เศรษฐกิจ/ “แรงงานฝีมือ-นักวิจัย” โจทย์ใหญ่ที่อีอีซีต้องข้ามผ่าน

เศรษฐกิจ

“แรงงานฝีมือ-นักวิจัย”

โจทย์ใหญ่ที่อีอีซีต้องข้ามผ่าน

แม้ปัจจัยความสำเร็จของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ EEC : Eastern Economic Corridor จะขึ้นกับการลงทุนจากต่างชาติเป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งเรื่องเม็ดเงินที่จะเข้ามาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี

แต่ปัจจัยภายในก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือการมีบุคลากรรองรับตลอดช่วงของการพัฒนาโครงการ คำถามก็คือไทยมีบุคลากรพร้อมแค่ไหนกับการพัฒนาอีอีซี

ตามข้อมูลนั้น อีอีซีเป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ที่จะพัฒนาและยกระดับพื้นที่ในภาคตะวันออก 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ต่อยอดจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ที่พัฒนามาแล้ว 30 ปี

โดยครั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อเติมเต็มภาพรวมการส่งเสริมการลงทุน ยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ในระยะยาว และพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

จึงกำหนดการลงทุนไว้ 4 กลุ่ม 15 โครงการ และ 5 โครงการหลัก ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 โครงสร้างพื้นฐาน

กลุ่มที่ 2 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมี 10 อุตสาหกรรม

กลุ่มที่ 3 ท่องเที่ยว

และกลุ่มที่ 4 การสร้างเมืองใหม่ โดย 15 โครงการ จะกระจายอยู่ใน 4 กลุ่มหลัก

ขณะที่ 5 โครงการหลัก จะเป็นโครงการที่มีความสำคัญมาก ซึ่งจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นในระยะแรกก่อน คือ สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง รถไฟความเร็วสูง อุตสาหกรรมไฮเทคสำหรับอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และการสร้างเมืองใหม่

ตามโรดแม็ปโครงการที่จะต้องเกิดในระยะแรกนั้น จะต้องผลักดันผ่านการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) หรือเรียกว่าเป็นโครงการพีพีพีในอีอีซีนั้นขณะนี้กำลังรอความชัดเจนของระเบียบพีพีพีเฉพาะในอีอีซีก่อน ซึ่งกำลังรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาคาดว่าน่าจะประกาศได้เร็วๆ นี้

จากนั้นก็จะต้องจัดทำทีโออาร์ให้แล้วเสร็จภายในปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้า จากนั้นก็จะคัดเลือกเอกชนเพื่อดำเนินการก่อสร้างในช่วงกลางปีหน้า

ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … (พ.ร.บ.อีอีซี) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาของร่างกฎหมายจะเกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์สำคัญต่างๆ การดูแลประชาชนและสภาพแวดล้อม คาดกฎหมายฉบับนี้จะได้รับความเห็นชอบจาก สนช. ได้ภายในปลายปีนี้ หรือช้าสุดต้นปีหน้า นับว่าเปิดทางให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนอย่างเต็มที่

ส่วนการผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงนั้น ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า หลังจากคณะนักธุรกิจจากญี่ปุ่นกว่า 500 ราย ลงพื้นที่ศึกษาดูงานอีอีซี เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัท เด็นโซ่ จากญี่ปุ่น จะพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ใช้อินเตอร์เน็ตในการดำเนินการทั้งระบบ

ขณะที่บริษัทฮิตาชิ ก็สนใจพัฒนาบิ๊กดาต้าในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้บริการบริษัทที่เข้าลงทุน นอกจากนี้ ยังมีบริษัท แอร์บัส, โบอิ้ง, ลาซาด้า และอาลีบาบา ก็สนใจจะลงทุนเช่นกัน

จากข้อมูลคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาอีอีซี ระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของการจัดตั้งอีอีซี (มีนาคม-กรกฎาคม 2560) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 23,400 ล้านบาท คาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้ (สิงหาคม-ธันวาคม 2560) จะมีคำขอส่งเสริมการลงทุนมากกว่า 5 เดือนแรก ส่งผลให้ปีนี้น่าจะมีคำขอรวม 60,000-70,000 ล้านบาท

และคาดว่าในช่วงปีนี้ถึงต้นปีหน้าจะมีนักลงทุนขนาดใหญ่ของโลกทยอยเข้ามาลงทุนในอีอีซีประมาณ 30 บริษัท

คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจริงประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท

แม้การลงทุนกำลังจะเกิดขึ้น แต่ก็พบว่ามีข้อห่วงใยจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาติอันดับหนึ่งของนักลงทุนต่างชาติที่ขอรับการส่งเสริมและลงทุนในไทยคิดเป็นสัดส่วน 54%

โดย นายฮิโรยูกิ อิชิเกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าวตอนหนึ่งว่า ไทยกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยน เพราะโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำ มีสัดส่วนผู้สูงวัยมากขึ้น ส่งผลให้ไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้ประเทศเวียดนามผงาดขึ้น ซึ่งนักธุรกิจญี่ปุ่นเห็นถึงความคลุมเครือที่เกิดขึ้น และได้ลดการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมของไทยลง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยกำลังกลับมาเป็นเป้าหมายในการลงทุนของอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรม 4.0 มีเครื่องมือสำคัญคือ อีอีซี เชื่อว่านโยบายนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทย

“แต่ไทยยังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข คือ ด้านทรัพยากรบุคคล โดยบริษัทแจ้งปัญหาเรื่องการว่าจ้างวิศวกรไทยอย่างมาก ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาด้านนี้ร่วมกัน โดยระยะสั้นควรเพิ่มผู้เชี่ยวชาญในไทย”

นายฮิโรยูกิกล่าว

สอดคล้องกับมุมมองของเอกชนไทย อย่าง นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ระบุว่า ไทยมีแผนผลักดันภาคอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 และในอีอีซีกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

หนึ่งในนั้นคือเรื่องหุ่นยนต์ แม้ ครม. จะเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์หุ่นยนต์แล้ว แต่ไทยยังขาดนักออกแบบติดตั้งหุ่นยนต์ ซึ่งขณะนี้มีเพียง 200 คน หากจะก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 จะต้องสร้างบุคลากรด้านนี้ให้ได้ถึง 1,400 คน ภายใน 5 ปี และจะต้องทำให้บุคลากรไทยสามารถผลิตหุ่นยนต์ได้เองและทำให้ไทยมีเทคโนโลยีของตัวเอง

ขณะที่ข้อมูลกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กำหนดเป้าหมายผลิตแรงงานฝีมือป้อนอีอีซี รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในระยะ 5 ปี (2560-2564) ให้ได้มากกว่า 2.3 ล้านคน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูง

ขณะที่ “คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาอีอีซี ให้คำตอบเรื่องการพัฒนาคนรองรับอีอีซีว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทำเรื่องการศึกษาไปพร้อมกับอีอีซี ขณะนี้เริ่มวางนโยบายด้านการศึกษาไว้หลายด้าน โดยดูจากความต้องการอุตสาหกรรมเป็นหลัก ไม่ปล่อยมหาวิทยาลัยผลิตเอง โดยเฉพาะแรงงานอาชีวะควรมีให้ตอบสนองอุตสาหกรรมมากขึ้น

ดังนั้น สำนักงานเพื่อการพัฒนาอีอีซี และกระทรวงศึกษาธิการกำลังทำหลักสูตรเพื่อผลิตนักศึกษาสายอาชีพตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อากาศยาน ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ใน 2 เรื่องคือ กำหนดหลักสูตรที่ประเทศต้องการภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว หรือประมาณ 2 เดือน

จากปกติใช้เวลากว่า 4 ปี และอีกเรื่องคือการตั้งมหาวิทยาลัยต่างชาติ

“ที่น่าแปลกคือ 30% ของเด็กไทยที่จบระดับ ม.ปลาย จะเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี แต่เมื่อจบมาแล้วก็ทำงานไม่ตรงสาย ขณะที่อีก 70% ในสายอาชีวะไม่ได้โฟกัสเลย แต่ในปัจจุบันรัฐบาลจะโฟกัสกลุ่มนี้มากขึ้น จะสนับสนุนให้เข้าอีคอมเมิร์ซ อุตสาหกรรมอากาศยานต้องการทั้งนักบิน พนักงานซ่อมเครื่องบิน ซ่อมหุ่นยนต์ ทำรถยนต์ไฟฟ้า โดยเป้าหมายหลักของเราคือการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีไกล ไทยจะนั่งสบายใจไม่ได้หากไม่มีเทคโนโลยีของตัวเองก็พัฒนาประเทศสู้กับประเทศอื่นไม่ได้ มันเกี่ยวโยงไปถึงความมั่นคงประเทศ ไม่มีประเทศไหนที่เจริญโดยปราศจากเทคโนโลยี เราต้องนำเข้าทั้งเทคโนโลยี นำคนเข้ามา หวังว่าช่วง 5 ปีจะทำให้นักเรียน นักศึกษาได้ประโยชน์สูงสุด”

นายคณิศ ยังย้ำว่า อีอีซีถือเป็นฐานสะสมการลงทุนและฐานสะสมเทคโนโลยีให้กับเยาวชนไทยในอนาคต จุดมุ่งหมายอยากเห็นการลงทุนขยายตัว 10% เพราะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนขยายตัวเพียง 3% ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวเพียง 2-3%

หากการลงทุนขยายตัวได้ 10% เชื่อว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ถึง 5%

ดูแล้วภารกิจสร้างคนนับเป็นโจทย์สำคัญของการขับเคลื่อนอีอีซี ตลอดจนการผลักดันเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้า!

โจทย์ใหญ่เช่นนี้คงไม่มีหน่วยงานใดจะทำได้โดยลำพัง คงต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากหลายฝ่ายผ่านยุทธศาสตร์การสร้างคนที่ชัดเจน ไม่เพียงกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน แต่เริ่มจากครอบครัว สถาบันการศึกษา ไปจนถึงภาคธุรกิจ เพื่อสร้างคนคุณภาพของประเทศ

ที่สุดแล้วก็ต้องรอดูว่าอีอีซีจะทะยานได้เหมือนอีสเทิร์นซีบอร์ดหรือไม่!!