เอกนาถ : นักบุญผู้ต่อต้านระบบวรรณะ / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

เอกนาถ

: นักบุญผู้ต่อต้านระบบวรรณะ

 

ผมแทบไม่ได้เขียนอะไรตามกระแสข่าวเลย แม้แต่ข่าวที่เกี่ยวพันกับความเชื่อทางศาสนา

ซึ่งคงทำให้บางท่านผิดหวังจึงต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้

แต่เนื่องจากผมอยากเขียนเรื่องราวของบรรดานักบุญฮินดูทั้งหลายมานานแล้ว ประจวบกับช่วงเวลานี้ ผมพอมีเวลาพักผ่อนและมีจิตใจสงบอยู่บ้าง

จึงอยากจะเขียนเรื่องนักบุญไว้เป็นสิ่งชุบชูใจตนเองไปจนกว่าจะหมดที่คิดไว้ และหวังว่าจะเกิดประโยชน์ไม่มากก็น้อย

วันนี้มาถึงคิวของนักบุญที่ผมชื่นชอบมากที่สุดท่านหนึ่ง คือเอกนาถ (Sant Eknath)

 

ในบรรดานักบุญทั้งหลายของพระวิโฐพาเจ้า เอกนาถถือกำเนิดในตระกูลที่สูงส่งที่สุด แต่น้อมตัวลงต่ำที่สุดเช่นกัน

เขาถือกำเนิดในวรรณะพราหมณ์ แต่ต่อต้านวิธีคิดและความเชื่อของพวกพราหมณ์

เอกนาถใช้ชีวิตเป็นฆราวาส มีลูกเมีย ทำมาหากินอย่างคนทั่วไป

ทว่า ความเป็นปราชญ์และดวงใจที่บริสุทธิ์ของเอกนาถนั้น แม้แต่พระวิโฐพาผู้เป็นสรณะของเอกนาถเองยังต้องมาอยู่รับใช้เขา

เอกนาถถือกำเนิดในปีคริสต์ศักราช 1533 บางตำราอาจมียักเยื้องไปบ้างไม่กี่ปี ณ เมืองไพถาน (Paithan) รัฐมหาราษฎร์

ท่านเกิดในตระกูลกุลกรณี ซึ่งเป็นตระกูลพราหมณ์ ทั้งบิดาและมารดาเสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเยาวัย แต่ก็ได้รับการดูแลอย่างดีจากญาติ ทั้งยังได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุด ท่านจึงรู้ทั้งภาษาสันสกฤตและพระเวทตั้งแต่อายุยังน้อย

ทวดของเอกนาถมีความศรัทธาในคุรุวารกรีท่านหนึ่ง คือชนารทนะสวามี เมื่ออายุได้สิบสองปี เอกนาถจึงไปฝากตัวเป็นศิษย์ของคุรุท่านดังกล่าว ได้เล่าเรียนระบบปรัชญาต่างๆ เช่น ไวเศษิกะและเวทานตะ

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าความรู้ทางวิชาการ เอกนาถได้รับความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและการปฏิบัติโยคะ

เอกนาถเคารพรักครูมาก ถึงขนาดในบทกวีส่วนใหญ่ของท่าน มักเรียกตนเองว่า “เอกนาถศิษย์ของชนารทนะ”

 

เมื่อชนารทนะสวามีเห็นว่า เอกนาถได้บรรลุถึงความเข้าใจต่อพระเจ้าแล้ว ท่านจึงสั่งให้เอกนาถออกเดินทางแสวงบุญไปยังตรยัมพเกศวรในมืองนาสิก บางตำนานกล่าวว่า ท่านได้เดินทางไปยังพาราณสีและรามเมศวรัมด้วย

การเดินทางของเอกนาถได้สร้างตำนานที่ผู้คนจดจำ ตามประเพณีปฏิบัติแต่โบราณ ผู้แสวงบุญจะนำน้ำทะเลจากราเมศวรัมมาสรงพระศิวลึงค์วิศวนาถที่พาราณสี แล้วตักน้ำจากแม่น้ำคงคาในพาราณสีไปสรงยังพระศิวลึงค์รามนาถสวามีในราเมศวรัม ใช้เวลายาวนานหลายเดือนหรือเป็นปีๆ

เอกนาถหิ้วน้ำคงคาในหม้อโลหะจากพาราณสี การเดินทางอันยาวไกลใกล้สิ้นสุดลง อีกไม่นานเขาก็จะถึงเมืองราเมศรัมปลายทางแล้ว แต่ในระหว่างนั้น เขาและคณะแสวงบุญได้พบลาตัวหนึ่งกำลังนอนใกล้สิ้นใจด้วยความหิวโหย เอกนาถตัดสินใจเทน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ตนแบกมายาวนานให้ลาตัวนั้นดื่ม

