ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : Siam Rangers : เป็นฮีโร่มันเหนื่อย มุมมองเปี่ยมสีสันแฟนตาซีล้น ของเหล่าฮีโร่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์แห่งแดนสยาม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ที่ผ่านมากล่าวถึงศิลปะและนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยหนักๆ ซีเรียสๆ กันไปหลายตอนแล้ว

ในตอนนี้เลยขอรีแล็กซ์ด้วยการนำเสนอนิทรรศการศิลปะที่มีผลงานที่สนุกสนานเฮฮาเปี่ยมสีสันให้อ่านกันบ้างอะไรบ้างก็แล้วกัน

ถ้าเอ่ยชื่อ ปรียวิศว์ นิลจุลกะ หรือ ปาล์ม Instinct

หลายคนที่เป็นคอดนตรีบ้านเราน่าจะรู้จักเขาในฐานะนักร้องเพลงร็อกขวัญใจวัยรุ่น

อดีตนักร้องนำของวง Girl และปัจจุบันในฐานะนักร้องนำวง Instinct เจ้าของเพลงฮ็อต โปรดส่งใครมารักฉันที ที่ฮิตระเบิดระเบ้อในฐานะเพลงประกอบภาพยนตร์ รถไฟฟ้ามาหานะเธอ จนคนร้องตามได้ทั้งบ้านทั้งเมือง

แต่คงมีน้อยคนที่รู้ว่า นอกจากบทบาทของนักร้องแล้ว ปรียวิศว์ หรือ ปาล์ม ผู้นี้ยังมีอีกบทบาทหนึ่งในฐานะศิลปินวาดภาพอีกด้วย

แล้วเขาก็ไม่ได้ทำเล่นๆ เป็นงานอดิเรกยามว่าง

แต่ทำแบบจริงๆ จังๆ

ทำงานศิลปะควบคู่กับการร้องเพลงมาตลอด

และแสดงนิทรรศการศิลปะทั้งเดี่ยวและกลุ่มมาหลายครั้งหลายหน

จนเรียกได้ว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งของเขาเลยก็ว่าได้

ซึ่งอันที่จริงแรกเริ่มเดิมที เขาเองก็สนใจงานศิลปะมาตั้งแต่ครั้งยังเด็ก

จนต่อมาก็เลือกศึกษาด้านศิลปะที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

เมื่อจบออกมาก็ยังคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงแรกๆ ภาพวาดของเขาเป็นภาพวาดแนวป๊อปเปี่ยมสีสันคล้ายกับการ์ตูนญี่ปุ่น ที่นำเสนอเรื่องราวที่คนส่วนใหญ่เหนียมอายเกินกว่าจะพูดถึงอย่างเรื่องเซ็กซ์

โดยเขาสร้างแคแร็กเตอร์ผู้ชายใส่หน้ากากที่มีชื่อว่า Mr. Sexman โดยให้มันเป็นตัวแทนของผู้ชายบ้ากามที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจผู้ชายทุกคน

ซึ่งแคแร็กเตอร์ที่ว่านี้ เขาได้ต้นแบบมาจากตัวเอง

โดย Mr. Sexman ที่ว่านี้มักจะถูกแวดล้อมด้วยบรรดาสาวๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของแฟนตาซีทางเพศของผู้ชายในรูปแบบต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หญิงสาวขายบริการทางเพศที่เรียกกันว่า “สาวไซด์ไลน์” ที่แต่งกายนุ่งน้อยห่มน้อย ไปจนถึงชุดนักเรียนนักศึกษา (หรือท่านสุภาพบุรุษทั้งหลายจะปฏิเสธว่าไม่เคยจิ้นถึงชุดนี้กัน?) และสวมหน้ากากปิดบังโฉมหน้าตัวเอง หรือหลอมรวมตัวเข้ากับเซ็กซ์ทอยต่างๆ

โดยปรียวิศว์ต้องการนำเสนอความจริงอีกแง่มุมหนึ่งในสังคมเรา ที่คนทำเป็นมองไม่เห็น หรือไม่อยากพูดถึง

ด้วยลีลาที่แฝงอารมณ์ขันแกมเสียดสีอย่างเปี่ยมสีสันยิ่ง

 

แต่ในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุด ปรียวิศว์กลับเปลี่ยนหัวข้อในการทำงานศิลปะของเขา

โดยหันมานำเสนอเรื่องราวของบุคคลผู้มีอาชีพที่คอยบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนชาวไทยอย่างผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หรือเรียกสั้นๆ แบบกันเองว่า ตำรวจ นั่นเอง

