2503 สงครามลับ สงครามลาว (84)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (84)

 

ขณะที่การรบของ พัน.ทสพ.606 ยังดำเนินไปอย่างดุเดือด สปอตไลต์ได้ทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องด้วยการร้องขอทั้งพลุส่องสว่างสนามรบและการยิงโจมตีข้าศึกจากสปุ๊กกี้

อย่างไรก็ตาม การยิงโจมตีของสปุ๊กกี้ในช่วงเวลานั้นไม่ค่อยจะได้ผลนัก เนื่องจากนักบินต้องบินอยู่ในระดับสูงเพื่อหลีกเลี่ยงการยิงจากปืนต่อสู้อากาศยานของข้าศึก

กระสุนที่สปุ๊กกี้ยิงลงมาจึงเผชิญกับกระแสลมแรงทำให้วิถีผิดพลาดไปจากตำแหน่งเป้าหมาย

การยิงจากสปุ๊กกี้ในเวลากลางคืนจะอาศัยพลุส่องแสงที่ทิ้งลงมาเป็นเครื่องนำทาง จากนั้นก็จะปรับตำแหน่งเป้าหมายบนพื้นดินเพื่อการยิงโดยใช้พลุส่องแสงเป็นจุดอ้างอิง

แต่ถ้าลมแรงทำให้พลุส่องแสงถูกพัดลอยไปมากจากตำแหน่งเป้าหมาย ก็จะต้องร้องขอให้มีการทิ้งลงมาใหม่

ถึงแม้การโจมตีของเครื่องสปุ๊กกี้อาจจะไม่ได้ผลมากนัก แต่ในด้านจิตวิทยาแล้วถือว่ามีผลอย่างมาก เพราะทหารฝ่ายเราจะมีขวัญกำลังใจดีขึ้นเมื่อรู้ว่ามีการโจมตีสนับสนุนทางอากาศ ส่วนฝ่ายข้าศึกก็ต้องชะลอการบุกและหยุดการเคลื่อนไหวลงชั่วขณะเพื่อปกปิดตำแหน่งของตนจนกว่าพลุส่องแสงจะดับลง

เมื่อสปุ๊กกี้หมดกระสุนหรือน้ำมันเชื้อเพลิงจำเป็นต้องบินออกจากพื้นที่การรบ เวียดนามเหนือก็จะบุกโจมตีระลอกใหม่ โดยมีการปรับกำลังส่วนหนึ่งอ้อมเข้าตีทางด้านหลัง ทำให้ฝ่ายเราต้องแบ่งกำลังมายิงสกัดกั้น

การสู้รบอย่างรุนแรงยังคงดำเนินต่อไปเมื่อย่างเข้าวันใหม่ 11 มีนาคม พ.ศ.2515

 

11 มีนาคม

05.00 น. ข้าศึกเริ่มรุกเข้าประชิดฐานยิงธันเดอร์และยิงโจมตีด้วยอาวุธหนักจนกระทั่งไม่สามารถปฏิบัติการยิงได้ จึงได้ให้ฐานยิงวีนัสและไทเกอร์ซึ่งเป็นฐานยิง 2 แห่งเท่านั้นที่มีระยะยิงสนับสนุนเป้าหมายที่ซำทองได้ ทำการยิงช่วยอย่างหนักตลอดเวลา

ในตอนเช้าฝ่ายเราสามารถลำเลียงผู้บาดเจ็บโดย ฮ. ลงมาทำการปฐมพยาบาลที่ บก.ฉก.วีพี และส่งขึ้น บ. กลับอุดรธานีได้เป็นจำนวนมาก และยังสามารถส่งอาหารและกระสุนขึ้นไปเพิ่มเติมให้แก่หน่วยได้บ้าง ตามคำบอกเล่าของสปอตไลต์ แฟกซ์ประจำ พัน.ทสพ.606 ดังนี้

ฝ่ายเราเริ่มมีรายงานการบาดเจ็บและสูญเสียเข้ามายัง บก.พัน. เป็นจำนวนมาก “สปอตไลต์” จำได้ว่าตนเองต้องรายงานไปยังหน่วยเหนือว่าสถานการณ์วิกฤต ฝ่ายเรามีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากทุกกองร้อยรวมกันว่ากว่า 50 นาย

