อะไรเปลี่ยนไป ในกฎหมายพรรคการเมืองที่แก้ไข/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

อะไรเปลี่ยนไป

ในกฎหมายพรรคการเมืองที่แก้ไข

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นกฎหมายลูกที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งที่ต้องมีการแก้ไขด้วยเหตุที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็นแบบใช้บัตรสองใบ และเปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น 400 : 100

โดยความเป็นจริง ตัวกฎหมายพรรคการเมืองอาจมีความเชื่อมโยงกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพียงไม่มาก แต่เนื่องจากรัฐสภาเห็นว่า หากจะแก้กฎหมายลูกในส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว ก็สมควรแก้กฎหมายพรรคการเมืองไปในคราวเดียว โดยหากมีประเด็นใดที่แก้ไขแล้ว สามารถส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ทำงานได้สะดวกขึ้น ก็สมควรแก้ไขไปในคราวเดียว

ในโอกาสที่ ร่างการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ผ่านการพิจารณาปรับแต่งโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญเป็นที่เรียบร้อยและส่งมอบให้แก่ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เพื่อบรรจุเป็นวาระการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในราวต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2565

มาดูกันว่ามีประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้

 

เพิ่มฐานสมาชิก โดยลดภาระประชาชน

เดิมการสมัครสมาชิกพรรคการเมือง กฎหมายกำหนดให้ต้องเสียค่าสมัครสมาชิกโดยมีอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงแบบรายปีไม่น้อยกว่า 100 บาท และตลอดชีพไม่น้อยกว่า 2,000 บาท

ตัวเลขดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่มากในสายตาของผู้ออกกฎหมาย แต่สำหรับประชาชนทั่วไปที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ การยอมจ่ายเงินถึง 100 บาทต่อปี หรือ 2,000 บาท สำหรับการเป็นสมาชิกตลอดชีพนั้นเป็นเรื่องยากลำบากซึ่งฝ่ายการเมืองทราบดี ทำให้ไม่สามารถขยายฐานจำนวนสมาชิกของพรรคได้อย่างรวดเร็ว

จากข้อมูลในปัจจุบันของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (มีนาคม 2565) มีคนไทยที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่รวม 1.2 ล้านคน โดยพรรคประชาธิปัตย์ มีสมาชิกมากที่สุด 98,987 คน อันดับสองคือ พรรคเสรีรวมไทย 67,755 คน ส่วนพรรคขนาดเล็กหรือพรรคตั้งใหม่ มีสมาชิกอยู่ในระดับหลักสิบหรือหลักร้อยเท่านั้น

จำนวนตัวเลขดังกล่าวเมื่อเทียบสัดส่วนกับประชาชนไทยที่มีสิทธิในการเลือกตั้งราว 54 ล้านคนถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก

การเปลี่ยนอัตราค่าสมัครสมาชิกจึงเป็นทางออกหนึ่งที่เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายแล้ว ประชาชนทั่วไปที่ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคจะสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่เป็นภาระในด้านค่าใช้จ่ายมากเกินควร

 

ลดคุณสมบัติ

ของสมาชิกและผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมือง

หากจัดลำดับความสำคัญของตำแหน่งหรือความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ควรมีลำดับที่ลดหลั่นกันที่แตกต่างกันในความเข้มงวดของคุณสมบัติจากมากไปน้อยดังนี้ ผู้สมัคร ส.ส. – กรรมการบริหารพรรค – ผู้ก่อตั้งพรรค และสมาชิกพรรค

โดยสาเหตุที่ต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ไว้สูงสุด เนื่องจากบุคคลกลุ่มดังกล่าวจะมีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่ทางการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือบางคนอาจมีตำแหน่งบริหารถึงระดับรัฐมนตรี

การกำหนดให้มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่เข้มงวด จึงเป็นหลักประกันว่า คนที่จะเข้าไปทำงานการเมืองจะต้องเป็นคนที่ไม่มีความด่างพร้อยเป็นการเบื้องต้น แต่ไม่ใช่นำคุณสมบัติดังกล่าวมาใช้กับคุณสมบัติของสมาชิกหรือผู้ร่วมก่อตั้งพรรคที่สมควรเปิดกว้างให้แก่ประชาชน

ดังนั้น จากการที่เคยเข้มในคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเทียบเท่ากับผู้สมัคร ส.ส. กฎหมายพรรคการเมืองที่แก้ไขใหม่จึงผ่อนคลายในบางกรณี เช่น จากที่ระบุลักษณะต้องห้ามในเรื่องเคยต้องโทษจำคุก ในคดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดเกี่ยวกับกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต หากโทษจำคุกนั้นเป็นการรอการลงโทษไม่ได้มีการจำคุกจริง ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ เป็นต้น

 

