“กรธ.” ล้มสูตร “สนช.-สปท.” สกัดนักลากตั้งชงนายกฯ คนนอก

AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA

ทันทีที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม ประชาชนเทเสียงเห็นชอบอยู่ที่ 16 ล้านคะแนน ส่วนคะแนนไม่เห็นชอบอยู่ที่ 10 ล้านคะแนน ในส่วนของคำถามพ่วงประชามติ ที่ถูกนำเสนอโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในการเสนอคำถามพ่วงได้ 1 คำถาม กับคำถามที่ว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

พูดแบบภาษาปากของชาวบ้าน อาจบอกได้ว่า “เห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ ส.ว. เข้ามาร่วมลงมติโหวตเลือกคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ใน 5 ปีแรก”

คำถามที่มีลักษณะให้ ส.ว.ลากตั้ง มีสิทธิ์เท่ากับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งแบบนี้ แน่นอนว่า 2 พรรคการเมืองใหญ่ผู้กุมฐานเสียงของประเทศอย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว

ดังนั้น การจะให้ 250 คน ที่มาจากการลากตั้ง ให้มีอำนาจในการเลือกนายกฯ โดยต้องใช้คะแนนเสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาจาก 750 เสียง ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด ทั้ง ส.ว. และ ส.ส. เท่ากับว่า ในอนาคต “ใคร” ที่จะเข้ามาเป็นนายกฯ ต้องมีเสียงในสภาเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง และในกึ่งหนึ่งนั้นมี 250 เสียงของ ส.ว. เป็นผู้ที่ถูก คสช. คัดสรรเข้ามาเพื่อทำงาน

จนกระทั่ง เสียงสนับสนุน “นายกฯ คนนอก” เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นมาทันทีเมื่อ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดฟอร์แถลงข่าวว่า จะตั้ง “พรรคประชาชนปฏิรูป” พร้อมชูโรงให้ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ

และที่น่าสังเกตคือ ทุกครั้งที่นักข่าวไปถามถึงเรื่องนายกฯ คนนอก กับ “บิ๊กตู่” ท่านนายกฯ ก็ไม่มีอาการปฏิเสธชัดแต่อย่างใด มิหนำซ้ำ ยังเปรยๆ ว่า “ให้เลือกนายกฯ ตามบัญชีพรรคการเมืองไปก่อน ถ้าหาคนดี ไม่ได้ ค่อยมาว่ากัน”

 

แต่ไม่ว่าสถานการณ์ภายหลังผลการทำประชามติจะเป็นอย่างไร งานหนักคงไปตกอยู่กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง โดย กรธ. ต้องเร่งแก้โจทย์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แล้วจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเร่งตีความภายใน 30 วัน หากศาลวินิจฉัยเห็นชอบ ก็ให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ทันที แต่หากศาลวินิจฉัยว่า ไม่เห็นชอบ กรธ. จะมีเวลาในการนำกลับมาแก้ไขภายใน 15 วัน

ระหว่างนี้จะเห็นถึงบทบาท “บาริสต้า นักชง” หลายคนในสภา ที่ออกมากระตุ้นกดดันการทำงานของ กรธ. ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 นายสมชาย แสวงการ หรือแม้แต่กระทั่งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ช่วย สนช. ชงสูตรต้นตำรับของคำถามพ่วงนี้ขึ้นมา ทั้ง นายวันชัย สอนศิริ และ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต่างร่วมประสานเสียงตีความคำถามพ่วงอย่างพร้อมเพรียงกันว่า “ส.ว. สามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้ด้วย”

ทำเอาบรรดานักการเมือง นักวิชาการ รวมทั้งฝ่ายต่างๆ ออกอาการ “รับไม่ได้” ไปตามกัน

เพราะการที่ สนช. แบไต๋ที่จะตีความคำถามพ่วงทั้งแบบกว้างและแบบแคบ โดยการตีความแบบกว้างๆ คือ ส.ว. สามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้ ตั้งแต่เริ่มต้นประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ ครั้งแรก ส่วนการตีความแบบแคบ ก็คือ ส.ว. สามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้ หลังจากที่รัฐสภาไม่สามารถเลือกผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ได้ตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ

การตีความเช่นนี้ ทำให้ สนช. ถูกโจมตีจากหลายฝ่ายว่า จงใจเสนอคำถามพ่วงที่มีเจตนารมณ์ซ่อนเร้น บิดเบือนเจตนารมณ์มติของประชาชน

ทั้งๆ ที่ในคำถามพ่วงประชามติ ไม่มีคำไหนที่ระบุว่า “ส.ว. สามารถเสนอชื่อนายกฯ รัฐมนตรี” ได้เลยแม้แต่ประโยคเดียว

อีกทั้งการลงพื้นที่ชี้แจงสาระคำถามพ่วงต่อประชาชนในบางเวที ก็ไม่ได้ชี้แจงถึงอำนาจตรงนี้


ขณะที่ “ซือแป๋” มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ยืนยันว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฯ จะต้องยึดตามคำถามพ่วง คำถามมีแค่ไหนจะต้องแก้ใส่ไปแค่นั้น ต้องยึดหลักว่า เมื่อไปทำประชามติแล้ว ประชาชนก็โหวตรับแล้ว ก็แปลว่า รับตามนั้น อย่างไรก็ดี แม้คำถามพ่วงจะมาจาก สนช. ก็ควรฟังรับฟัง แต่ไม่ได้แปลว่า กรธ. ต้องทำตาม เพราะจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ผลจะออกมาอย่างไร กรธ. จะต้องรับผิดชอบ

“เหมือนกับที่ผู้หญิงไปรับหมั้นชายหนุ่มคนหนึ่งไปแล้ว ภายหลังมีหนุ่มอีกคนมาชอบ ก็คงจะสายไปแล้ว” อ.มีชัย เปรียบเปรยให้เห็นภาพ

คำยืนยันของ “ซือแป๋” เป็นผลทันที เมื่อการประชุม กรธ. ในวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า ในการปรับแก้มาตรา 272 ที่เป็นบทเฉพาะกาล โดยการปรับแก้ข้อความดังกล่าว มีใจความสำคัญยืนยันว่า ส.ว. ไม่สามารถและไม่มีสิทธิ์ที่จะเสนอชื่อผู้จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่สามารถลงมติโหวตผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ได้ ในระยะเวลา 5 ปี เพียงเท่านั้น

เนื่องจาก กรธ. เห็นว่า ข้อความที่เป็นประเด็นคำถามพ่วงประชามติ ไม่ปรากฏข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่า ส.ว. จะมีสิทธิ์เสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งขยักแรก และขยักสอง

ดังนั้น กรธ. จึงขอยึดตามเจตนารมณ์เดิมของคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติมาตั้งแต่ต้น

อย่างไรก็ดี กรธ. ยังคงต้องพิจารณาถ้อยคำ และความถูกต้องก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยคาดการณ์ว่า จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในสัปดาห์หน้า

 

เมื่อผลออกมาไม่เป็นไปตามที่ สนช. หมายปองเอาไว้ คงต้องรอดูท่าทีกันต่อไป เพราะอะไรที่ผู้มีอำนาจประสงค์อยากจะได้ แล้วต้องได้ดั่งใจทั้งหมด กลับอกหักล้มเหลวไม่เป็นท่า

แต่อย่าลืมว่า “สูตรบาริสต้า ชั้นยอด” อย่างคำถามพ่วงประชามติ ที่ให้อำนาจ ส.ว. สามารถลงมติเลือกนายก ฯ ได้นั้น เป็นสูตรที่ทำให้รสชาติเก้าอี้ ส.ว. ส่งกลิ่นหอมหวน เตะปลายจมูกใครหลายๆ คน ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้

เพราะทั้ง “สนช.” และ “สปท.” ก็เริ่มแบะท่าออกมากลายๆ แล้วว่า “สูตรชงเองกินเอง” แบบนี้แหละ คือ บาริสต้าชั้นยอดของอำนาจ “ลากตั้ง”