‘4 Kings’ : เฉดสีหม่นๆ ของความทรงจำ ‘ยุค 90’ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘4 Kings’

: เฉดสีหม่นๆ ของความทรงจำ ‘ยุค 90’

เพิ่งดู “4 Kings” ภาพยนตร์ไทยที่กวาดรายได้ไปมากถึง 170 ล้านบาท ผ่านทางเน็ตฟลิกซ์

เมื่อดูจบก็ย้อนนึกไปถึงบรรยากาศของอุตสาหกรรมหนังไทยระหว่างทศวรรษ 2540-2550 ภายหลัง “คนโฆษณา” จำนวนหนึ่ง เข้ามาปฏิรูปฟื้นฟูวงการนี้ทั้งในแง่เนื้อหา-การผลิต-การแสวงหาที่ทางในตลาด/เทศกาลหนังต่างประเทศ

หลัง “ผลงานน้ำดียุคใหม่” ของคนจากแวดวงโฆษณายึดหัวหาดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอยู่พักหนึ่ง ตลาดหนังบ้านเราก็ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้เล่นรายสำคัญๆ อย่าง “สหมงคลฟิล์ม” และ “พระนครฟิลม์” (ของจริงต้องวางการันต์ไว้เหนือ “ม”)

หลายคนหยามหยันว่าสภาวะเฟื่องฟูดังกล่าว คือการเติบโตด้านปริมาณ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมถอยลงในเชิงคุณภาพ

บุคลากรกลุ่มหนึ่งที่มักถูกชี้นิ้วกล่าวโทษเป็นลำดับต้นๆ ก็คือ บรรดา “ตลกคาเฟ่” ที่โยกย้ายเวทีการแสดง จากสถานบันเทิงยามค่ำคืนและการเป็นองค์ประกอบย่อยๆ ของรายการวาไรตี้โชว์ในจอโทรทัศน์ มาสู่จอภาพยนตร์

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผม แม้อุตสาหกรรมหนังไทย ณ ห้วงเวลานั้น จะมีผลงานคุณภาพดีปะปนกับผลงานคุณภาพแย่ มีคนทำหนังเก่งๆ พอๆ กับคนทำหนังไม่ได้เรื่อง

ทว่า เรื่องเล่าที่ได้รับการถ่ายทอดออกมากลับเต็มไปด้วยรสชาติอันรุ่มรวย เพราะผลงานส่วนใหญ่ที่มีหน้าฉากเป็นหนังตลก-หนังผี-หนังบู๊ นั้นได้ซุกซ่อนประเด็นทางสังคม-วัฒนธรรมที่น่าสนใจเอาไว้มากมายตามรายทาง ไม่ว่าตัวคนทำหนังจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

เช่นเดียวกับ “4 Kings” ซึ่งหากพิจารณาคุณภาพในเชิงภาพยนตร์แล้ว หนังเรื่องนี้ก็มีงานด้านโปรดักชั่นและโพสต์โปรดักชั่นที่ไม่ขี้เหร่ นักแสดงนำหลายคนทำหน้าที่ได้ดี แต่มีปัญหาใหญ่อยู่ตรงเรื่องบทและการลำดับภาพ

กระนั้นก็ตาม จุดโดดเด่นสุดของหนังคือการเลือกย้อนกลับไปรำลึกเรื่องราว “ยุค 90” ผ่านวิถีชีวิตของเด็กช่างกล/อาชีวะกลุ่มหนึ่ง

ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อบันเทิงไทยแทบไม่เคยนำเสนอมาก่อน

“ยุค 90” คือยุคทองในอดีต คือความทรงจำชวนฝันและน่าหลงใหล คือโลกใบเก่าที่ถูกเก็บเอาไว้เพื่อใช้หลบหนีจากความเป็นจริงในปัจจุบัน ของคนวัย 30 ปลายๆ ไปจนถึง 50 กว่าๆ หลายคน

แต่เอาเข้าจริงนิยามของ “ยุค 90” ก็มีความหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง

เช่น บางคนอาจผูก “ยุค 90” เข้ากับกระแสดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ (ร็อก) ตั้งแต่การแจ้งเกิดของวงโมเดิร์นด็อก ไปจนถึงการถือกำเนิดของค่ายเพลงอินดี้จำนวนมหาศาลก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540

แต่บางคนอาจโหยหา “ยุค 90” ผ่านเพลงฮิตในยุครุ่งเรืองของค่ายเมนสตรีมอย่าง “แกรมมี่-อาร์เอส”

บางคนอาจคิดถึง “ดารายุค 90” ที่มีบรรทัดฐานความสวย-ความหล่อคนละชุดกับดารายุคใหม่

หรือบางคนอาจผูกพันกับ “ยุค 90” ผ่านวัตถุสิ่งของบางอย่าง เช่น เทปคาสเส็ต แผ่นซีดี ม้วนวิดีโอ โทรทัศน์ ตลอดจนนิตยสารบันเทิงหลายหัวหลากหมวดหมู่

