พฤษภารำลึก (2) ความหวังหลังสงคราม/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พฤษภารำลึก (2)

ความหวังหลังสงคราม

 

“ถ้ากองทัพในเชิงสถาบันต้องการที่จะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของสถาบัน [ทหาร] แล้ว ความต้องการนี้จะเป็นพลังสำคัญที่ทำให้เกิดการสิ้นสุดของระบอบเผด็จการ”

Alfred Stepan (1986)

ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา

 

ถ้าสงครามคือความเป็นความตายของทุกรัฐ (ตามคำสอนของซุนวู) การเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ก็คือ ความเป็นความตายของนักเรียนปริญญาเอกทุกคน

หลังจากได้คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาจนตกผลึกทางความคิดแล้ว ผมได้ตัดสินใจที่จะทำวิจัยในเรื่องของทหารไทยกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง โดยมีสงครามคอมมิวนิสต์ในบ้านเป็นภูมิหลังของเรื่อง

แต่ก็ไม่ทันเตรียมใจไว้ว่า การเมืองที่กรุงเทพฯ อาจพลิกไปเป็นอื่นจนสิ่งที่คิดอาจถูกท้าทายได้

 

กระบวนทัศน์ใหม่

ในการเริ่มต้นชีวิตทางวิชาการที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ผมเริ่มต้นชีวิตอีกด้านหนึ่งในวงการศึกษาทหารด้วยการรู้จักกับนายทหารรุ่นพี่ท่านหนึ่งคือ พ.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ (ยศในขณะนั้น) ซึ่งมีอดีตเป็น “พวกยังเติร์ก” และถูกปลดประจำการจากความพ่ายแพ้ในการรัฐประหาร 2524 แต่กำลังกลับเข้ารับราชการใหม่ ไม่ใช่การกลับไปอยู่หน่วยกำลัง หากไปอยู่หน่วยการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก

เราสองคนนั่งคุยเรื่องอนาคตการเมืองและการทหารไทยกันอยู่นาน จำได้ว่าวันนั้น คุยกันตั้งแต่เช้าจนเย็นที่ห้องทำงานผม เป็นการคุยระหว่างอดีตนักรัฐประหารกับอดีตผู้นำนักศึกษาฝ่ายซ้าย

จบลงด้วยการชวนให้ผมเข้าไปช่วยงานทางวิชาการที่โรงเรียนเสธ. เพราะพี่เขาเห็นว่าสนใจเรื่องทหาร ซึ่งขณะนั้นไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามขนาดใหญ่จากสงครามของเวียดนามในกัมพูชา

ดังนั้น ชีวิตทางวิชาการในยุคแรกส่วนหนึ่งอยู่ที่คณะ แต่ช่วงบ่ายๆ ผมมักจะใช้เวลาไปนั่งพูดคุยอยู่ที่โรงเรียนเสธ. อันเป็นโอกาสให้ผมได้เรียนรู้เรื่องทหารจากมุมมองของนายทหารจริงๆ โดยเฉพาะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องของสงครามคอมมิวนิสต์ และสถานการณ์สงครามกัมพูชา

ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว สงครามภายในที่ขับเคลื่อนโดยพรรคคอมมิวนิสต์ไทยอ่อนแรงลงจนหมดสภาพของการเป็นภัยคุกคามไปแล้ว แต่ยังคงมี “โมเมนตัมทางความคิด” จากแรงขับเคลื่อนของทิศทางยุทธศาสตร์ใหม่ภายใต้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 และ 65/2525

จนเป็นเหมือนกับการสร้าง “กระบวนทัศน์ทหารใหม่” ที่ทำให้นายทหารที่ทำงานสนามในสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ มีมุมมองใหม่ไม่ได้เกาะติดอยู่กับกระแสอำนาจนิยม

น่าสนใจว่านายทหารหลายท่านที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสในขณะนั้น ถูกสร้างด้วยกระบวนทัศน์ใหม่จากสงครามภายใน

พวกเขายอมรับว่าระบอบเผด็จการเป็นเงื่อนไขที่ดีสำหรับความพ่ายแพ้ของรัฐในสงครามก่อความไม่สงบ

