คุยกับรองผู้ว่าฯ ‘ศานนท์’ เมาธ์ ‘ชัชชาติ’ อนุรักษ์ ‘ชุมชนเก่า’ เปิดพื้นที่ให้ ‘คนรุ่นใหม่’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

คุยกับรองผู้ว่าฯ ‘ศานนท์’

เมาธ์ ‘ชัชชาติ’

อนุรักษ์ ‘ชุมชนเก่า’

เปิดพื้นที่ให้ ‘คนรุ่นใหม่’

รายการ “The Politics ข่าวบ้านการเมือง” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ศานนท์ หวังสร้างบุญ” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะดูแลงานในส่วนสำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว รวมถึงการพาณิชย์ของ กทม.

นี่คือประสบการณ์และมุมมองวิธีคิดของรองผู้ว่าฯ หนุ่ม วัยเพียง 33 ปีรายนี้

: รู้จักอาจารย์ชัชชาติได้อย่างไร?

ผมจบวิศวะที่เดียวกัน ที่จุฬาฯ พอดีว่าที่จุฬาฯ จะมีโครงการที่ชื่อว่า “แชมป์” โครงการแนะแนวระหว่างพี่บัณฑิตที่จบไปแล้วกับน้อง แล้วพอดีผมกับอาจารย์ชัชชาติเป็นสายงานเดียวกัน ทำเรื่องสังคมเหมือนกัน จึงได้มีโอกาสรู้จักกันก่อนที่ท่านจะประกาศตัวลงผู้ว่าฯ

ผมก็มาช่วย ช่วงที่ผ่านมาเริ่มเข้มข้นขึ้นเพราะมีโควิด แล้วก็ชอบทำงานเรื่องชุมชนอยู่แล้ว ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับแคมเปญของอาจารย์ แต่จริงๆ แล้วมีทีมเยอะมาก ไม่ใช่มีแค่ผม ผมเป็นส่วนหนึ่ง ในทีมมีประมาณ 30 กว่าคน เป็นคนรุ่นใหม่หมดเลย

: เสนอตัวเองหรือว่าอาจารย์ชัชชาติทาบทามให้มาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.?

ผมไม่เคยคิดเลย จริงๆ ผมเข้าใจว่ามันต้องอายุ 35 ปีด้วย ผมไม่เคยรู้เลยว่ามันเป็นไปได้ ก็ต้องขอขอบคุณอาจารย์ชัชชาติ จริงๆ จะมีพี่ชื่อพี่ต่อศักดิ์ (โชติมงคล) เป็นประธานที่ปรึกษา แกก็เป็นคนดูแลคนภายใน เป็นคนสำคัญที่ผลักดันทาบทามให้ผมมาช่วยตรงนี้

เราไม่รู้ว่าจะมีโอกาสแบบนี้อีกกี่ครั้ง แล้วก็ได้ทำในสิ่งที่เราเคยต่อสู้มาด้วย เลยรู้สึกว่านี่คือโอกาส และจะไม่ทิ้งโอกาสแบบนี้

: ผลักดันเรื่องของชุมชนเมืองมาตลอด ตอนที่ชุมชนป้อมมหากาฬมีปัญหา ก็ลงพื้นที่ไปช่วยไปดูแล จะเอาประสบการณ์เหล่านี้มาผลักดันในฐานะรองผู้ว่าฯ อย่างไรบ้าง?

เบื้องต้น ผมคิดว่าเรื่องของชุมชนเมืองเป็นเรื่องที่บางทีเราอาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากในอดีต ผมคิดว่าที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครมันก็มีหลากหลาย มีตั้งแต่บ้านในรั้ว คอนโดฯ แล้วชุมชนก็เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญ

หลายๆ ครั้ง การพัฒนาเมืองเราก็มักจะมองเห็นชุมชน โดยเฉพาะคนจนเมือง เป็นพื้นที่ที่แออัด อาจจะมองเห็นปัญหา ผมคิดว่าทุกที่มันมีปัญหาหมด แต่ว่าเราอาจจะเพ่งเล็งเกินไปนิดหนึ่งว่าชุมชนแออัดมีแต่ปัญหา ซึ่งจริงๆ แล้ว มันอาจจะเป็นแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 90 เปอร์เซ็นต์มันอาจเป็นเรื่องของความสวยงาม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์