ขณะเดียวกัน ความทรงจำ “ยุค 90” ก็ดูจะมีอิทธิพลต่อกลุ่มคนที่เคยเรียนหนังสือในสาย “อาชีวะ-ช่างกล” อยู่มากพอสมควร

หลายปีก่อน ผมมีโอกาสไปดูคอนเสิร์ตรียูเนียนของวง “แอร์เฮด” หนึ่งในวงดนตรีแนวอัลเทอร์ฯ ยุคต้น 2540

ภาพลักษณ์ของแอร์เฮดในการรับรู้ของผมสมัยเรียนหนังสือชั้นมัธยมปลาย คือการเป็นวงดนตรีหรูรวย แต่งเพลงเพราะทำดนตรีเนี้ยบ แถมยังได้สมาชิกจากวง “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” (วงดนตรีของเด็กหนุ่มรสนิยมสูง-มีฐานะ) มาเป็นโปรดิวเซอร์และแต่งเพลงให้อีก

อย่างไรก็ดี แฟนเพลงกลุ่มแรกๆ ที่นักร้องนำวงแอร์เฮดกล่าวรำลึกถึงบนเวทีกลับกลายเป็นบรรดาแฟนๆ ที่เรียน ปวช. สมัยพวกเขาออกอัลบั้มชุดแรก (และชุดเดียว) ส่วนสถานที่เล่นดนตรีในความทรงจำของเขา นั้นได้แก่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลปิ่นเกล้า (ซึ่งในยุคหนึ่ง จะมีวัยรุ่นขาโจ๋มาฮึ่มๆ ใส่กันทุกวันเสาร์ ระหว่างการถ่ายทอดสดรายการเจ็ดสีคอนเสิร์ตจากชั้นบนสุดของห้าง)

นอกจากนั้น ถ้าลองเข้าไปสำรวจกลุ่ม/กรุ๊ปแนวถวิลหาอดีตยุค 90 ที่มีอยู่หลายกลุ่มในเฟซบุ๊ก เราก็จะพบว่าแอดมินกลุ่มหรือคนจำนวนมากในกลุ่ม มักเรียนหนังสือสายอาชีวะมาก่อน (รับรู้ได้จากการโพสต์เล่าประสบการณ์ของพวกเขา)

ผมไม่แน่ใจว่าทำไมอดีตวัยรุ่นที่เคยเรียนสายอาชีวะจึงมีความกระตือรือร้นกับการรื้อฟื้นความทรงจำ “ยุค 90” มากเป็นพิเศษ? แต่อย่างน้อย สภาวะดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ช่วยพิสูจน์ยืนยันว่าหนังเรื่อง “4 Kings” มิได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างผิดที่ผิดทาง

ตรงกันข้าม นี่คือภาพยนตร์ไทยที่มีลูกค้า-กลุ่มเป้าหมายหลักชัดเจน จนไม่น่าแปลกใจที่หนังจะประสบความสำเร็จอย่างสูงในด้านรายได้

ผมค่อนข้างชอบน้ำเสียงของการเล่าเรื่อง และจุดยืนของเรื่องเล่าที่ปรากฏอยู่ในหนังไทยเรื่องนี้มากพอสมควร

ถ้าหนังไทยเมื่อกว่าสองทศวรรษก่อนอย่าง “2499 อันธพาลครองเมือง” มีจุดเด่นอยู่ตรงการพยายามย้อนรำลึกอดีตอันงดงาม (ที่เพิ่งสร้าง) และการสร้างภาพความเป็นฮีโร่ให้แก่กลุ่มตัวละครวัยรุ่นยุคกึ่งพุทธกาล ซึ่งเลือกเดินบนเส้นทาง “นอกกฎหมาย”

หนังไทยร่วมสมัยอย่าง “4 Kings” กลับวาดภาพตัวละครนำ (ที่มีศักยภาพจะเป็นตัวละครเท่ๆ ประเภท “แดง-ปุ๊-ดำ-แหลมสิงห์” ได้) ให้เป็นเพียง “(อดีต) เด็กวัยรุ่นชายขอบ” ของสังคมเมือง ที่สับสน เต็มไปด้วยบาดแผล จะรำลึกอดีตก็มีแง่มุมเจ็บปวด จะอยู่กับปัจจุบันและมองไปสู่อนาคตก็หดหู่สิ้นหวัง

ผมยังชอบที่คนทำหนังไม่ได้เล่าเรื่องชีวิตของ “เด็กช่างกล” ด้วยสายตาแบบนักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ซึ่งเข้าไปสร้างคำอธิบายอันเป็นระบบระเบียบให้กับประสบการณ์และความทรงจำของ “วัยรุ่นยุค 90” กลุ่มนี้

หรือพยายามจะวิเคราะห์บริบททางสังคมและภูมิหลังของปัญหาว่า ทำไมช่วงหนึ่ง “เด็กช่างกล” จึงตีกันอุตลุด? แล้วพอถึงยุคนี้ ทำไมบรรยากาศการตีรันฟันแทงจึงเจือจางลงไป?

