พฤษภารำลึก (5) ประชาธิปไตยขึ้นสู่กระแสสูง/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พฤษภารำลึก (5)

ประชาธิปไตยขึ้นสู่กระแสสูง

 

“สังคมการเมืองควรจะเพิ่มพลังของตนเองเพื่อที่จะช่วยในการสร้างตัวแบบทหารอาชีพประชาธิปไตย อันจะนำไปสู่การลดความมีอภิสิทธิ์และความเป็นอิสระของกองทัพ”

Alfred Stepan (1988)

ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา

 

ในขณะที่ผมกำลังเตรียมวิทยานิพนธ์อยู่นั้น สถานการณ์ที่บ่งบอกถึงบทบาททหารในการเมืองไทยกำลังเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง หลังจากการรัฐประหารแล้ว ทหารไทยไม่เคยยอมถอยออกจากเวทีการเมือง และสิ่งที่เกิดจนกลายเป็น “กฎ” มากกว่าจะเป็น “ข้อยกเว้น” คือการสืบทอดอำนาจ

ความต้องการที่จะสืบทอดอำนาจทางการเมืองเพื่อที่จะอยู่ต่อของผู้นำรัฐประหารในระบอบเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่เราเห็นมาตลอดมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์

บรรดานายพลนักรัฐประหารทั้งหลายไม่เคยคิดที่จะยุติบทบาท วาทกรรมหลักที่ถูกสร้างไว้เสมอคือ ผู้นำทหารเท่านั้นที่มีภารกิจในการควบคุมการเมืองไทยเพื่อประโยชน์ของชาติ และการเมืองจะต้องไม่ตกอยู่ในมือของนักการเมือง

ในท้ายที่สุด อำนาจการควบคุมการเมืองของกองทัพจะกลายเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนให้กับบรรดาผู้นำทหารมาแล้วในทุกยุค

หากเรา “นำเข้าทฤษฎี” ข้ามภูมิภาคจากละตินอเมริกามาไทยแล้ว เราอาจอธิบายถึงชุดความคิดของผู้นำทหารและรวมถึงบรรดาปีกอนุรักษนิยมไทย ที่เดิมยึดติดอยู่กับ “การต่อต้านคอมมิวนิสต์” และถือเอาคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามหลัก

แต่เมื่อสงครามเย็นคลายความรุนแรงลง และกำลังเดินไปสู่จุดสุดท้ายนั้น ชุดความคิดของฝ่ายขวาไทยโดยรวม คือ การหันไปยึดโยงอยู่กับชุดความคิดแบบ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (Antipolitics Ideology) หรืออีกนัยหนึ่งคือ “การต่อต้านประชาธิปไตย”

อุดมการณ์ต่อต้านการเมืองจึงถือเอาประชาธิปไตยเป็นภัยคุกคาม และถือเอานักการเมืองเป็นข้าศึก

แนวความคิดเช่นนี้สอดรับกับ “การเมืองของคนกลาง” ได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อถือว่านักการเมืองเป็นเป้าหมายแล้ว การดึงเอาผู้นำทหารเข้ามาเป็น “คนกลาง” จึงเป็นผลประโยชน์ของฝ่ายขวาโดยตรง

เพราะไม่เพียงจะผลักดันให้นักการเมืองต้องพ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

หากยังเป็นโอกาสในการพาผู้นำทหารให้เข้าสู่อำนาจ และดำรงอยู่เป็นปัจจัยขวางกั้นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอีกด้วย

รัฐบาลทหารแปลงรูป

การตัดสินใจของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับวาทกรรม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” กลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญ

เพราะรัฐบาลในสายตาประชาชนได้สูญเสียความชอบธรรมไปแล้ว

แต่ด้วยความเชื่อมั่นในความสนับสนุนของกองทัพ ทำให้ พล.อ.สุจินดามีท่าทีที่ท้าทายต่อเสียงของผู้เห็นต่างในสังคม…