แล้วศักยภาพของความสัมพันธ์มันมีมากกว่า บางทีย่านหลายๆ ย่านต้องการที่จะสร้างความสัมพันธ์ แต่ตัวชุมชนเองมีความสัมพันธ์อยู่แล้ว ผมคิดว่าเรามาพูดถึง 90 เปอร์เซ็นต์บ้างดีกว่า อย่าไปโฟกัสที่แค่ปัญหา เราเอาความจริงอีกฝั่งหนึ่งขึ้นมา

คิดว่าจะใช้โอกาสนี้ในการพูดถึงศักยภาพ ที่ทางท่านผู้ว่าฯ อาจารย์ชัชชาติ ก็พูดบ่อยว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เหมือนเพชรที่ยังรอการเจียระไน ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่เป็นศักยภาพในชุมชนมีเยอะมาก

: ถ้าจะชวนให้คนทั้งประเทศรู้จักชุมชนในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ อยากแนะนำให้ไปดูที่ไหนหรืออยากผลักดันชุมชนไหนบ้าง?

จริงๆ อยู่ที่มิติที่เราสนใจด้วย ถ้าในเมืองเก่า เราก็จะทราบว่ามีชุมชนที่เป็นแหล่งวัฒนธรรมเยอะ เพราะว่าในอดีต รอบวังก็จะคล้ายๆ ว่าเป็นพื้นที่ของขุนนางใช่ไหมครับ แต่ว่าประชาชนที่แต่ก่อนก็คือไพร่มาอยู่รอบนอก ป้อมมหากาฬหรือว่ารั้วป้อมกำแพงเมืองเป็นตัวแบ่ง

ตอนที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปที่ป้อมมหากาฬ ผมก็เรียนรู้จากพี่ๆ ในชุมชนเยอะมากว่าชุมชนโบราณไม่ได้มีตรงส่วนแค่ของป้อมมหากาฬ แต่ว่ามีเครือข่ายของชุมชนทั่วเลย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนบ้านบาตรที่อยู่ใกล้ๆ กัน ตรงนั้นมีบ้านสาย ที่ทำสายรัดประคด แล้วก็ชุมชนวังกรมพระสมมตฯ ทำเรื่องจีวร

หรือถ้ามองไกลไปกว่านั้นก็จะมีเต็มเลย อย่างเช่น เกี่ยวกับศาสนาก็จะมีมัสยิดที่อยู่บางลำภู แล้วจะมี 7 ชุมชนที่ร้อยเรียงกัน มีทีมของประชาคมบางลำภูที่ค่อนข้างแข็งแรง

ในย่านเมืองเก่าแต่เขยิบออกไปอีกหน่อย แถวๆ เจริญกรุง แถวๆ ย่านที่กำลังเป็นเมืองสร้างสรรค์ ก็มีชุมชนโบราณและชุมชนที่เข้มแข็งเยอะ หลายๆ ที่ก็ได้พัฒนาศักยภาพร่วมกับทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้วก็มี

: มั่นใจได้ไหมว่ากรุงเทพฯ ยุคชัชชาติ-ศานนท์ จะไม่เกิดเคสไล่รื้อแบบกรณีชุมชนป้อมมหากาฬอีก?

อันนี้ผมเอาความตั้งใจเป็นประกันแล้วกัน ถ้ามันมีอะไรพวกนี้ (กรณีไล่รื้อชุมชนเก่า) ผมเองก็ไม่คิดว่าผมควรอยู่ตรงนี้ (ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ) น่ะครับ เราเข้ามาอยู่ตรงนี้ เพราะเราต้องการที่จะผลักดันวิธีคิดของการร่วมไม้ร่วมมือกับชุมชน

แน่นอนมันต้องมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย มีปัญหาเรื่องการไล่รื้อ ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆ แต่ผมว่าวิธีคิดคือการเอาปัญหาตั้ง แล้วเอาความจริงขึ้นมา เอาศักยภาพขึ้นมาคุย เอาสิ่งที่ดีขึ้นเข้ามาคุย แล้วก็ลองหาทางออกร่วมกัน อันนี้น่าจะเป็นวิธีคิดที่สำคัญ

: เข้ามาเป็นรองผู้ว่าฯ ในวัย 33 ปี แล้วจะต้องประสานงานกับข้าราชการที่อาวุโสกว่า มีความเป็นห่วงเรื่องนี้หรือไม่?

