รัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี… ใครจะขวาง? รัฐบาลวางเกมข้ามอภิปรายไม่ไว้วางใจ/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

รัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี…

ใครจะขวาง?

รัฐบาลวางเกมข้ามอภิปรายไม่ไว้วางใจ

สถานการณ์การเมืองโดยรวมผันผวน เศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาน้ำมันและก๊าซที่แพงขึ้นทั้งหมดยังไม่มีทางออกมองไม่เห็นอนาคตที่จะแก้ไขได้ในระยะสั้นๆ ถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อใด รัฐบาลจะพ่ายแพ้ทางการเมืองในสนามใหญ่ระดับประเทศ

ปรากฏการณ์ 2 อย่างที่เกิดขึ้นในทางการเมือง อย่างแรกคือชัยชนะของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ได้คะแนนอย่างท่วมท้น 1.386 ล้าน และพรรคฝ่ายค้านได้ ส.ก. ถึง 35 คนจาก 50 คน พลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ ส.ก.เพียง 2 คน ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ 9 คน คะแนนผู้ว่าฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกทิ้งห่างอย่างไม่เห็นฝุ่น ทำให้รัฐบาลแพ้ในภาพรวม แต่นี่เป็นแค่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ทั้งประเทศ

อีกเรื่องคือการอภิปรายงบประมาณ 2566 รัฐบาลแม้จะถูกเปิดโปงและโจมตีอย่างหนักแต่สามารถทำให้ ส.ส.ยกมือสนับสนุน 278 เสียง และค้าน 194 เสียง นี่ก็เป็นการยืนยันว่ารัฐบาลสามารถคุมเสียงได้เกินกว่าครึ่ง และอยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่ว่าจะใช้วิธีการใด อาจจะให้นั่งเก้าอี้กรรมาธิการงบประมาณ แล้วให้กล้วยกินด้วย แจกหมดทั้งพรรคใหญ่ กลาง เล็ก

แม้ยังไม่ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ก็สามารถประเมินได้แล้วว่าขณะนี้รัฐบาลได้วางแผนการอยู่จนครบวาระไว้เรียบร้อยแล้ว และแผนนี้จะไม่มีทางเปลี่ยนแปลง ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์กล้าหักหลัง นายกฯ ซึ่งดูแล้วแทบไม่มีโอกาสจะเป็นไปได้เลย เพราะถ้ามองภาพรวมขณะนี้ พรรคร่วมรัฐบาลกำลังร่วมกันทำงานและทำมาหากิน

 

ทำไมรัฐบาลต้องอยู่จนครบวาระ

อํานาจและผลประโยชน์ที่แบ่งกันลงตัวแล้ว และในการจัดงบประมาณ 2566 ก็ยอมตัดแบ่งเพิ่มให้ทุกกลุ่ม ดังนั้น ไม่ว่าคนอื่นจะโวยวายอย่างไร งบประมาณปี 2566 ก็จะต้องถูกนำมาใช้ให้คุ้มค่าที่ลงทุนไป โครงการต่างๆ จะถูกดันออกมาอย่างรวดเร็ว การประมูล จัดซื้อ จัดจ้างจะเกิดขึ้นโดยเร็ว ตั้งแต่ปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566

อีกเรื่องหนึ่งที่จะรีบทำคือการโยกย้ายข้าราชการในเดือนกันยายน 2565 ทั้งทหาร ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด

กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นจุดมุ่งหมายของรัฐบาลและพรรคร่วมแต่ในความเป็นจริงก็ยังมีอุปสรรคอีก 2 ด่านที่มีคนกล่าวถึงในรอบหลายเดือนที่ผ่านมาคือ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่แม้ถูกด่า แต่ฝ่าด่านยกมือได้แน่

คาดว่าจะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในอีกไม่กี่วันนี้ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่ายื่นแล้วจะได้อภิปรายทันที แต่ฝ่ายค้านไม่ได้วิตกในข้อนี้ ยืดออกไปอีกหน่อยก็ไม่ว่ากันเพราะสิ่งที่ฝ่ายค้านต้องการ 2 อย่างก็คืออยากให้กฎหมายลูกเกี่ยวกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้งผ่านสภาไปก่อน ตอนนี้ยังต้องลุ้น ส.ส ปาร์ตี้ลิสต์ ว่าจะหาร 100 หรือ 500

การยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ ยังป้องกันไม่ให้นายกฯ ประยุทธ์ชิงยุบสภาเสียก่อน

สำหรับฝ่ายรัฐบาลนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจสามารถตั้งรับได้ ดูจากผลการที่มีมติผ่านร่างงบประมาณปี 2566 ที่มีคะแนนเหนือฝ่ายค้านมากกว่า 80 คะแนน ดังนั้น ถ้ารัฐบาลอัดฉีดทั้งกล้วยและอาหารเสริมก็คงผ่านไปได้สบายๆ

 

ด่านสำคัญ

คือ…เรื่องวาระการครบกำหนด 8 ปี

ของนายกฯ ประยุทธ์

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรค 4 บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง

ข้อถกเถียงกันคือ นายกฯ ประยุทธ์ครบ 8 ปีที่ว่า จะนับจากเมื่อไร?

ฝ่ายรัฐบาลให้เริ่มนับตั้งแต่วันเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 คือมิถุนายน 2562 ถ้าสมัยนี้อยู่จนครบวาระในปี 2566 จะเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยหน้าได้อีก 4 ปี คือถึงปี 2570

ฝ่ายค้านบอกว่า ต้องนับจากการเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งจะครบ 8 ปีในสิงหาคม 2565 นี้

เพราะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 บัญญัติว่า ให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

นั่นคือ การเป็นนายกรัฐมนตรีของประยุทธ์ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2557 ก็ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560

จะเห็นว่าบทเฉพาะกาลมาตรา 272 คสช.รีบเอามาปฏิบัติทันที เพราะบอกว่า ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ดังนั้น เมื่อมีการนำรัฐธรรมนูญ 2560 มาใช้มีการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ตอนเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว.ทั้ง 250 คนมาโหวตเลือกนายกฯ ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 272 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 พล.อ.ประยุทธ์คนเดิมซึ่งเป็นนายกฯ ตามเฉพาะกาลมาตรา 264 จึงมาเป็นนายกฯ ประยุทธ์ หลังเลือกตั้งไม่ต้องยื่นแสดงทรัพย์สินด้วยว่ารวยหรือจนลงไปเท่าไหร่ ถือว่ามารับตำแหน่งต่อระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ป.ป.ช.

ตกลงว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้จะใช้เฉพาะที่ได้ประโยชน์คือ ให้ ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯ แต่พอมาตรา 264 บอกว่าที่เป็นนายกฯ มา 5 ปีในอดีตให้ถือเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยกลับไม่ยอม แล้วตำแหน่งที่บริหารประเทศมา 5 ปี จะให้เรียกว่าอะไร

ด่านสำคัญนี้คงต้องพึ่ง…ศาล ไม่ใช่สภา… ประชาชนกำลังจับตาเรื่องนี้

 

นายกฯ คนใหม่ปี 2566 ไม่น่าจะใช่ประยุทธ์

เป้าหมายการอยู่ให้ครบวาระเพื่อรักษาอำนาจกันไป หากินกันไปทำงานกันไป สิ่งเหล่านี้จะสำเร็จได้ต้องผ่านด่านไม่ไว้วางใจอาจจะเป็นเดือนกรกฎาคม และด่านการตีความเป็นนายกฯ ครบ 8 ปีก็จะเป็นเดือนสิงหาคม

ดูจากผลการโหวต งบประมาณปี 2566 คาดว่าญัตติไม่ไว้วางใจน่าจะผ่าน แต่เรื่องอยู่ครบ 8 ปีตอนนี้ มีอยู่ 2 ทางคือ รอฟังการส่งสัญญาณว่าจะผ่านหรือไม่ ถ้ารู้ว่าไม่ผ่าน ก็มีทางเลือกสองทางคือหาเรื่องยุบสภา หรือลาออกแล้วตั้งนายกฯ คนใหม่ขึ้นมาอยู่ต่อ อีกประมาณ 6 เดือน

อย่าไปคิดว่าถ้าจนตรอกแล้วเขาจะยุบสภาอย่างเดียว การลาออกและเปลี่ยนตัว ไปต่ออีก 6 เดือนก็ยังอาจจะมีคนอยากเป็นนายกฯ เพื่อเป็นเกียรติ และจะได้ปฏิบัติการต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมาย อีกทั้งเตรียมการเลือกตั้ง

ดูตามสถานการณ์การเมืองแล้วคิดว่า ไม่ว่าจะลาออก ยุบสภา หรืออยู่จนครบวาระ นายกฯ คนต่อไปไม่น่าจะใช่ประยุทธ์อีกแล้ว

 

ทุกพรรคต้องพร้อมตั้งแต่เดือนสิงหาคม

2 เดือนจากนี้ไปจะได้เห็นบทบาทของกลุ่มต่างๆ กลุ่มที่มีเสียงเป็นตัวแปรจะได้รับประโยชน์สูงสุดในการต่อรอง การเดินเกมการเมืองของแต่ละพรรคซับซ้อนขึ้นโอกาสหน้าจะมาวิเคราะห์เพิ่มเติม

ความอยากอยู่จนครบวาระจะมีอยู่ที่นายกฯ ประยุทธ์คนเดียว แต่สำหรับพรรคการเมืองและนักการเมืองคนอื่นๆ นั้นการเตรียมความพร้อมในสนามเลือกตั้งการจัดหาคนลงแข่งขันการเตรียมเงินทุนเสบียงเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งถ้าถึงปลายปี 2565 ก็น่าจะไม่มีความแตกต่างกันแล้วว่าจะเลือกเมื่อไร ระฆังสัญญาณคือการผ่านกฎหมายลูก

การยิ่งยืดการเลือกตั้งใหม่นานออกไป สถานการณ์การเมืองของรัฐบาลมิใช่ดีขึ้น เศรษฐกิจก็ไม่อาจฟื้นตัวในเร็ววัน คนยิ่งลำบาก ม็อบจะเกิดมาก แถมต้องมีค่ากล้วยค่าอ้อยเลี้ยงลิงและงูเห่าทุกเดือน