ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มิถุนายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ภูมิแผ่นดินอีสาน
ร่วมงานสัมมนาเรื่อง “ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน” ระหว่างวันเสาร์ 28-อาทิตย์ 29 เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อันเป็นงานต่อเนื่องของโครงการสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน ของคณะอนุ กมธ.ศิลปะและวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน กับ สสส. ซึ่งจัดเป็นครั้งที่สอง จากครั้งแรกที่สถาบันทักษิณ สงขลา
จากภาคใต้มาภาคอีสาน และต่อไปภาคเหนือที่เชียงราย โดยลำดับดังจะรายงานเป็นระยะๆ ต่อไป
ครั้งนี้จัดที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมราวร้อยคนโดยประมาณ แบ่งเป็นสามกลุ่มคือ
กลุ่มภูมิภาษาวรรณศิลป์
กลุ่มภูมิบ้านภูมิเมือง
กลุ่มภูมิปัญญาแผ่นดิน
ดังกล่าวคือทั้งสามเรื่องถือเป็นความสำคัญของงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมขั้นหัวใจเลยทีเดียว
ภาษานั้นเป็นทั้งรากฐาน พื้นฐาน และภูมิฐานของงานศิลปวัฒนธรรม
ขยายความขั้นรากฐาน เพราะภาษาเป็นสื่อความเข้าใจของผู้คน ขั้นพื้นฐานเพราะภาษาเป็นเครื่องมือเบื้องต้นในการดำรงอยู่ของสังคม ขั้นภูมิฐานเพราะภาษาเป็นสื่อแสดงอารยธรรมทางปัญญาของผู้คนในสังคม
ภูมิบ้านภูมิเมือง และภูมิปัญญาของแผ่นดิน อีกสองภูมิล้วนมีความสำคัญทั้งสามฐานด้วยเช่นกัน
ดังแค่จังหวัดขอนแก่นนี่เองก็มีโบราณสถานที่แสดงความเป็นเมืองโบราณถึง 14 เมือง ซึ่งล้วนมีความหมายสะท้อนเรื่องราวถึงยุควัฒนธรรมทวารวดีอีสานแทบทั้งสิ้น
นี้คือภูมิบ้านภูมิเมืองที่น่าศึกษายิ่ง
ด้านปัญญาแผ่นดินนั้น ยกตัวอย่าง โบสถ์หรืออีสานเรียกสิมนั้น สิมวัดไชยศรี บ้านสาวะถี อำเภอเมือง ที่มีรูปเขียนหรือที่อีสานเรียก “ฮูบแต้ม” ก็ล้วนจาระไนถึงภูมิธรรม ภูมิปัญญาได้หลากหลายนัยนัก
แต่ละกลุ่มทั้งสามกลุ่มต่างเสนอข้อมูลและข้อเสนอแนะอย่างดียิ่ง ซึ่งจะได้กลั่นกรองรวมกับข้อมูล ข้อคิดเห็นที่จะจัดงานเช่นนี้ เฉพาะภาคอีสานที่จังหวัดอุบลราชธานี รวมที่ภาคเหนือสองครั้งเช่นกันที่เชียงรายและพิษณุโลก โดยจะมาจัดสรุปรวมกับของภาคกลางที่รัฐสภาในปลายปีนี้
ดังกล่าวแล้วว่า เรื่องของ “ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน” นั้นเป็นหัวใจของงานศิลปวัฒนธรรม หากยังขาดนโยบายที่แจ่มชัด ขาดเอกภาพในการบริหารจัดการให้เป็นพลังขับเคลื่อน พัฒนาสังคม ได้อย่างแท้จริง
อีสานทั้งภาคนั้นมีทั้งวัฒนธรรมและอารยธรรมของแผ่นดิน ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันแทบจะไม่ขาดสายเลยก็ว่าได้ ด้วยรวมเอาวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงทั้งหมดไว้ในวิถีเดียวกัน
