ชาด / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
ภาพสัตว์ต่างๆ เลือกสิงห์โตเป็นผู้นำ ในสมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงธนบุรี (ภาพจากโลกสัณฐานโตรตนคัณฐี กรมศิลปากร)

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

ชาด

 

คําว่า ‘ชาด’ – ‘ชาติ’ ออกเสียงว่า ชาด เหมือนกัน แต่เขียนและมีความหมายต่างกัน ดังที่พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง “ไวพจน์ประพันธ์” ส่วนที่เรียก ชอ ไวพจน์

 

“ชาด

๐ ทาชาดสดดีสีแดง เขียนอย่าคลางแคลง

สะกดตัวดอโดยตรง

๐ ร้อยชาติแสนชาติอย่าหลง ติสะกดลง

ตามบทมคธคำควร” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

‘ชาด’ ในที่นี้คือ สีแดงอย่างหนึ่ง เรียกว่า สีแดงชาด ส่วน ‘ชาติ’ คือ การเกิด ความมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย

ไทยเรามีสำนวนว่า ‘ชาดไม่ดี สีก็ไม่แดง’ กาญจนาคพันธุ์ อธิบายไว้ในหนังสือ “สำนวนไทย” ว่า

“หมายถึง นิสัยสันดานคน ถ้าไม่ดีแล้ว ก็ย่อมไม่ดีอยู่เสมอไป”

คำว่า ‘ชาด’ หรือ สีแดงชาด เกี่ยวข้องกับเมืองจีนโดยตรง น. ณ ปากน้ำ บันทึกไว้ใน “พจนานุกรมศิลป์” ว่า

“ชาด เป็นสีแดงสดทำจากเมืองจีน มีหลายชนิดทั้งที่เป็นผงและเป็นก้อน เอามาผสมกับน้ำมันใช้ประทับตราหรือทาของต่างๆ”

 

บทความ ‘เรื่องของสี’ ใน “วรรณกรรมเสฐียรโกเศศ” ให้รายละเอียดของ ‘ชาด’ ดังนี้

“สีแดงแท้ เรียกว่า แดงชาด (crimson) สามัญเรียกเป็นแดงเลือดนก, แดงยอ, แดงทับทิม, แดงลิ้นจี่, แดงมณี…มีชาดเข้ามาจากเมืองจีน ผู้รู้เขาดูบอกไว้ว่าเป็น ‘ชาดจอแส’ และ ‘ชาดอ้ายมุ่ย’ (เมืองเอ้หมึง) แต่ที่เรียกกันก็ว่า ‘ชาด’ เท่านั้น”

คนไทยคุ้นเคย ‘ชาด’ มาแต่โบราณ วรรณคดีสมัยสุโขทัยเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าถึง ‘ไกรสรสีหะ’ หรือ ‘ไกรสรราชสีห์’ หรือ ‘ไกรสรสีห์’ ที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘ไกรสร’

“ไกรสรสีหะนั้นมีฝีปากแลปลายตีนทั้ง 4 นั้นแดง ดั่งท่านเอาน้ำครั่งละลายด้วยน้ำชาดหรคุณทาทั้งปากทั้งท้องแดงดั่งนั้นโสด เป็นแนวแดงแต่หัวตลอดรอบจนหลัง อ้อมลงในแค่งขา ปากหลังแดงดั่งรัดสะเอวนั้นงามดั่งท่านแส้งแต้มตนราชสีห์นั้นมีสร้อยอันอ่อนดั่งนั้น งามดั่งท่านเอาผ้าแดงอันมีค่าได้แสนตำลึงทอง แลเอามาพาดเหนือตนไกรสรสีหะนั้น ในตัวไกรสรสีหะนั้นที่ขาวก็ขาวงามนักหนาดั่งหอยสังข์อันท่านฝนใหม่”

ไกรสรสีหะรูปลักษณ์งามสง่า ขนขาวทั้งตัว แดงโดดเด่นเห็นชัดที่ปาก ปลายหาง ปลายเท้า เล็บ จากหัวถึงหลังอ้อมลงมาที่อกและขาทั้ง 4 เป็นแนวแดงพาดผ่าน ขนสร้อยคอเป็นสีแดง มีคำว่า ‘น้ำชาดหรคุณ’ เปรียบเทียบสีแดงของปาก ปลายตีนทั้ง 4 และท้อง

‘ชาดหรคุณ’ ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานคือ “ชาดประสมกับปรอทและกำมะถันเพื่อจะให้ชาดจับแน่นกับเนื้อทองดุจกะไหล่และเพื่อจะให้สุก” ทำให้ดูสีสดและสุกปลั่งยิ่งขึ้น

น้ำชาดหรคุณจึงเป็นน้ำสีแดงที่มีส่วนผสมข้างต้น

 

สีแดงที่ปรากฏตามตำแหน่งต่างๆ ของไกรสรราชสีห์ ราชสีห์ตระกูลสูงทรงพลังที่สุด บรรยายไว้ในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ เรื่อง “มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์มหาพน ว่า

“หนึ่งนามไกรสรสิงหราชฤทธิเริงแรง ปลายหางและเท้าปากเป็นสีแดงดูดุจย้อมครั่ง พรรณที่อื่นเอี่ยมดั่งสีสังข์ใสเศวตวิสุทธิ์สดสะอ้าน ประสานลายวิไลผ่านกลางพื้นปฤษฎางค์แดงดั่งชุบชาด อันนายช่างชาญฉลาดลากลวดลงพู่กันเขียน เบื้องอูรุนั้นเป็นรอยเวียนวงทักษิณาวรรต เกสรสร้อยศอดั่งผ้ารัตกัมพล”