ผู้คนต่างงุนงงและตกใจกับการกระทำดังกล่าว อีกไม่นานการแสวงบุญก็จะจบลงอย่างสวยงามตามประเพณี แต่ทำไมเอกนาถกลับเอาน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้นให้ลาดื่มเสีย เขาพูดสั้นๆ เพียงว่า “เราได้สรงพระราเมศรัมซึ่งสถิตอยู่ในลาตัวนั้นแล้ว” และเดินทางกลับบ้าน

เขาแต่งงานกับคิริชาพาอี ซึ่งมีหัวใจอันกว้างขวางและเมตตาไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะดึกดื่นแค่ไหน หากมีใครหิวโหยมาที่บ้าน คิริชาพาอีจะต้อนรับคนเหล่านั้นด้วยอาหารร้อนๆ ใหม่ๆ เสมอ

สิ่งที่ท้าทายต่อชุมชนพราหมณ์ด้วยกัน คือเอกนาถไม่เคยถือข้อปฏิบัติเรื่องวรรณะเลย เขากล่าวว่า ไม่ว่าใครก็เท่าเทียมกันในสายตาของพระเจ้า เขาไม่เห็นความแตกต่างแม้แต่ระหว่างชาวฮินดูหรือมุสลิม ซึ่งมีอิทธิพลในทางการปกครองในเวลานั้นแล้ว

สิ่งที่ชนารทนะสอนเอกนาถคือพระเจ้าทรงสถิตอยู่ในสรรพสิ่ง เอกนาถยึดถือคำสอนนี้ตลอดชีวิต

 

ด้วยการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม นั่นทำให้พวกพราหมณ์ในชุมชนจ้องจะเล่นงานเขาบ่อยๆ

คราวหนึ่ง บ้านของเอกนาถจะจัดพิธีศราทธทำบุญแด่บรรพชน (เทพบิดรหรือปิตฤ) โดยปกติพิธีนี้จะมีการเลี้ยงอาหารอย่างดีแก่พราหมณ์เช่นเดียวกับเราเลี้ยงพระอุทิศให้บรรพชน คิริชาพาอีตระเตรียมอาหารมากมายในครัวเพื่อเลี้ยงพราหมณ์จำนวนมาก (หากพราหมณ์จะทำบุญหรือทำพิธีก็ต้องเชิญพราหมณ์ด้วยกันเป็นธรรมเนียมปกติ)

ทว่า หน้าบ้านของเอกนาถ กลุ่มคนงานวรรณะต่ำและคนนอกวรรณะต่างพากันมายืนมุงเพราะกลิ่นอาหารหอมฟุ้ง เอกนาถเห็นคนหิวโหยดังกล่าว ก็รีบเชิญเข้ามากินอาหารที่เตรียมไว้ให้พราหมณ์ ทั้งยังให้คนเหล่านั้นพาครอบครัวมาด้วย

เมื่อพวกพราหมณ์มาถึง แม้คิริชาพาอีจะเตรียมอาหารเพิ่ม แต่พราหมณ์ก็ไม่พอใจอย่างมาก กล่าวว่า บรรดาบรรพชนของเอกนาถจะต้องลำบากแน่เพราะแทนที่จะเลี้ยงพราหมณ์ ดันเอาไปเลี้ยงจัณฑาลเสีย

ตำนานเล่าว่า ทันใดนั้นพวกพราหมณ์กลับเห็นคนวรรณะต่ำที่กำลังกินอาหารกลายเป็นเทพบรรพชนของเอกนาถมากินอาหารในพิธีด้วยตัวเอง

 

บางครั้งคนนอกวรรณะอยากเชิญเอกนาถไปกินอาหารที่บ้านด้วยอยากทำบุญกับพราหมณ์ เอกนาถก็รับเชิญไปกินด้วยความยินดี ทำให้คนทั้งชุมชนนินทาว่าร้ายเขา แต่เอกนาถกลับกล่าวเพียงว่า “ผู้ใดนินทาว่าร้ายเรา ก็ได้ช่วยชำระล้างอกุศลกรรมของเราไปแล้ว ท่านเหล่านี้จึงเป็นดั่งคุรุของเรา เราจึงขอนอบน้อมต่อท่านเหล่านี้”

ต้องบอกว่า ข้อห้ามเรื่องอาหารเป็นหนึ่งในข้อห้ามสำคัญเรื่องวรรณะ คนต่างวรรณะกันจะไม่กินอาหารด้วยกันเด็ดขาด และคนวรรณะสูงจะไม่กินอาหารที่ปรุงโดยคนวรรณะต่ำซึ่งถือว่ามีมลทิน ขนาดแค่จะจ้องมองขณะกินก็ยังไม่ได้ แม้แต่มหาตมะคานธีซึ่งเป็นคนวรรณะแพศย์ยังเล่าว่าได้เคยจ้างพราหมณ์มาเป็นคนครัว เทวสถานใหญ่ๆ ต่างใช้พราหมณ์เป็นคนครัวทั้งนั้น

