เสถียร โพธินันทะ : ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ [ดังได้สดับมา]

รากฐานของ สุชีโว ภิกขุ นอกเหนือจากสถานะแห่งเปรียญธรรม 9 ประโยค อันถือได้ว่าเป็นชั้นเอกอุในหมู่สงฆ์แล้ว ความโดดเด่น 1 คือ ความโดดเด่นในทางวรรณกรรม

และเมื่อเข้าไปเป็นเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

จึงไม่เพียงแต่อยู่ในสถานะผู้จัดวางหลักสูตรเพื่อพัฒนามหามกุฏราชวิทยาลัยให้ก้าวไปสู่ความเป็น “มหาวิทยาลัยสงฆ์” หากแต่ยังได้เข้าไปมีบทบาทในนิตยสาร “ธรรมจักษุ”

“ธรรมจักษุ” อันแปลได้ว่า “ดวงตาเห็นธรรม”

เป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด เริ่มตีพิมพ์ตั้งแต่เมื่อปี 2438 เมื่อมหามกุฏราชวิทยาลัยกำเนิดขึ้นเป็นขวบปีที่ 2

“ได้ออกหนังสือพิมพ์ “ธรรมจักษุ” เพื่อเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาแพร่หลายในชุมชน”

ปี 2482 สุชีโว ภิกขุ ได้เข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่หนังสือ “ธรรมจักษุ” ก็ได้แต่งนวนิยายอิงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาลงเป็นตอนๆ

เริ่มจาก “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์” และตามด้วย “กองทัพธรรม”

คำชี้แจงของ สุชีโว ภิกขุ ในการตีพิมพ์เมื่อปี 2486 ทำให้มองสภาพการสร้างสรรค์ได้อย่างแจ่มชัดมากขึ้น

เมื่อ 32 ปีล่วงมาแล้ว ได้มีหนังสือภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาพิมพ์ออกจำหน่ายแพร่หลายในลอนดอนเรื่องหนึ่งชื่อ The Pilgrim Kamanita (กามนิตผู้จาริกแสวงบุญ) ความดีของหนังสือเล่มนี้มีอยู่อย่างไรชาวไทยเราคงตัดสินได้จากเรื่อง กามนิต ของ “เสถียรโกเศศ-นาคะประทีป”

ข้าพเจ้ารู้สึกมานานแล้วว่า เรื่องทำนองนี้ถ้ามีผู้เขียนขึ้นบ้างในเมืองไทย ใช้หลักฐานและเค้าโครงเรื่องของคัมภีร์ฝ่ายเราล้วนๆ ตามแบบเขาแต่เพียงสำนวน และวิธีเชื่อมความชนิด “ทาสีรักษาเนื้อไม้”

ดังนี้ จะเป็นประโยชน์ในการเผยแผ่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคให้ซึมซาบไปในจิตใจของผู้อ่านได้วิธีหนึ่ง

คือ ทำให้ผู้อ่านซึ่งสนใจในสำนวนและท้องเรื่องได้รับรสธรรมทางอ้อม

เมื่อมีโอกาสจึงเขียนเรื่อง “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์” ขึ้นตามความคิดนั้น ใช้หลักฐานและเค้าโครงตามพระไตรปิฎกและอรรถกถาของฝ่ายเราทั้งหมด คงเลียนแบบเขาเพียงวิธีใช้สำนวนและวิธีเชื่อมความเพื่อให้เรื่องและธรรมะเดินได้ตามต้องการเท่านั้น

ข้าพเจ้าเพ่งประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับรสธรรมเป็นที่ตั้ง ได้พยายามเชื่อมด้วยหลักฐานและกาลสถานที่ อันมีที่มาที่ไปดังได้ทำเชิงอรรถกำกับไว้

หนังสือเล่มนี้ได้เขียนเป็นตอนๆ ลงในหนังสือธรรมจักษุรายเดือน ประจำ พ.ศ.2484 เป็นครั้งแรก

จากนี้เมื่อโยงความสัมพันธ์ระหว่าง เสถียร โพธินันทะ กับ สุชีพ ปุญญานุภาพ ก็จะมองย้อนหลังไปยังความสัมพันธ์ระหว่างบ้านตลาดเก่าเยาวราชกับวัดกันมาตุยาราม

ตามสำนวนของ สุชีพ ปุญญานุภาพ ก็ต้องว่า

“ถ้าจะเดินจากบ้านคุณเสถียรถึงวัดกันมาตุยาราม (แบบคุณเสถียรที่ชอบเดินเร็วคล้ายกับจะหนีความสกปรกบนพื้นถนน) ก็ประมาณ 3 นาทีเท่านั้น”

หรือ “ที่โรงเรียนวัดบพิตรภิมุข ด.ช.เสถียร กมลมาลย์ ได้มีโอกาสรู้จักกับเด็กชายผู้หนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ของ สุชีโว ภิกขุ วัดกันมาตุยาราม เมื่อสอบได้มัธยมปีที่ 5 แล้ว ด.ช.เสถียรได้ติดต่อกับเพื่อนของตนผู้นี้เพื่อให้นำเข้าพบ สุชีโว ภิกขุ และตั้งแต่นั้นมาก็ไปมาที่วัดกันมาตุยารามเป็นประจำ

“คือมาเช้า กลับไปรับประทานอาหารที่บ้าน-แล้วกลับมาวัด

“ตอนเย็นกลับไปรับประทานอาหารที่บ้าน ต่อมาก็เลยเป็นศิษย์ รับประทานอาหารเสียที่วัดด้วย เมื่อ สุชีโว ภิกขุ มีกิจไปนอกวัด เช่น สวดมนต์ หรือเทศน์ ก็เป็นศิษย์ถือพัด ถือคัมภีร์เทศน์ ติดตามไปด้วยเป็นส่วนมาก”

นี่คือความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่าง สุชีพ ปุญญานุภาพ กับ เสถียร โพธินันทะ

ความสัมพันธ์นี้ไม่เพียงแต่ทำให้ขอบเขตแห่งความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาของ เสถียร กมลมาลย์ แผ่ขยายออกไปอย่างใหญ่กว้าง หากแต่ยังนำพาไปสู่การเขียน การพูด

เมื่อศึกษาผ่านงานเขียนชิ้นแรกสุดเรื่อง “พระพุทธศาสนากับคนหนุ่ม” อันตีพิมพ์ใน “ธรรมจักษุ” ฉบับสันติภาพประจำเดือนธันวาคม 2487-กันยายน 2488

เป็นงานเขียนขณะ เสถียร กมลมาลย์ อายุเพียง 17 ปี