‘ชาด’ เป็นสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน กวีนิยมนำมาใช้เปรียบเทียบหลากหลาย

เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร กวีสมัยอยุธยาทรงบรรยายถึงนกโนรีที่มีสีแดงสดไว้ใน “บทเห่ชมนก” ว่า

โนรีสีปานชาด เหมือนช่างฉลาดวาดแต้มลาย

ไม่เท่าเจ้าโฉมฉาย ห่มตาดพรายกรายกรมา”

 

นอกจากนี้กวีสมัยรัตนโกสินทร์นำชาดมาเปรียบเปรยเป็นระยะๆ สีแดงของชาดสื่อตั้งแต่ความงาม ความน่าสะพรึงกลัวไปจนถึงความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เล่าถึงพลายแก้วชื่นชมทั้งฝีมือปักและตัวผู้ปักม่านว่า

“ที่ม่วงก็ม่วงเป็นมันแสง ที่แดงก็แดงดังชาดใส่

ต้นไม้ไสวพริ้งทั้งกิ่งใบ ปักนกหกไล่ไต่ตามกัน”

ม่านปักหลากสีมีชีวิตชีวาแม้งามจับตา แต่ท่าทีสะทกสะเทิ้นของนางลาวทองช่างงามจับใจ ดังที่พลายแก้วเย้าว่า

“เออดูนี่กระไรทำใจหวาด ฝีปากแดงดังชาดประจงจิ้ม

ริมฝีปากบางที่แดงราวบรรจงแต้มด้วยชาด ตรึงใจพลายแก้วยิ่งนัก ตรงกันข้ามกับสภาพของหมื่นหาญ หนึ่งในพ่อตาของขุนแผน

ขอบตาแดงฉาดดังชาดทา เนื้อแน่นหนังหนาดูน่ากลัว”

ไม่ต่างกับแสนตรีเพชรกล้า แม่ทัพเชียงใหม่

“นัยน์ตาดำคล้ำคล้ายกับตาเสือ ขอบตาแดงเรื่อดังชาดป้าย

ทั้งหมื่นหาญและเพชรกล้ามีขอบตาแดงฉานน่าพรั่นพรึงแก่ผู้พบเห็น

 

แดงรอบขอบตาก็น่ากลัวแล้ว แต่นัยน์ตาฉายแสงแดงฉานยิ่งน่ากลัวกว่าหลายเท่า โดยเฉพาะตาแดงตัดกับตัวดำมะเมื่อม ผมยุ่งหนวดรุงรัง มีเขี้ยวงอกของเจ้าวาหุโลมในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี”

“ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าวาหุโลมราช กษัตริย์ชาติเชื้อยักษ์กินปักษี

พระชันษาห้าสิบพอดิบพอดี ทั้งพ่วงพีผิวดำดังน้ำรัก

พระเนตรแดงแสงปลั่งเหมือนดังชาด บรมนาถหนวดรกลงปรกตัก

มีเขี้ยวงอกบอกพอเห็นว่าเป็นยักษ์ ยี่สิบนักขาดำดังน้ำนิล

เกศานั้นพันกลุ่มเป็นปุ่มเปาะ เหมือนผมเงาะเหลืองหงอกดังดอกกระถิน”

ต่อให้ปากแดง ขอบตาแดง ตาแดงฉาน เจอ ‘นางสุนีบาต’ เข้ายังต้องยกธงขาวให้สาวคนนี้ที่เปิดตัวอย่างครึกโครม ณ ที่พักกลางป่าของขบวนพระมังคลา โอรสพระอภัยมณีกับนางละเวง

“ครั้นล่วงสามยามสงัดกำดัดดึก เสียงคึกคึกกึกก้องท้องเวหา

นภางค์พื้นครื้นครั่นลั่นโลกา เป็นสายฟ้าผ่าเสียงเปรี้ยงเปรี้ยงดัง”

เสียงฟ้าผ่าติดๆ กัน ส่งผลให้ไพร่พลของมังคลา

“ตื่นตกใจจับศัสตราเหลียวหน้าหลัง ทุกหมู่หมวดตรวจไตรระไวระวัง”

ฉับพลันก็เกิด

“เสียงดังผลุงลงตรงพลับพลา

เหมือนสีรุ้งพลุ่งพรายเป็นสายแสง

เขียวเหลืองแดงดูสว่างพร่างพฤกษา”

บรรดาไพร่พลสงสัยเหตุประหลาด เสียงกึกก้องทำให้มังคลาสะดุ้งตื่น รีบ ‘จับพระแสงเสด็จมาชาลาขวาง’

ทันทีที่สายรุ้งพร่างพรายหายไปในท้องฟ้า ภาพเบื้องหน้ามังคลาก็คือ

“เห็นแต่นางเนื้อเหลืองย่างเยื้องกราย

เส้นเกศานารีเหมือนสีชาด แลประหลาดหลากยิ่งหญิงทั้งหลาย

ใส่คราบงูดูดังเสือเรืองเรื่อลาย จักษุซ้ายขวาดำดังน้ำนิล

ยังเยาว์อยู่ดูสักสิบขวบเศษ พอสบเนตรนางนั้นเดินผันผิน”

ไพร่พลมังคลาพากันล้อมจับ ปรากฏว่า

“เข้าใกล้นางกางนิ้วกลายเป็นนาค หลุดออกจากหัตถาทั้งห้าหัว

ล้วนยาวเฟื้อยเลื้อยไล่นายไพร่กลัว ต่างหลบตัวล้มลุกลงคลุกคลาน”

นางสุนีบาตเส้นผมแดงฉานดังสีชาด ถ้าอยู่สมัยนี้ เปรี้ยวได้ใจ •