ดาราศาสตร์ในคัมภีร์กุรอาน (3)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

ดาราศาสตร์ในคัมภีร์กุรอาน (3)

 

การมีอยู่แห่งวงโคจร

ของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์

คําภาษาอาหรับว่าฟะลัก นั้นถูกแปลโดยใช้คำว่า “ทางโคจร” นักแปลชาวฝรั่งเศสหลายคนให้ความหมายว่า “วง” (sphere) นี่เป็นความหมายอันแรกสุด ส่วนฮามิดุลลอฮ์ (Hamidullah) ก็แปลโดยใช้คำว่า “ทางโคจร”

คำนี้ก่อให้เกิดความกังวลแก่นักแปลกุรอานผู้ไม่สามารถจินตนาการถึงทางรูปวงกลมของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ได้ เพราะฉะนั้น จึงคิดถึงทางเดินของมันผ่านอวกาศเอาเอง ซึ่งถูกต้องมากบ้างน้อยบ้างหรือผิดไปเลยก็ได้

ในการแปลกุรอาน ซัยฮัมซะ บูเบ กูร (Si Hamza Boube Keur) ได้กล่าวถึงความหลากหลายของการตีความเรื่องนี้ว่า “แกนชนิดหนึ่งซึ่งเหมือนกับท่อนเหล็กซึ่งทำให้หมุนไปรอบๆ หรือวงในท้องฟ้า ทางโคจร เครื่องหมายของจักรราศี ความเร็ว คลื่น…”

แต่เขาได้เพิ่มข้อสังเกตต่อไปนี้ของเฎาะบารี (Tabari) นักอรรถาธิบายผู้มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 10 ลงไปด้วยว่า “เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องเงียบไว้ในเมื่อเราไม่รู้”

นี่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ยังไม่สามารถเข้าใจถึงแนวความคิดเชิงดาราศาสตร์ ซึ่งรู้กันทั่วไปในสมัยของศาสดามุฮัมมัดแล้วก็คงจะไม่เป็นการยากนักที่จะตีความโองการเหล่านี้ได้

เพราะฉะนั้น จึงมีแนวความคิดใหม่อยู่ในกุรอานซึ่งยังไม่อธิบายก่อนจนกว่าจะถึงศตวรรษหลังๆ

 

1. ทางโคจรของดวงจันทร์

ปัจจุบันนี้มีแนวความคิดแพร่หลายออกไปว่าดวงจันทร์นั้นเป็นดาวบริวารของโลกและหมุนรอบโลกในระยะเวลา 29 วัน

อย่างไรก็ดี จะต้องแก้ไขในเรื่องความคิดที่ว่าวงโคจรของดวงจันทร์นั้นเป็นรูปกลมอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากดาราศาสตร์สมัยใหม่ได้ลงความเห็นว่าวงโคจรนั้นเป็นวงเบี้ยวๆ จนทำให้ระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ (240,000 ไมล์) นั้นเป็นเพียงระยะเฉลี่ยเท่านั้น

เราได้เห็นแล้วว่ากุรอานได้เน้นถึงความมีประโยชน์ของการสังเกตดูความเคลื่อนไหวของดวงจันทร์ในการคำนวณเวลาไว้อย่างไร (ซูเราะฮ์ที่ 10 โองการที่ 5)

ระบบนี้ได้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นระบบที่โบร่ำโบราณ ไม่ได้ผลจริงและไม่เป็นไปเชิงวิทยาศาสตร์เมื่อเทียบกับระบบซึ่งอาศัยการหมุนรอบดวงอาทิตย์ของโลก ซึ่งปัจจุบันนี้แสดงออกในปฏิทินจูเลียน

คำวิจารณ์นี้ทำให้เกิดข้อสังเกตสองอย่างคือ

เมื่อพันสี่ร้อยปีมาแล้ว กุรอานลงมาสู่ผู้ที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรอารเบียซึ่งคุ้นเคยกับการคำนวณเวลาแบบจันทรคติ จึงสมควรที่จะพูดกับพวกเขาด้วยภาษาที่พวกเขาสามารถเข้าใจได้และไม่ไปรบกวนนิสัยที่พวกเขามีอยู่ซึ่งถึงอย่างไรก็ตามก็ยังมีประสิทธิภาพอยู่

เป็นที่รู้กันว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายนั้นมีความสามารถเพียงไรในการสังเกตท้องฟ้า พวกเขาเดินเรือไปตามดวงดาวและบอกเวลาตามขั้นตอนต่างๆ ของดวงจันทร์ เหล่านั้นคือวิธีการที่ง่ายที่สุดและวางใจได้มากที่สุดที่พวกเขามีอยู่

