ถึงเวลาตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ถึงเวลาตัดอำนาจ ส.ว.

ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

 

การเข้าชื่อของประชาชน 70,500 ชื่อที่ใช้สิทธิตามมาตรา 256(1) ของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ยื่นต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคแรก เพื่อตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

ขณะนี้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนเหลือจำนวน 64,151 รายชื่อ ซึ่งเกินกว่าจำนวน 50,000 รายชื่อซึ่งเป็นจำนวนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ

และได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา พรรคการเมือง ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นักเรียน นิสิต นักศึกษา ระหว่างวันที่ 20-30 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เป็นที่เรียบร้อย

และจะบรรจุเป็นวาระการพิจารณาของรัฐสภาในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนมิถุนายน 2565 นี้

ในอดีตมีการพยายามเข้าชื่อของประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก เป็นร่างของ กลุ่ม iLaw ที่มีประชาชนเข้าชื่อ 100,732 คน แต่ไม่ผ่านการพิจารณารับหลักการในวาระที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ครั้งที่สอง เป็นร่างที่เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล มีผู้ร่วมลงชื่อ 135,247 คน แต่ไม่ผ่านการรับหลักการของรัฐสภาในวาระที่หนึ่งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2564

ปัญหาหลักที่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นไปด้วยความยากยิ่งคือ การกำหนดเงื่อนไขการแก้ไขที่ยุ่งยากไว้ใน (3) ของมาตรา 256 ให้การออกเสียงลงมติในวาระที่หนึ่งซึ่งจะผ่านความเห็นชอบนอกจากต้องได้เสียงข้างมากจากที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ในเสียงข้างมากดังกล่าวต้องมีเสียงของสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือประมาณ 84 คนจาก 250 คนอีกด้วย

จึงเป็นโจทย์ยากว่า มีเหตุผลใดที่สมาชิกวุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบกับการตัดอำนาจตนเอง

 

ประเด็นสาระในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ข้อเสนอแก้ไขในครั้งนี้ เป็นการแก้ไขในประเด็นเดียวเรื่องเดียว โดยตัดข้อความในวรรคแรกของมาตรา 272 ที่เป็นการให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีออกหมดทั้งวรรค

การตัดข้อความในวรรคหนึ่งของมาตราดังกล่าวออกทั้งวรรคเป็นผลให้กระบวนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีกลับไปใช้ข้อความในบทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญ คือ ให้เป็นไปตามมาตรา 159 ที่ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่ขัดลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายจากบัญชีรายชื่อผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.เกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส.ในสภา หรือเกินกว่าจำนวน 25 คน ตามเงื่อนไขในมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญ

ส่วนเนื้อความในวรรคสองนั้นเปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีจากคนนอกในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 159 ได้ โดยยังเปิดโอกาสให้เสนอ “นายกฯ คนนอก” ได้จากการลงมติสองขั้นตอน คือ ขั้นที่หนึ่ง ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน เข้าชื่อถึงประธานรัฐสภาเพื่อให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่อยกเว้นการใช้รายชื่อในบัญชีรายชื่อผู้ถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองตามมาตรา 88

แต่เมื่อยกเว้นแล้ว ให้กลับไปลงมติในสภาผู้แทนราษฎรตามเดิม ไม่ใช่การลงมติในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเช่นที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

ทั้งนี้ กระบวนการให้มีนายกฯ คนนอก จะจำกัดไว้เพียงใน 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญเท่านั้น หลังจากนั้นจะไม่มีช่องทางดังกล่าวอีก ซึ่งหมายความว่า พรรคการเมืองต้องตกลงกันให้ได้ด้วยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรว่า จะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่พรรคเสนอ ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนนอกอีกต่อไป

 

