โลกร้อนกระเทือนโรงเรียน | สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
ภาพประกอบ / www.robesonhs.com

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

โลกร้อนกระเทือนโรงเรียน

 

“ริชาร์ด เอ็ม.กอร์ดอน” ครูใหญ่แห่งโรงเรียนพอล โรบินสัน เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลกระทบต่อการเรียนการสอนอย่างเช่นทุกวันนี้

“กอร์ดอน” ประกาศปิดโรงเรียนเมื่อวันอังคารที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากเผชิญกับสภาพอากาศอันร้อนจัดเกินกว่าจะให้นักเรียนนั่งเรียนในห้องเรียนซึ่งไม่มีเครื่องปรับอากาศและไม่ได้ติดตั้งระบบระบายอากาศ

“วอชิงตันโพสต์” นำเสนอข่าวชิ้นนี้ผ่านเว็บไซต์ สะท้อนให้เห็นว่าข่าวนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่มองผ่านเลย หากบอกให้รู้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระเทือนไปทุกหย่อมหญ้า ไม่เว้นแม้กระทั่งระบบการศึกษา

โรงเรียนในเมืองฟิลาเดลเฟีย และเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ อยู่ติดๆ กัน ต่างได้รับผลกระทบจากอากาศที่ร้อนจัด จนกระทั่งโรงเรียนต้องประกาศให้นักเรียนกลับบ้านก่อนเวลา ถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างมาก

ปกติแล้ว อดีตช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือและฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐค่อนข้างเย็นสบาย อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 12-21 องศาเซลเซียส

แต่ในวันที่โรงเรียนประกาศปิดการเรียนการสอน อุณหภูมิพุ่งสูงกว่า 36 ํc

 

ห้องเรียนส่วนใหญ่ในฝั่งตะวันออกของสหรัฐ ไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับความเย็น มีแต่ฮีตเตอร์ทำความร้อนเปิดใช้ตลอดฤดูหนาว เมื่อถึงหน้าร้อนโรงเรียนจะปิดแล้วกลับมาเปิดใหม่ในเดือนสิงหาคมหรือกันยายน เริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

เมื่อ 10 ปีก่อนโรงเรียนในฟิลาเดลเฟียที่ติดเครื่องปรับอากาศถือว่าเป็นโรงเรียนหรูหรามาก

โรงเรียนส่วนใหญ่ในฟิลาเดลเฟียเป็นตึกเก่าก่อสร้างมานานแล้ว การออกแบบเน้นการใช้สอยอเนกประสงค์ เช่น ปูพื้นคอนกรีต ราดยางมะตอยเป็นลานกีฬา ลู่วิ่งเล่น ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียวมากเท่าไหร่

ต่างกับโรงเรียนที่อยู่ทางตอนใต้ของสหรัฐ ซึ่งติดตั้งระบบปรับอากาศเย็น เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าฝั่งตะวันออก

สำนักงานความรับผิดชอบของรัฐบาล (Government Accounting Office) ประเมินผลการสำรวจโรงเรียนของรัฐบาลสหรัฐ 36,000 แห่งพบว่า โรงเรียนที่จะต้องปรับปรุงระบบระบายอากาศ เช่น ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ฮีตเตอร์และหน้าต่าง มีจำนวน 14,760 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 41 เปอร์เซ็นต์

โรงเรียนในพื้นที่ของรัฐมิชิแกน ไม่มีระบบปรับอากาศมากถึง 60% เมื่ออากาศร้อนจัดมากๆ โรงเรียนต้องสั่งปิด หรือไม่ก็ปรับเปลี่ยนตารางเรียนใหม่

ถ้าจะปรับปรุงติดตั้งระบบระบายอากาศในอาคารเรียนแต่ละหลังต้องใช้เงินงบประมาณราว 33 ล้านบาท

 

สภาพอากาศที่ร้อนส่งผลต่อการเรียนการสอนของสหรัฐอย่างมาก โดยเฉพาะนักเรียนในเขตยากจนซึ่งไม่มีเครื่องปรับอากาศทั้งที่บ้านและโรงเรียน มีผลการเรียนต่ำกว่ามาตรฐาน

ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิสูงขึ้นมากทำลายสถิติ “ร้อนที่สุด” ทำให้หลายเมืองในสหรัฐเผชิญกับวิกฤตที่อยู่อาศัย เพราะบ้านเรือนออกแบบเน้นให้อยู่อย่างอบอุ่นป้องกันความหนาวเย็นในฤดูหนาว

หลายๆ เมืองสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างมาก อุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ควรจะมีอากาศอบอุ่น แต่ปรากฏว่า เดือนพฤษภาคมอุณหภูมิทะลุไปถึง 32 ํc

นับตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา อุณหภูมิในเมืองฟิลาเดลเฟียพุ่งสูงเพียง 4 วันต่อปี ปัจจุบัน วันที่อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 32 ํc หรือสูงกว่านั้น มีถึง 8 วัน เช่นเดียวกับที่เมืองบัลติมอร์ วันที่อากาศร้อนเพิ่มจากเดิม 6 วันเป็น 10 วัน

หรือที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก วันที่อากาศร้อน อุณหภูมิสูงกว่า 32 ํc จากเดิมมีเพียงแค่ 1 วัน เดี๋ยวนี้เฉลี่ยปีละ 3 วัน ส่วนที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด อุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ยจากเดิม 6 วันต่อปี เป็น 11 วันต่อปี

 

ย้อนกลับเมื่อสิบปีก่อน โรงเรียนที่เผชิญกับอากาศร้อนจนต้องปิดการเรียนการสอน เฉลี่ย 3-4 วันต่อปี ตอนนี้ค่าเฉลี่ยปิดโรงเรียนเพิ่มเป็น 6-7 วันต่อปี

ที่รัฐนิวยอร์ก และรัฐนิวเจอร์ซีย์ สมาคมครูที่นั่นทำหนังสือไปยังสภาท้องถิ่นขอให้รัฐนำงบประมาณมาปรับปรุงห้องเรียนติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อให้เด็กและครูอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิเหมาะกับการเรียนการสอน

ตามกฎหมายของรัฐนิวเจอร์ซีย์ บังคับให้โรงเรียนต้องเปิดการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ ปีละ 180 วัน เมื่ออุณหภูมิพุ่งสูง โรงเรียนไม่น้อยกว่า 100 แห่งต้องปิด เพราะครูและเด็กอยู่ในห้องเรียนทนอากาศร้อนๆ ไม่ไหว ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการศึกษาก็ตามมา

อาคารโรงเรียนในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ส่วนใหญ่สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 การปรับปรุงอาคารเรียนเพื่อติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เครื่องฮีตเตอร์และระบบระบายอากาศต้องใช้งบประมาณสูงมาก

วอชิงตันโพสต์ ตามไปดูห้องสอนศิลปะโรงเรียนระดับประถมของเมืองฟาร์มิงเดล รัฐนิวยอร์ก พบว่าอุณหภูมิในห้องสูงมากจนทำให้แท่งสีเทียนละลาย งานศิลปะของเด็กๆ ที่ใช้ขี้ผึ้งกับเส้นด้าย ปรากฏว่าขี้ผึ้งหลอมรวมติดกับเส้นด้าย

ความเปลี่ยนแปลงของอากาศในปลายเดือนเมษายนทำให้การสอนศิลปะต้องปรับใหม่ ครูให้เด็กๆ ไปวาดรูปนอกห้องเรียน เพราะอากาศร้อน

 

ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สภาท้องถิ่นอนุมัติเงิน 350 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 11,550 ล้านบาท นำไปติดตั้งระบบปรับอากาศในห้องเรียนทุกห้องของโรงเรียนในเขตอ็อกนาร์ด

เขตอ็อกนาร์ดอยู่ไม่ไกลกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก “ทอม แม็กคอย” ผู้บริหารสมาพันธ์โรงเรียนบอกว่า เมื่อ 10 ปีก่อน เครื่องปรับอากาศไม่ใช่เรื่องจำเป็นของโรงเรียน แต่เดี๋ยวนี้ ทั้งครูและเด็กๆ นักเรียนต้องเฝ้าติดตามสภาพภูมิอากาศและอุณหภูมิในช่วงที่มีคลื่นความร้อนพัดผ่าน

ประเมินกันว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เด็กนักเรียนอเมริกันในรัฐต่างๆ เช่น นิวเจอร์ซีย์ แมรีแลนด์ เพนซิลเวเนีย ลุยเซียนา แคลิฟอร์เนีย ราว 1 ล้านคนได้รับผลกระทบเพราะโรงเรียนหยุดการเรียนการสอน

ขณะเดียวกันในฝั่งผู้ปกครองพากันเดือดร้อนเพราะลูกๆ เรียนหนังสือไม่ได้เต็มที่ แต่จะให้เด็กอยู่กับบ้านก็เป็นปัญหาเพราะทุกคนต่างต้องออกไปทำงาน หากจะหาพี่เลี้ยงเด็ก ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก

ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลไม่เฉพาะการเรียนรู้ของเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสุขภาพ เด็กเกิดความเครียด วิตกกังวล

“วันนี้เด็กๆ ยังเจอเหตุการณ์ร้ายๆ อย่างนี้แล้วในอนาคตจะเผชิญกับภาวะโลกร้อนหนักหนาสาหัสแค่ไหน?”

นี่เป็นคำถามของผู้ปกครองอเมริกันที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ •