ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ชัชชาติบนเส้นทาง สู่การเมืองแห่งอนาคต

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กำลังเป็นความหวังใหม่ของคนไทยทุกคน

นอกจากชัยชนะของชัชชาติกำลังเปลี่ยนการเมืองกรุงเทพฯ ไปแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ผลสะเทือนจากชัยชนะของชัชชาติอาจทำให้การเมืองในประเทศเปลี่ยนไปด้วย ถึงแม้ทุกคนในรัฐบาลจะยังไม่อยากยอมรับเรื่องนี้ตรงๆ

จริงอยู่ว่าผลเลือกตั้งกรุงเทพฯ ไม่ได้ชี้ผลเลือกตั้งระดับประเทศโดยตรง เพราะในอดีตที่ประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2547-2559 ประชาธิปัตย์กลับไม่เคยชนะอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งระดับประเทศ ส่วนเพื่อไทยที่ชนะระดับประเทศทุกครั้งตั้งแต่ 2544 กลับส่งใครชิงผู้ว่าฯ กทม.ก็แพ้ทุกที

คุณอนุทิน ชาญวีรกูล พูดถูกว่าขณะที่คนกรุงเทพฯ มีชัชชาติแลนด์สไลด์เป็นของตัวเอง คนบุรีรัมย์ก็เลือกภูมิใจไทยแลนด์สไลด์ทั้งจังหวัด

แต่ความจริงคือชัยชนะของภูมิใจไทยในบุรีรัมย์ไม่มีทางมีผลต่อการเลือกตั้งระดับประเทศ

แต่ชัยชนะของชัชชาตีมีศักยภาพจะส่งผลต่อการเลือกตั้งหลังจากนี้เหลือเกิน

การเลือกตั้งหลังปี 2549 มีศูนย์กลางที่การต่อสู้ของพวก “ทักษิณ ชินวัตร” กับ “ต้านทักษิณ” ซึ่งแตกตัวเป็นการต่อสู้ระหว่างเผด็จการ/ประชาธิปไตย, ทหาร/ประชาชน, เพื่อไทย/ประชาธิปัตย์, พันธมิตร/คนเสื้อแดง, กปปส./นปช., เพื่อไทย/พลังประชารัฐ ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีผู้ชนะอย่างเด็ดขาดเลย

แม้สภาพของประเทศไทยหลังปี 2549 คือการเมืองแบบแบ่งขั้วซึ่งฝ่ายที่เรียกรวมๆ ว่าพวก “ทักษิณ” หรือพวก “ประชาธิปไตย” ชนะตลอดในการเลือกตั้ง ซ้ำยังครอบครองความยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องวัฒนธรรม แต่อีกฝ่ายก็ยึดกลไกรัฐ, สถาบันหลักๆ และกองทัพได้เกือบสมบูรณ์

ประเทศไทยหลังปี 2549 วนเวียนอยู่กับความขัดแย้งที่ไม่มีใครชนะอย่างเบ็ดเสร็จ ยิ่งกว่านั้นคือความพยายามใช้กำลังเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายอย่างที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกทำในปี 2557 กลับทำให้ประเทศขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้นจนไม่มีอะไรที่งอกเงยและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเลย

ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติในทุกสังคม แต่ความขัดแย้งที่ต้องการเอาชนะฝ่ายอื่นอย่างราบคาบนั้นไมใช่เรื่องในสังคมปกติ ไม่ต้องพูดถึงการเกิดความขัดแย้งแบบนี้ในสังคมที่ไม่มีฝ่ายใดเอาชนะอีกฝ่ายได้แท้จริง เพราะในที่สุดจะเกิดความขัดแย้งที่นำไปสู่การเมืองแห่งการทำลายล้างอย่างถาวร

ประเทศไทยหลังปี 2549 มีรัฐประหาร 2 ครั้ง, ฆ่าหมู่ประชาชน 1 รอบ , ดำเนินคดีคนเห็นต่างนับไม่ถ้วน, นายกฯ จากการเลือกตั้งถูกยัดคดี 4 ราย รวมทั้งใช้รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองไป 4 ฉบับ หรือพูดง่ายๆ คือเป็นการเมืองที่จมปลักกับความขัดแย้งที่ฝ่ายหนึ่งไม่ยอมอีกฝ่ายเกือบ 20 ปี

ประเทศไทยเปลี่ยนนายกฯ ไปแล้ว 7 รายในระยะเวลา 16 ปีจากรัฐประหาร 2549 จนถึงปี 2565 ซึ่งเท่ากับนายกฯ แต่ละคนจะอยู่ในตำแหน่งเฉลี่ยคนละ 2 ปีเศษๆ

แต่ถ้านับจากปี 2549 จนมาถึงปี 2557 ที่ประยุทธ์ยึดอำนาจ เราก็จะมีนายกฯ 6 คน โดยแต่ละคนอยู่ในตำแหน่งเฉลี่ย 1 ปี 4 เดือนเท่านั้นเอง