จากนั้นสปอตไลต์ได้ร้องขอการทำ “เมดิแวค” (Medical Evacuation : MEDIVAC) หรือการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากพื้นที่การรบซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมาจนกระทั่งทุกวันนี้

 

“การทำเมดิแวค ไม่เพียงแต่จะเป็นการช่วยชีวิตผู้ได้รับบาดเจ็บให้รอดตายเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่กำลังพลของฝ่ายเดียวกันไปพร้อมๆ กัน การนำคนเจ็บออกจากสมรภูมิ ทำให้พวกเขารู้ว่าหน่วยเหนือไม่ได้ทอดทิ้งผู้ที่อยู่ในแนวหน้า ทั้งๆ ที่การทำเมดิแวค ขณะที่การสู้รบยังประชิดติดพันอยู่ถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง

การทำเมดิแวคในครั้งนั้นถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เสี่ยงอันตรายและยากลำบากที่สุดตลอดระยะเวลาที่ผมปฏิบัติหน้าที่ในฐานะแฟกซ์ประจำกองพันทหารเสือพราน เนื่องจากทหารเวียดนามเหนือได้ทุ่มโถมกำลังเข้าตีที่ตั้งของกองพันอย่างหนักตั้งแต่เช้า

ยุทธวิธีที่ใช้ในครั้งนั้นก็คือ ฮ.จะเข้ามาบินวนอยู่เหนือพื้นที่สู้รบทางด้านบนในระยะสูงที่มีความปลอดภัยเพียงพอจากอาวุธต่อสู้อากาศยานของข้าศึก

ขณะเดียวกันเครื่องบินโจมตีของฝ่ายเราทั้ง OV 10 และเครื่องบิน T 28 รวมทั้งเครื่องบินสกายเรดเดอร์ หรือ A1 E ซึ่งเป็นเครื่องบินใบพัดความเร็วต่ำแต่ติดอาวุธได้ครบเครื่องทั้งจรวด ปืนกลอากาศ ระเบิด จะผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาโจมตีเป้าหมายรอบๆ ฐานที่ตั้งของกองพันอย่างหนักเป็นการกดดันข้าศึก

สำหรับเครื่องบินสกายเรดเดอร์ที่กล่าวมานี้จัดว่าเป็นเครื่องบินที่มีคุณลักษณะสอดคล้องกับการโจมตีสนับสนุนในระยะใกล้ชิดมากที่สุด เนื่องจากเขี้ยวเล็บของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบิดไวต์ฟอสฟอรัส หรือระเบิด WP (White Phosphorous) จัดเป็นอาวุธร้ายที่พวกเวียดนามเหนือเกรงกลัวเป็นอย่างมากเพราะระเบิด WP จะแตกตัวกลางอากาศเป็นสายสีขาวพุ่งลงมาครอบคลุมเป้าหมายด้านล่าง ซึ่งเจ้าไวต์ฟอสฟอรัสที่ว่ามานี้หากสัมผัสกับสิ่งใดสิ่งนั้นก็จะลุกไหม้ไม่เว้นแม้แต่เนื้อหนังมนุษย์

การที่มีเครื่องบินหลายประเภทเข้ามาโจมตีสนับสนุนเพื่อเปิดทางให้แก่ ฮ.พยาบาลทั้ง 5 ลำจำเป็นจะต้องมีการติดต่อประสานงานอย่างใกล้ชิดและถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนหรือเกิดช่องว่างให้ข้าศึกยิงขัดขวางการลงสู่พื้นของ ฮ.พยาบาลได้

ด้วยเหตุนี้จึงต้องให้แฟกซ์ ‘โคร์บาร์’ เข้ามาช่วยทำหน้าที่ติดต่อวิทยุอีกทางหนึ่ง ขณะที่ผมไปกำกับดูแลการจัดเตรียมผู้บาดเจ็บที่จะส่งกลับ โดยให้ทุกคนไปรวมตัวกันที่เขตลงจอดหรือ Landing Zone และเรียงลำดับความจำเป็นเร่งด่วนตามอาการบาดเจ็บของแต่ละคน โดยผู้ที่มีอาการสาหัสจะถูกส่งกลับไปก่อนเมื่อ ฮ.เที่ยวแรกลงสู่พื้น ส่วนผู้ไม่สาหัสที่ยังรอได้ก็จะส่งกลับไปพร้อมกับ ฮ.เที่ยวต่อไปที่จะตามมาเป็นลำดับ การจัดเตรียมผู้บาดเจ็บเพื่อส่งกลับไปยังส่วนหลังนี้กระทำการท่ามกลางการระดมยิงด้วยอาวุธหนักของข้าศึกซึ่งยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

เมื่อทุกอย่างพร้อม ฝ่ายเราก็วิทยุแจ้งให้เครื่องบินทุกประเภททำการโจมตีพื้นที่โดยรอบกองพันเป็นการกดหัวให้อาวุธหนักของเวียดนามเหนือหยุดยิง ส่วนทหารราบที่เข้ามาก่อนหน้าแนวที่มั่นของฝ่ายเราก็ถูกทิ้งระเบิดและยิงกราดจนไม่อาจระดมปืนเข้าสู่เป้าหมายได้ถนัดเหมือนในตอนแรก

จังหวะนี้เอง ฮ.พยาบาลของฝ่ายเราจะจู่โจมลงสู่พื้นดินอย่างเร็วที่สุด ซึ่ง ฮ.พยาบาลที่บินวนรออยู่บนท้องฟ้าจำนวน 5 ลำที่กล่าวมานี้ แต่ละลำจะสามารถลำเลียงผู้บาดเจ็บได้ไม่เกิน 5 นายเท่านั้น

ทันทีที่นักบินซึ่งทำหน้าที่ควบคุม ฮ.พยาบาลนำเครื่องลงแตะพื้น ฝ่ายเราที่รออยู่จะใช้เวลาสั้นที่สุดในการลำเลียงผู้บาดเจ็บขึ้นเครื่อง จากนั้น ฮ.ลำแรกก็จะบินออกไปเพื่อเปิดโอกาสให้ ฮ.ลำต่อๆ ไปมาโฉบลงสู่พื้นเพื่อรับผู้บาดเจ็บตามลำดับในจังหวะต่อเนื่อง…

…การทำเมดิแวคในครั้งนั้นสามารถส่งผู้บาดเจ็บกลับไปได้กว่า 20 คน ทำให้ผมรู้สึกภาคภูมิใจและดีใจมากที่ช่วยให้คนเหล่านั้นรอดชีวิตและผมก็ไม่ได้ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับนักบินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ตอนที่ ฮ.ลงจอด ผมยังช่วยประคองหรือหามหิ้วผู้บาดเจ็บที่เลือดโทรมกายไปขึ้นเครื่องด้วยเช่นกัน

เมื่อ ฮ.ลำสุดท้ายบินจากไป ผมแหงนหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้าและรู้สึกมีความสุขอย่างบอกไม่ถูกแม้จะเป็นเพียงความรู้สึกเพียงแวบเดียวก็ตาม และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ฝ่ายเราสามารถส่งผู้บาดเจ็บออกจากพื้นที่การรบอย่างที่ต้องการ เพราะหลังจากนั้นเป็นต้นไป ข้าศึกก็โหมระดมโจมตีฝ่ายเราอย่างหนักอีกชนิดแทบจะโงหัวไม่ขึ้น และที่หนักที่สุดก็คือทหารเวียดนามเหนือใช้ปืนรถถังยิงถล่มในวิถีตรงจนแผ่นดินสะท้านสะเทือน

ฝ่ายเรามองเห็นถนัดตาว่าลวดหนามกระจายพร้อมกับเสียงระเบิดบึ้ม เมื่อกระสุนปืนรถถังกระทบเป้า กระสุนบางนัดถล่มเข้าใส่หลังคาบังเกอร์จนพังยุบลงไป ส่วนทหารราบของพวกมันก็เข้ามาเกาะติดหน้าแนวของฝ่ายเราอีกครั้งและระดมยิงเข้าใส่ด้วยปืนกลและปืนอาก้าอย่างหนัก

ฝ่ายเราแทบจะใช้วิทยุติดต่อกันไม่ได้เลย เพราะถ้าโผล่เสาอากาศขึ้นไปเมื่อไหร่ ข้าศึกก็จะยิงเข้าใส่จุดนั้นทันที

สิ่งที่บ่งชี้ว่าทหารเวียดนามเหนือได้บุกขึ้นมาจนสามารถวางตัวอยู่ในระดับเดียวกับฝ่ายเราได้ก็คือลักษณะของวิถีกระสุนที่ยิงเข้ามา กล่าวคือ ในช่วงแรกของการรบ วิถีกระสุนจากการยิงของทหารเวียดนามเหนือจะพุ่งขึ้นสูงข้ามศีรษะของฝ่ายเราไปยังเนินด้านหลังเนื่องจากที่ตั้งของกองพันอยู่บนชัยภูมิสูงข่มทำให้ข้าศึกต้องบุกขึ้นมาจากเนินทางด้านล่าง

แต่หลังจากเวลา 10.00 น.เป็นต้นไป วิถีการยิงด้วยปืนเล็กของข้าศึกก็พุ่งเข้ามาเป็นแนวระนาบ แสดงให้เห็นว่าคนยิงขึ้นมาวางตัวอยู่ในระดับเดียวกับที่มั่นของฝ่ายเราได้หมดแล้ว เมื่อถึงตอนนั้นเรามองเห็นแล้วว่าข้าศึกโผล่ขึ้นมาร้องยั้วเยี้ยอยู่ห่างจากแนวรั้วลวดหนามที่พังทลายของฝ่ายเราเพียงไม่เท่าไหร่…

…เครื่องบินได้พยายามช่วยยิงโจมตีป้องกันให้กับฝ่ายเราอย่างเต็มที่แล้ว แต่เมื่อกระสุนหมด น้ำมันหมด พวกเขาก็ต้องกลับไป จึงทำให้เกิดช่องว่าง ประกอบกับในเวลานั้น ทหารเสือพรานทุกกองพันต่างก็ถูกข้าศึกทุ่มโถมกำลังเข้าโจมตีพร้อมๆ กัน ทำให้เครื่องบินที่มาใหม่ต้องแยกไปช่วยเหลือกองพันอื่นจนไม่สามารถกลับมาช่วยกองพันของผมได้อย่างต่อเนื่องเหมือนที่เคยทำมาในตอนเช้า”

 

ดังนั้น เมื่อถึงจังหวะที่นักบินหมดกระสุนและน้ำมันเชื้อเพลิง ท้องฟ้าที่เคยมีอากาศยานหลายประเภทปรากฏตัวอยู่จึงมีแต่เพียงความว่างเปล่า และนั่นจึงเป็นโอกาสให้กำลังภาคพื้นดินของทหารเวียดนามเหนือซึ่งมีจำนวนมากกว่าฝ่ายเราหลายเท่าสามารถถาโถมเข้ากดดันเป้าหมายได้ตามต้องการ

ทหารเสือพรานของไทยแทบไม่มีโอกาสโงหัวขึ้นมาต่อสู้ได้เลย สิ่งเดียวที่ทหารเสือพรานของไทยบางคนจะทำได้ก็คือการโผล่ปากกระบอกปืนขึ้นไปแล้วเหนี่ยวไกส่งเดชโดยมองไม่เห็นเป้าหมาย อาศัยเสียงปืนเพื่อสร้างกำลังใจให้แก่ตนเอง

สปอตไลต์บันทึกการตัดสินใจของผู้บังคับกองพันซึ่งหารือเรื่องการถอนตัวว่า

“สิ่งที่เป็นเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ผู้พันของผมตัดสินใจถอนตัวก็คือการที่ พัน.ทสพ.607 ซึ่งอยู่ด้านหน้าของเราตัดสินใจถอนตัวออกจากแนวรบเป็นกองพันแรก

ในตอนแรกที่ พัน.ทสพ.607 ถอนตัว ผมยังไม่รู้ เพราะวิทยุเรียกไปก็เงียบเสียงไม่มีใครตอบกลับมา

จนกระทั่งเมื่อถึงเวลา 14.00 น. ผมจึงบอกกับผู้พันอีกครั้งหนึ่งว่าแล้วแต่ผู้พันจะตัดสินใจเถอะครับ ‘ถ้าจะสู้ตายตามคำสั่ง ทุกๆ คนก็จะตายกันหมด แต่ถ้าถอนตัวก็ยังพอมีโอกาสรอด’

ในที่สุดผู้พันเขนยก็ตัดสินใจถอนตัว ซึ่งกำลังพลบางส่วนต้องสูญเสียระหว่างการถอนตัว แต่ก็สามารถเข้าสมทบกับกำลังของ พัน.ทสพ. 610 แล้วเดินทางกลับล่องแจ้งได้ด้วยความยากลำบาก

 

12 มีนาคม

ล่องแจ้ง

11.00 น. ข้าศึกยิงถูกที่รวมกองกระสุนบริเวณลานจอดด้านตะวันออกเฉียงใต้สนามบินล่องแจ้งจนเกิดการระเบิดซ้อนและเพลิงไหม้ต่อเนื่องอย่างหนักถึง 6 ชั่วโมงติดต่อ ฝ่ายเราสูญเสียกระสุนและวัตถุระเบิดในบริเวณนั้นหลายหมื่นนัด และสนามบินล่องแจ้งได้รับความเสียหายอย่างหนัก สะเก็ดระเบิดกระจายไปทั่วบริเวณและเกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนในแถบนั้นอย่างหนักจนกระทั่งค่ำเพลิงจึงสงบลง

15.30 น. ข้าศึกได้ยิงกระสุนโฆษณามาระเบิดขึ้นในบริเวณทิศเหนือของสนามบิน ใบปลิวโฆษณามีใจความให้ทหารไทยยอมจำนนฝ่ายเวียดนามเสีย และมีข้อความโจมตีสหรัฐ และรัฐบาลไทย นอกจากนั้น ใบปลิวนี้ยังสามารถใช้เป็นบัตรผ่านแดนเข้าหาฝ่ายเวียดนามเหนือได้โดยสัญญาว่าจะส่งกลับภูมิลำเนาเดิมในภายหลัง

แนวรบทั่วไปในล่องแจ้งยังคงไม่มีเหตุการณ์รุนแรง นอกจากการต่อสู้กันด้วยปืนใหญ่และอาวุธหนัก

ตลอดคืนนั้น ป้อมบินทิ้งระเบิดขนาดหนัก B-52 ของกองทัพอากาศสหรัฐได้มาทิ้งระเบิดปูพรมฝ่ายข้าศึกอีกหลายเที่ยวบินซึ่งคาดว่าคงทำให้ฝ่ายข้าศึกได้รับความเสียหายอย่างหนักเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการโจมตีของ B-52 ในตอนเย็นต่อที่ตั้งอาวุธหนักข้าศึกทำให้ปืนใหญ่ข้าศึกสงบการยิงลงได้เป็นส่วนมาก

 

13 มีนาคม

ตลอดวันนี้ ข้าศึกไม่มีการปฏิบัติการรบด้วยกำลังทางภาคพื้นดินแต่อย่างใด นอกจากจะยิงอาวุธหนักเข้าสู่ที่ตั้งต่างๆ ของฝ่ายเราเป็นระยะๆ ทั้งๆ ที่เครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐและลาวปฏิบัติการอยู่ทั่วยุทธบริเวณตลอดเวลาก็ตาม

13.00 น. ข้าศึกยิงปืนใหญ่ 130 มายังบริเวณวังเจ้ามหาชีวิต ทำให้คลังวัตถุระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงต่อเนื่องกันประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากนั้น ยังยิงไปถูกลานจอด ฮ. หลังวังทำให้ทหารเสือพรานซึ่งลงจาก ฮ.ที่บริเวณนั้นเสียชีวิตไป 4 นาย

ปืนใหญ่ฝ่ายเราทุกฐานยิงต่อต้านอย่างหนัก ตอนค่ำ B-52 ของสหรัฐ และ SPOOKY ผลัดกันมาโจมตีทิ้งระเบิดบริเวณซำทองและหน้าสกายไลน์หลายเที่ยว