การที่เอกนาถเชิญและรับเชิญไปกินอาหารในบ้านคนวรรณะต่ำจึงถือเป็นเรื่องที่แหกกฎและข้อห้ามเกี่ยวกับวรรณะอย่างร้ายแรงทีเดียว

ศาสนาซิกข์ซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง จึงกำหนดให้คุรุทวาราต้องมีโรงครัว ซึ่งทุกๆ คนไม่ว่าเป็นใครจะต้องนั่งกินอาหารจากหม้อเดียวกับอย่างเท่าเทียม เป็นความพยายามสลายข้อห้ามนี้

เอกนาถโต้ตอบความเกลียดชังด้วยความรัก บางครั้งพวกพราหมณ์ก็ส่งคนมากลั่นแกล้ง เช่น บุกเข้ามาบ้านขณะเอกนาถกำลังทำบูชาพระ เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาจะบูชาคนที่บุกเข้ามาเช่นเดียวกับที่บูชาพระ ตามคติ “แขกที่มาเยือนคือพระเจ้า” (อติถิ เทโว ภวะ) บางครั้งก็ก่อกวนภรรยาของท่าน แต่ท่านก็จะบอกภรรยาให้ดูแลราวกับคนคนนั้นเป็นลูก

ครั้งหนึ่งท่านต้องลงอาบน้ำในแม่น้ำโคธาวารีตามวัตรปฏิบัติ แต่ทุกครั้งที่ขึ้นจากน้ำ มุสลิมคนหนึ่งก็ถ่มน้ำลายใส่ท่านด้วยความหมั่นไส้ ทำให้เอกนาถต้องลงกลับไปอาบน้ำใหม่ มุสลิมคนเดิมก็ทำเช่นนั้นอีก เอกนาถไม่กล่าวอะไร ได้แต่กลับลงไปอาบน้ำครั้งแล้วครั้งเล่า จนในที่สุดมุสลิมคนนั้นได้ทรุดตัวลงขออภัยท่าน

เอกนาถกลับกล่าวว่า เขาขอบใจที่โดนถ่มน้ำลายใส่ ทำให้เช้าวันนั้นเขาได้อาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์มากกว่าทุกๆ วัน!

 

เพราะหัวใจเอกนาถเป็นเช่นนี้ พระวิโฐพาจึงได้สำแดงพระองค์เป็นเด็กชายชื่อกัณฑิยา กฤษณัน มาอยู่รับใช้ในบ้านและคอยปกป้องดูแลเอกนาถถึงสิบสองปีดังที่ผมได้เคยเล่าไว้แล้ว

ผลงานที่สำคัญคือการรื้อฟื้น “ชญาเนศวรี” อรรถาธิบายภควัทคีตาในภาษาถิ่นของท่านชญาเนศวรขึ้นมาใหม่ ท่านเองก็ได้แปลคัมภีร์สันสกฤต เช่น ภาควัตปุราณะและรามายณะมาสู่ภาษามาราฐี เพื่อให้คนสามัญทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงคัมภีร์เหล่านี้ได้ เพราะสันสกฤตเป็นภาษาที่สงวนไว้แก่คนชั้นสูงเท่านั้น

เอกนาถยังได้แต่งกวีนิพนธ์อีกมากมายมหาศาล และชาวมาราฐียังคงขับร้องกันจนถึงปัจจุบัน

ท่านสิ้นชีวิตเมื่ออายุได้หกสิบหกปี ตำนานกล่าวว่า ท่านทิ้งร่างตนเองลงในแม่น้ำโคธาวารี เช่นเดียวกับนักบุญชญาเนศวรที่ท่านเคารพ

 

ผมขอจบบทความนี้ด้วยบทกวีสั้นๆ ของเอกนาถ ซึ่งแสดงให้เห็นภาพรวมของความคิดท่าน

“พึงเร่งเพ่งเพียรพิศคิดว่าพระเป็นดวงใจเรา

ตั้งจิตไม่ดูเบาไม่ว่าเราจะไปที่ใด

พระสถิตทุกแห่งหนในผู้คนในพืชไพร

ในนิทราสมาธิไซร้ไม่มีที่ไหนไม่มีพระองค์

เอกาศิษย์ชนาร์ทน์ขอโอกาสสรุปลง

มองไปอย่างบรรจงข้าเห็นทรงดำรงทุกสถาน”•