ไพรมารีโหวตที่ผ่อนคลายและทำได้จริง

หลักของการทำไพรมารีโหวต (Primary Vote) หรือการเลือกตั้งขั้นต้น คือ การที่พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบเขต หรือบัญชีรายชื่อ จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกพรรคในพื้นที่ที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งก่อน

กฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันกำหนดให้พรรคการเมืองต้องจัดประชุมสมาชิกพรรคในระดับเขต ซึ่งเป็นความยุ่งยากและสิ้นเปลืองมากมาย เช่น หากมี 400 เขต จะส่งครบทั้ง 400 เขต ก็ต้องจัดประชุมเพื่อลงมติในแต่ละเขต รวม 400 ครั้ง

การแก้ไขที่เกิดขึ้นจึงผ่อนคลายให้สามารถทำในระดับจังหวัด โดยรวมทุกเขตทำพร้อมกันทีเดียวได้ รวมถึงการทำไพรมารีของบัญชีรายชื่อของผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็สามารถทำไปในคราวเดียว

ส่วนเดิมที่เคยกำหนดว่าต้องมีการลงมติ และมีกระบวนการที่ซับซ้อน ย้อนไปย้อนมา หากความเห็นของการทำไพรมารีกับความเห็นสุดท้ายของคณะกรรมการบริหารพรรคไม่ตรงกัน ก็เปลี่ยนเป็นไม่ต้องมีการลงมติแต่เป็นการประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบชื่อตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ และให้สรุปผลการประชุม นำรายชื่อทั้งที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบส่งคณะกรรมการบริหารเพื่อรับรองเป็นผู้สมัครและถือเป็นที่สุด

นอกจากนี้ กฎหมายที่แก้ไขใหม่ยังรักษาสิทธิของสมาชิกพรรคการเมืองที่อยู่ในจังหวัดที่ไม่มีสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ในการที่สามารถเข้าร่วมประชุมเพื่อทำไพรมารีโหวตในจังหวัดใกล้เคียงได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศของพรรคการเมืองนั้นๆ

 

ต้องคำนึงถึงความหลากหลาย

ในการจัดทำบัญชีรายชื่อ

การจัดทำบัญชีรายชื่อของผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง มักได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นการจัดตามความต้องการของเจ้าของพรรค หรือแล้วแต่ว่านายทุนที่สนับสนุนพรรคมากน้อยก็อาจได้ลำดับตำแหน่งในบัญชีรายชื่อที่สูงต่ำแตกต่างกัน

ด้วยเจตนาของการมี ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคคือ ความต้องการได้คนที่มีความรู้ความสามารถ และมีความเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่หลากหลายในสังคม ดังนั้น ในกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ จึงใช้คำว่า “ต้อง” เข้ามาแทนที่คำว่า “ควร” โดยมีเนื้อหาคือ “ต้องคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงด้วย” ซึ่งหมายความว่า การจัดบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองในอนาคต บัญชีรายชื่อต้องมีความหลากหลาย มีผู้สมัครที่กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ มีองค์ประกอบของชายและหญิงในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะเขียนคำว่า “ต้อง” แต่หากไม่สามารถทำได้จริงเนื่องจากติดขัดด้วยข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจริง เช่น ไม่มีผู้หญิงที่แสดงตัวประสงค์จะสมัครเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ หรือไม่มีผู้สมัครในบางภูมิภาค ก็สามารถดำเนินการภายใต้ข้อจำกัดและชี้แจงเหตุผลต่อสาธารณะได้

 

บทสรุปที่ยังไม่มีอะไรในกอไผ่นัก

หากมองในภาพรวมทั้งหมด การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปไม่มากนัก โดยยึดหลักให้พรรคสามารถขยายตัวได้ง่ายขึ้น และมีกระบวนการในการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อที่สะดวกและเป็นจริงในทางปฏิบัติมากขึ้น

แต่โจทย์ใหญ่ของปัญหาพรรคการเมืองไทย ในเรื่องการเป็นพรรคของตระกูลการเมือง พรรคที่นายทุนเป็นใหญ่มีเสียงดังในการกำหนดตัวผู้สมัครและทิศทางของพรรค พรรคที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ หรือการมีข้อจำกัดมากมายที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของพรรค

รวมถึงการให้ศาลหรือองค์กรอิสระสามารถมีวินิจฉัยให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพโดยง่ายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับพรรคการเมืองในซีกฝั่งตรงข้าม ยังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง

พรรคการเมืองไทยปัจจุบันจึงยังตกอยู่ในภาวะตั้งง่าย อยู่ยาก ยุบง่าย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพรรคการเมืองไทย

วันนี้เรายังไม่เห็นความพยายามในการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองในประเด็นต่างๆ ข้างต้นแม้แต่น้อย