ดังเช่นที่นายทหารใน “กลุ่มทหารประชาธิปไตย” อย่าง พ.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (ยศในขณะนั้น) กล่าวเสมอว่า “เผด็จการแพ้คอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์แพ้ประชาธิปไตย”

ซึ่งกระบวนทัศน์ชุดนี้คือ การสร้าง “หลักนิยมของความมั่นคงภายใน” (Internal Security Doctrine) และมีส่วนโดยตรงต่อการขยายบทบาทของกองทัพในงานอื่นๆ เช่น งานพัฒนาในชนบท งานจัดตั้งมวลชนเพื่อใช้เป็นฐานของการต่อสู้ในสงครามคอมมิวนิสต์ ตลอดรวมถึงบทบาทอื่นๆ ที่เป็นการขยายบทบาทของทหารในสังคม เป็นต้น

หลักนิยมเช่นนี้มีส่วนอย่างมากในการ “เชพ” (shape) ความคิดของนายทหารในกระแสใหม่ และเป็นพื้นฐานของทิศทางทหารในการเมืองไทย อันมีนัยว่ากองทัพจะไม่ทำหน้าที่เป็นจักรกลของระบอบอำนาจนิยม เพราะหากทหารเข้ามาแทรกแซงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการเช่นในอดีตแล้ว ระบอบเช่นนี้จะทำให้รัฐอ่อนแอในมิติด้านความมั่นคง แม้จะดูเหมือนว่าระบอบเผด็จการเข้มแข็ง แต่เป็นความเข้มแข็งที่เปราะบาง และอาจไม่ใช่ปัจจัยที่ใช้ในการเสริมสร้างความมั่นคงได้จริง

กระบวนทัศน์เช่นนี้แตกต่างจากยุคสงครามเย็นอย่างมาก ระบอบเผด็จการที่เคยเชื่อว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ กลับเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ที่ช่วยให้คอมมิวนิสต์ชนะ

ชุดความคิดเช่นนี้แม้จะถูกโต้แย้งว่า ประชาธิปไตยกลายเป็นเครื่องมือของกองทัพในการเอาชนะสงคราม แต่ก็มีส่วนอย่างมากในการเปลี่ยนความคิดที่นายทหารจะไม่ยึดติดอยู่กับระบอบเผด็จการ และกลายเป็นแรงผลักให้นายทหารหลายคนหันมาสนใจในเรื่องของกระแสประชาธิปไตยมากขึ้น

ผลอย่างมีนัยสำคัญคือ นายทหารในกระแสความคิดชุดนี้มีมุมมองใหม่ว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่ภัยคุกคามของรัฐและกองทัพ” เช่นที่ถูกสร้างเป็นชุดความคิดหลักในยุคสงครามเย็น

 

ความฝันที่ล่มสลาย

ผมยอมรับว่าความสัมพันธ์ของผมกับบรรดาอาจารย์หลายท่านในโรงเรียนเสธ. ทำให้มี “ความฝัน” อย่างมากในการสร้างทหารอาชีพ

เพราะผมเขียนงานวิชาการชิ้นสุดท้ายก่อนจบปริญญาตรีเรื่องทหารกับการเมือง และเขียนด้วย “ความสิ้นหวัง”… มองไม่เห็นอนาคตเลยว่าทหารไทยจะหลุดพ้นจาก “วงจรอุบาทว์” ของการเมืองได้อย่างไร

และถ้ากองทัพไทยดำรงสถาบันเป็น “ทหารการเมือง” รัฐไทยจะสร้าง “ทหารอาชีพ” อย่างไร

และถ้ารัฐไทยสร้างกองทัพของทหารอาชีพไม่ได้แล้ว เราจะรับมือกับสงครามของกองทัพเวียดนามที่อาจเปิดปฏิบัติการข้ามพรมแดนจากกัมพูชาเข้าสู่พื้นที่ของไทยได้อย่างไร