สังคมไทยไม่มีผู้นำทางการเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันเกือบ 20 ปี ยิ่งกว่านั้นคือความพยายามเปลี่ยนผู้นำด้วยวิธีต่างๆ ไม่สามารถได้มาซึ่งผู้นำที่ทุกฝ่ายยอมรับ

หรืออีกนัยคือสังคมไทยไม่มีตัวคนที่ฝ่ายต่างๆ พอจะยอมรับได้ รวมทั้งไม่มีวิธีคิดว่าอะไรคือคุณสมบัติของผู้นำที่ยอมรับได้ร่วมกัน

ชัชชาติชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ ด้วยคะแนนราว 1.4 ล้าน ซึ่งสูงกว่าอดีตผู้ว่าฯ ทุกคน และถ้าคำนึงว่าคะแนนผู้สมัครผู้ว่าฯ จากฝ่ายเพื่อไทยมักอยู่ที่ 1 ล้าน ก็เท่ากับชัชชาติได้คะแนนจากนอกกลุ่มนี้ 4 แสน หรือเท่ากับพลังเงียบ, ผู้ลงคะแนนหน้าใหม่ และคนเคยเลือกพรรคอื่นหันมาเลือกชัชชาตินั่นเอง

ชัชชาติเป็นคนแรกในช่วงหลังปี 2549 ที่ดึงคะแนนจากคนฝ่ายอื่นสำเร็จ หรือพูดอีกแบบคือชัชชาติเป็นนักการเมืองคนแรกหลังรัฐประหาร 2549 ที่สลายการแบ่งขั้วทางการเมืองในกรุงเทพฯ ลงไปได้ ซ้ำยังได้ความยอมรับจากประชาชนมากมีคนลงคะแนนเลือกท่วมท้นเกือบล้านสี่แสนคน

แน่นอนว่ามีคนที่พยายามก้าวข้ามความขัดแย้งแบบแบ่งขั้วในสังคมไทยมาก่อนชัชชาติหลายคน แต่ความพยายามทั้งหมดจบด้วยความล้มเหลว เพราะทุกคนที่พูดเรื่องนี้ล้วนพัวพันกับการแบ่งขั้วทางการเมืองมากจนคนไม่เชื่อ, ไม่ยอมรับ หรือกระทั่งระแวงว่าพูดเพื่อสร้างภาพทางการเมือง

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณอุตตม สาวนายน เป็นตัวอย่างของคนที่พูดแบบที่ชัชชาติทำ แต่คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ขณะที่มีการเข่นฆ่าประชาชนปี 2553 จนยากที่ใครจะเชื่อ

ส่วนคุณอุตตมก็พัวพันกับอำนาจนอกระบบจนคนมองว่าพูดเรื่องนี้เพื่อหลอกเอาคะแนนเสียง ไม่ว่าจะในนามพลังประชารัฐหรือสร้างอนาคตไทย

คุณชัชชาติเป็นนักการเมืองไม่ต่างจากคุณอภิสิทธิ์และคุณอุตตม ซ้ำตำแหน่งล่าสุดของคุณชัชชาติก่อนสมัครผู้ว่าฯ คือแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ภูมิหลังจึงควรเป็นกำแพงขัดขวางไม่ให้คนกลุ่มอื่นไว้ใจคุณชัชชาติ

แต่ผลการเลือกตั้งก็สะท้อนว่าคุณชัชชาติไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เลย

ตอบได้ยากว่าอะไรทำให้คุณชัชชาติทำเรื่องนี้สำเร็จ แต่ที่แน่ๆ คือคุณชัชชาติเป็นนักการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย มีตำแหน่งรัฐมนตรียุคนายกฯ จากการเลือกตั้ง ไม่รับตำแหน่งตามคำเชิญคณะรัฐประหาร ถูกประยุทธ์จับหลังยึดอำนาจ คุณชัชชาติจึงไม่มีมลทินในสายตาคนส่วนใหญ่เลย

คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ, คุณรสนา โตสิตระกูล และกองเชียร์การรัฐประหารใช้เรื่องเพื่อไทยโจมตีชัชชาติ แต่คำโจมตีนี้ทำลายคนพูดมากกว่าคุณชัชชาติ คนปกติไม่ได้รังเกียจนักการเมืองอย่างที่ “สลิ่ม” ปลุกปั่นให้รังเกียจ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือวิธีคิดของคุณชัชชาติเอง

คุณชัชชาติโดดเด่นเรื่อง Empathy หรือ “ความเข้าใจคนอื่น” คุณชัชชาติไม่ว่าอะไรที่ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นคำร้องให้ กกต.ไม่รับรองผล เตือนสื่อว่าอย่าเอาคุณชัชชาติไปเทียบกับคุณประยุทธ์ และโพสต์ปกป้อง “รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” ที่ตั้งคำถามเรื่อง 112 ขณะที่กองเชียร์คุณชัชชาติบางคนด่ารุ้งราวอาชญากร