ผมคิดว่าผมเคารพความสามารถและความรู้ของทุกท่านเลยครับ คิดว่าสิ่งที่จะขับเคลื่อนได้ก็คือเอาภารกิจหรือประชาชนหรืองานเป็นที่ตั้ง แล้วก็ทำงานร่วมกัน พอเราได้คุยกับทุกสำนักที่ผมดูแลไปแล้ว ผมเห็นว่าพี่ๆ ทุกคนมีหัวใจในการทำให้เมืองนี้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น เราเอาภารกิจต่างๆ ตั้ง แล้วก็หาทางออกร่วมกันว่าเราจะมีอะไรที่ช่วยเสริมกันได้

ทางฝั่งผมก็อาจจะช่วยในส่วนของการเอาไอเดียใหม่ๆ การเอาภาคีเครือข่ายประชาสังคม หรือเอาแนวคิดมาเติมเต็มสิ่งที่สำนักทำอยู่ แล้วก็มาร่วมไม้ร่วมมือกัน ผมคิดว่ามันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวพอดี ไม่ได้มีใครมาคัดง้างกัน แต่ว่าเราเติมสิ่งที่เราแข็ง เขาเติมสิ่งที่เขาแข็ง เป็นจุดร่วมกันประมาณนี้

: ถ้าโจทย์ใหญ่ของคน กทม.ตอนนี้คือเรื่องเศรษฐกิจ มีโอกาสหรือยังที่กรุงเทพฯ จะได้เปิดเมืองกันอย่างเต็มที่?

ผมว่าเรา passive (ทำงานเชิงรับ) ไม่ได้ คือกรุงเทพฯ ขึ้นชื่ออยู่แล้วเรื่องท่องเที่ยว แต่เรารออย่างเดียวไม่ได้ เราต้องทำงานเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นการหาจุดเด่น เรามีนโยบายเยอะ เช่น 50 ย่าน 50 อัตลักษณ์ ก็เป็นการทำงานเชิงรุกว่าเราต้องหา 50 ย่านจากแต่ละเขตว่ามีอะไรบ้าง แล้วก็มาขยายเป็นอัตลักษณ์ หรือว่าเรื่องของ 12 เทศกาลทั้งปี

อย่างเดือนนี้เป็นเรื่องของ Pride Month เรื่องความหลากหลายทางเพศ เดือนหน้าจะเป็นเทศกาลหนังนานาชาติ พวกนี้เราพยายามดูอยู่นะครับ ก็เพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่งกัน เราอยากจะทำทันที แต่ต้องมาดูว่าเราทำได้แค่ไหนอย่างไร

: เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะทำให้กรุงเทพฯ กลับมาเป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากย้ายประเทศอีกแล้ว จะทำเรื่องนี้อย่างไร?

ผมว่าเรื่องนี้เป็นหัวใจเหมือนกัน เพราะว่าเราหมดหวังกับประเทศและเมืองพอสมควร ถ้าคนจากรุ่นผมก็จะพูดกันเรื่องการย้ายประเทศ แล้วผมคิดว่าความรู้สึกนี้มันติดอยู่ในใจ สิ่งที่ผมอยากทำให้ได้ก็คือการดึงความหวังกลับมา แล้วก็เปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นราวคราวเดียวกันมามีบทบาทในการพัฒนาเมืองของเรา

ผมเชื่อว่าแต่ก่อนเราอึดอัด เราต้องใช้พื้นที่อย่างเช่น อาจจะไปเข้าร่วมปิดถนน ผมคิดว่าผมได้โอกาสนี้ ผมอยากจะเอากุญแจมาเปิดประตู เหมือนทำให้เป็นพื้นที่เปิด ที่เฮ้ย! ไอ้ความอึดอัดทั้งหมด เรามาช่วยกันทำให้เมืองนี้มันดีขึ้น เป็นเมืองของไม่ใช่แค่รุ่นเรา แต่เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนตามที่ท่านผู้ว่าฯ พูดไว้

: มีอะไรอยากแอบเมาธ์ผู้ว่าฯ บ้างไหม?

ผมว่าท่านเป็นต้นแบบของคนทำงานหนัก ทุกคนน่าจะสัมผัสได้ มันก็ผลักดันผมด้วย แต่ก่อน ผมเป็นคนที่ต้องเรียนตรงๆ ผมตื่นไม่ค่อยเช้าเท่าไหร่ ทุกวันนี้ ทำงานมาสองปีตื่นเช้าเลย ตื่นเช้าแบบอัตโนมัติแล้วก็ลงพื้นที่ เหมือนท่านเป็นแรงบันดาลใจ

คือทุกคนจะรู้ว่าตีสี่ท่านมาแล้ว แน่นอน แล้วก็ดึกดื่นก็ยังไม่นอนด้วย คือมันก็กระตุ้นให้ทีมงานทุกคนต้องแอ๊กทีฟตลอดเวลา ยิ่งสนุกเลย เพราะเราก็อยากทำให้มันดีขึ้นอยู่แล้ว