หนังสือภาพบันทึกของแอนน์ แฟร้งค์ / การ์ตูนที่รัก : นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

หนังสือภาพบันทึกของแอนน์ แฟร้งค์

 

เวลาอ่านกราฟิกโนเวลที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมสากลมิใช่จะได้อรรถรสเท่าการอ่านวรรณกรรมต้นฉบับเสมอไป หนังสือบางเล่มเมื่อแปลงเป็นกราฟิกโนเวลแล้วยังคงสาระและความอิ่มเอมใจได้ดี ในขณะที่บางเล่มก็ไม่

หนังสือภาพบันทึกของแอนน์ แฟร้งค์นี้เป็นพวกแรก

ต้นฉบับคือ บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์ ดัดแปลงโดยอาริ ฟอลแมน วาดโดยดาวิด โปลอนสกี้ และแปลไทยโดยในใจ เม็ทซกะ ซึ่งอายุ 13 ปีเท่าแอนน์เวลานั้น หนังสือฉบับภาษาไทยเผยแพร่ในวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกที่แอนน์ได้รับและเริ่มเขียนไดอารี่ที่มีชื่อว่า คิตตี้

ผู้ดัดแปลงเป็นคนสำคัญมากที่สุด จะทอนหนังสือทั้งเล่มเป็นกราฟิกโนเวลที่สื่อสารด้วยรูปเป็นช่องๆ ได้อย่างไร ฝีมือที่น่าวางใจได้เริ่มตั้งแต่หน้า 21 ของหนังสือคือหน้าที่ 4 ของเนื้อเรื่อง เป็นรูปวาดขนาดใหญ่เต็มหน้ากระดาษ แอนน์ยืนคู่กับคิตตี้ สองคนเกาะหนังสือไดอารี่เล่มใหญ่ แอนน์กำลังกระซิบที่หูของคิตตี้ซึ่งวาดไว้เป็นเงาดำ

รูปเพียงรูปเดียวบอกอะไรเราได้มากมายเท่าๆ กับที่แอนน์เขียนพรรณนาในบันทึกของเธอ

แอนน์และคิตตี้

นักดูหนังการ์ตูนย่อมรู้จัก อาริ ฟอลแมน

อาริ ฟอลแมน (Ari Folman 1962-) เป็นผู้กำกับ นักเขียนบท นักการ์ตูน และนักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เป็นชาวอิสราเอล เขาคือผู้กำกับหนังการ์ตูนสารคดีเรื่องสำคัญคือ Waltz with Bashir ซึ่งเข้าชิงออสการ์เมื่อปี 2008

ฟอลแมนเกิดที่ไฮฟา พ่อแม่เป็นผู้รอดชีวิตจากโฮโลคอสต์

หนังการ์ตูน Waltz with Bashir เล่าเรื่องการสังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์และเลบานอนในเบรุตเมื่อปี 1982 ผ่านสายตาของฟอลแมนซึ่งเป็นทหารที่เลบานอนเวลานั้น

หนังสือกราฟิกโนเวลชื่อเรื่องเดียวกันออกตามมาในภายหลัง

ตัวหนังเองได้รับคำชื่นชมอย่างมากที่สุด เข้าชิงหลายเวทีรวมทั้งเวทีออสการ์ และกวาดรางวัลมาหลายเวทีรวมทั้งลูกโลกทองคำ

ดาวิด โปลอนสกี้ (David Polonsky 1973-) เป็นนักวาดและผู้กำกับศิลป์ชาวอิสราเอล โปลอนสกี้เป็นผู้กำกับศิลป์ของหนังเรื่อง Waltz with Bashir นี้ด้วย การ์ตูนที่รักเคยเขียนถึงนานมาแล้วและรวมเล่มในการ์ตูนที่รักของสำนักพิมพ์มติชน

ศิลปินทั้งสองคนมาร่วมงานกันอีกครั้งคือหนังสือภาพบันทึกของแอนน์ แฟร้งค์ ซึ่งออกมาในปี 2017 และบัดนี้มาถึงเมืองไทยแล้ว สำนักพิมพ์ผีเสื้อทำออกมาทั้งแบบปกอ่อนและปกแข็ง

หนังสือภาพบันทึกของแอนน์ แฟร้งค์ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ

หนังสือภาพเล่าเรื่องความฝันเฟื่องของเด็กสาวอายุ 13 ไปพร้อมๆ กับการรุกคืบของนาซีที่กระทำต่อชาวยิวในฮอลแลนด์ จนกระทั่งพ่อของแอนน์ต้องพาครอบครัวทำทีว่าหลบหนีไปสวิตเซอร์แลนด์ให้ผู้คนเห็นก่อนจะแอบวกกลับมาอยู่ที่ห้องลับบนอาคารสำนักงาน

ส่วนที่ว่าด้วยความฝันเฟื่องของเด็กสาวอาจจะสู้ที่แอนน์บันทึกไว้เองอย่างละเอียดมิได้ คุณพ่อคุณแม่ที่ทะเลาะกับเด็กสาววัยทีนได้ทุกวันขอให้เชื่อผมสักครั้งหนึ่งคือไปซื้อไดอารี่ของเธออ่านเสียดีๆ เป็นสำนักพิมพ์ผีเสื้อพิมพ์เช่นกัน แล้วจะรู้ว่าเด็กสาววัยทีนเสียสติได้มากเพียงไร ไม่จำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นบ้าตามไปด้วย คุณพ่ออ๊อตโต้ของแอนน์เป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่ง

