วอชิงตันกับกรุงเทพฯโลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

วอชิงตันกับกรุงเทพฯ

 

การประชุมสุดยอดอาเซียน สหรัฐ สมัยพิเศษครั้งที่ 2 ที่กรุงวอชิงตันน่าสนใจมาก

วันที่ 2 ของการประชุมอันเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการของอาเซียน สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษครั้งที่ 2 จากรายงานของทางการไทยมีเรื่องหลักๆ อยู่ 3 เรื่อง

เรื่องแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม พอใจการประชุมครั้งนี้

เรื่องที่ 2 ทางการไทยรายงานความสำเร็จในการประชุมด้านเศรษฐกิจกับสภาธุรกิจอาเซียน และภาคเอกชนสหรัฐอเมริกามีข้อเสนอให้นักธุรกิจอเมริกันเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีข้อเสนอจากฝ่ายไทยเสนอให้บริษัทพลังงานสหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วยเหลือปัญหาเรื่องวิกฤตพลังงานในไทย มีข้อเสนอเรื่องพลังงานดิจิตอล เรื่องน่าสนใจ รายงานข่าวแจ้งว่า สหรัฐอเมริกาจะร่วมกันสร้างอาเซียนสีเขียวร่วมกันกับอาเซียน

เรื่องที่ 3 เป็นประเด็นการหารือร่วมกันด้านประเด็นภูมิภาคและประเด็นระดับโลก

ทางการไทยรายงานข่าวข้อเสนอของไทย (ผมฟังรายงานข่าว ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์) กล่าวใน 3 เรื่องดังต่อไปนี้

– ไทยไม่ขัดแย้ง ไม่เผชิญหน้า

– ไทยเสนอให้สหรัฐอเมริกาและอาเซียนช่วยกันเข้ามาดูแลด้านมนุษยธรรม และเรื่องคนรุ่นใหม่

– ไทยเชิญสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายนที่จะมาถึง

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดย้ำให้เราเข้าใจว่า อาเซียนมีความสำคัญมากครับ สำหรับผม อาเซียนมีความสำคัญต่อภูมิภาคและต่อไทยอย่างยิ่ง เพียงแต่ว่า เราควรเข้าใจก่อนว่า กิจการต่างประเทศล้วนมีพิธีกรรม ภาษาทางการทูตที่ฟังดูดีดูเท่ ทั้งหมดล้วนเป็นเบื้องหน้า

เบื้องหลัง

ถามจริงๆ ครับ สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญและแคร์กับ ASEAN Centrality Centrality ซึ่งหมายถึง การวางตัวอยู่ตรงกลางของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างยืนยันว่า พวกเขาวางตัวเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งละเอาไว้ในฐานที่เข้าใจว่า วางตัวเป็นกลางระหว่างสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรกับชาติตะวันตกกับจีน

ในความเป็นจริงหลายฝ่ายมองอย่างทะลุว่า แท้จริงอาเซียนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอยู่กันคนละค่ายการเมืองโลกอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลของพื้นเพประวัติศาสตร์ ตัวกำหนดทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interest) ของประเทศตน ซึ่งเอาเข้าจริงๆ นับเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่จะยอมรับได้แค่ไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประเด็นที่ใหญ่ไปกว่านั้นคือ อภิมหาอำนาจเขาจริงจังกับเรื่องนี้ของอาเซียนแค่ไหน เหนืออื่นใด รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนจริงจังกับประเด็น ASEAN Centrality หรือ?

เรื่องนี้ดูเหมือนมีสาระเพียงเล็กน้อยที่สหรัฐอเมริกามีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน1

ไทย

ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปประชุมสุดยอดอาเซียน สหรัฐ สมัยพิเศษ มีเรื่องลึกแต่ไม่ลับอยู่เรื่องหนึ่งคือ สถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย เผยแพร่บทสนทนาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียกับท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ในสาระสำคัญดังนี้2

“…นายเชอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) กล่าวกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย โดยสถานทูตรัสเซียประจำไทยรายงานว่า…”

“…ทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือระดับทวิภาคี ในเวทีระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรวมถึงความร่วมมือภายในกรอบพหุภาคีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก…”

“…ทั้งสองท่านได้กล่าวถึงประเด็นความขัดแย้งในยูเครนและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประเด็นเฉพาะในความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี…”

“…ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่สำคัญของความสัมพันธ์ของรัสเซีย-ไทยที่ดำเนินการมานับเป็นเวลา 125 ปีแล้ว…”

เครมลินเขาสะกิด พล.อ.ประยุทธ์ก่อนเดินทางไปประชุมอาเซียน สหรัฐ สมัยพิเศษที่กรุงวอชิงตัน เพราะรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียโทรศัพท์มาคุยด้วยตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม แล้วอยากสะกิด พล.อ.ประยุทธ์แรงๆ ด้วย พล.อ.ประยุทธ์มีท่าทีคลุมเครือต่อรัสเซียที่รุกรานยูเครน แม้ท่านกล่าวว่า รัสเซียและไทยมีความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์ยาวนาน คำกล่าวนี้คลุมเครือและเริ่มกลับไปกลับมาจนต้องโทรศัพท์มาคุยกันหน่อย