โดยนิทรรศการนี้มีชื่อว่า Siam Rangers : เป็นฮีโร่มันเหนื่อย

“มันเกิดความเบื่อที่จะทำเรื่องเซ็กซ์แล้ว เพราะมันก็วนเวียนอยู่ในอ่าง เราก็เลยอยากทำอะไรที่มันเกี่ยวกับเรื่องอื่นบ้าง”

“ผมก็เลยเริ่มต้นที่ทุกเรื่องที่เป็นดราม่าในสังคมไทย เพราะตอนนั้นมันเริ่มจากทางค่ายเพลงของผมให้ผมเริ่มเล่นเฟซบุ๊ก จากที่ไม่เคยเล่นมาก่อนผมก็เลยต้องเล่น พอเล่นไปเรื่อยๆ เราก็เจอเรื่องต่างๆ ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดราม่า, เรื่องการเมือง, เรื่องคนมีสี เรื่องดาราคนไหนได้กับใคร ใครอวดรวย”

“เรื่องหนึ่งที่สะดุดใจเราคือเรื่องของตำรวจ เพราะรู้สึกได้เลยว่า อาชีพตำรวจบ้านเราเนี่ย ทำอะไรใครก็ด่า แล้วช่วงนั้นมีข่าวเกี่ยวกับตำรวจเยอะ แต่ในขณะเดียวกัน ผมมีคู่เขยที่เป็นตำรวจ ยศรองผู้กำกับ ซึ่งเขาเป็นคนดีมากๆ คนหนึ่ง และไม่เห็นทำอะไรที่ไม่ดีอย่างที่คนอื่นเขาว่ากันเลย”

“มันก็เลยทำให้เราคิดได้ว่า เออ! มันคงเป็นเรื่องของคนนั่นแหละ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์หรือเครื่องแบบอะไรก็ตาม มันก็มีดีมีชั่วอยู่แล้ว”

“เราก็เลยนึกว่า เออ เรื่องนี้น่าทำที่สุด เพราะอาชีพตำรวจเองก็ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุดอยู่แล้ว แล้วก็เป็นอะไรที่แซวได้ แบบในรายการ คดีเด็ด อะไรแบบนี้ ส่วนทหารนี่ไม่อยากแซว เดี๋ยววุ่น (หัวเราะ)”

ปรียวิศว์กล่าวถึงที่มาของผลงานศิลปะในนิทรรศการครั้งล่าสุดของเขา

 

แต่ภาพของตำรวจ ที่ถูกนำเสนอในนิทรรศการของเขา ไม่ได้ถูกนำเสนอแบบเหมือนจริงหรือเคร่งเครียดขึงขังตามปกติ

หากแต่ผลงานภาพวาดสนุกๆ กว่า 20 ชิ้น และงานประติมากรรมรูปตำรวจในภาคซูเปอร์ฮีโร่ชุดแดงขี่รถเด็กเล่นสีแดงสดขนาดเท่าคนจริง ที่ถูกนำเสนอออกมาในรูปลักษณ์ที่ดูเฮฮาครื้นเครง สนุกสนานเปี่ยมสีสัน มันส์ระเบิดระเบ้อ เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน

โหด มัน ฮา ในสไตล์แฟนตาซีสุดเหวี่ยงอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในผลงานศิลปะของเขา

จนทำให้เหล่าตำรวจในภาพวาดของเขาเหล่านั้นดูเหมือนบรรดาซูเปอร์ฮีโร่ในการ์ตูนญี่ปุ่นมากกว่าตำรวจธรรมดา

“ด้วยความที่ผมไปอยู่ญี่ปุ่นมาตอนเด็กๆ งานผมก็จะเป็นสีเหมือนมังงะ หรือการ์ตูนญี่ปุ่นมาโดยตลอด ผมชอบนักเขียนการ์ตูนคนหนึ่งชื่อ อาจารย์โทริยามะ อากิระ (ผู้เขียนการ์ตูน Dragon Ball) เวลาเขาเขียนตัวเอง เขาจะใส่หน้ากากปิดปาก ผมก็เลยจิ๊กสัญลักษณ์เขามาใช้ เหมือนเป็นการคารวะอาจารย์เขาอีกทีหนึ่ง”

“แล้วเราก็ชอบรูปแบบของยอดมนุษย์ พวกขบวนการยอดมนุษย์ 5 สี (Power Rangers) ภาษาญี่ปุ่นเขาเรียกว่า เซนไต ที่เป็นซีรี่ส์ฉายทางโทรทัศน์ที่ญี่ปุ่นตอนเย็นๆ แล้วเราก็คิดว่าตำรวจเป็นฮีโร่ ที่คอยกอบกู้สถานการณ์ ปกป้องบ้านเมือง ผู้คน เราก็เลยทำงานชุดนี้ขึ้นมา โดยเอารูปแบบของยอดมนุษย์ Power Rangers มาใส่ให้ตำรวจ”