ไม่ว่าจะในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย, รัฐมนตรี และผู้สมัครผู้ว่าฯ คุณชัชชาติไม่เคยตอบโต้ใครในลักษณะ “ฉอด” หรือต่อปากต่อคำ

คุณชัชชาติจึงไม่เคยปั่นความขัดแย้งหรือเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ต่อให้จะมีคนนินทาว่าการวางตัวแบบนี้ไม่สู้เพื่อพรรคหรือประชาธิปไตย 100%

คุณชัชชาติทำทีมผู้ว่าฯ ที่หลายคนทำงานคนจนและชุมชนเมือง พันธมิตรคุณชัชชาติจึงมาจากประชาสังคม บางส่วนคือ สสส.และ พอช.ซึ่งถูกโจมตีอย่างไม่เป็นธรรมว่าเป็น “สลิ่ม” คุณชัชชาติจึงทำให้ประชาธิปไตยหมายถึงการร่วมมือทำเพื่อส่วนรวม

ไม่ใช่การชี้หน้าด่าว่าคนอื่นไม่เป็นประชาธิปไตย

มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้คุณชัชชาติเป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่ทำงานได้กับทุกคน แต่เหตุผลสำคัญที่สุดมาจากวิธีคิดในสมองของคุณชัชชาติเอง ทั้งที่พื้นฐานคุณชัชชาติมาจากครอบครัวชนชั้นนำที่แสนอนุรักษนิยม

คุณชัชชาติคุยกับผมช่วงเลือกตั้ง 2562 ว่าอยากส่งหนังสือมาให้ผมอ่านเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนั้นชื่อ How Democracies Die ซึ่งคุณชัชชาติให้เลขาฯ ส่งให้ผมหลังยุติบทบาทกับเพื่อไทยแล้ว คุณชัชชาติเล่าว่าคุณทักษิณคือคนที่แนะนำให้คุณชัชชาติอ่านหนังสือเล่มนี้ จากนั้นหนังสือมาถึงผมอีกที

How Democracies Die พูดถึงความล่มสลายของประชาธิปไตยว่าไม่ได้เกิดจากเผด็จการทหาร แต่มาจากความอ่อนแออย่างต่อเนื่องของสถาบันหลักอย่างศาล, สื่อ หรือสถาบันการเมือง รวมทั้งความถดถอยของ “บรรทัดฐาน” หรือความเชื่อและค่านิยมเกี่ยวกับประชาธิปไตยทั้งหมดในสังคม

ประเด็นสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ในบทต้นๆ คือประชาธิปไตยสร้างจาก “ความอดทนต่อกันและกัน” (Mutual Toleration) และ “ความอดกลั้น” (Forbearance) พูดง่ายๆ คือประชาธิปไตยไมใช่การกำจัดอีกฝ่าย แต่คือการอยู่ร่วมกันให้ได้

และไม่ใช้อำนาจอย่างล้นเกินเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามตัวเอง

คุณชัชชาติหลังชนะผู้ว่าฯ พูดบ่อยเรื่องคนเราเห็นต่างกันได้ แต่ต้องอยู่ร่วมกัน งานแรกที่คุณชัชชาติทำจึงได้แก่การเชิญคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และ ส.ก.จากพรรคอื่นมาลงพื้นที่ร่วมกันทั้งหมด คำพูดและการกระทำแบนี้ไม่ใช่งานเป็นผู้ว่าฯ ไม่เคยมีผู้ว่าฯ คนอื่นทำมาก่อน แต่คุณชัชชาติทำเพราะวิธีคิดคุณชัชชาติเอง

คุณชัชชาติคุยกับผมทางโทรศัพท์หลังปิดลงคะแนนว่าเราควรมาทำงานด้วยกัน ตอนนั้นผลเลือกตั้งยังไม่ออก ความหมายที่คุณชัชชาติพูดคือเราทุกคนมีเรื่องต้องทำอีกเยอะเพื่อให้ประเทศดีขึ้น หลายฝ่ายทำให้ประเทศถดถอยจากความขัดแย้งที่ไม่สร้างสรรค์ และทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรดีกับประเทศเลย

สำหรับคนรักประชาธิปไตยที่รักประเทศจริงๆ ความขัดแย้งแบบทำลายล้างคือเครื่องมือที่เผด็จการจนครอบงำประเทศไทยได้ตั้งแต่ปี 2549

หนทางสู่การฟื้นฟูประชาธิปไตยไม่ใช่การด่าหรือการกวาดล้างอีกฝ่าย

แต่คือการทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยทำงานได้จริงๆ

ไม่มีทางลัดสู่ประชาธิปไตย ยกเว้นแต่การสร้างประชาธิปไตยที่ทำงาน ทำงาน และทำงาน