นอกจากผู้เชี่ยวชาญในวงการนี้แล้ว คนส่วนมากมักไม่รู้ถึงความเกี่ยวข้องกันอย่างเต็มที่ซึ่งมีอยู่ระหว่างปฏิทินจูเลียนกับปฏิทินจันทรคติคือ 235 เดือนทางจันทรคติจะเท่ากับ 19 ปีจูเลียนซึ่งมีปีละ 365 1/2 วัน

ดังนั้น ความยาวของปีของเราที่บอกว่ามี 365 วันนั้นจึงไม่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์เพราะจะต้องมีการแก้ไขทุกๆ 4 ปี (มีปีอธิกวาร 1 ปี) ตามปฏิทินจันทรคตินั้นจะเกิดปรากฏการณ์เช่นเดียวกันทุกๆ 19 ปี (จูเลียน)

นี่คือวงเมโตนิคซึ่งเรียกตามชื่อเมตัน นักดาราศาสตร์ชาวกรีกผู้ค้นพบความเกี่ยวข้องระหว่างเวลาสุริยคตินี้ในคริสศตวรรษที่ 5

 

ดวงอาทิตย์

การที่จะเข้าใจถึงทางโคจรของดวงอาทิตย์นั้นยากกว่า เพราะเราคุ้นเคยต่อการเห็นระบบสุริยจักรวาลของเรารวมอยู่รอบๆ ดวงอาทิตย์ การที่จะเข้าใจโองการในกุรอานนั้น เราจะต้องพิจารณาถึงตำแหน่งของดวงจันทร์ในหมู่ดวงดาวด้วย ดังนั้น เราจึงต้องคิดถึงความคิดเชิงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

หมู่ดวงดาว (galaxy) ของเรารวมเอาดวงดาวจำนวนมากมายมหาศาลซึ่งวางอยู่ห่างๆ กันจนเป็นรูปจานซึ่งตรงกลางหนาแน่นกว่าตรงขอบๆ ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งที่ไกลจากศูนย์กลางของรูปจานนั้นมาก

หมู่ดวงดาวหมุนไปบนแกนของมันเองซึ่งเป็นศูนย์กลางของมันจึงมีผลทำให้ดวงอาทิตย์หมุนรอบศูนย์กลางเดียวกันเป็นวงโคจรรูปวงกลม วิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่ได้ให้รายละเอียดของเรื่องนี้ไว้

ในปี 1917 แชปเลย์ (Shapley) ได้ประมาณระยะทางระหว่างดวงอาทิตย์กับศูนย์กลางของหมู่ดวงดาวไว้เป็น 10 กิโลพาร์เสค (คือหน่วยวัดระยะของดวงดาว ประมาณ = 1.9 พันล้านไมล์ (19.2 x 1012) ) คือประมาณ 2 ตามด้วยเลขศูนย์ 17 ตัวในมาตราไมล์ เพื่อจะหมุนรอบแกนของมันเองให้สมบูรณ์ หมู่ดวงดาวและดวงอาทิตย์ใช้เวลาคร่าวๆ 250 ล้านปี ดวงอาทิตย์โคจรไปประมาณ 150 ไมล์ต่อวินาทีในการหมุนให้ครบวงโคจร

ข้อเท็จจริงข้างต้นนี้คือการโคจรรอบวงโคจรของดวงอาทิตย์ซึ่งในกุรอานได้กล่าวถึงมาตั้งแต่ 14 ศตวรรษมาแล้ว การแสดงถึงการมีอยู่และรายละเอียดของเรื่องนี้เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของวิชาดาราศาสตร์ปัจจุบัน

 

การกล่าวถึงการเคลื่อนไหว

ของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ในอวกาศ

ด้วยความเคลื่อนไหวของมันเอง

แนวความคิดนี้มิได้ปรากฏอยู่ในคำแปลกุรอานที่แปลโดยนักอักษรศาสตร์ต่างๆ เนื่องจากว่านักอักษรศาสตร์ไม่มีความรู้ในเรื่องดาราศาสตร์พวกเขาจึงได้แปลคำภาษาอาหรับที่พูดถึงความเคลื่อนไหวนี้โดยใช้คำว่า “ว่ายน้ำ” พวกเขาทำเช่นนี้ทั้งในบทแปลภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลโดยยูซุฟ อะลี (Yusuf Ali)

คำภาษาอาหรับคำนี้มุ่งถึงความเคลื่อนไหวด้วยแรงที่ดึงตัวเองไป คำกริยา สับบะฮะ หรือยัสบะฮูนะ ในข้อความของโองการทั้งสอง ความหมายของกริยาคำนี้คือการเคลื่อนไหวที่รวมถึงการเคลื่อนไหวที่มาจากร่างกายของคนนั้นหรือสิ่งนั้นเอง