ผู้รู้เคยกล่าวว่า วิถีของชุมชนลุ่มน้ำนั้น สายน้ำไม่ใช่สิ่งแบ่งแยก หากเป็นสิ่งเชื่อมโยงความเป็นชุมชนให้อยู่ในวิถีเดียวกัน
เปรียบยุคปัจจุบัน สายน้ำก็คือถนนหรือทางสัญจรให้ไปมาหาสู่กัน
เพราะฉะนั้น ลำน้ำโขงก็คือ ซูเปอร์ไฮเวย์ของเราดีๆ นี่เอง ผู้คนสองฝั่งก็คือคนแผ่นดินเดียวกัน ข้ามไปมาหาสู่กันดุจญาติสนิทมิตรสหาย มาแบ่งแยกเป็นประเทศเอาในยุคหลังนี่ต่างหากเล่า
ข้อมูลจากความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมล้วนมีประโยชน์ยิ่ง
ดังจะนำมากลั่นกรองและวิเคราะห์เพื่อผลักดันให้เกิดองค์กรขับเคลื่อนกันต่อไป
รุ่งขึ้นอีกวันคือวันอาทิตย์ 29 พฤษภาคม ชาวคณะมีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระไม้ของหอศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งน่าศึกษาในภูมิปัญญาและศรัทธาของชาวบ้านยิ่งนัก ด้วยเป็นฝีมือพื้นๆ ที่ชาวบ้านแกะสลักกันเองด้วยศรัทธาปสาทะโดยแท้
จากนั้นไปเยือนวัดโพธิ์ชัย ที่เป็นดังวัดเหนือของบ้านสาวะถี มีวัดไชยศรีเป็นวัดใต้ของบ้านสาวะถี มีชาวบ้านนุ่งซิ่นทอมืองามน่ารักมาก รวมทั้งหมอนขิดสวยงามฝีมือชาวบ้านเช่นกัน นี่เป็นภูมิฐานของชาวบ้านที่พึงยกย่องยิ่ง
มาได้คิดถึงภูมินาม ดังเป็นชื่อบ้านนามเมืองของที่นี่จำเพาะสามนาม โดยหลักการตั้งชื่อตั้งนามนั้นว่า มีสามลักษณะ คือ ภูมินาม มงคลนาม นิมิตนาม ดังนาม
โพธิ์ชัย นี้เป็นภูมินาม โดยมีต้นโพธิ์เป็นหลักหมาย
สาวัตถี เป็นมงคลนามแต่เดิมดังปรากฏในชาดก คือ “พาราสาวัตถี”
สาวะถี อันเป็นชื่อทางการตั้งเป็นทั้งชื่อบ้านและตำบล จึงเท่ากับเป็นนิมิตนาม คือเป็นนามที่ตั้งขึ้น
ที่วัดโพธิ์ชัยมีตู้บาลีใบลานที่เรียก “ปั๊บสา” บรรจุในตู้คัมภีร์อยู่เต็มตู้ น่าที่จะมีผู้รู้มาช่วยกันชำระก็จะเป็น “รากฐาน” ทั้งภาษาและภูมิปัญญาดียิ่ง
อีกวัดคือวัดใต้ หรือวัดไชยศรี ท่านพระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลสาวะถี เขต 1 ซึ่งท่านกรุณาทั้งเข้าร่วมสัมมนากลุ่มภูมิบ้านภูมิเมือง และบรรยายให้ความรู้เรื่องวัดไชยศรีอย่างลึกซึ้งยิ่ง ด้วยท่านมีชาติกำเนิดอยู่ที่นี่โดยตรง
ความสำคัญของวัดนี้อยู่ที่ “สิม” คือโบสถ์ที่มี “ฮูบแต้ม” ทั้งผนังภายนอกและภายในโบสถ์หลากหลายเรื่องราว โดยเฉพาะเรื่อง “สังข์ศิลป์ชัย” วรรณกรรมพื้นถิ่นอีสานทั้งลาวไทยที่สำคัญยิ่ง โดยรวมไว้ด้วยวรรณคดีสำคัญหลากหลาย ทั้งรามเกียรติ์ สังข์ทอง กากี ฯลฯ ไว้แทบจะทั้งหมด ดังเป็นชาดกภาคพื้นถิ่นพื้นฐานโดยแท้
สำคัญคือ การตีความและถอดความอันถือเป็นปริศนาธรรมได้ทั้งหมด
จำเพาะสังข์ศิลป์ชัยเรื่องเดียวก็น่าจะถือเป็นสัญลักษณ์ของภูมิภาษาและภูมิปัญญาแผ่นดินของถิ่นอีสานทั้งภาคได้เลย
เรามีเรื่องเล่าที่ขาดการเล่าเรื่องอย่างมีศิลปะ
บนแผ่นดินนี้อีกมากนัก •