เปิดหู | พาคุณรู้จัก Kiwaya สำนักอูคูเลเล่เก่าแก่ 100 ปี เสาหลักของวงการอูคูเลเล่ญี่ปุ่น

อัษฎา อาทรไผท

บางท่านเพิ่งคุ้นชื่อเครื่องดนตรีตัวจิ๋ว อูคูเลเล่ มาได้แค่สัก 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่แท้จริงแล้ว อูคูเลเล่ นั้นมีมาเนิ่นนานตั้งแต่ ค.ศ. 1879 หรือราว 143 ปีมาแล้ว และเพิ่งมาแพร่หลายในไทยได้ราวทศวรรษกว่า ๆ นี้เอง แต่ในมุมมองของชาวญี่ปุ่น อูคูเลเล่อยู่คู่วงการดนตรีเขามานานมากแล้ว นานจนไม่ได้เป็นของใหม่สุดฮิต แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกทางดนตรี ซึ่ง Kiwaya ที่จะมาเล่าถึงนี้ ก็คือผู้นำทางด้านอูคูเลเล่ของญี่ปุ่นนั่นเอง

Kiwaya เป็นสำนักที่มีตัวมีตนมานานถึง 103 ปีแล้ว ผ่านการบริหารจากรุ่นสู่รุ่นมาได้ 4 สมัย โดยแรกเริ่มเดิมทีผู้ก่อตั้ง ท่านคิทาโร่ โอคะโมโตะ ไม่ได้สร้างอูคูเลเล่ แต่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับดนตรี ด้วยการเปิดร้านซ่อมเครื่องเล่นแผ่นเสียง ที่ถือเป็นอุปกรณ์ฟังเพลงทันสมัยสุดฮิตในยุค ค.ศ. 1919 ณ ย่านอะซะคุสะ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ต่อมาในยุค 1940’s Kiwaya ได้เปลี่ยนมาจำหน่ายแผ่นเสียง และเมื่อการบริหารตกมาถึงมือของทายาทรุ่นที่ 2 เรียวจิ โอคะโมโตะ ในปี ค.ศ. 1957 ก็มีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจอีกครั้ง โดยในช่วงเวลานั้นวัฒนธรรมฮาวาย ตั้งแต่แฟชั่นการแต่งกาย ระบำฮูล่า เสียงเพลงฮาวาย และอูคูเลเล่ ได้เข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่น และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หากใครเคยสัมผัสกระแสอูคูเลเล่บูมที่ไทยเมื่อสัก 10 กว่าปีก่อน น่าจะพอนึกภาพออก แต่ของญี่ปุ่น เขาไม่ได้ฮิตแค่อูคูเลเล่ แต่ฮิตกันทุกสรรพสิ่งที่เกี่ยวกับฮาวาย กลายเป็นกระแสนิยม ที่พัฒนาไปสู่คอมมิวนิตี้อูคูเลเล่ และฮูล่าแดนซ์ อันแข็งแกร่งของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ที่จัดงานประจำปีได้ยิ่งใหญ่อลังการมาก

ในยุคนั้นใคร ๆ ก็ผลิตอูคูเลเล่ขายกันให้เกร่อ ในประวัติศาสตร์ของ Kiwaya เขาเล่าว่ายุคนั้นอูคูเลเล่ฮิตมาก แม้กระทั่งบริษัทเครื่องไฟฟ้ายักษ์ใหญ่อย่าง โตชิบา ก็ยังผลิตอูคูเลเล่มาขาย ส่วน เรียวจิซัง ผู้ชื่นชอบอูคูเลเล่อยู่แล้ว เมื่อเห็นช่องทางก็หันมาผลิตอูคูเลเล่เช่นกัน และให้ชื่อแบรนด์ว่า Famous เพราะอยากให้ อูคูเลเล่ ของเขาเป็นที่นิยมตามความหมายของชื่อ ทว่าพอเริ่มผลิต กระแสความนิยมในอูคูเลเล่และวัฒนธรรมฮาวาย เกิดเริ่มลดลงเรื่อย ๆ ตามความเป็นไปของแฟชั่น ทั่วโลกก็เช่นกัน จากที่อูคูเลเล่เคยเป็นที่นิยม เป็นพระเอกของเวทีที่บรรดาศิลปินนิยมใช้ ก็ถูกแทนที่ด้วยกีตาร์ไฟฟ้า และเพลงร็อคแอนด์โรล ซึ่งมาแรงจนบดบังอูคูเลเล่จนมิดไปเลยทีเดียว

ที่ญี่ปุ่นหลาย ๆ ผู้ผลิตที่หันมาขุดทองกับอูคูเลเล่ในยุคบูมของมัน เมื่อกระแสความนิยมหดหาย ก็หันไปทำอย่างอื่นแทนกันหมด แต่สำหรับ เรียวจิซัง เขาได้ตกหลุมรักอูคูเลเล่เข้าแล้ว เพราะการมาขายอูคูเลเล่ของเขา เขามาเพราะเขาชื่นชอบในเครื่องดนตรีนี้จริง ๆ พอคลุกคลีก็ผูกพัน เขาจึงไม่ได้หยุดเรื่องอูคูเลเล่ลงอย่างคนอื่น แต่เขายังตั้งหน้าตั้งตาออกเดินสาย ปรึกษาหารือกับศิลปินและนักดนตรีต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอูคูเลเล่ของเขาให้ดีขึ้น พร้อมทั้งยังผลักดันให้เกิดกลุ่มผู้เล่นอูคูเลเล่ตามเมืองต่าง ๆ พร้อมทั้งไปเจรจากับโรงเรียนต่าง ๆ ให้นำอูคูเลเล่มาใช้ประกอบการศึกษาทั่วญี่ปุ่น

สำหรับอูคูเลเล่ของ Kiwaya นั้น หากถามว่าดีแค่ไหน ขอตอบด้วยการเล่าว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผู้ผลิตอูคูเลเล่ชื่อดังของอเมริกา Martin เลิกผลิตอูคูเลเล่ แล้วไปเน้นผลิตกีตาร์ที่ขายได้ดีกว่าตามยุคสมัย ผู้คนที่อยากได้อูคูเลเล่ที่คุณภาพดี ที่เล่นได้อรรถรสเหมือนของ Martin ถ้าไม่กำเงินก้อนโตไปหาซื้อ Martin เก่า ๆ ที่หายาก ก็ต้องมาแสวงหาอูคูเลเล่ของ Kiwaya มาใช้แทน เพราะเขาได้ถอดแบบศักยภาพในการเล่นออกมาดีไม่แพ้กัน จนเป็นที่รู้กันว่าแทนกันได้

เวลาผ่านมาจนช่วงปลายยุค 1990’s อูคูเลเล่เริ่มกลับมาฮิตอีกครั้ง แต่การมาครั้งนี้ไม่ได้มากับวัฒนธรรมฮาวาย อูคูเลเล่มาในรูปแบบเครื่องดนตรีที่บรรเลงเพลงป๊อบ แจ๊ส หรือแนวอื่น ๆ ได้อย่างน่าตราตรึงหู ที่ญี่ปุ่นมีการนำอูคูเลเล่มาบรรเลงเพลงประกอบโฆษณาหลายตัว สร้างความนิยมให้กับอูคูเลเล่อย่างแรง และเมื่อคนญี่ปุ่นนึกถึงอูคูเลเล่ แน่นอนว่าพวกเขานึกถึง Famous แบรนด์อูคูเลเล่ของ Kiwaya ทันที (ผมยืนยันจากประสบการณ์จริงอีกแรง พอคนญี่ปุ่นที่ไทยมาหาซื้ออูคูเลเล่สักตัว พวกเขาจะตามหาแบรนด์ Famous ก่อนเลย และเมื่อทราบว่าที่นอกประเทศญี่ปุ่น เขาจะใช้ชื่อแบรนด์ว่า Kiwaya แทน ก็จะเลือกได้เลยอย่างไม่คิดมาก)

