัดแปลงสรรหาคำใหม่ แต่ก็เหมือนกันคือ ผูกพันอย่างยืดหยุ่น (Flexible Engagement)

บอกตามตรง ผมไม่รู้ว่ามันแตกต่างกันตรงไหน แล้วนโยบายที่ดูดีนี้แปลว่าอะไรกันแน่ ภายใต้นโยบายที่เราบอกว่า ไทยเป็นหน้าต่าง (window) บานสำคัญของเมียนมา เป็นช่องทางให้เมียนมาสัมพันธ์กับภูมิภาคและโลกภายนอก

ในขณะเดียวกัน โลกภิวัตน์ กระบวนการภูมิภาคนิยม (Regionalism) ที่เป็นทั้งบริบทและแรงผลักดันภูมิภาคและโลกได้ผลักดันสรรพสิ่งสู่สภาวะ ข้ามพรมแดน (Transboundary) ทั้งสินค้า บริการ ผู้คน ทุน การเงิน ข้อมูล ข่าวสาร ฯ ดังนั้น นายทุนไทยได้ฉกฉวยนโยบายผูกพันอย่างสร้างสรรค์ สู่ความผูกพันเซ็งลี้ กิจการที่เห็นอยู่คือ สัปทานที่บริษัทเหมืองแร่ได้รับจากทางการเมียนมา ดังนั้น ไม่ว่า พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย พล.อ.หม่อง เอ ท่านตะระฉวย มาน รวมทั้ง พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ จึงเป็นแขกของชนชั้นนำไทย เป็นลูกบุญธรรมของผู้นำฝ่ายความมั่นคงไทย

แล้วประตูเมียนมาก็เปิดกว้างสำหรับอุตสาหกรรมด้านการเกษตร การปลูกข้าว เพาะเลี้ยงกุ้งตัวโตๆ ที่ชาวบ้านเมียนมาไม่มีวันจะได้กิน ถูกส่งออกไปต่างประเทศ กิจการโรงแรม ท่องเที่ยว เหมืองแร่ และกิจการค้าไม้ หยก พลอยก็ยังดำเนินต่อไป

 

ไทย-เมียนมา

ในบริบทกิจการโทรคมนาคมข้ามชาติ

และความเชื่อมโยง

ด้วยเส้นสายเดิมๆ กลุ่มทุนไทยจากส่วนกลางเข้าไปได้สัมปทานในกิจการโทรคมนาคม ร่วมกับบริษัทของญาติชนชั้นนำเมียนมา น่าสังเกตว่านโยบายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร คือ ACMEC หรือ Ayewadee Chaophaya Mekong Economic Cooperation อันเป็นนโยบายภูมิภาคต่อประเทศเพื่อนบ้านสำคัญ โดยเปลี่ยนไทยจากประเทศผู้รับความช่วยเหลือ (Receiptien) มาเป็นประเทศผู้ให้ (Doner) ความช่วยเหลือต่อประเทศเพื่อนบ้าน

สมการการเมืองไทย-เมียนมาก่อรูปเป็นกลุ่มทุนไทยข้ามพรมแดน ทั่วอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อย่ามองแค่การย้ายโรงงาน ย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า ฯ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

เส้นทางถนนจากมณฑลยูนนานของจีน สู่ลาวและไทยตอนบนคือ เส้นทาง R 3 A และ R 3 B เส้นทางถนนจากจังหวัดตราดของไทย เกาะกงกัมพูชาถึงสะแรอัมเบิล กัมพูชา ทั้งหมดสร้างโดยบริษัทผู้รับเหมาไทย ส่วนหนึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคาร Asian Development Bank-ADB ที่รัฐบาลญี่ปุ่นถือหุ้นใหญ่เป็นคนปล่อยกู้

รวมทั้งสนามบินนานาชาติย่างกุ้ง ท่าเรือน้ำลึกทวาย บริษัทรับเหมาก่อสร้างไทย ธนาคารไทยก็ดิ้นรนแสวงหาแหล่งเงินกู้จากญี่ปุ่น เพื่อต้อนรับนักลงทุนจากสหภาพยุโรป กลุ่มทุนไทยได้ประโยชน์

แต่โครงการท่าเรือนี้กลายเป็นนิยายไปแล้ว

 

ไทย-เมียนมา ยุครัฐประหาร 2549 และ 2557

ยุค 4 เกลอ ทุนไทยและค่ายจีน (China camp)

ท่าเรือน้ำลึกทวายยังคงเป็นนิยาย ของพันธมิตรกลุ่มทุนไทย-ชนชั้นนำเมียนมา อันหวานหอมรอวันฟื้นคืนชีพ

อีกด้านหนึ่ง ท่าเรือน้ำลึกของไทยในต่างแดนนี้สถาปนาระบบพันธมิตร ชนชั้นนำไทยไม่ว่าทหารหรือพลเรือน กลุ่มทุนไทยและชนชั้นนำเมียนมาไม่ว่าทหารหรือพลเรือนแล้วยังได้เป็นฐานรองรับและความชอบธรรมของ 4 เกลอ เกลอที่ 4 ทำงาน ทำงาน และทำงานภายใต้ค่ายจีน โครงการรถไฟความเร็วสูง เรือดำน้ำลำแรกของไทย กรอบความร่วมมือ Lang chang Mekong Cooperation-LMC ที่ทางการไทยคิดและผลักดัน แต่จีนนำไปใช้ ให้เงินและอยู่ที่พนมเปญ

รูปธรรมค่ายจีนยังเห็นได้อีกในประเด็นผู้แทนพิเศษ (Special envoy) เกี่ยวกับเมียนมา ที่ดูแล้วดูอีกก็ทำเพื่อใครก็ไม่รู้มากกว่า

ทั้งหมดนี้ ผู้เขียนเขียนได้เพียงย่นย่อเท่านั้น เพราะนักสังเกตการณ์ทางการเมืองย่อมเข้าใจสมการการเมืองไทย-จีน แต่ละยุคได้ดีอยู่แล้ว คำถามทิ้งท้ายเศรษฐศาสตร์การเมืองร่วมสมัยน่าจะเป็น

ผู้แทนพิเศษ แหวกผ่านประเพณีการทูต ก่อผลประโยชน์ให้ใคร? ภูมิภาคอาเซียน ไทย กลุ่มทุนส่วนกลางและกลุ่มทุนชายแดน หรือเกลอ