“แต่ถ้าเอามาใช้ตรงๆ เดี๋ยวจะโดนลิขสิทธิ์ เราก็เลยเปลี่ยนเป็น Siam Rangers มันซะเลย ชุดของตัวละครก็คือชุดตำรวจนั่นแหละ แต่ทำหลากสีให้เหมือนกับชุด Power Rangers เท่านั้นเอง”

“แล้วพอมันเป็นยอดมนุษย์แบบญี่ปุ่นมันก็ต้องมีการปล่อยพลังบ้าง ธีมของผมคือ มาแบบเว่อร์ๆ เล่นใหญ่ ถ้าใครเป็นคนรุ่นเราจะรู้ว่าเราเล่นมุขอะไร เพราะมันอยู่ในการ์ตูน อย่างภาพที่ต่อยรัวๆ ก็เอามาจากเคนชิโร่ หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ หรือรูปที่ยิงปืนฉีดน้ำก็เอามาจากหนัง จอห์น วู หรือหุ่นยนต์ T-1000 ในหนัง Terminator 2 : Judgment Day (1991) ก็เป็นมุขในวัฒนธรรมป๊อป แต่เป็นป๊อปในยุคของผมนะ”

 

กับคำถามที่ว่า ทำงานศิลปะแซวเจ้าหน้าที่ตำรวจแบบนี้ไม่กลัวมีปัญหาหรือ? เขาตอบว่าเขายังเชื่อในการทำงานศิลปะด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ ไม่ได้มุ่งโจมตีใคร แต่ใช้ผลงานศิลปะเป็นภาพสะท้อนความรู้สึกของคนในสังคมในรูปแบบของการหยอกล้อด้วยอารมณ์ขัน

“เราไม่ได้ด่านะ แค่แซวเล่น ภาพบางภาพ อารมณ์คือ เวลาเราเมาเหล้าแล้วขับรถกลับบ้าน แล้วเรากลัวว่า เลี้ยวขวาไปจะเจอด่านไหม พอเลี้ยวไปปุ๊บ จ๊ะเอ๋ สวัสดี เรามาแล้ว เราเอาอารมณ์อย่างงี้มาเขียนเป็นงาน แล้วก็ทำวาดเป็นระเบิดตูมข้างหลัง แค่นั้นเอง เราไม่ได้ด่านะ แซวเฉยๆ ว่าเขามากันอีกแล้ว หรืออย่างภาพที่ไล่จับผู้ร้าย แต่ขี่จักรยานคันเดียวกัน อันนี้ก็ออกจะแฝงความดาร์กนิดนึง เพราะคนที่ทำงานตรงนี้มันก็มีทั้งดีและไม่ดีใช่ป่ะ”

“ไอเดียก็เอามาจากข่าวที่เราเจอทุกวัน และประสบการณ์โดยตรง คือผมนี่เป็นนักโดนด่านตรวจมาหลาย สน. แล้ว ผมรู้ว่า สน. ไหนตารางสะอาด หรือสกปรก ผมไปอยู่มาหมดแล้ว ผมโดนข้อหาเมาแล้วขับมาหลายดอกแล้ว เจ้าหน้าที่แต่ละคนก็แตกต่างกันไป”

“ผมไปรายงานตัวมาหลายรอบแล้ว แต่ตอนนี้เลิกแล้วนะ เราก็ไม่ได้โกรธเขานะ แต่เราก็ขอเอามาล้อเลียนเป็นงานศิลปะดีกว่า”

 

ผลงานที่นำเสนอในนิทรรศการครั้งนี้ นับเป็นเหมือนการสะท้อนมุมมองที่ศิลปินในฐานะคนไทยคนหนึ่งมีต่ออาชีพตำรวจ ในแง่มุมที่ทั้งชื่นชมหยอกล้อเสียดสีใส่สีตีไข่อย่างครื้นเครง

อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอเรื่องราวของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่แทบทุกคนเคยประสบพบเจอ พร้อมๆ ไปกับการตั้งคำถามไปถึงอาชีพที่ควรจะเป็น “ฮีโร่” ของสังคมว่า พร้อมแล้วหรือยังกับการเป็นวีรบุรุษที่สังคมสามารถยกย่องชื่นชมได้อย่างเต็มที่และเต็มใจ

นิทรรศการ Siam Rangers : เป็นฮีโร่มันเหนื่อย จัดแสดงที่ หอศิลป์ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม ถึงวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา น่าเสียดายที่นิทรรศการได้จบลงเรียบร้อยไปแล้ว

แต่ถ้ามีข่าวคราวความคืบหน้าเกี่ยวกับงานแสดงของเขาอีก เราจะรีบนำมาแจ้งท่านผู้อ่านให้ทราบโดยพลัน