ลูกสาวคนโตของท่านเรียวจิ ทายาทรุ่นที่ 3 คุณเคียวโกะ ฮาระ ได้มารับช่วงบริหาร Kiwaya ต่อในปี ค.ศ. 2002 เธอได้ต่อยอดธุรกิจจากการเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย เพิ่มมาเป็นโรงเรียนสอนอูคูเลเล่ ที่สอนโดยผู้สอนระดับแนวหน้าของประเทศ พร้อมกันนี้เธอยังได้ก่อตั้งการประกวดอูคูเลเล่ชิงแชมป์ประเทศญี่ปุ่นขึ้นด้วย เป็นการประกวดที่สร้างแรงบันดาลใจ และผลิตบุคลากรทางอูคูเลเล่ออกมามากมาย จนกล่าวได้ว่าบุคคลยิ่งใหญ่ในวงการอูคูเลเล่ญี่ปุ่น ไม่มีใครไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Kiwaya ที่ถือเป็นผู้อุ้มชูหลักของวงการอย่างแท้จริง

นอกจากนั้น คุณเคียวโกะ ยังรวบรวมอูคูเลเล่เก่าแก่ หายากมากมาย มาเปิดพิพิธภัณฑ์อูคูเลเล่ขึ้นในอาคาร Kiwaya ให้ผู้สนใจอูคูเลเล่ได้มาศึกษาและชื่นชมประวัติศาสตร์ของเครื่องดนตรีจิ๋วนี้

หลังจาก Kiwaya อายุครบ 100 ปี ในปี 2019 ทายาทรุ่นที่ 4 มิชิฮิโระ ฮายาชิ ก็ได้เข้ามารับช่วงต่อ เป็นการมาของผู้บริหารรุ่นใหม่ ซึ่งเน้นที่ความเป็นนานาชาติมากขึ้น จากที่เคยผลิตแต่เฉพาะ Made in Japan ก็เพิ่มสายการผลิตอูคูเลเล่คุณภาพดี ราคาประหยัดที่ประเทศจีน แต่ยังคงเน้นการควบคุมคุณภาพด้วยการส่งทุกตัวมาจบงานที่ญี่ปุ่น ทำให้ชาวญี่ปุ่นได้อูคูเลเล่ที่เล่นได้ดีในขณะที่ราคาไม่แพงมาเป็นทางเลือกเพิ่ม

มิชิฮิโระ ยังได้นำวัฒนธรรมศิลปะแบบญี่ปุ่น มาผสมผสานกับอูคูเลเล่ได้อย่างลงตัว เช่นการนำการลงสี การเคลือบแบบญี่ปุ่น มาใช้บนอูคูเลเล่รุ่นพิเศษ การทำธีมนินจาในอูคูเลเล่รุ่นไฮเอนด์ สร้างความน่าสนใจให้กับอูคูเลเล่ของ Kiwaya อย่างมากในระดับโลก เขายังได้ปรับการประกวดอูคูเลเล่จากที่ผู้ประกวดต้องเดินทางมาแข่งที่โตเกียว เป็นการแข่งแบบออนไลน์ และรับผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลก ทำให้เวทีของการประกวดอูคูเลเล่นี้ใหญ่ขึ้นอีกหลายเท่า

บทความที่เล่าถึงการพยายามพัฒนาสำนักอูคูเลเล่ของคนจาก 4 รุ่น นี้สั้นนัก เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่พวกเขาค่อย ๆ สร้างสังคมอูคูเลเล่ขึ้นมา และการที่เรื่องราวของพวกเขาได้มาจารึกเป็นภาษาไทยอยู่ในบทความนี้ด้วย ถือเป็นเครื่องยืนยันความยิ่งใหญ่ของ Kiwaya สำนักอูคูเลเล่ ที่มีบทบาทต่อวงการอูคูเลเล่อย่างยิ่งยวดครับ