นิตยา กาญจนะวรรณ : ก ข ค แห่งสุวรรณภูมิ (๒)

พัฒนาการช่วงที่ ๔ เป็นช่วงที่คนไทยรับวัฒนธรรมด้านตัวอักษรจากชาติอื่นๆ ที่เจริญมาก่อน ซึ่งการรับของคนไทยนั้นมี ๒ ลักษณะ คือ

ก. รับทั้งตัวอักษรและอักขรวิธีมาทั้งระบบ ได้แก่ อักษรขอมไทย และ อักษรธรรมล้านนา อักษรขอมไทยนั้นพัฒนามาจากอักษรขอมโบราณ และใช้เรื่อยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๔)

ข. รับโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบอักษรและอักขรวิธี ได้แก่ อักษรไทยสุโขทัย ซึ่งสันนิษฐานว่าได้พัฒนามาจากอักษรขอมโบราณและมอญโบราณเป็นสำคัญ

อักษรไทยสุโขทัยใช้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ และได้แพร่กระจายตัวอักษรของตนไปยังอาณาจักรข้างเคียงที่อยู่ร่วมสมัย กล่าวคือในบริเวณภาคกลางของประเทศไทยได้พัฒนาไปเป็นอักษรไทยอยุธยา และใช้ต่อเนื่องมาในสมัยรัตนโกสินทร์จนพัฒนาเป็นอักษรไทยในปัจจุบัน

เวลาของพัฒนาการในช่วงที่ ๔ นี้ นับตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๔ เป็นเวลานานถึง ๖๐๐ ปี

เห็นไหมว่า กว่าที่จะมาเป็น ก ข ค อย่างที่เรารู้จักกันนี้ อักษรไทยก็ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลานาน

และที่สำคัญก็คือ มีต้นตอมาจากอักษรแบบอินเดียใต้ หรือที่เรียกว่าอักษรปัลลวะ

จากเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของตัวอักษรไทย เราได้พบชื่ออาณาจักรต่างๆ คือ ทวารวดี ศรีวิชัย เจินละ (บางตำราเขียน เจนละ) ขอมสมัยพระนคร หริภุญชัย ล้านนา สุโขทัย อยุธยา และ รัตนโกสินทร์

ดินแดนที่เอ่ยชื่อมานี้คือพื้นที่ซึ่งขนาบด้วยมหาสมุทรแปซิฟิกด้านทิศตะวันออก กับมหาสมุทรอินเดียด้านตะวันตก เรียกกันมาแต่โบราณว่า สุวรรณภูมิ ซึ่งที่จริงก็มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียอาคเนย์ อุษาคเนย์ และล่าสุดก็คือ อาเซียน

คอลัมน์ “มองไทยใหม่” ขอมุ่งไปที่เรื่องตัวอักษร ๔ ชุดในดินแดนนี้ ซึ่งมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน คือ อักษรพม่า อักษรเขมร อักษรไทย และอักษรลาว เพื่อตอบคำถามว่า ทำไมทุกภาษาจึงเรียงลำดับตัวอักษรแบบเดียวกัน คือ ขึ้นต้นด้วย ก ข ค

เมื่อคราวก่อน รองศาสตราจารย์กรรณิการ์ วิมลเกษม ได้เล่าให้เราฟังว่า ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ หรืออาจถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ มีการใช้อักษรแบบอินเดียใต้หรือที่เรียกชื่อกันทั่วไปว่า อักษรปัลลวะ ในอาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย และเจินละ

คราวนี้ขอเล่าเพิ่มเติมว่า อักษรปัลลวะนั้นก็พัฒนามาจาก อักษรพราหมี ซึ่งเกิดขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ อีกทีหนึ่ง

ลักษณะสำคัญของอักษรพราหมีก็คือ พยัญชนะจัดเรียงตามวิธีการออกเสียง หรือถ้าพูดในทางสัทศาสตร์ก็คือ เรียงลำดับตามฐานกรณ์ โดยเริ่มจากเสียงที่เกิดจากการใช้ลิ้นแตะเพดานอ่อน เพดานแข็ง หลังฟันบน ฯลฯ ตามลำดับ ดังจะเห็นได้จากการเรียงลำดับตัวอักษรในภาษาไทยที่เริ่มจาก วรรคกะ อันได้แก่ ก ข ฃ ค ฅ ง ตัวอักษรกลุ่มนี้เป็นตัวแทนของเสียงที่ใช้โคนลิ้นแตะที่เพดานอ่อน แล้วจึงตามมาด้วย วรรคจะ อันได้แก่ จ ฉ ช ซ ฌ ญ ซึ่งเป็นตัวแทนของเสียงที่ใช้ลิ้นส่วนหน้าแตะที่เพดานแข็ง

จากนั้นจึงเป็น วรรคฏะ และ วรรคตะ อันได้แก่ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ด ต ถ ท ธ น ซึ่งเป็นตัวแทนของเสียงที่ใช้ปลายลิ้นแตะหลังฟันบน

ขอให้สังเกตว่า ซ โซ่ คืออักษรที่ไทยสร้างขึ้นใหม่ ญ หญิง ในภาษาไทยมาตรฐานออกเสียงเหมือน ย ยักษ์ แต่ในภาษาไทยไทยถิ่นอื่นยังเป็นเสียงขึ้นจมูก ส่วนพยัญชนะในวรรคฏะและวรรคตะนั้นภาษาไทยออกเสียงเหมือนกัน

เราจึงมักจะเรียกชื่อให้ต่างกันเล็กน้อยว่า “ฏะ ใหญ่” กับ “ตะ เล็ก”