ว่าด้วย ‘ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท’ ของ ‘จีน’/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

ว่าด้วย ‘ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท’ ของ ‘จีน’

 

“ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท” คือการมุ่งเน้นพัฒนา “อุตสาหกรรมการผลิต” ในชนบท

เพราะเมื่อ “อุตสาหกรรมการผลิต” เจริญรุ่งเรือง “รายได้” ของ “เกษตรกร” ก็จะ “เพิ่มขึ้น” อย่าง “มั่นคง”

กลยุทธ์การพัฒนา “อุตสาหกรรมการผลิต” ของ “จีน” มุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่

1. การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร

2. การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

3. e-Commerce ผลผลิตการเกษตร

การมุ่งเน้นพัฒนา “อุตสาหกรรมการผลิตในชนบท” ไม่เพียงแต่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ยังต้องมุ่งเน้นให้เกิดคุณภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย

“ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท” คือการกำหนด “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร” และ “ผลผลิตทางการเกษตร” เพื่อ “ฟื้นฟูชนบท” ของ “จีน”

ด้วยเป้าหมายสร้างเขตพื้นที่เพื่อทำการเกษตรแบบถาวรและระยะยาว กับเขตคุ้มครองการผลิตสินค้าเกษตร

เน้นการเพาะปลูกข้าวและธัญพืช รวมพื้นที่ 450 ล้านไร่ ควบคู่ไปกับการสร้างหลักประกันคุ้มครองผลผลิตการเกษตร

พื้นที่ทำการเกษตรถาวร คือเขตเพาะปลูกข้าวและธัญพืช ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวสาลี และข้าวโพด ในพื้นที่ 350 ล้านไร่

กับเขตคุ้มครองการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ถั่วเหลือง ฝ้าย เมล็ด Rapeseed อ้อย และยางพารา ขนาดพื้นที่ 100 ล้านไร่

หลักเกณฑ์การกำหนดพื้นที่ จะพิจารณาจากรายงานสภาพพื้นที่ โดยเลือกพื้นที่ที่ต่อเนื่องกัน เพื่อพัฒนาเป็น “เกษตรแปลงใหญ่”

หากเป็นที่ราบ ต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 200 ไร่ และถ้าเป็นพื้นที่บริเวณภูเขาต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 20 ไร่

โดย “รัฐบาลระดับมณฑล” จะเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูล เพื่อรายงานต่อ “กระทรวงเกษตรและกิจการชนบท” กับ “คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ”

เพื่อดำเนินการสร้าง “ระบบฐานข้อมูล” จากนั้น สรุปผลไปยัง “คณะรัฐมนตรี”

 

ทั้งนี้ ทาง “รัฐบาลกลาง” จะส่งเสริมพื้นที่ดังกล่าวให้เป็น “พื้นที่ทำการเกษตรแบบมาตรฐานสูง”

ซึ่งจะมีการนำเครื่องจักรกล และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาพัฒนาพื้นที่

โดย “รัฐบาลกลาง” และ “ส่วนท้องถิ่น” หรือ “รัฐบาลระดับมณฑล” จะกำหนดนโยบาย ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการเกษตร เข้ารับการส่งเสริมและสนับสนุน พร้อมหลักประกันในการพัฒนาพื้นที่

“รัฐบาลกลาง” ได้วางเป้าหมายเอาไว้ว่า ภายในปี ค.ศ.2022 นี้ จะต้องมีการกำหนดเขตพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวให้แล้วเสร็จ

พร้อมทั้งนำข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่ระบบ เพื่อปรับปรุงระบบสารสนเทศ สำหรับใช้ในการควบคุมสภาพการเกษตรภายในปี ค.ศ.2022 นี้เช่นกัน

นอกจากนั้น “ทางการจีน” ได้กำหนด “โควต้าการนำเข้า” และ “อากรนำเข้าสินค้าเกษตร” เพื่อให้ “เกษตรกรจีน” มั่นใจ ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจาก “สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ”

 

จะเห็นได้ว่า “ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท” ของ “จีน” ให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาภาคเกษตร” ผ่านการดำเนินนโยบายอย่างเป็นระบบ

วัตถุประสงค์หลัก คือการผลักดันให้ “จีน” มี “ผลผลิตทางการเกษตร” สำหรับ “การบริโภคภายในประเทศ” โดย “ไม่พึ่งพาต่างประเทศ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเครื่องจักรกล เทคโนโลยีสมัยใหม่ และระบบสารสนเทศ เข้ามาช่วยในการพัฒนา

โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบในการติดตาม ประเมินผล และวางแผนรับมือสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ซึ่งจะส่งผลถึงประสิทธิภาพ “ภาคการเกษตร” ของ “จีน” ในที่สุด

ดังนั้น “ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท” จึงถือเป็น “จุดเริ่มต้น” ปรัชญา “การเกษตร พื้นที่ชนบท และเกษตรกร” ยุคใหม่ ประกอบด้วย

 

1.สังคมนิยมสมัยใหม่ ต้องมีการสร้างสรรค์ครอบคลุม รอบด้าน

เพราะในปัจจุบัน “จีน” เดินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่าง “แรงงาน” กับ “ชาวนา” และระหว่าง “เมือง” กับ “ชนบท”

โดยต้องจัดการความสัมพันธ์ดังกล่าว ผ่านการดำเนินนโยบายที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความมั่นคงอันนำไปสู่ความสงบนิ่งทางการเมืองและสังคมแล้ว

ยังจะเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจอีกด้วย

 