ฉะนั้น หลังจากจบปริญญาตรีเมื่อได้รับนิรโทษกรรมแล้ว ผมออกจากประเทศไปด้วยความรู้สึกสิ้นหวังกับกระบวนการสร้าง “ความเป็นทหารอาชีพ” (military professionalization) ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวผมเองเป็นนักเรียนรัฐศาสตร์ที่ต้องเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาก่อน จนเกิดข้อสรุปในใจว่า “ประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือประวัติศาสตร์ของการรัฐประหาร”

ถ้าเช่นนั้นแล้ว คณะนายทหารไทยจะยังยึดมั่นในการรัฐประหารต่อไปอีกเพียงใด…

การยึดอำนาจจะมีความยั่งยืนในการเมืองไทยต่อไปอีกเพียงใด หรือเราควรสรุปแบบไร้ความหวังว่า ทหารไทยกับการเมืองเป็นสิ่งที่ผูกติดกันไว้เหมือน “ปาท่องโก๋”…

อดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่า ถ้าทหารกอดการเมืองเป็นปาท่องโก๋ก็คงต้องทนร้อนสุดๆ เพราะต้องเอาลงกระทะทอดให้สุก!

วงสนทนาระหว่างผมกับนายทหารหลายท่านที่โรงเรียนเสธ. ทำให้ผมเริ่มคิดใหม่ว่าสงครามภายในกำลังบีบให้นายทหารต้องคิดใหม่ และยอมรับที่จะใช้แนวทางการเมืองใหม่สำหรับบทบาทของกองทัพ ซึ่งอาจจะพอทำให้ผมได้เห็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ได้บ้าง ถ้ากระบวนทัศน์ใหม่ในกองทัพสามารถสร้างนายทหารที่มีความคิดใหม่ได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นการ “ปฏิรูปกองทัพ” ในอนาคต

ดังนั้น เมื่อผมกลับไปเรียนปริญญาเอก จึงพกเอาความฝันติดตัวไปว่า กองทัพไทยน่าจะลดบทบาทที่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการการเมืองไทยได้บ้าง

แม้จะดูเหมือนคิดแบบ “โลกสวย” แต่ที่คิดเช่นนี้เป็นเพราะแรงกดดันจากสงครามคอมมิวนิสต์ ทำให้ “สถาบันทหาร” จำเป็นต้องปรับตัวทางการเมือง และรับรู้อย่างดีถึงบทเรียนจากความพ่ายแพ้ของรัฐทั้งสามในอินโดจีน ถ้ากองทัพยังดึงดันที่จะเป็น “ปาท่องโก๋” กับระบอบเผด็จการ ก็อาจนำมาซึ่งการล่มสลายของรัฐได้

ในทางทฤษฎี ผมคิดว่าบทบาทของกองทัพไทยบนเงื่อนไขของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ด้วยการที่ผู้นำทหารอย่าง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และบรรดาผู้นำ “ทหารสายปฏิรูป” ตัดสินใจที่จะยุติบทบาทของรัฐบาลอำนาจนิยมด้วยรัฐประหาร 2520 และ “เปิดระบบการเมือง” ให้มีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น (หรือที่ในทางทฤษฎีเรียกจากตัวแบบในละตินอเมริกาว่า “Transition to Liberalization”)

และแม้จะมีความพยายามทำรัฐประหารอีกถึงสองครั้งในปี 2524 และ 2528 แต่ล้มเหลว จนเป็นดังทิศทางใหม่ว่า แม้การยึดอำนาจอาจไม่ “สูญพันธุ์” ไป แต่รัฐประหารไม่อาจเกิดได้ง่ายอีกต่อไป

พี่รณชัยเคยสรุปให้ผมฟังเล่นๆ ว่า หลังรัฐประหารล้มเหลวถึงสองครั้งแล้ว นายทหารบางคนอาจจะต้องใช้เวลาผูกเชือกรองเท้าบู๊ตนานกว่าปกติ เมื่อได้รับคำสั่งให้เคลื่อนกำลัง

ผมเอาแนวคิดดังกล่าวปรับเป็นโครงร่างวิทยานิพนธ์ และทดลองนำเสนอในเวทีวงกว้างของ “สมาคมเอเชียศึกษา” ของสหรัฐ