แต่ส่วนที่ว่าด้วยการรุกคืบของนาซี การแบ่งสัดส่วนของห้องลับบนอาคารสำนักงานด้วยภาพตัดขวาง และเรื่องมีใครบ้างที่ได้ช่วยเหลือพวกเขาระหว่างการซ่อนตัว

สามส่วนนี้หนังสือภาพเล่มนี้สร้างความกระจ่างได้ดีมาก

เราจะเห็นการรุกรานชาวยิวเป็นขั้นเป็นตอน รับรู้และเข้าใจความคับแคบของเนื้อที่และการแบ่งส่วนบนห้องลับ

กับได้เห็นหน้าค่าตาของบุคคลสำคัญที่เสี่ยงชีวิตตัวเองช่วยเหลือพวกเขาซึ่งแม้จะเห็นเป็นภาพร่างการ์ตูนก็ยังรู้สึกตื้นตัน

ความคับแคบของเนื้อที่ย่อมเป็นตัวละครสำคัญในบันทึกลับของแอนน์และจะเป็นตัวละครสำคัญในหนังสือภาพนี้ด้วย การทำครัว กินข้าว ตุนเสบียง อาบน้ำ และขับถ่าย คน 8 คนทำทั้งหมดนี้ร่วมกันในสถานที่จำกัดย่อมไปถึงจุดระเบิดสักวันโดยอาจจะไม่เกี่ยวกับอายุของแอนน์หรือนิสัยใจคอของแต่ละคนก็เป็นได้

รูปที่แสดงให้เห็นเรื่องนี้ทั้งหมดถูกขมวดเอาไว้ในหน้า 50-51 สองหน้าเต็มๆ เมื่อแม่ของแอนน์และคุณนายวานดานพ่นไฟเข้าใส่กันอย่างน่าดูชม

ส่วนใครเป็นใครแล้วทำไมจึงมีสี่ตัวลองพินิจพิจารณาแล้วขบคิดกันเองนะครับ

 

ท่านที่อ่านบันทึกลับมาแล้วคงจำได้ว่าแอนน์เป็นไม้เบื่อไม้เมากับแม่อย่างน่ากลัว พูดจริงๆ ว่าเธอไม่น่ารักเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับพี่สาว มาร์กอท

แล้วก็มิใช่นักอ่านหรือตัวผมเองที่เปรียบเทียบ แม่ของเธอก็ทำเช่นกัน คุณนายวานดานก็ทำ มาร์กอทอย่างนั้น แอนน์อย่างนี้ มาร์กอทอย่างนู้น แอนน์อย่างนั้น สารพัดจะค่อนขอด

เราจะเห็นแผนภูมิการเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบนี้ในหน้า 44 และการระเบิดของเธอใส่แม่อย่างรุนแรงในหน้า 69

หน้า 69 นี้เป็นบันทึกในวันที่ 30 มกราคม ปี 1943 สมมุติว่าท่านไม่สามารถซื้อหรือยังไม่อยากซื้อ สมมุติว่าร้านหนังสือวางหนังสือเล่มนี้ให้ท่านเปิดชมภายในได้ ยืนอ่านหน้า 69 นี้ก่อนเลยครับ แล้วท่านจะกลับบ้านไปด้วยความรู้ใหม่ ความรู้สึกใหม่ และทัศนคติใหม่ที่มีต่อนังตัวร้ายวัยใสที่บ้าน

เพราะนี่เป็นกราฟิกโนเวล มิใช่หนังสือการ์ตูน เราจึงได้เห็นคำพรรณนาเต็มหนึ่งหน้าเป็นบางจังหวะ (ท่านที่ต้องการหนังสือการ์ตูนแท้ๆ จำได้ว่าของญี่ปุ่นทำก็มี) คำพรรณนาเต็มหน้าที่มีอยู่บ้างนี้ถูกคัดสรรมาอย่างพิถีพิถัน เป็นหมุดหมายสำคัญของเนื้อเรื่องที่แอนน์บันทึกไว้จริงๆ เหมาะมากสำหรับท่านที่อ่านฉบับเต็มไม่ผ่านเพราะรู้สึกว่ายาวเกิน

รูปวาด The Scream ของ Edvard Munch (1863-1944) และ The Lady in Gold ของ Gustav Klimt (1862-1918)

ท่านจะพบรูปวาด The Scream ของ Edvard Munch (1863-1944) และ The Lady in Gold ของ Gustav Klimt (1862-1918) ในหน้า 70 และ 71 ตามลำดับ

รูปวาดของเอ็ดเวิร์ด มุนช์ เข้าใจง่าย แอนน์ใกล้บ้าเต็มแก่เพราะคำพูดของแม่และคุณนายวานดาน ส่วนรูปของกุสตาฟ คลิมต์ อาจจะเข้าใจยากกว่า ไม่รู้ว่าฟอลแมนจะสื่ออะไร แอนน์กำลังคิดคำนึงถึงตัวเองหรือว่ากำลังประชดประชันคุณนายวานดาน

นี่คือฝีมือของผู้ดัดแปลงบันทึกลับฉบับเต็มเป็นกราฟิกโนเวลโดยแท้

แล้วเวลาก็ผ่านไปหนึ่งปี (ยังมีต่อ) •