2.”ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท” เป็น “จุดเริ่มต้น” ปรัชญา “การเกษตร พื้นที่ชนบท และเกษตรกร” ยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประชุมใหญ่ครั้งที่ 19 ของ “พรรคคอมมิวนิสต์จีน” ที่ท่านประธาน “สี จิ้นผิง” ได้เน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาการเกษตร และพื้นที่ชนบท

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาผังเมือง เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของ”อุตสาหกรรมการผลิต” ควบคู่ไปกับการรักษาระบบนิเวศ ฟื้นฟูวัฒนธรรมชนบท ผ่านการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ชนบทมีความน่าอยู่

ภายใต้การพัฒนากลไกในระดับนโยบาย เพื่อความทันสมัยของการเกษตร และพื้นที่ชนบท ผ่านกลยุทธ์การออกแบบผังเมืองที่ผสมผสานเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย กับภาคการเกษตร

นำไปสู่ความศิวิไลซ์ของชนบทยุคใหม่อย่างแท้จริง

ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักถึงจังหวะก้าวกระโดด จากประเทศเกษตรกรรมรายใหญ่ ไปสู่ประเทศเกษตรกรรมที่มีพลังอำนาจ ด้วยการเติมเต็มข้อบกพร่องในการพัฒนาการเกษตรและพื้นที่ชนบท

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดช่องว่างระหว่าง “เมือง” กับ “ชนบท” ส่งเสริมกลไกการแปรรูปเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรม ปรับเปลี่ยนเกษตรกรเป็น Smart Farmer

รณรงค์ให้พื้นที่ชนบทเป็นบ้านสำหรับอยู่อาศัย และการประกอบอาชีพไปพร้อมกัน นำไปสู่การทำงานอย่างมีความสุข

 

3.มุ่งเน้น “เอกลักษณ์จีน” ในเส้นทางของ “ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท” ที่มิอาจมีใครลอกเลียนแบบได้ แน่นอนว่า “เอกลักษณ์จีน” ต้องเกิดจาก “คนจีน” ภายใต้ “ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท” ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา “หน่วยเกษตร” ย่อย ประกอบด้วย

3.1 สหกรณ์การเกษตร

3.2 Family Farm

เป็นการปรับปรุงภาคการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายต่อสู้กับความยากจน ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญในการดำเนินตาม “ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท”

 

4.การบริหารจัดการ “ความสัมพันธ์ 4 แบบ” ได้แก่

4.1 ความสัมพันธ์ระหว่าง “เป้าหมายระยะยาว” กับ “เป้าหมายระยะสั้น”

4.2 ความสัมพันธ์ระหว่างการกำหนดนโยบายจาก “ระดับบนสุด” กับการลงพื้นที่สำรวจสภาพ และค้นหาความต้องการที่แท้จริงใน “ระดับรากหญ้า”

ซึ่ง “คณะกรรมการกลาง” ของ “พรรคคอมมิวนิสต์จีน” กำหนดให้แต่ละพื้นที่ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการที่ตรงตามบริบท และเงื่อนไขในพื้นที่ของตนเอง

4.3 ความสัมพันธ์ระหว่าง “กลไกทางการตลาด” กับ “บทบาทของรัฐบาลกลาง”

4.4 ความสัมพันธ์ระหว่าง “ความรู้สึกของมวลชน” กับ “ทิศทางการปรับตัวให้เข้ากับขั้นตอนของการพัฒนา”

 

จะเห็นได้ว่า “ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท” พุ่งเป้าไปที่ “การสร้างความตระหนักในตนเอง” ของ “เกษตรกร” ว่าตนนั้นเป็น “พลังสำคัญ” ในการ “สร้างความเจริญรุ่งเรือง”

ดังนั้น “จีน” จึงเร่งให้เกิดการสร้างหลักสูตรฝึกอบรมกระจายให้กับเกษตรกรทุกพื้นที่ ด้วยการนำเสนอเทคนิคใหม่ พร้อมกับเทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตร เพื่อพัฒนาให้เกิดทักษะอาชีพ

ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายพิเศษด้านทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ของรายได้ เพื่อดึงดูดบุคลากรด้านต่างๆ ให้ไหลออกไปสู่ชนบท

ประการสำคัญที่สุดก็คือ “ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท” ไม่ใช่ “การสร้างภาพลักษณ์” แต่เป็นการ “สร้างจิตวิญญาณ”

และไม่เฉพาะพัฒนาเศรษฐกิจ หากเป็นการสร้างอารยธรรม และวิถีชีวิตแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรักษา และสืบสาน “อัตลักษณ์ชนเผ่า”

ผ่านการฟื้นฟูวัฒนธรรมการเกษตรดั้งเดิมแบบ ที่เรียบง่าย กับความศิวิไลซ์ให้ผสมผสานกันอย่างกลมกลืนกัน เช่น การพัฒนาหมู่บ้านโบราณที่มีชื่อเสียงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

ฟื้นฟูหมู่บ้านชนกลุ่มน้อย คุ้มครองที่อยู่อาศัยดั้งเดิม อนุรักษ์โบราณสถาน และโบราณวัตถุในชนบท ตลอดจนมรดกวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้ทั่วถึง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความสำคัญต่อการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล

จะเห็นได้ว่า “ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท” เป็นการพลิกฟื้นที่ครอบคลุม ทั้งภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถนะของทรัพยากรมนุษย์

ฟื้นฟูวัฒนธรรม ระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยเล็กที่สุดของสังคม คือครอบครัว

“ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท” จึงเป็นยกระดับภาคการเกษตรอย่างรอบด้าน ยกระดับความก้าวหน้าในพื้นที่ชนบทอย่างครอบคลุม นำไปสู่การยกระดับสังคมจีนในองค์รวมนั่นเอง