“4 Kings” เพียงแค่มุ่งมั่นเล่าเรื่องราวจากมุมของ “คนใน” ที่เคยบ้าระห่ำ งุนงง พลั้งพลาด อธิบายตัวเองไม่ได้ ตอบคำถามคนอื่นไม่ออก และค่อยๆ เติบโตกลายมาเป็นชายวัยกลางคนที่ไร้พลัง รู้สึกผิดบาป และมีวิธีคิดค่อนไปทางอนุรักษนิยม

คนดูจำนวนหนึ่งติดใจกับกระบวนการคัดเลือกนักแสดงของ “4 Kings” ว่าเป็นการเอาดารา-นักร้องอายุเยอะมาสวมบทบาทเด็กวัยรุ่นอายุไม่ถึง 20 ปี (นักแสดงนำบางรายต้องแบกอายุตัวละครเกินสองทศวรรษ)

แต่อย่างที่เคยเขียนไปในไม่กี่ย่อหน้าก่อนว่ามาตรฐาน “ความหล่อ-ความสวย” ของดารา-วัยรุ่น “ยุค 90” กับยุคปัจจุบัน นั้นแตกต่างกันลิบลับ

ดาราชายวัยรุ่น ณ ทศวรรษ 2560 จึงไม่ได้มีภาพลักษณ์-บุคลิกที่ต้องตรงกับการเป็น “เด็กอาชีวะยุค 90” สักเท่าไหร่

ด้วยเหตุนี้ การนำเอา “คนยุค 90” หรือ “คนหลังยุค 90 เล็กน้อย” มารับบท “วัยรุ่นยุค 90” จึงอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า

ที่น่าประทับใจคือการคัดเลือกนักแสดงหญิงทั้งรุ่นแม่และรุ่นสาวที่ต่างมีสีหน้าแววตาแนวอมทุกข์ทั้งหมด สอดคล้องกับประเด็นหลักข้อหนึ่งของหนัง ซึ่งบ่งชี้ว่า “แม่” คือคนที่ต้องแบกรับปัญหาต่างๆ ของครอบครัวเอาไว้

กระทั่ง “สุกัญญา มิเกล” ซึ่งมารับบทเป็นคุณแม่ (เลี้ยงเดี่ยว?) ที่มองโลกในแง่ดี-มีความสุขมากกว่าแม่คนอื่นๆ ก็ยังมีบุคลิกคล้ายคนที่เก็บงำความทุกข์สาหัสบางอย่างอยู่ในใจ ก่อนที่อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวจะทะลักล้นออกมาตอนช่วงท้ายของภาพยนตร์

มีผู้ตั้งข้อสังเกตอีกว่าหนังมีบาดแผลใหญ่ๆ อยู่ประการหนึ่ง นั่นคือการให้ข้อมูล (ผิด) ว่าตัวละครลูกสาวของ “เด็กอาชีวะยุค 90” ที่เกิดเมื่อประมาณปี 2539 นั้น ได้เติบโตขึ้นมาเป็นเด็กนักเรียนมัธยมในห้วงเวลาปัจจุบันของหนัง (ซึ่งน่าจะอยู่ในทศวรรษ 2560) ทั้งๆ ที่เธอควรมีอายุเกิน 20 ปีไปแล้ว

ระหว่างดูหนัง ผมรู้สึกเอะใจกับตัวละครรายนี้อยู่เหมือนกันว่าเธอแลดูทุกข์ตรมและกร้านโลกเกินกว่าเด็กสาว ม.ปลายทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ผมกลับตีความว่าตัวละครหญิงที่ไม่มีความสมจริงด้านอายุผู้นี้ อาจช่วยส่องสะท้อนถึงความนึกคิด-ความวิตกกังวลที่โลดแล่นอยู่ภายในใจของ “คนรุ่นพ่อ” ที่กดดันตนเองว่าต้องปกป้องคุ้มครอง “ลูกสาว (เพื่อน)” หรือ “เด็กน้อยในอุปการะ” ให้ได้ตลอดรอดฝั่ง (แม้เธอมีอายุมากพอจะดูแลตัวเองได้แล้ว)

ยิ่งเมื่อ “คนเป็นแม่” (และ “เมีย”) ได้ทยอยล้มตายและหายสาบสูญไปจากโลกอันชำรุดผุพังของผู้ชายวัยขึ้นต้นด้วยเลข 4 กลุ่มนี้ ชีวิตที่กลับไม่ได้ไปไม่ถึงของพวกเขา ก็ยิ่งต้องผูกมัดกับความผิดพลาด-พันธกิจค้างคาแต่หนหลังหนักแน่นขึ้น

เหตุการณ์ช่วงเปิด-ปิดเรื่องใน “4 Kings” จึงเป็นเหมือนฝันร้ายและเหตุผลข้อสุดท้ายของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งก่อตัวขึ้นจากความหวาดกลัว-หวั่นไหวของผู้ชายวัยกลางคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหมดแรงจะไปไล่ต่อยตียิงฟันกับใครแล้วในปัจจุบัน หมดอารมณ์จะโหยหาอดีต

และหมดใจจะวาดหวังถึงอนาคตที่ดีกว่า •

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ 4 KINGS