ถ้าเคลื่อนไหวกระทำอยู่ในน้ำก็จะเป็น “ว่ายน้ำ” และจะเป็น “การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในอวกาศก็เป็นการยากที่จะแลเห็นได้ว่าจะแสดงความหมายนี้ในคำใดได้มากไปกว่าการใช้ความหมายเดิมของมัน

ดังนั้น จึงดูเหมือนจะไม่มีการแปลผิด ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

– ดวงจันทร์เคลื่อนไหวรอบวงโคจรบนแกนของมันเองในขณะเดียวกับมันก็หมุนรอบโลกเป็นเวลา 29 วัน (โดยประมาณ) มันจึงหันด้านเดียวมาหาเราเสมอ

– ดวงอาทิตย์ใช้เวลาประมาณ 25 วันในการหมุนรอบแกนของมันเอง มีความแตกต่างกันอยู่บ้างที่เส้นศูนย์สูตรของมันและที่ขั้วโลก แต่โดยส่วนรวมแล้วดวงอาทิตย์ถูกทำให้มีชีวิตชีวาโดยการเคลื่อนไหวหรือหมุนไป

เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่าความแตกต่างกันนิดหน่อยของกริยาในกุรอานนั้นกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของตัวเองของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ การเคลื่อนไหวของเทหวัตถุในฟากฟ้าทั้งสองนี้ได้รับการยืนยันโดยวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

แต่สำหรับคนที่มีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึงแม้ว่าเขาจะมีความรู้มากเท่าไรก็ตามในสมัยของเขานั้นย่อมเป็นเรื่องที่ไม่อาจเข้าใจได้ว่าเขาจะสามารถคิดไปถึงได้ (แต่ในกรณีของศาสดามุฮัมมัด เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง)

ในบางครั้งทัศนะนี้ก็ถูกโต้แย้งโดยตัวอย่างต่างๆ จากนักคิดใหญ่ๆ ของสมัยโบราณผู้ซึ่งได้ทำนายถึงข้อมูลบางอย่างที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นความจริง อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ใคร่จะไว้ใจในวิธีพิจารณา โดยใช้หลักทั่วไปเพื่อนำไปสู่เรื่องเฉพาะเช่นนี้ (อนุมาน)

วิธีการของพวกเขาเป็นการให้เหตุผลทางด้านปรัชญามากกว่า ในศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ. นักคิดเหล่านี้ได้ปกป้องทฤษฎีที่ว่าโลกหมุนรอบแกนของมันเองและดาวพระเคราะห์หมุนรอบดวงอาทิตย์

ทฤษฎีนี้ได้รับการยืนยันโดยวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ด้วยการเปรียบเทียบกับกรณีของผู้นิยมทางทฤษฎีของพิธากอรัส (Pythagorus) ก็เป็นการง่ายที่จะกล่าวได้ว่าศาสดามุฮัมมัดเป็นนักคิดที่ฉลาดปราดเปรื่องผู้คงจะคิดอะไรๆ ที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้ค้นพบในภายหลังได้ด้วยตัวเอง

 

อย่างไรก็ตาม ผู้คนมักจะลืมกล่าวถึงอีกมุมหนึ่งของสิ่งที่อัจฉริยบุคคลใช้ในการหาเหตุผลในด้านที่ปรัชญาเหล่านี้สร้างขึ้น คือความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงที่มีอยู่เกลื่อนกลาดในผลงานของพวกเขา

ตัวอย่างที่ควรจะจำไว้ว่าพวกผู้ถือทฤษฎีของพิธากอรัสได้ปกป้องทฤษฎีที่ว่าดวงอาทิตย์ถูกวางให้อยู่กับที่ในอวกาศด้วยเหมือนกัน พวกเขาถือว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของโลกและเข้าใจได้แต่เฉพาะระเบียบในท้องฟ้าที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ดวงอาทิตย์เท่านั้น

จึงเป็นธรรมดาที่ในผลงานของนักปรัชญาใหญ่ๆ สมัยโบราณเราจะได้พบความคิดเกี่ยวกับจักรวาลที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องปนกันอยู่

ความหลักแหลมของผลงานเหล่านี้ของมนุษย์มาจากความคิดผิดๆ ที่ถูกทิ้งไว้ให้พวกเรา จากทัศนะเชิงวิทยาศาสตร์อันเข้มงวดนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้มันแตกต่างไปจากกุรอาน ในกุรอานนั้นมีการกล่าวถึงเรื่องหลายเรื่องที่มีแง่มุมด้านความรู้สมัยใหม่โดยไม่มีส่วนใดเลยที่บรรจุคำพูด ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่รับรอง