การศึกษา /สุดวิจิตร…พระจิตกาธาน ร.9 ดั่งวิมานส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์

การศึกษา

สุดวิจิตร…พระจิตกาธาน ร.9

ดั่งวิมานส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์

การจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คืบหน้าแล้วกว่า 96%

ถือเป็นงานใหญ่ที่คนไทยทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจ สร้างสรรค์งานศิลปกรรมที่วิจิตรงดงาม สมพระเกียรติ…

หนึ่งในหัวใจสำคัญประกอบพระเมรุมาศ คือ “พระจิตกาธาน” ใช้สำหรับประดิษฐานหีบพระบรมศพจันทน์และพระบรมโกศ บริเวณโถงกลางพระเมรุมาศบุษบกประธาน ออกแบบโดย “นายก่อเกียรติ ทองผุด” นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ

ซึ่งนายก่อเกียรติ อธิบายว่า การออกแบบพระจิตกาธานครั้งนี้ มีการศึกษารูปแบบตามโบราณราชประเพณี

ยึดจัดสร้างตามรูปแบบพระจิตกาธาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงบุษบกเรือนยอด 9 ชั้น แตกต่างตรงที่ขนาด

โดยพระจิตกาธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความสูง 10.825 เมตร กว้าง 4.02 เมตร ยาว 5.52 เมตร ตามขนาดของพระเมรุมาศของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ใหญ่กว่าที่ผ่านมา ดังนั้น พระจิตกาธานจึงต้องมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย

โครงสร้างพระจิตกาธานทำด้วยไม้สักแกะลายปิดทองล้วงสี ซึ่งเป็นเทคนิคโบราณ ที่เรียกว่าการปิดทองหน้าลาย ข้างลายใช้สีครีมงาช้าง ให้กลมกลืนกับสีหีบพระบรมศพจันทน์และพระโกศจันทน์

ชั้นบนสุดประดับ “ยอดพรหมพักตร์” แกะจากไม้จันทน์ มีความหมายถึงพรหมวิหาร 4

ลายฐานสิงห์ แสดงถึงฐานานุศักดิ์ ลายบัวเชิงบาตร แกะลายให้เป็นลักษณะกลีบดอกบัว

ส่วนฐานจะมีการย่อไม้ ย่อมุม มีความโค้งให้ความรู้สึกนิ่มนวล สะท้อนพระจริยวัตรอันงดงามของในหลวง ร.9

การประดับพระจิตกาธานจะประดับด้วยเครื่องสด จัดทำโดยกองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง โดยมี “นายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม” นักจัดการงานในพระองค์ชำนาญการ สำนักพระราชวัง เป็นผู้ดูแล

ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีกระแสพระราชดำรัส ถึงการจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ว่า

“เปิดโอกาสให้ตัวแทนช่างฝีมือเครื่องสด, ช่างแทงหยวก 4 ภูมิภาค เข้าร่วมในการถวายงานครั้งนี้ การจัดทำให้อยู่ในรูปแบบโบราณราชประเพณีในราชสำนักอย่างถูกต้องให้สมพระเกียรติสูงสุด”…

กองศิลปกรรม จึงคัดเลือกช่างฝีมือเครื่องสดและช่างแทงหยวก ประกอบด้วย ช่างราชสำนัก สำนักพระราชวัง ช่างแทงหยวกสกุลช่างฝั่งธนบุรี (วัดอัปสรสวรรค์) ช่างแทงหยวกสกุลช่าง จ.สงขลา ช่างแทงหยวกสกุลช่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี และ จ.มหาสารคาม ช่างแทงหยวกสกุลช่าง จ.เพชรบุรี

รวมถึงตัวแทนช่างฝีมือจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานจากสถาบันอาชีวศึกษา จาก 4 ภูมิภาค เข้าร่วมถวายงาน

นายบุญชัย กล่าวว่า โครงสร้างพระจิตกาธาน ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นทรงบุษบก ชั้นเรือนยอด 9 ชั้น มีความงดงาม วิจิตร อลังการสมพระเกียรติ ให้เปรียบเสมือนพระวิมานที่จะน้อมเกล้าฯ ถวายส่งเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์

โดยหลังคาชั้นเรือนยอดจะประดับด้วยเครื่องสด ได้แก่ งานช่างแทงหยวก งานแกะสลักของอ่อน และงานช่างประดิษฐ์ดอกไม้ รูปแบบการตกแต่งหลังคาเรือนยอดพระจิตกาธาน ประดับด้วย การร้อยกรองดอกไม้สดเป็นตาข่ายทุกชั้น

โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ ในการกรองดอกรักชั้นเรือนยอดชั้นที่ 9 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของพระจิตกาธาน

เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติสูงสุด

การจัดทำพระจิตกาธาน ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความแตกต่างจากพระจิตกาธานที่ผ่านมา คือ จัดทำเทวดาชั้นพรหม วรรณะสีขาวนวลนั่งคุกเข่าพระหัตถ์ทรงถือพระขรรค์ ประดับหน้าเสาชั้นเรือนไฟ จำนวน 8 องค์ เพื่อเฝ้าพิทักษ์รักษา และส่งเสด็จสู่สรวงสรรค์

นอกจากนี้ ยังประดิษฐ์ดอกปาริชาต จำนวน 70 ดอก เท่ากับ 70 ปีที่ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ ประดับรอบชั้นรัดเอว

ที่ประดิษฐานพระโกศจันทน์ 16 ดอก หมายถึงจำนวนชั้นสวรรค์ 16 ชั้น ในรูปลักษณ์ความหมายของไตรภูมิ

ส่วนที่เหลือประดิษฐ์เป็นดอกไม้ไหว ดอกไม้เฟื่อง ออกนามว่าดอกปาริชาต เช่นกัน เหมือนดอกไม้ที่ร่วงลงมาจากสรวงสรรค์ ซึ่งในตำนานเป็นดอกไม้บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เกิดในสวนอันมีนามว่า ปุณฑริกวัน มีกลิ่นหอมไกลถึง 5,000 โยชน์ ใครได้กลิ่นจะสามารถระลึกชาติได้

“ดอกไม้ชนิดนี้ ไม่มีใครเคยเห็น มีแต่ในตำนาน ดังนั้น ทางทีมช่างฝีมือ จึงประดิษฐ์ดอกปาริชาตขึ้น โดยใช้ดอกสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ และสีชมพูอมม่วงหรือชมพูอมแดง ผนวกเป็นสียืนพื้น ในส่วนของเกสรใช้เมล็ดธัญพืช ที่พระองค์ทรงพระราชทานแก่เกษตรกร คือ เมล็ดข้าว ซึ่งได้เลือกข้าวพันธุ์หอมมะลิ จากทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประเทศไทย แล้วเป็นข้าวพันธุ์หอมมะลิที่ดีที่สุด เมล็ดข้าวโพด จาก จ.เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ถั่วเขียว ถั่วแดง จากเกษตรกรเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งทรงพระราชทานให้เกษตรกรไปปลูก และถั่วทอง ใจกลางของดอกปาริชาตเกสรชั้นในสุด ประดิษฐ์จากพลอยนพรัตน์ ประกอบด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน ไพลิน มุกดาหาร เพทาย และไพฑูรย์จาก จ.จันทบุรี โดยวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินการทั้งหมด ประประชาชนชาวไทยร่วมน้อมเกล้าฯ ถวาย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย”

นายบุญชัยกล่าว

สําหรับกล้วยที่ใช้แทงหยวก จะใช้ต้นกล้วยตานีตามโบราณราชประเพณี จำนวน 55 ต้น เพราะมีลำต้นใหญ่ ยาวตรงเสมอ กาบกล้วยชั้นในสีขาวนวล อมน้ำดี ใบตองสีเขียว

การประดับดอกดวงต่างๆ จะประดิษฐ์ด้วยการใช้พิมพ์ทองเหลือง แกะลวดลายในลวดลายต่างๆ เช่น ลายใบเทศ ดอกประจำยาม เป็นต้น ส่วนดอกไม้สดจะเน้นใช้ ดอกรัก ดอกมะลิ และกลีบดอกกล้วยไม้ย้อมเป็นสีจำปา และดอกบานไม่รู้โรย ย้อมสีกรองกลีบเป็นสีชมพูอมแดง

ทั้งนี้ ทางสำนักพระราชวัง กำหนดให้มีพิธีสังเวยสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วันที่ 19 ตุลาคม พิธีบวงสรวงไหว้ครูแทงหยวกวันที่ 22 ตุลาคม และนำงานแทงหยวก งานเครื่องสด และงานดอกไม้สด ขึ้นติดตั้งประกอบบนพระจิตกาธานที่พระเมรุมาศ วันที่ 25 ตุลาคม

นับเป็นงานใหญ่ที่คนไทยทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจน้อมส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์…