ผู้นำทหารเชื่อมั่นเสมอว่า การสนับสนุนจากทหารเป็นปัจจัยชี้ขาดความอยู่รอดของรัฐบาลพันทาง และเขาไม่จำเป็นต้องแสวงหาความสนับสนุนจากภาคสังคม

เมื่อความสำเร็จของการยึดอำนาจวางอยู่บนหลักคิด “อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน” จึงไม่แปลกที่ผู้นำทหารที่เข้ายึดกุมอำนาจทางการเมือง จะแขวนความเชื่อมั่นไว้กับพลังอำนาจของกองทัพ

แม้การเมืองจะเปลี่ยนเข้าสู่การเลือกตั้งและเกิดระบอบการเมืองแบบไฮบริด นายกรัฐมนตรีที่มีพื้นฐานเดิมจากการเป็นผู้นำรัฐประหาร ย่อมไม่อาจคิดเป็นอื่น นอกจากต้องอาศัยอำนาจกองทัพเป็นเครื่องมือในการค้ำประกันความอยู่รอดของรัฐบาล

หรืออาจกล่าวเป็นข้อสังเกตในทางทฤษฎีได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นระบอบรัฐประหาร หรือระบอบพันทางที่เกิดจากการสืบทอดอำนาจของผู้นำเดิม กองทัพยังคงดำรงฐานะเป็น “แกนกลาง” ของอำนาจรัฐไม่แตกต่างกัน

หรืออาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลรัฐประหารเป็น “ระบอบทหาร” ส่วนรัฐบาลพันทางของผู้นำรัฐประหารเป็น “ระบอบที่ได้รับความสนับสนุนจากทหาร”

บางทีเราอาจเรียกรัฐบาลพันทางในอีกแบบหนึ่งได้ว่า “รัฐบาลทหารแปลงรูป”

กล่าวคือ เป็นการปรับรูปแบบจากรัฐบาลทหารเต็มรูป มาเป็น “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” หรือทฤษฎีของวิชาเปลี่ยนผ่านวิทยา เรียกภาวะเช่นนี้ว่าเป็น “ระบอบอำนาจนิยมแบบแข่งขัน” เพราะกฎกติกาทางการเมืองถูกออกแบบให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบ แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนสาระ

และการแข่งขันทางการเมืองไม่ใช่การแข่งขันจริง แต่แข่งภายใต้กรอบที่รัฐบาลทหารได้ออกแบบไว้

ดังนั้น แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นไปตามที่ผู้นำทหารได้ออกแบบไว้ อันส่งผลให้อำนาจทางการเมืองยังคงถูกควบคุมโดยผู้นำทหาร และฝ่ายค้านไม่มีทางที่จะชนะการเลือกตั้งในเงื่อนไขเช่นนี้ได้เลย

อันส่งผลให้เกิด “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” หรือในทางทฤษฎีเรียกว่า “ระบอบอำนาจนิยมแบบแข่งขัน”

ดังนั้น ระบอบพันทางหรือการเมืองแบบไฮบริดจึงมีรูปแบบเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง แต่มีสาระเป็นรัฐบาลที่ผู้นำรัฐประหารเดิมเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งรัฐบาลของ พล.อ.สุจินดาอยู่ในกรอบเช่นนี้

ปัญหาเช่นนี้เป็นโจทย์ทางทฤษฎีของวิชาเปลี่ยนผ่านวิทยา ที่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไม่อาจเดินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยเต็มรูป และเกิดระบอบใหม่ที่ไม่เป็นเผด็จการเต็มรูป แต่อาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจ และใช้เพื่อการสร้างความชอบธรรมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของระบอบพันทางจึงได้แก่ การควบคุม “การเมืองบนถนน” และคุม “การเมืองในกองทัพ” ไม่ใช่การควบคุมสภาโดยตรง เพราะสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากเป็นกลุ่มที่สนับสนุนการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำทหารในระบอบเลือกตั้ง และต้องการมีอำนาจอยู่ในสภา

