พงศ์พร – จ่าเพียร

ในช่วงวันเวลาที่ผ่านมา ข่าว ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น ชนะน็อก โรมัน กอนซาเลซ ในการชกป้องกันแชมป์ซูเปอร์ฟลายเวต นับเป็น “ข่าวดี” ที่สุดของคนไทย

นอกจากนั้นแล้ว ทุกข่าวล้วนเป็น “ข่าวไม่ดี” สำหรับคนไทยทั้งสิ้น

ศรีสะเกษชนะน็อกโรมันอย่างขาวสะอาด โปร่งใส ไร้กังขา ข่าวไม่สับสน ได้รับคำยกย่องจากทั่วโลกเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาเป็น “ปาเกียว 2”

ข่าวอื่นๆ นอกจากนั้น ขอใช้คำว่าเป็น “ข่าวไม่ดี” เพราะจะว่าไปมันไม่ถึงกับจะเรียกว่าเป็น “ข่าวร้าย” เสียทีเดียว แต่มันยังตีความสับสนกันอยู่ ยังไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน ยังไม่ได้รับคำยืนยันจากผู้ให้ข่าว และยังไม่ได้รับคำตอบจากผู้เกี่ยวข้อง

ข่าวไม่ดีในวันนี้ มีอะไรบ้าง?

มีหลายข่าวครับ แต่ที่กำลังฮิตเป็นไฮไลต์อยู่ในขณะนี้ มี 2 ข่าว คือ ข่าว รมว.มหาดไทย อนุมัติให้บริษัทในกลุ่ม “กระทิงแดง” ใช้ประโยชน์ “ป่าชุมชน” 31 ไร่ ที่บ้านโคกห้วยเม็ก ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

กับเรื่องย้าย พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมเสน่ห์ จากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ก่อนที่วานนี้ 26 ก.ย. ครม.มีมติสดๆร้อนๆให้กลับตำแหน่งเดิม คลิกเพื่ออ่านข่าว)

ทั้ง 2 ข่าวดูเหมือนจะเกี่ยวพันโยงใยกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งใครจะผิดใครจะถูกขณะนี้ยังไม่รู้ รู้แต่ว่ามันเป็นข่าวไม่ดีของคนไทย ทั้ง 2 ข่าวมากคนของรัฐบาลเป็นคนทำ

เมื่อครั้งที่ข่าวโพลของสถาบันพระปกเกล้า สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อความเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรีในช่วงระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าคะแนน “ความนิยม” นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับความนิยมสูงกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้งสูงกว่านายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ

ข่าวโพลสถาบันพระปกเกล้า แบบนี้นับว่าเป็น “ข่าวไม่ดี” ของรัฐบาล แต่โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ติดใจผลคะแนน เพียงแต่เห็นว่าการนำเอาผลสำรวจที่รวมอดีตนายกฯ ที่มีความผิดและอยู่ระหว่างหลบหนีมาเผยแพร่แก่สาธารณะไม่เหมาะสมนัก เพราะอาจจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เห็นการกระทำผิดกฎหมาย ทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องยอมรับได้

แต่ผมดันเห็นไปอีกอย่างหนึ่งว่า โพลเขาสำรวจ “ความนิยม” ไม่ได้สำรวจ “ความสุจริต” หรือ “ความโปร่งใส” คะแนนความนิยมอาจจะมาจากภาวะทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต เสรีภาพ ไม่ถูกเฝ้าจับตามองและถูกสั่งรายงานตัว ไม่ถูกชี้หน้าข่มขู่ ฯลฯ แม้กระทั่งไม่ถูกบังคับให้ดูทีวี (ฮา)

สมมุติว่าโพลตั้งหัวข้อสำรวจ “ความสุจริต” แล้วคะแนนออกมาว่า ทักษิณ ชินวัตร ได้รับความนิยมสูงกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

อย่างนี้สิ นายกรัฐมนตรีอาจจะติดใจและไม่พอใจสถาบันได้

แต่ตามความคิดเห็น (ส่วนตัว) ของผม ผมคิดว่ามีโอกาสที่โพลจะได้คะแนนพลิกล็อกดังที่กล่าวข้างต้น เพราะการที่รัฐบาล คสช. ยกระดับตัวเองไว้สูงส่งว่าอยู่ในฐานะ “ปราบโกง” แต่แล้วกลับปรากฏว่ามีแต่ “ข่าวไม่ดี” เสียเอง มันเพิ่มดีกรีความไม่นิยมหลายคะแนนมาก

จนเป็นเหตุให้คะแนนความนิยมต่ำกว่าคนที่ตัวเองประณามว่า “โกง” ก็ได้

อนึ่ง “ซีพีไอ” หรือดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น เขาใช้คำ Perception ซึ่งเรามักจะแปล (หรือเข้าใจ) ว่า “รับรู้” แต่ในความเป็นจริงแล้วคำว่า Perception มีความหมายกว้างขวางและลึกซึ้งกว่า “รับรู้” มากมายนักนัก

ผมเคยเขียนถึงองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ “ทีไอ” (Transparency International) กับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น หรือ “ซีพีไอ” (Corruption Perception Index หรือ CPI) เรื่องการจัดอันดับประเทศ “รับรู้” คอร์รัปชั่น มาหนหนึ่งแล้ว เมื่อต้นปี ครั้งที่ไทยถูกจัดอันดับแย่ลงจนถึงกับสื่อใช้คำว่า “ไทยสอบตกคอร์รัปชั่น”

สร้างความสงสัยแปลกใจให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับจะวิเคราะห์เงื่อนไขกันใหม่

ผมคิดว่าเราคงเข้าใจคำว่า Perception เพียงผิวเผิน จึงลองเปิดแอพพ์ “Thai FastDict” ในมือถือ หาคำว่า Perception ดู ปรากฏว่ามันหมายถึง ความเข้าใจ, แนวความคิด, ซึ่งให้ความสนใจ, และ จำได้… ตรงกับภาษาอังกฤษว่า awareness, knowledge, recognition, mindfulness และ attentive ฯลฯ

ถ้าได้คุยกับคนเก่งภาษาอังกฤษหรือได้เปิดดิกชันนารีฉบับ Oxford ผมคิดว่า เราน่าจะได้คำอธิบายขยายความของ Perception มากกว่าและลึกซึ้งกว่าแค่ “รับรู้” นะครับ

ย้อนกลับไปทบทวนความเป็นมาและความจะเป็นไปของกรณี “ป่าชุมชน” นอกจากจะไม่พบคำว่า “รับรู้” หรือ Perception รวมทั้งคำ Sync อื่นๆ ทั้งหลายแหล่แล้ว พบแต่ความซับซ้อนสับสนราวกับฉายหนังคนละม้วน เช่น…

รมว.มหาดไทย สงสัยว่า เรื่องนี้เซ็นอนุมัติไปตั้งแต่ปีก่อน ทำไมเรื่องเพิ่งมาแดง

ที่ดินเป็นคนละแปลงกับของจริงที่อนุมัติ ห่างกันประมาณ 3 ก.ม.

น่าจะมี “ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ”

ตามกระบวนการเรื่องนี้จะต้องทำจากประชาคมหรือจากประชาชน แล้วส่งเรื่องมายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้วมาสู่คณะกรรมการจังหวัดซึ่งมีกว่า 10 หน่วย จากนั้นส่งเรื่องมายังกรมที่ดินแล้วถึงจะมาเข้าระดับกระทรวง

ได้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีประชาชนคัดค้าน แต่ไม่มีเอกสารคัดค้านส่งขึ้นมา ซึ่งจะต้องไปตรวจสอบระดับจังหวัดอีกครั้ง

ในที่สุดให้อธิบดีกรมที่ดินชี้แจงต่อผู้สื่อข่าว แต่กลายเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่ง ฯลฯ

เนื้อความข้างต้นประมวลเอาจากข่าวในสื่อต่างๆ จึงไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่า ความเป็นมาและความจะเป็นไปเป็นอย่างไร

เรื่องย้าย พ.ต.ท.พงศ์พร ผอ.สำนักพระพุทธศาสนา ก็ทำนองเดียวกับเรื่อง “ข่าวไม่ดี” อันอื้อฉาวทั้งหลาย ไม่มีคำว่า Perception รวมทั้งคำ Sync อื่นๆ ที่จะเป็นการชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น

การย้ายคน “ปราบโกง” ไปให้ห่างไกล ไปให้พ้นๆ ที่เขาโกงกัน มันจะมีคำแก้ตัวหรือคำชี้แจงอะไรดีไปกว่าคำว่า “ผมเป็นผู้บังคับบัญชา ผมมีอำนาจย้าย” เล่า!

อ้างด้วยเหตุอย่างอื่นก็ดูมันผิดตรรกะไปหมด… อ้างอย่างไรก็รู้ว่าโกหก!!

ไม่อยากพูดทวนซ้ำให้คลื่นไส้ เรามาพูดคุยกันถึงอนาคตข้างหน้ากันดีกว่า…

อนาคตของ พ.ต.ท.พงศ์พร มีได้ 2 ทางตามบุคลิกของเจ้าตัว

ทาง 1 คือ ศักยภาพเดิมเมื่อครั้งเป็นตำรวจและดีเอสไอ ทำให้ พ.ต.ท.พงศ์พร ซึ่งไปเป็นผู้ตรวจราชการใน 5 จังหวัดภาคใต้ สามารถนำไปสู่การกวาดล้างทุจริตคอร์รัปชั่นรายใหญ่ ของทหาร ตำรวจและข้าราชการ “ตัวใหญ่” ในภาคใต้ และเป็นคดีทุจริตรายใหญ่กว่า “เงินทอนวัด” หลายร้อยเท่า

อีกทาง 1 พ.ต.ท.พงศ์พร เดินไปในเส้นทางที่จะได้รับการขนานนามว่า “จ่าเพียร 2”

จะเป็นทางไหน รัฐบาลจะอยู่ยาวหรืออยู่สั้นก็ “อยู่ยาก” ทั้งสิ้น!!

 

(หมายเหตุ บทความนี้ตีพิมพ์เมื่อ 22 ก.ย.60) ก่อนที่เมื่อวานนี้ (26 ก.ย. 60) คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติกลับไปดำรงตำแหน่งเดิม อ่านข่าวนี้ คลิก