แควน้อย เมืองกาญจน์ เส้นทางสุวรรณภูมิสืบจนปัจจุบัน / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

แควน้อย เมืองกาญจน์

เส้นทางสุวรรณภูมิสืบจนปัจจุบัน

 

แควน้อย เมืองกาญจน์ เป็นเส้นทางคมนาคมที่มีความสำคัญยาวนานมากถึง 3,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่เริ่มแรกเรียก “สุวรรณภูมิ” สืบเนื่องไม่ขาดสายจนปัจจุบัน โดยมีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีสนับสนุนแข็งแรง สรุปย่อได้ดังนี้

3,000 ปีมาแล้ว “เมืองกาญจน์ บ้านเก่า” ริมแควน้อย เป็นชุมชนเกษตรกรรมสำคัญ นับถือศาสนาผีและเชื่อเรื่องขวัญ (ไม่รู้จักวิญญาณ) มีการเดินทางไปมาหาสู่กับชุมชนอื่นถึงอ่าวเมาะตะมะในพม่า

ชุมชนเกษตรกรรมริมแควน้อยมีเครือข่ายกระจัดกระจายถึงแควใหญ่และแม่กลอง รวมถึงลุ่มน้ำท่าจีน (จ.สุพรรณบุรี-จ.อุทัยธานี) ต่อไปข้างหน้าจะเติบโตก้าวหน้าเป็นบ้านเมืองและรัฐขนาดเล็ก

2,500 ปีมาแล้ว หรือ พ.ศ.1 พ่อค้าจากอินเดียแล่นเรือเลียบชายฝั่งเข้ามาซื้อทองแดง เป็นเหตุให้เรียกดินแดนนี้ว่า “สุวรรณภูมิ”

โดยขึ้นบกที่เมืองทวาย (พม่า) แล้วเดินบกผ่านทางด่านพระเจดีย์สามองค์ (กาญจนบุรี) ลงแควน้อย เข้าแม่น้ำแม่กลอง-ท่าจีน รับซื้อทองแดงจากแหล่งต่างๆ ในอีสานและลุ่มน้ำโขง

2,000 ปีมาแล้ว หรือ พ.ศ.500 ชุมชนเกษตรกรรมมีเทคโนโลยีถลุง-หลอมโลหะสำริด แล้วเติบโตเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่หรือรัฐขนาดเล็กบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง รู้จักต่อมาในนาม เมืองอู่ทอง แม่น้ำจรเข้สามพัน (อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี)

1,500 ปีมาแล้ว หรือ พ.ศ.1000 การค้าโลกขยายตัวพร้อมด้วยศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธแผ่ถึงสุวรรณภูมิตามเส้นทางแควน้อย ซึ่งพบหลักฐานที่บ้านวังปะโท่ แควน้อย เมืองกาญจน์ แล้วแผ่ไปทางแม่น้ำจรเข้สามพัน ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง-ท่าจีน

นับถือปนกันทั้งผี-พราหมณ์-พุทธ เชื่อทั้งขวัญและวิญญาณพร้อมกัน

900 ปีมาแล้ว หรือ พ.ศ.1600 สำเภาจีนเข้าถึงอ่าวไทย ทำให้การค้าจีนกับอินเดียกระตุ้นความสำคัญของเส้นทางแควน้อย เมืองกาญจน์ จึงสร้างปราสาทเมืองสิงห์ (อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี) ริมแควน้อย เมืองกาญจน์

500 ปีมาแล้ว หรือ พ.ศ.2000 อยุธยายกไปตีเมืองเชียงกราน บริเวณแควน้อย เมืองกาญจน์

นับแต่นั้นแควน้อยเป็นเส้นทางเดินทัพนับสิบครั้งระหว่างกษัตริย์อยุธยากับกษัตริย์เมืองต่างๆ ในพม่า

236 ปีมาแล้ว หรือ พ.ศ.2329 ร.1 ยกทัพรบพม่าที่ท่าดินแดง แควน้อย เมืองกาญจน์ มีพระราชนิพนธ์เพลงยาวนิราศรบพม่าท่าดินแดง พรรณนาเส้นทางตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปแม่กลอง แล้วทวนน้ำแม่กลองขึ้นแควน้อย ถึงท่าดินแดง

ต่อมาสร้างเมืองกาญจนบุรี (ใหม่) ที่ปากแพรก บริเวณศูนย์รวมแควใหญ่-แควน้อย-แม่น้ำแม่กลอง

จากนั้นแต่งนิทานกลอนเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนโดยกำหนดให้ขุนแผนตระเวนด่านกาญจนบุรีอยู่แควน้อย-แควใหญ่-แม่กลอง

79 ปีมาแล้ว หรือ พ.ศ.2486 ญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟจากไทยไปพม่า ต่อมาเป็นที่รู้จักในนาม “ทางรถไฟสายมรณะ”

นับแต่นั้นเส้นทางแควน้อย เมืองกาญจน์ ทวีความสำคัญทั้งด้านการท่องเที่ยว และด้านเศรษฐกิจ-การเมือง