ฉะนั้น หากการควบคุมสองประการนี้ประสบความสำเร็จ รัฐบาลพันทางจะมีอายุยาวนาน

หากแต่สิ่งที่ผู้นำทหารอาจไม่ตระหนักคือ การก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดากำลังเผชิญกับ “ความท้าทายใหม่” ที่สำคัญเมื่อกระแสประชาธิปไตยขึ้นสู่กระแสสูงทั้งในไทยและในโลก

 

ความท้าทายใหม่

ความท้าทายดังกล่าวขยับตัวปรากฏชัดตั้งแต่การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535 และการจัดตั้งรัฐบาลในต้นเดือนเมษายน ซึ่งเกิดการต่อต้านเกิดทั้งจากการรวมตัวของพรรคฝ่ายค้านในสภา และการประกาศอดอาหารของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่หน้ารัฐสภา รวมทั้งการเคลื่อนไหวบนถนนของของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และสมทบด้วยกลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย 15 สถาบัน

สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะต้องถือเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่คนจากกลุ่มต่างๆ ในสังคมตัดสินใจที่จะเปิดเวทีประท้วงทางการเมือง และนำไปสู่การเข้าร่วมชุมนุมของผู้เห็นต่างเป็นจำนวนมาก

การต่อต้านเช่นนี้ในมุมมองทางทฤษฎีแล้ว เกิดขึ้นทั้งในส่วนที่เป็นสังคมการเมือง (political society) และภาคประชาสังคม (civil society)

กล่าวคือ กระแสสังคมเดินสวนทางกับความต้องการของผู้นำทหาร เช่นเดียวกับกระแสโลกดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เดินสวนทางกับผู้นำทหารด้วย

แต่ในมุมหนึ่งที่ผมมีคำถามมาโดยตลอดคือ ผู้นำทหารที่ยึดอำนาจในการเมืองไทยมีความเข้าใจต่อพลวัตที่เกิดในสังคมโลกและในสังคมไทยเพียงใด

ดังที่เราจะเห็นเสมอว่า เมื่อผู้นำทหารต้องเผชิญกับความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองนั้น พวกเขาอาจจะไม่สนใจ เพราะเชื่อว่า “อำนาจปืน” จะเป็นปัจจัยควบคุมความท้าทายเช่นนั้นได้

หรือกล่าวด้วยสำนวนการเมืองไทยว่า ผู้นำทหารที่มีอำนาจทางการเมืองนั้น จะ “ขี่เสือ” ได้ตลอดไป และจะไม่มีวันที่จะยอม “ลงจากหลังเสือ” เป็นอันขาด

ด้านหนึ่ง ผมอดคิดด้วยประสบการณ์เดิมไม่ได้ว่า การประท้วงที่กำลังก่อตัวขึ้นนั้น จะนำไปสู่การชุมนุมใหญ่เช่นในปี 2516 หรือไม่ เพราะการชุมนุมมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าประชาชนเทกันลงมาบนถนนแบบปี 2516…

อำนาจปืนที่ในพลังในการทำรัฐประหาร จะมีพลังในการต่อสู้กับการชุมนุมของฝูงชนได้เพียงใด

โดยเฉพาะ “อารมณ์ทางการเมือง” ของผู้ร่วมชุมนุมในการต่อต้านผู้นำทหารสืบทอดอำนาจปะทุแรงมากขึ้นไม่หยุด สู้กับความมั่นใจของ พล.อ.สุจินดาและกลุ่มรุ่น 5 ที่เข้าควบคุมกองทัพไว้แทบจะเบ็ดเสร็จ

ในอีกด้านหนึ่ง ก็เสมือนกับการทดสอบทางทฤษฎีระหว่าง “พลังชน vs พลังปืน” กล่าวคือ เป็นการทดลองทางทฤษฎีอีกครั้งหลังปี 2516 ว่า ผู้นำทหารจะสามารถรับมือกับการประท้วงของฝูงชนขนาดใหญ่ได้เพียงใด สุดท้ายแล้ว สถานการณ์การประท้วงในปี 2535 จะย้อนรอยปี 2516 หรือไม่?