จำได้ดีว่าในวันที่เสนอนั้น คนที่สนใจเรื่องนี้มากเป็นนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยพม่า และพวกเขามีคำถามหลักคือ ถ้าผู้นำทหารไทยเป็นผู้ผลักดันการเปลี่ยนผ่าน ด้วยการสร้างความเป็นเสรีนิยมได้ ตัวแบบดังกล่าวจะเกิดในพม่าได้หรือไม่

ผมตอบว่าโอกาสที่ทหารพม่าจะเป็น “ผู้ริเริ่ม” การเปลี่ยนผ่านคงเป็นไปได้ยาก เพราะปัจจัยพื้นฐานที่จะเกิดสภาวะเช่นนี้มาจากแรงกดดันในหลายระดับ

และที่สำคัญคือ ผู้นำทหารที่มีอำนาจทางการเมืองจะต้องริเริ่ม ซึ่งผู้นำทหารพม่าไม่ท่าทีเช่นนั้น

ผมฝันอย่างมากกับการเปลี่ยนผ่านที่กองทัพไทยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนี้ และทำออกมาเป็นโครงร่างวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเพื่อเตรียมสอบ

แต่แล้วความฝันชุดนี้ล่มสลายทันที เมื่อกองทัพหวนคืนสู่การทำรัฐประหารในเดือนต้นกุมภาพันธ์ 2534…

ผมเหมือนกับเจอ “แผ่นดินไหวทางวิชาการ” เพราะสมมุติฐานทางวิชาการแทบจะสลายไป ด้วยการที่ทหารยังคงแทรกแซงทางการเมือง และการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นเท่ากับสิ้นสุดลงตามไปด้วย

ทหารไทยไม่อาจลดความเป็นทหารการเมืองได้เลย

 

ความท้าทาย

ผมสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์เรียบร้อยแล้ว และกลับมาทำข้อมูลวิจัยที่กรุงเทพฯ และเฝ้าดูการเมืองด้วย “ใจระทึก” เพราะแม้กลุ่มผู้นำทหาร “จปร. รุ่น 5” จะมีอำนาจด้วยเครือข่ายของผู้นำในรุ่น และมีความพยายามในการลดแรงกดดันด้วยการนำเอาอดีตนักการทูตเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนผู้นำรัฐประหาร

แต่เมื่อการเมืองเดินมาถึงจุดหนึ่งแล้ว ผู้นำทหารอย่าง พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้เตรียมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเอง ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะกระแสสังคมดูจะไม่ตอบรับกับฝ่ายทหารเท่าใดนัก

ผู้นำกองทัพไทยและผู้ที่อยู่เบื้องหลังอาจจะไม่ทันประเมินพลวัตใหม่… สงครามเย็นเริ่มยุติลงจากการรวมชาติของเยอรมนีในปลายปี 2532 สงครามคอมมิวนิสต์ไม่เป็นภัยคุกคามให้ผู้นำทหารใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจแบบเดิม สงครามคอมมิวนิสต์ในบ้านยุติลงไปแล้ว และผู้นำทหารไม่ทำให้สังคมเกิดความ “น่าเชื่อถือทางการเมือง” แต่อย่างใด

ถ้าเช่นนั้นแล้ว รัฐบาลหลังรัฐประหาร 2534 ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ จะดำรงอยู่ต่อไปอย่างไร

ภัยคุกคามใหญ่ของทหารไม่ใช่สงครามภายใน แต่เป็นเรื่องของการที่สังคมไม่ตอบรับกับรัฐบาลภายใต้การอุปถัมภ์ของทหาร และประชาธิปไตยที่มากับกระแสโลกาภิวัตน์เริ่มข้ามพรมแดนเข้าสู่รัฐและสังคมไทย จนเป็นความหวังทางทฤษฎีว่า “คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม” (The Third Wave of Democracy) จากกระแสโลกได้มาเยือนไทยแล้ว

และกระแสนี้ไม่ตอบรับกับเผด็จการทหาร!