ชุมชน “ทวารวดี” ที่แควน้อย : ฐานเจดีย์ในวัฒนธรรม “ทวารวดี” ที่ริมห้วยกึ่งคะยือ บ้านวังปะโท่ อ.สังขละบุรี
ลูกปัดทำด้วยแก้วและหินสีต่างๆ พบที่บริเวณปากห้วยกึ่งคะยือ ฝั่งขวาของแควน้อยใกล้เจดีย์ “ทวารวดี”
ต่างหูทำด้วยแก้ว พบบริเวณเดียวกันกับลูกปัด [ภาพจากสด แดงเอียด. “ไปตามหาอดีตแถบต้นน้ำแควน้อย” เมืองโบราณ ปีที่ 10 ฉบับที่ 3 (ก.ค-ก.ย. 2527)]

ชุมชน “ทวารวดี” ที่แควน้อย

การค้าหนาแน่นระหว่างอินเดียกับสุวรรณภูมิ กระตุ้นให้เกิดชุมชนในวัฒนธรรม “ทวารวดี” ที่แควน้อย เมืองกาญจน์ อยู่บ้านวังปะโท่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1000

หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญมากเป็นซากสถูปเจดีย์ในวัฒนธรรม “ทวารวดี” อย่างน้อย 2 แห่ง พบที่ริมห้วยกึ่งคะยือ บ้านวังปะโท่

[มีภาพและแผนที่อยู่ในบทความเรื่อง “ไปตามหาอดีตแถบต้นน้ำแควน้อย” โดย สด แดงเอียด พิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ฉบับกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ.2527 หน้า 37-48] – และเอกสารอัดสำเนารายงานเรื่อง “แหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม” โดย สด แดงเอียด โครงการประมวลผลข้อมูลและระบบฐานข้อมูลทางโบราณคดี ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร พ.ศ.2530 (มี 9 หน้า)

แผนที่แสดงตำแหน่งชุมชนเก่าในวัฒนธรรม “ทวารวดี” ต่อเนื่องถึงอยุธยา-รัตนโกสินทร์ ปัจจุบันเป็นบริเวณอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนเขาแหลม [ภาพจากสด แดงเอียด. “ไปตามหาอดีตแถบต้นน้ำแควน้อย” เมืองโบราณ ปีที่ 10 ฉบับที่ 3 (ก.ค-ก.ย. 2527)]

เมืองเชียงกราน อยู่แควน้อย

เมืองเชียงกรานในประวัติศาสตร์อยุธยาอยู่แควน้อย

“ไทยรบพม่า” ครั้งแรก คือศึกเมืองเชียงกราน เมื่อแผ่นดินพระไชยราชา พ.ศ.2081 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระนิพนธ์เกี่ยวกับเมืองเชียงกรานไว้ในหนังสือไทยรบพม่า (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2460)

เมืองเชียงกรานเป็นคำเรียกแบบไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นจนปัจจุบัน แต่ชื่อจริงอย่างไร? อยู่ที่ไหน? ไม่มีใครรู้แน่ๆ จนทุกวันนี้

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระนิพนธ์เกี่ยวกับเมืองเชียงกรานบอกไว้ในหนังสือไทยรบพม่าก็ไม่รู้ว่าชื่อจริงอย่างไร? อยู่ที่ไหน? และเคยเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นเมืองแครง ครั้นสอบถามทีหลังมีผู้บอกว่าเชียงกรานเป็นเมืองมอญเรียก “เมืองเดิงกรายน์” อังกฤษเรียก “อัตรัน” อยู่ต่อแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์

“เมืองเดิงกรายน์” หรือ “เมืองอัตรัน” ก็ยังไม่แน่ว่าจะเป็นเมืองเชียงกรานจริงไหม? แต่ที่แน่ๆ คือทิศทางของเมืองเชียงกรานอยู่ย่านแควน้อย-ด่านพระเจดีย์สามองค์

เมืองเชียงกราน น่าจะอยู่แควน้อย บริเวณบ้านปากห้วยเกริงไกร (ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี) พบเจดีย์สมัยอยุธยาอยู่บนเขาธาตุ (ตามรายงานของสด แดงเอียด กรมศิลปากร พ.ศ.2530)

1. คำว่า “เกริงไกร” (ในชื่อบ้านปากห้วยเกริงไกร) ออกเสียงใกล้ “เดิงกรายน์” กลายรูปกลายเสียงได้เป็น “เชียงกราน”

2. บ้านปากห้วยเกริงไกร อยู่บริเวณชุมชนระดับเมืองตั้งแต่วัฒนธรรมทวารวดีที่บ้านวังปะโท่ สืบเนื่องถึงสมัยอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

3. บริเวณนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี จึงถูกใช้ต่อเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์ รู้จักในชื่อค่ายท่าดินแดง มีอยู่ในเพลงยาวนิราศรบพม่าท่าดินแดง พระราชนิพนธ์ใน ร.1 •