รัฐมนตรีต่างประเทศโทรศัพท์จากเครมลิน แล้วเจ้าหน้าที่สถานทูตรัสเซียอ้างว่า เป็นการสนทนาที่เกิดขึ้นในบรรยากาศแบบดั้งเดิม ซึ่งคงไว้ในความเป็นหุ้นส่วนและความเข้าใจซึ่งกันแล้วกัน

แปลว่า สนทนาแบบนี้มีมาก่อนแล้ว

ย้ำอย่างฉลาดว่า ปีนี้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศดำเนินมา 125 ปีแล้ว

แปลว่า โปรดสำเหนียก สัมพันธ์ยาวนานหลายระดับ

โทร.มาพูดคุยอ้อมๆ ว่า หารือกันในโอกาสการพัฒนาความร่วมมือในเวทีทวิภาคีและพหุภาคีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

อารัมภบทกว้างๆ รัสเซียหาใช่อยู่ทวีปยุโรป แต่จะทำงานกับไทยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

แต่ทั้งสองท่านกล่าวถึงเรื่องความขัดแย้งในยูเครน

จุดเน้นแท้จริงคือ ความขัดแย้งในยูเครน

พี่ไทยว่าอย่างไรกันแน่

ในที่สุด ก็ไม่มีการเอ่ยชื่อรัสเซียในปัญหายูเครน ในแถลงการณ์อาเซียน (สงสัยทีมกระทรวงของไทยมีส่วนไม่มากก็น้อย)

อันที่จริง เสียงตามสายอาจรำพึงเรื่องเชิญท่านปูตินมาประชุมเอเปคเดือนพฤศจิกายนที่กรุงเทพฯ ด้วย เสียงตามสายอาจช่วยฝ่ายไทยชั่งใจให้แน่ๆ เมื่อไบเดนกดดันเรื่องนี้ เหมือนที่กดดันประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซียเจ้าภาพประชุม G 20

เรื่องนี้ขอให้พี่ไทยโชคดีนะครับ ในฐานะคนนอกวงการ ผมขอฟังคำตอบอย่างเป็นทางการว่า พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศว่า ประธานาธิบดีไบเดนมาประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ หรือไม่

แนวโน้ม

ให้สังเกตให้ดีว่า สัปดาห์ถัดมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือนเอเชียอย่างเป็นทางการครั้งแรกเขาไปไหน ประธานาธิบดีไบเดนเดินทางเยือนญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกาไม่ได้มาเยือนอย่างเป็นทางการประเทศอาเซียน 10 ประเทศ3 แม้แต่ประเทศเดียว ระหว่างเยือนเอเชียครั้งนี้ คาดว่าไบเดนจะเข้าร่วมประชุมสุดยอด QUAD ครั้งที่ 2 องค์กรพันธมิตรของออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดียและสหรัฐอเมริกา

ไม่เพียงเยือนญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี พันธมิตรหลักของสหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนผ่านผู้นำใหม่ทั้งคู่ แล้วกำลังปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ และปฏิรูปโครงสร้างความมั่นคงครั้งใหญ่

แนวโน้มสำคัญของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีไบเดนเสนอชื่อ Yohannes Abraham เป็นประธานและเลขาธิการสภาความมั่นคง ดูแลด้านอินโดนีเซีย อับราฮัม ผู้เป็นคณะทำงานระดับสูงด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ที่เป็น Ambassador for ASEAN อีกด้วย ไบเดนได้ประกาศเรื่องนี้ 13 พฤษภาคม อันเป็นวันที่ 2 ของการประชุมอาเซียน สหรัฐ

นายอับราฮัมเคยทำงานใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา4 เขาได้รับความไว้วางใจจาก ไบเดนและจะเดินทางในคณะของไบเดนเพื่อเยือนญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลีด้วย5

 

ถนนสู่ความมั่นคง

สหรัฐอเมริกายังประกาศแผนฉบับใหม่ เพื่อขยายความร่วมมือด้านนาวีกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน สหรัฐ ที่วอชิงตัน นี่เป็นโครงการริเริ่มความร่วมมือทางทะเลใหม่มูลค่า 60 ล้านดอลลาร์

อันรวมถึงการเพิ่มศักยภาพการบังคับใช้กฎหมายเดินเรือระหว่างประเทศและการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย

ภายใต้โครงการนี้ ประเทศอาเซียนที่มีดินแดนติดทะเล จะได้รับการสนับสนุนด้วยเรือจากสหรัฐอเมริกาที่จะถูกส่งไปทำงานร่วมกัน6

หวังว่าผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงไทยเข้าใจแนวโน้มนี้ไม่มากก็น้อย

1Xirui Li, “Is the Biden Administration Serious About ‘ ASEAN Centrality?” The Diplomate 14 May 2022.

2ข้อมูลจาก รายการข่าว เจาะลึกทั่วไทย เวลา 8.00 น วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ช่อง 9 อสมท เข้าถึง 13 พฤษภาคม 2565

3Tyler Pager, “Biden nominates top national security staffer as ASEAN ambassador”, The Washington Post 13 May 2022, : 1.

4เคยเป็น Senior adviserของ the National Economic Council, chief of staff the White House Office of Public Engagement and Intergovernmental Affairs เป็นผู้ช่วยของ Valerie Jarrett chief adviser ของประธานาธิบดีโอบามา

5Tyler Pager, Opcit.,., : 2.

6สหรัฐขยายความร่วมมือด้านนาวีกับอาเซียน วีโอเอ 14 พฤษภาคม 2022, :1.