เหตุผลที่ต้องแก้ไข

ประการแรก เพื่อให้การเลือกนายกรัฐมนตรีสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากลที่มีการปกครองในระบบรัฐสภา (Parliamentary System) เมื่อประชาชนเลือกตัวแทนของตนเข้ามาทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งบริหารต้องมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนโดยมาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนอกจากนี้ ส่วนใหญ่ของประเทศที่มีระบบรัฐสภายังกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ประการที่สอง เพื่อให้กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีเกิดความเป็นธรรมต่อพรรคการเมืองที่แข่งขันในทางการเมือง เนื่องจากผลการเลือกตั้งจะเป็นการวัดคะแนนนิยมและความไว้วางใจของประชาชนต่อพรรคการเมืองที่จะมาบริหารประเทศ แต่หากให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี เท่ากับการมีแต้มต่อของพรรคการเมืองที่มีผู้นำซึ่งมีบทบาทในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเอง เสียงข้างมากของรัฐสภาที่ต้องได้เกินกว่าครึ่งคือ 375 เสียง เท่ากับมี 250 เสียงของสมาชิกวุฒิสภาที่ตนแต่งตั้งเป็นแต้มต่อซึ่งไม่เป็นธรรมในการแข่งขันเป็นอย่างยิ่ง

ประการที่สาม เหตุผลที่ระบุไว้ของการให้ในช่วง 5 ปีแรกของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ต้องให้สมาชิกวุฒิสภามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี คือ เพื่อต้องการให้เกิดการปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งผลของการตัดสินใจเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และปกครองประเทศมาเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปี และหากนับการมีอำนาจทางการเมืองตั้งแต่การเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 มาเป็นเวลาเกือบ 8 ปี ความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ก็ยังเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่มีรายงานความคืบหน้าใดที่สามารถรายงานต่อประชาชนแล้วสามารถเห็นว่าประสบความสำเร็จอย่างจริงจัง

ประการที่สี่ การที่ยังให้สมาชิกวุฒิสภามีบทบาทในการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการสร้างความรู้สึกให้แก่ประชาชนว่าสมาชิกวุฒิสภาขาดความเป็นกลางทางการเมือง เนื่องจากการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง คือการประกาศตัวว่าสนับสนุนพรรคการเมืองนั้นและเป็นฝ่ายตรงข้ามกับอีกพรรคการเมืองที่เสนอชื่อแข่งขัน ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ของสมาชิกวุฒิสภา ในด้านการเป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิที่มีหน้าที่สำคัญในการกลั่นกรองกฎหมายและให้คำแนะนำการทำงานของรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เคลือบแคลงถึงความเป็นกลางในการทำงาน

ประการที่ห้า เพื่อส่งเสริมบรรยากาศให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย สร้างความรู้สึกที่ดีต่อประชาชนในประเทศและสร้างการยอมรับจากต่างประเทศถึงความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง การสร้างความอึดอัดแก่ประชาชนว่ามีกติกาที่เอาเปรียบอาจกลายเป็นผลทางลบต่อพรรคการเมืองที่ได้เปรียบจากกติกาดังกล่าว กลายเป็นการร่วมกันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ได้จำนวน ส.ส. เพื่อเอาชนะกติกาที่ไม่เป็นธรรม กลายเป็นการลงคะแนนเสียงด้วยอารมณ์ไม่ใช้เหตุผลด้านคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือการพิจารณานโยบายของพรรคการเมืองแต่อย่างใด

การลงมติในวาระที่หนึ่งที่จะมีในในช่วงกลางหรือปลายเดือนมิถุนายนนี้ จึงเป็นทางเลือกที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกวุฒิสภาต้องตัดสินใจว่า เราจะร่วมกันเดินหน้าพาประเทศให้หลุดพ้นจากกติกาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้

หรือจะยังอยู่กับความเชื่อว่า มีแต่คนไม่กี่คนในประเทศที่จะนำพาประเทศสู่ความก้าวหน้าโดยไม่จำเป็นต้องฟังเสียงใดๆ ของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นเจ้าของประเทศ

ท่านคิด ท่านตัดสินใจ แต่ประชาชนจะจดจำการตัดสินใจของท่าน และตอบกลับในยามที่อำนาจการเลือกตั้งอยู่ในมือของประชาชน