จากละครถึงชีวิตจริง เมื่อพ่อแม่พร้อม Post แต่ลูกไม่พร้อม Like/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

จากละครถึงชีวิตจริง

เมื่อพ่อแม่พร้อม Post

แต่ลูกไม่พร้อม Like

 

ในละครเรื่อง ‘มามี้ที่รัก’ ซึ่งเพิ่งแพร่ภาพผ่านไปทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 33 HD ส่วนหนึ่งที่แฟนๆ ได้เห็นคือการที่ตัวละครสร้างคอนเทนต์แม่และเด็กในโซเชียล เพื่อหาเลี้ยงตัวเองกับลูก จนทำให้ลูกกลายเป็น ‘เด็กไอดอล’ และได้รับคำวิจารณ์จากผู้คนมากมายทั้งในด้านดีและด้านลบ

ขณะที่ในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งที่เราๆ เห็นคือหลายคนก็ชอบสร้างคอนเทนต์

ด้วยเหตุนี้ เอิน-ณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล ผู้จัดละครเรื่องดังกล่าวจึงได้จัดเสวนา ชวนมาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล, บอมบ์-ธนิน มนูญศิลป์, หนูเล็ก-ภัทราวดี ปิ่นทอง 3 นักแสดงจากละคร และหมอมิน-พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา มาสนทนาในเรื่อง “พ่อแม่พร้อม Post แต่ลูกไม่พร้อม Like”

โดยหมอมินบอกว่า ที่ผ่านเจอเคสคนไข้ที่เหมือนในละครอยู่เหมือนกัน นั่นคือการโดนไซเบอร์บูลลี่จากสิ่งที่โพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย

ด้านมาร์ชที่มองเห็นว่า การที่ตัวละครในเรืองมีการไลฟ์ตลอดเวลา ถึงขนาดลูกป่วยก็ยังไลฟ์ โดยไม่ได้มีการขอลูกก่อนนั้น มีความเหมาะสมแค่ไหน และพ่อแม่มีขอบเขตเพียงใด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อลูก กรณีนี้หมอมินบอก “มีหลายประเด็นต้องพิจารณา”

ทั้งเรื่องความเป็นส่วนตัว ขณะเดียวกันยิ่งถ้ามีการแชร์โลเกชั่นก็อาจทำให้เกิดผลร้าย กรณีหากมีคนประสงค์ไม่ดี หรือบางทีก็อาจทำให้ถูกรบกวนได้ ขณะเดียวกันต้องคิดด้วยว่าดิจิตอล ฟุตปรินต์ ก็เป็นเหมือนรอยเท้าในโลกออนไลน์ ที่อาจติดตัวเราไปตลอดกาล

“เพราะฉะนั้น เวลาพ่อแม่โพสต์รูปเด็กหรือคลิปก็ต้องพิจารณาว่าต่อไปจะมีผลอะไรต่อลูกในอนาคตหรือเปล่า”

อย่างภาพบางภาพ หรือคลิปบางคลิป เช่น เมื่อลูกเริ่มว่ายน้ำได้ ผู้ปกครองอาจอยากโพสต์ด้วยความยินดีในความสามารถของลูกรัก แต่จริงๆ แล้วลูกอาจจะคิดตรงข้าม เพราะไม่ปลื้มปริ่มกับรูปร่างตัวเอง ที่อาจมีพุง มีหุ่นไม่สวย ทั้งยังอาจส่งผลให้โดนเพื่อนล้อ

“บางทีก็เป็นเรื่องเล็กๆ นะ แต่ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเด็ก” หมอมินบอก

ด้านหนูเล็กก็สงสัยว่าในฐานะที่เป็นแม่ ซึ่งไม่ได้อยากโพสต์เพื่ออวด แต่อยากเก็บโมเมนต์เป็นความทรงจำ หรือแม้กระทั่งรูปที่ลูกอาจโป๊ไปบ้าง ด้วยความรู้สึก ‘น่ารักดี’ เรื่องนี้คุณหมอก็ว่า “อยากให้ไปถึงจุดที่ไตร่ตรองว่า ถ้าโพสต์ไป ใครจะเห็นบ้าง” และการตั้งค่าความเห็นส่วนตัวเพื่อกำหนดว่าใครบ้างจะได้เห็นโพสต์ดังกล่าวก็เป็นเรื่องทำได้ และสามารถนำมาพิจารณา