ผมไม่แน่ใจว่าผู้นำทหารรุ่น 5 ที่มีอำนาจในกองทัพขณะนั้น มีการประเมินสถานการณ์การประท้วงได้จริงเพียงใด

หรือพวกเขายึดมั่นว่า “พลังอำนาจปืน + พลังอำนาจรัฐ” จะสามารถเอาชนะอุปสรรคได้ทุกอย่าง

โดยเฉพาะการที่รุ่น 5 ในขณะนั้นคุมกองทัพและคุมการเมืองได้ จึงน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้นำทหารมั่นใจอย่างมาก

อีกทั้งการเมืองในสภาก็ขับเคลื่อนโดยรัฐบาลผสมที่มีพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นพรรคทหารเป็นแกนนำร่วมกับพรรคชาติไทย กิจสังคม ประชากรไทย และราษฎร และถูกเรียกว่าเป็น “พรรคมาร”

พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลคือ พรรคฝ่ายค้านถูกเรียกว่าเป็น “พรรคเทพ” ได้แก่ พรรคความหวังใหม่ ประชาธิปัตย์ พลังธรรม และเอกภาพ… การเมืองไทย 2535 แบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน

 

สงครามของผู้นำทหาร

อํานาจของผู้นำทหารรุ่น 5 มีความแตกต่างจากการมีอำนาจของรุ่น 7 (กลุ่มยังเติร์ก) ที่มีบทบาทในสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพราะยังเติร์กไม่ได้มีพรรคทหารเป็นของตัวเอง และผู้นำรุ่นก็มิได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี หากแต่ยังคงดำรงสถานะการรวมตัวเป็น “กลุ่มกดดัน” (pressure group)

ดังนั้น แม้ผู้นำทหารรุ่น 7 จะสามารถควบคุมอำนาจในกองทัพผ่านนายทหารระดับกลาง ที่เป็นผู้บังคับกองพันและผู้บังคับการกรม แต่พวกเขาไม่ได้เป็นเบอร์ 1 หรือแม้กระทั่งไม่ได้เป็น “5 เสือ” ในกองทัพแต่อย่างใด

ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การมีอำนาจของกลุ่มยังเติร์กเป็นภาพสะท้อนถึง “อำนาจของนายทหารระดับกลาง” อย่างแท้จริง หรืออาจกล่าวได้ว่าจากยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์จนถึงยุค พล.อ.เปรมและก่อนรัฐประหาร 2524 นั้น เป็น “ยุคทอง” ของนายทหารระดับกลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงปัญหาทหารกับการเมืองไทยอีกแบบ แต่การรวมอำนาจของนายทหารรุ่น 5 มีความชัดเจนคือ เป็นผู้บัญชาการทั้ง 3 เหล่าทัพและผู้บัญชาการทหารสูงสุด อิทธิพลของรุ่น 5 จึงเป็น “อำนาจของนายทหารระดับสูง” ที่อิงอยู่กับความเป็นรุ่น

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่กระแสประชาธิปไตยกำลังขับเคลื่อนนั้น มีภาพของการต่อสู้ระหว่าง “รุ่น 5 vs รุ่น 7” และภาพของความขัดแย้งระหว่าง “พล.อ.ชวลิต vs พล.อ.สุจินดา” ก็ทับซ้อนอยู่อย่างชัดเจน…

สงครามบนถนนในปี 2535 จึงทวีความเข้มข้น และมีเดิมพันสูงยิ่ง

“สงครามประชาธิปไตย” บนถนนกำลังซ้อนเข้ากับ “สงครามของผู้นำทหาร” อย่างสนิทอีกครั้ง อาจไม่แตกต่างจากปี 2516 ด้วย!