“ภาพที่จะโพสต์เป็นพับลิกก็ต้องไตร่ตรองนิดนึง” เพราะ “พอเด็กโตขึ้น ก็มีเหมือนกันที่ว่าทำไมพ่อแม่ต้องโพสต์รูปของเราตั้งแต่เด็กๆ แบบนี้ด้วย”

อีกทางที่อาจช่วยได้ คือ “พอเขาโตแล้ว อาจจะลองถาม” นี่คุณหมอแนะนำ

“แต่ในจุดหนึ่ง ถึงแม้เขาจะตอบเราได้ แต่วิจารณญาณ หรือวุฒิภาวะ เราในฐานะผู้ใหญ่ก็ควรมีมากกว่า บางเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ถาม เด็กเขาจะมองออก ว่าคุณพ่อคุณแม่มีแนวโน้มว่าอยากทำ เขาก็จะโอเคเลย อะไรแบบนี้ แต่พอโตขึ้นเขาอาจจะมาคิดว่า จริงๆ ก็ไม่ค่อยอยากเท่าไหร่”

“เราก็ต้องเหมือนรับผิดชอบ แล้วต้องคิดแทนเขา”

 

ที่เอิน ณิธิภัทร์ ยกมาหารือ คือกรณี ‘เด็กไอดอล’ ถูกแฟนคลับขอถ่ายรูป แต่อารมณ์ไม่พร้อม เลยถูกหาว่าหยิ่ง หมอมินก็ว่า ในโลกออนไลน์ คนมักตัดสินกันจากช็อตเดียว หรือภาพเดียวที่ได้เห็น ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเบื้องหน้าเหล่านั้น มักมีเบื้องหลังต่างๆ เป็นองค์ประกอบ

“คนอาจจะถ่ายตอนหน้ากำลังเหยเก คือเขาควรเข้าใจที่มาที่ไป ถ้าเด็กถูกรบกวนก็มีเหตุผลที่เขาจะไม่ชอบ คนที่ใช้งานโซเชียลมีเดียควรคิดนิดนึง บางครั้งโซเชียลมันรวดเร็วเกินไปสำหรับพวกเราทุกคนที่จะตัดสินใจในหลายๆ เรื่อง และตรงนั้นคนที่ได้รับผลกระทบเป็นเด็ก ขนาดเป็นผู้ใหญ่โดนไซเบอร์บูลลี่ยังเครียดเลย”

“พวกลูกๆ ของเน็ตไอดอลก็อาจจะต้องระมัดระวังอย่างมาก”

เรื่องเด็กไอดอลนี้ หนูเล็กบอกว่าเธอเองก็รู้สึกเป็นห่วง เพราะตอนนี้มีหลายคนที่อยากปั้น อยากผลักดันลูกๆ ให้มีชื่อเสียง

“มีเพื่อนๆ มีคนรู้จัก ถามว่าทำยังไงให้ลูกดัง เผื่อจะมีงาน”

“มันมีรายได้มหาศาล” นี่เอิน นิธิภัทร์ เสริม เพราะเขาเองก็ได้รับข้อเสนอเรื่องจะให้ผลตอบแทนงามๆ จากการโพสต์ที่ต้องมีลูกเป็นองค์ประกอบ

“มันก็มีสิ่งล่อใจ” เขาว่า

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ จิตแพทย์เด็กคนดังให้คำแนะนำว่า “ก็ต้องไตร่ตรองว่ามีผลกระทบตามมาไหม เรารับผิดชอบได้ไหม และเราเป็นพ่อแม่ ไม่ได้รับผิดชอบแค่ตัวเรา แต่ต้องรับผิดชอบลูก”

ซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญ อันปฏิเสธไม่ได้จริงๆ